ความเชื่อแบบอิสลามที่มีต่อสิทธัทถะ(พระพุทธเจ้า)  (อ่าน 16980 ครั้ง)

มาอิซ

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
 salam อ.อะลีครับ ผมขอถามเป็นประเด็นดังนี้เลยนะครับ
1.ทำไมคัมภีร์พระไตรปิฎกบอกถึงการมาของท่านนบีมุฮำมัด
2.เป็นไปได้ไหมที่ท่านสิทธัทถะจะเป็นนบี(โอกาสมากน้อยแค่ไหน)
3.มุสลิมที่มีความเชื่อว่าท่านสิทธัทถะเป็นนบี มุสลิมจำพวกนี้มีอะีกีดะฮ์อย่างไร อันตรายถึงขั้นตกมุรตัดหรือไม่
4.มุสลิมที่เผยแพร่ความเชื่อที่ว่าท่านสิทธัทถะเป็นนบีท่านหนึ่ง และได้ทำการเผยแพร่ในประเทศที่บังคับใช้กฎหมายอิสลาม มุสลิมคนนี้จะมีชะตากรรมเช่นไร
ขอขอบคุณอ.อะลีที่ช่วยตอบครับ
ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทน
วัสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ความเชื่อแบบอิสลามที่มีต่อสิทธัทถะ(พระพุทธเจ้า)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 28, 2013, 01:51:53 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


1. คัมภีร์ที่ระบุถึงการมาของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ตามที่อัล-กุรอานระบุไว้ คือ คัมภีร์อัต-เตารอต และคัมภีร์อัล-อินญิล ตลอดจนคัมภีร์ของบรรดา ศาสนทูตก่อนๆ ดังที่อัล-กุรอานระบุว่า

وَإِنَّهُ لَفِي زُبُرِ الْأَوَّلِينَ

“และแท้จริงเรื่องราวของนบีมุฮัมมัดนั้นมีอยู่ในบรรดาคัมภีร์ของเหล่าศาสนทูตที่มีมาก่อนในรุ่นแรก” (อัช-ชุอะรออฺ : 196)


อัล-กุรอานยังระบุอีกว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกระทำพันธสัญญากับนบีทุกท่านว่า หากนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถูกส่งมาในช่วงอายุขัยของนบีผู้นั้นก็ต้องศรัทธาและให้การช่วยเหลือนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในการประกาศศาสนาของพระองค์ (อาลิอิมรอน : 81)


และยังระบุอีกว่า นบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือคำวิงวอนขอของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) และนบีอิสมาอีล (อ.ล.) เมื่อครั้งที่ทั้งสองท่านยกรากฐานของบัยติลลาฮิลหะรอม (อัล-บาเกาะเราะฮฺ : 127-129) นบีมูซา (อ.ล.) และนบีอีซา (อ.ล.) ก็ประกาศถึงการมาของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ดังปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอาน บทอัลอะอฺร็อฟ : 156-157 , อัศ-ศ็อฟ : 6 , และอัล-ฟัตฺห์ : 29


ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมผู้ศรัทธาต้องมีความเชื่อและศรัทธาว่าเป็นสัจธรรมที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงบัญญัติไว้เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนเด็ดขาดในคัมภีร์อัล-กุรอาน และอัล-หะดีษที่ถูกต้องระบุไว้ ผู้ใดปฏิเสธผู้นั้นย่อมสิ้นสภาพจากความเป็นมุสลิมผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม (วัลอิยาซุบิลลาฮฺ)


ส่วนกรณีที่ถามมาว่า ทำไมคัมภีร์พระไตรปิฎกในศาสนาพุทธจึงบอกถึงการมาของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คงตอบไม่ได้ว่า “ทำไม” เพราะประเด็นอยู่ที่ว่า


คัมภีร์พระไตรปิฎกบอกถึงการมาของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จริงหรือไม่ต่างหาก การจะให้เหตุผลว่าทำไมต้องพิจารณาถึงประเด็นสำคัญที่ว่านั้นเสียก่อนว่าพระไตรปิฎกบอกถึงการมาของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จริงหรือไม่? เกี่ยวกับเรื่องนี้มีนักเขียนชาวมุสลิมบางคนเขียนเอาไว้


เช่น อาลี อักบัร เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “อิสราเอลและคำพยากรณ์ในอัล-กุรอาน” (Israel and Prophecies of The Holy Quran) ซึ่งอาจารย์บรรจง บินกาซัน แปลเป็นภาษาไทยเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 และใช้ชื่อว่า “ศาสดาพยากรณ์” โดยในบทที่ 1 ว่าด้วยคัมภีร์โบราณที่กล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มีคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเก่า , คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลใหม่ , คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับของเซนต์ บาร์นาบัส คำพยากรณ์ในคัมภีร์พุทธศาสนา , ฮินดู และปาร์ซี ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ Muhammad in Parsi , Hindoo and Buddhist scripture เขียนโดย A. Vidyarathi and U. Ali จัดพิมพ์โดยห้องสมุด Abbas Manzil อัลลาฮาบัด , อินเดีย


ในหนังสือ “ศาสดาพยากรณ์” ระบุถึงคำพยากรณ์ในคัมภีร์พุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องของพุทธอนุชาที่ทูลถามพระพุทธองค์ถึงอนาคตของพุทธศาสนาเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว จึงมีพุทธปรารภถึงพระพุทธเจ้า “เมตไตรย” ที่จะมาตรัสรู้ในกาลข้างหน้าเมื่ออายุของพุทธศาสนาล่วงมาแล้ว 5,000 ปี เรียกกันว่า ยุคพระศรีอารย์เมตไตรย โดยผู้เขียน (อาลี อักบัร) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เมตไตรย” (บาลีว่า เมตฺตยฺย ; สันสฟฤต ว่า เมไตรย) ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับผู้มีความเมตตา แล้วก็สรุปว่า คือท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยอ้างอายะฮฺอัล-กุรอานที่ว่า

وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ

“และเรามิได้ส่งท่านมาเป็นศาสนทูตนอกเสียจากเป็นความเมตตาแก่สากลโลก” (อัล-อัมบิยาอฺ : 107)


แน่นอนสำหรับเราในฐานะมุสลิมผู้ศรัทธาเราเชื่อตามที่อัล-กุรอานระบุว่านบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือความเมตตาทีมีแก่โลกทั้งผอง แต่ทว่า นบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือพระพุทธเจ้าผู้มีนามว่า เมตไตรย ตามพุทธทำนายจริงหรือไม่? นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเพียงความน่าจะเป็นหรือความเป็นไปได้ตามข้อสังเกตที่นักเขียนชาวมุสลิม (อาลี อักบัร) ตั้งสมมุติฐานเอาไว้เท่านั้น


ความศรัทธาที่ว่านบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือ ความเมตตาที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงส่งมาให้แก่สากลโลกและมนุษย์ชาติสากลเป็นสิ่งที่เกิดจากความศรัทธาในความเป็นสัจธรรมของคัมภีร์อัล-กุรอาน เมื่ออัล-กุรอานกล่าวเช่นนั้น มุสลิมก็ศรัทธาโดยดุษฎีธรรมและไร้ข้อกังขา นบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะใช่ “เมตไตรย” ตามที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธปรารภเอาไว้แก่พระอนุชาของพระองค์หรือไม่? มิได้มีส่วนสำคัญในการศรัทธาของชาวมุสลิมที่มีต่ออัล-กุรอานและท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แต่อย่างใด


เรื่องที่ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรของพระไตรปิฎกเกี่ยวกับพระศรีอารยเมตไตรยจึงเป็นการตั้งข้อสังเกตและเป็นเรื่องที่มีเค้าว่าน่าจะเป็นไปได้เท่านั้น เพราะคัมภีร์ของเหล่าศาสนทูตรุ่นก่อนที่ระบุถึงการมาของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นคัมภีร์แห่งฟากฟ้า แต่พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ในพุทธศาสนา ซึ่งมิได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของศาสนาแห่งฟากฟ้า (อัล-อัดยานฺ อัส-สะมาวียะฮฺ) ที่เชื่อในพระผู้ทรงสร้างหนึ่งเดียวคือพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)


หลักคำสอนของพุทธศาสนามิได้สั่งสอนให้มนุษย์เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า และเรียกร้องสู่การเคารพสักการะต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) หากแต่พุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอนที่มุ่งสู่การพ้นทุกข์หรือการดับทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในเรื่องอริยสัจ 4 และอริยมรรคมี องค์ 8 โดยเน้นเรื่องไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาเป็นต้น


หลักธรรมของพุทธศาสนาจึงต่างจากหลักธรรมคำสอนของเหล่าศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่มุ่งเน้นในการให้เอกภาพต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นสารธรรมหลัก เมื่อการเป็นเช่นนี้เราในฐานะมุสลิมผู้ศรัทธาก็จะไม่ก้าวล่วงในความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในเรื่องของพระศรีอารยเมตไตรยด้วยการสรุปหรือกล่าวอ้างว่านั่นคือนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยชี้ชัดเช่นนั้น คงทำได้เพียงการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น


2. เป็นไปได้ไหมที่ว่าพระพุทธเจ้าจะเป็นนบี คำถามนี้ได้รับคำตอบมาส่วนหนึ่งแล้วจากข้อที่ 1 แต่มีหลักอยู่ข้อหนึ่งที่จะต้องถือเป็นมาตรฐาน นั่นคือ

لَانُثْبِتُ النَّبَوَّةَلِأَحَدٍإلَّابِدَلِيْلٍ

“เราจะไม่ยืนยันรับรองความเป็นนบีให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดนอกเสียจากด้วยหลักฐาน”


หลักฐานที่ว่าก็คือ อัล-กุรอาน และ อัล-หะดีษที่ถูกต้อง จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า “อัล-กุรอาน อายะฮฺใดที่เป็นหลักฐาน และอัล-หะดีษบทใดที่เป็นหลักฐานยืนยันรับรองความเป็นนบีของพุทธสมณโคดม”


อัล-กุรอานระบุว่า

وَإِن مِّنْ أُمَّةٍ إِلَّا خَلَا فِيهَا نَذِيرٌ

“ไม่มีประชาคมใดเลยนอกจากมีผู้เตือนผ่านมาแล้วในประชาคมนั้น” (บทฟาฏิร : 24)


وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولًا الآية

“และแน่แท้เราได้ส่งศาสนทูตผู้หนึ่งไปในทุกประชาคม” (บทอัน-นะหฺลุ้ : 34)


อายะฮฺอัล-กุรอานเพียงแต่ระบุไว้กว้างๆ ว่าในทุกประชาคมของมนุษย์นับแต่อดีตเคยมีศาสนทูตถูกส่งไปยังพวกเขามาก่อนแล้ว บางส่วนของศาสนทูตเหล่านั้นพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเล่าเรื่องราวหรือออกชื่อเอาไว้ในอัล-กุรอาน และบางส่วนมิได้ทรงเล่าเอาไว้ (อัน-นิสาอฺ : 164 , ฆอฟิร : 78) ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เฉพาะที่พระองค์ทรงเล่าเอาไว้หรือท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เล่าให้เราทราบ ดังกรณีของศาสนทูต 25 ท่าน ที่ออกชื่อเอาไว้มีจำนวนน้อยมากเมื่อนำไปเที่ยบกับจำนวนของศาสนทูตที่เราไม่ทราบชื่อและเรื่องราวของพวกท่านเหล่านั้น


ในหะดีษที่รายงานโดยท่านอบูซัรฺร์ (ร.ฎ.) ซึ่งถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าบรรดาศาสนทูตมีจำนวนเท่าใด? ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “สามร้อยสิบคนเศษ และในรายงานของอบูอุมามะฮฺ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ระบุจำนวนของนบีว่ามี “140,000” คน จากจำนวนนั้นมีรสูลจำนวน 315 ท่าน (รายงานโดยอะหฺมัด)


ตัวบทดังกล่าวระบุถึงจำนวนของนบีและรสูลแต่มิได้ระบุชื่อต่างจากกรณีของบรรดานบีและรสูลที่ถูกระบุชื่อเอาไว้อย่างชัดเจนจำนวน 25 ท่านในคัมภีร์อัล-กุรอาน ส่วนที่มีอัล-หะดีษระบุชื่อเอาไว้ก็คือ นบีชีษ (อ.ล.) ที่ถูกประทานคัมภีร์จำนวน 50 ศุหุฟ (บันทึกโดยอิบนุหิบบาน) และนบียูชะอฺ บิน นูน (บันทึกโดยอะหฺมัดและมุสลิม) ส่วนตุบบะฮฺและซุลก็อรนัยน์นั้นก็มีตวามเห็นต่างกันว่าเป็นนบีหรือไม่?


ดังนั้นในกรณีของพุทธโสมนคดมหรือพระพุทธเจ้าจึงเป็นเรื่องที่มุสลิมจะต้องพึงระวังในการเจาะจงและยืนยันความเป็นนบีของท่าน เพราะไม่มีหลักฐานทั้งจากอัล-กุรอานและอัล-หะดีษระบุในเชิงเจาะจงว่าท่านเป็นนบีหรือรสูลของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ดีที่สุดก็คือยุติ (ตะวักกุฟ) ในการยืนยันรับรองความเป็นนบีของพระพุทธเจ้า เพราะกรณีนี้มีประเด็นคล้ายกับกรณีของตุบบะอฺและซุลก็อรนัยน์ซึ่งมีรายงานที่ถูกต้องจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า “ฉันไม่รู้ว่าตุบบะอฺเป็นนบีหรือไม่? และฉันไม่รู้ว่าซุลก็อรนัยน์เป็นนบีหรือไม่? (บันทึกโดย อัล-หากิม และอัล-บัยฮะกียฺ)


ทั้งๆ ที่อัล-กุรอานก็ออกชื่อตุบบะอฺและเล่าเรื่องราวของซุลก็อรนัยน์ เอาไว้อย่างชัดเจน แต่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ยังกล่าวว่าท่านไม่รู้แน่ชัดว่าบุคคลทั้งสองเป็นนบีหรือไม่? ในกรณีของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีการออกชื่อไว้ในอัล- กุรอานด้วยซ้ำแล้วเราจะยืนยันในเชิงเจาะจงได้อย่างไร? ว่าท่านเป็นนบี!


สิ่งที่เราพูดได้ก็คือ เราไม่รู้แน่ชัดว่าพระพุทธเจ้าเป็นนบีหรือไม่? แต่ถ้าจะวิเคราะห์ในเชิงให้น้ำหนักกันแล้วก็ค่อนไปทางคำตอบว่า ไม่น่าจะใช่หรือไม่ใช่เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันประการหนึ่ง และท่านก็ไม่ได้ประกาศศาสนาที่มีหลักธรรมว่าด้วยความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวซึ่งถือเป็นหัวใจของคำประกาศสาส์นของเหล่าศาสนทูตทั้งหมดนับแต่อดีตจวบจนท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) อีกประการหนึ่งเพราะอัล-กุรอานระบุว่า


وَمَا أَرْسَلْنَا مِن قَبْلِكَ مِن رَّسُولٍ إِلَّا نُوحِي إِلَيْهِ أَنَّهُ لَا إِلَـٰهَ إِلَّا أَنَا فَاعْبُدُونِ

“และเรามิได้ส่งศาสนทูตคนใดมาก่อนหน้าท่านนอกเสียจากว่าเราจะมีวะหิยฺไปยังศาสนทูตผู้นั้นว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากข้า ดังนั้นพวกท่านจงเคารพสักการะต่อข้า” (อัล-อัมบิยาอฺ : 25)


وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولًا أَنِ اعْبُدُوا اللَّـهَ وَاجْتَنِبُوا الطَّاغُوتَ

“และแน่แท้เราได้ส่งศาสนทูตผู้หนึ่งไปในทุกประชาคม (โดยศาสนทูตนั้นประกาศว่า) พวกท่านจงเคารพสักการะพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และจงหลีกห่างสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นพระเจ้า” (อัน-นะหฺลุ้ : 36)


ศาสนทูตทุกท่านจะประกาศหลักธรรมคำสอนในเรื่องเอกานุภาพของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเรียกร้องให้ทุกประชาคมทำการอิบาดะฮฺ (เคารพสักการะ) พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และหลีกห่างจากการตั้งภาคีเหมือนกัน หากสมมุติว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็จะต้องมีหลักธรรมคำสอนในเรื่องดังกล่าว แต่หลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาคือการยึดพระรัตนตรัย หมายถึง แก้ว 3 ดวง คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ซึ่งมิใช่หลักเอกานุภาพอย่างแน่นอน


3. มุสลิมที่มีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นนบีท่านหนึ่งจะมีอะกีดะฮฺอย่างไรก็คงตอบได้ว่าเป็นความเชื่อที่ไร้หลักฐานและสุ่มเสี่ยงในการกล่าวตู่ต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยสิ่งที่ไม่รู้แน่ชัดและคลุมเครือ การศรัทธาต่อบรรดารสูลและนบีมี 2 ลักษณะ คือ


ลักษณะที่ 1) ศรัธทาโดยละเอียด (อีมานมุฟัศศ็อล) เช่น ศรัทธาต่อบรรดารสูลและนบีที่ถูกออกชื่อโดยเจาะจงเอาไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอาน หากถามว่า อัล-ยะสะอฺ (อ.ล.) และ ซุลกิฟลี่ (อ.ล.) เป็นนบีของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ใช่! การปฏิเสธความเป็นนบีของบุคคลทั้งสองถือเป็นการปฏิเสธ (กุฟร์) ที่ทำให้ตกศาสนา (วัลอิยาซุบิลลาฮฺ)


ลักษณะที่ 2) ศรัทธาโดยสังเขป (อีมานมุจญ์มัล) คือศรัทธาว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงแต่งตั้งนบีและรสูลเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่เรารู้ตามที่อัล-กุรอานเล่าไว้ และมีทั้งที่เราไม่รู้เพราะอัล-กุรอานไม่ได้เล่าไว้ และในกรณีที่ไม่ได้เล่าเอาไว้เราก็จะไม่เจาะจงหรือชี้ชัดว่าเป็นนบีหรือรสูล เพราะหากเราไปเจาะจงหรือชี้ชัดทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานมายืนยันก็เท่ากับว่าเราก้าวล่วงไปในสิ่งที่เราไม่รู้ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม


4. หากบรรดานักปราชญ์หรือศาลอิสลามในประเทศที่ใช้กฏหมายอิสลามมีความเห็นว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และการเผยแพร่ความเชื่อเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนหลงผิดบุคคลที่เชื่อและเผยแพร่ความคิดดังกล่าวก็จะต้องถูกบังคับคดีให้ละเลิกและยุติความเชื่อตลอดจนการเผยแพร่นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด (เช่น 3 วัน) หากบุคคลผู้นั้นยังคงยืนกรานก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามระวางโทษที่กฏหมายอิสลามของประเทศนั้นกำหนดซึ่งอาจจะถูกคุมขังหรือมีโทษประหารชีวิตก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลและตัวบทกฏหมายเป็นสำคัญ

والله اعلم بالصواب