ปัญหาการรับน้อง  (อ่าน 8214 ครั้ง)

ฮารูน

  • บุคคลทั่วไป
ปัญหาการรับน้อง
« เมื่อ: เมษายน 22, 2013, 10:15:09 pm »
 salam  ผมอยากทราบว่าทำไมมุสลิมถึงรับน้องในมหาวิทยาลัยไม่ได้ โดยเฉพราะการบูบ ที่กอดคอกันเป็นวงกลมแล้วก้มลงตามจังหวะที่ตะโกนชื่อเอก แล้วทำไมมุสลิมถึงปรบมือไม่ได้ ขอบคุนครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ปัญหาการรับน้อง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 15, 2013, 12:00:53 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

จริงๆ แล้วเรื่องกิจกรรมรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยนั้นต้องพิจารณากฏระเบียบของทางมหาวิทยาลัยเสียก่อนว่าอนุญาตหรือไม่ ถ้าอนุญาตก็ต้องดูว่าเป็นกิจกรรมที่บังคับหรือจำต้องกระทำหรือไม่ หากเป็นเช่นที่ว่า ก็ต้องพิจารณาว่ารูปแบบการรับน้องเป็นอย่างไร เพราะมหาวิทยาลัยคงไม่ได้กำหนดโดยถือเป็นกิจลักษณะว่าต้องบูม ตามลักษณะท่าทางที่ว่ามา เพราะวิธีการดังกล่าวเป็นเรื่องที่นักศึกษารุ่นพี่คงจะคิดขึ้นกันเองหรือไม่ก็ทำตามประเพณีของรุ่นพี่รุ่นก่อนๆ ซึ่งก็คงเอามาจากฝรั่งกระมัง


ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วการรับน้องใหม่มีรูปแบบและวิธีการหลากหลาย วิธีการหรือกิจกรรมดีๆ ก็มีมาก แต่ที่ทำกันจนเสียหายและตกเป็นข่าวก็เป็นผลมาจากความเลยเถิดและวิตถารของรุ่นพี่บางคน การทำท่าทางที่เรียกว่าบูมนั้นถ้าเป็นการกระทำของมุสลิมกับเพื่อนนักศึกษาชายหรือมุสลิมะฮฺที่ปกปิดเอาเราะฮฺกับนักศึกษาหญิงก็ไม่น่ามีข้อห้าม เพราะการกอดคอเป็นวงกลมระหว่างคนเพศเดียวกันแล้วก้มๆ เงยๆ ตามจังหวะแล้วตะโกนชื่อเอกก็คงไม่ต่างอะไรกับทีมรักบี้หรือทีมกีฬาที่นักกีฬาในทีมสุมหัวแล้วเอามือวางซ้อนกันพร้อมกับตะโกนว่า สู้เว้ย! อะไรทำนองนั้น


ที่ว่าไม่ได้น่าจะเป็นกอดคอจับมือระหว่างนักศึกษาต่างเพศเป็นแน่แท้ เพราะการถูกเนื้อต้องตัวสัมผัสใกล้ชิดกับคนต่างเพศเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะก่อให้เกิดฟิตนะฮฺในเรื่องความรู้สึกทางเพศได้ ศาสนาจึงห้ามเพื่อป้องกันและปิดประตูที่จะนำไปสู่สิ่งไม่ดีไม่งาม ซึ่งอาจจะค้านว่า หากไม่มีฟิตนะฮฺก็น่าจะทำได้ ก็ตอบว่า แม้ไม่มีฟิตนะฮฺการสัมผัสกอดคอถูกเนื้อต้องตัวระหว่างคนต่างเพศก็เป็นสิ่งที่ต้องห้ามอยู่ดีเช่นกัน


ส่วนการปรบมือนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พบว่ามีตัวบทที่ชัดเจนและถูกต้องระบุห้ามไว้ เท่าที่รู้เป็นเพียงการวิเคราะห์เทียบเคียงจากตัวบทของ อัล-กุรอานในสูเราะฮฺ อัล-อัมฟาล อายะฮฺที่ 35

وَمَا كَانَ صَلَاتُهُمْ عِندَ الْبَيْتِ إِلَّا مُكَاءً وَتَصْدِيَةً
“และการนมัสการของพวกเขา ณ บัยติลลาฮฺ อัล-หะรอมมิได้ปรากฏนอกเสียจากการผิวปาก (ทำเสียงนกหวีด) และการปรบมือ”


ในอายะฮฺนี้พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงระบุถึงความน่าเกลียดในพฤติกรรมของพวกตั้งภาคีว่า การอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) และการนมัสการ (คือการฏาะว๊าฟ) ของพวกตั้งภาคี ณ บัยติลลาฮฺ อัล-หะรอม ไม่มีอะไรนอกเสียจากการทำเสียงนกหวีดเหมือนเสียงนกร้อง และการปรบมือซึ่งเป็นการรบกวนและสร้างความสับสนให้แก่บรรดามุสลิมที่ทำการละหมาดอยู่ ณ บัยติลลาฮิล-หะรอม แทนที่พวกเขาจะมีความสงบและให้เกียรติบัยติลลาฮฺด้วยการไม่ส่งเสียงดังพวกเขากลับนำเอาพฤติกรรมดังกล่าวมาแทนที่การนมัสการต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และกำหนดว่าสิ่งดังกล่าวเป็นการนมัสการทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่โมฆะไม่ต่างอะไรกับเสียงหวีดร้องของนกและมีเสียงสะท้อนกลับมาซึ่งไร้ผลและไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย (ดูตัฟสีร ศ็อฟวะฮฺ อัต-ตะฟาสีร , มูฮัมหมัด อะลี อัศ-ศอบูนียฺ เล่มที่ 1 หน้า 503, อัฏ-เฏาะบะรียฺ 13/524)


การปรบมือที่เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) จึงเป็นเรื่องของการอิบาดะฮฺ (ศาสนกิจ) ที่อุปโลกขึ้นว่าเป็นอิบาดะฮฺ ทั้งๆ ที่ไม่มีบัญญัติใดๆ มารับรองและเป็นการส่งเสียงดังในสถานที่ที่ไม่สมควรส่งเสียงดัง เช่น มัสญิด การปรบมือในมัสญิดจึงเข้าข่ายเป็นสิ่งต้องห้ามตามนัยของอายะฮฺนี้ ยกเว้นกรณีการปรบมือของผู้หญิงที่ร่วมละหมาดญะมาอะฮฺเพื่อเตือนอิมามไม่เข้าอยู่ในข้อห้ามและมีลักษณะการปรบมือที่แตกต่างจากการปรบมือทั่วไป


หากจะถือว่าการปรบมือทั่วไปก็เข้าอยู่ภายใต้อายะฮฺนี้ การปรบมือที่มิใช่เรื่องอิบาดะฮฺ และไม่ได้มีเจตนาอย่างพวกตั้งภาคีก็ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) (ดู อัยสะรุต ตะฟาสีร , ของอบูบักร ญาบิร อัล-ญาซาอิรียฺ เล่ม 2/305 ระบุว่าการส่งเสียงหวีดและการปรบมือเป็นมักรูฮฺ) ส่วนจะว่าเป็นที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด (หะร็อม ก็อฏอียฺ) ในทุกกรณีนั้นคงไม่อาจตัดสินเช่นนั้นได้

والله اعلم بالصواب