หมากรุก หมากฮอส  (อ่าน 7178 ครั้ง)

อับดุลรอซาก

  • บุคคลทั่วไป
หมากรุก หมากฮอส
« เมื่อ: พฤษภาคม 16, 2013, 11:09:39 pm »
มีเรื่องรบกวนถามอาจารย์อาลีครับ

อิบนุลก็อยยิมกล่าวว่า “ความเสียหายของหมากรุกรุนแรงกว่าความเสียหายของลูกเต๋า งั้นทุกสิ่งที่บ่งบอกถึงข้อห้ามของลูกเต๋า หลักฐานนั้นก็บ่งบอกถึงข้อห้ามของหมากรุกด้วย”

وقال الذهبي رحمه الله : (وأما الشطرنج فأكثر العلماء على تحريم اللعب بها سواء كان برهن أو بغيره أما بالرهن فهو قمار بلا خلاف

ท่านซะฮะบีย์กล่าวว่า “ประเด็นของหมากรุกนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าหะรอมที่จะเล่นมันไม่ว่าการเล่นนั้นจะมีการพนัน (เข้ามาเกี่ยวข้อง) หรือไม่ก็ตาม”
والله أعلم

จากคำกล่าวข้างต้น ตกลงหมากรุกนี่เล่นไม่ได้เลยใช่มั้ยครับแม้ว่าจะเล่นเพื่อความเพลิดเพลินหรือฝึกทักษะด้านความคิดและคำพูดที่ว่า "ความเสียหายของหมากรุกรุนแรงกว่าความเสียหายของลูกเต๋า" นั้นหมายความว่าอย่างไร และหมากฮอสก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกับหมากรุกใช่ใหมครับ ที่ผมไม่เข้าใจคือผมมักฝึกทักษะด้านความคิดโดยการเล่นหมากฮอส มันเสียหายอย่างไรครับ ผมอยากได้ความชัดเจนเรื่องนี้ เห็นมีอาจารย์ท่านนึงตอบไว้ในกระทู้ว่าไม่ได้ และฮูก่มว่าอย่างไร บทลงโทษอย่างไร หรือมีความเห็นต่างอื่นอีกใหม ขอรบกวนอาจารย์อาลีเท่านี้ครับ

ญาซากัลลอฮุคอยรอล

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: หมากรุก หมากฮอส
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 28, 2013, 01:36:44 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

“หมากรุก” หมายถึง การเล่นชนิดหนึ่งบนกระดานสี่เหลี่ยม มี 64 ตา ซึ่งเรียกว่า กระดานหมากรุก ในภาษาอาหรับเรียกหมากรุกว่า อัช-ชิฏฺร็อนฺจญ์ (الشِّطْرَنْج) มาจากคำ ฟาริสียฺ ว่า ชัตรองก์ (شَتْرَنْك) แปลว่า 6 สี คือมีตัวหมากที่ใช้เล่นแบบเปอร์เซีย 6 ประเภท คือ 1) ชาฮฺ 2) ฟิรฺซาน 3) ฟีลฺ 4) ฟะร็อส 5) รุคฺค์ 6) บัยฺซัก


คำว่า ชัตรองก์ ในภาษาฟาริสียฺมี รากศัพท์มาจากคำสันสกฤตว่า “จัตรองฆา” คือ คำว่า “จาตุรงค์” เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า มีองค์ 4 , มี 4 ส่วน (จาตุร+องค์) หมายถึง 4 เหล่าทัพที่ประกอบด้วย ม้า , ช้าง , พาหนะ และพลเดินเท้า ชาวเปอร์เซียรับเอาการเล่นหมากรุกมาจากอินเดียในคริสตศวรรษที่ 6 และชาวอาหรับก็รับเอามาจากชาวเปอร์เซียอีกทอดหนึ่งโดยเข้าใจว่าเป็นของเปอร์เซียแต่เดิม ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นของอินเดีย


ส่วนหมากฮอส เป็นการเล่นชนิดหนึ่ง เล่นบนกระดานสี่เหลี่ยมคล้ายกระดานหมากรุก เดินหมากตามทแยง


สำหรับ “ลูกเต๋า” เป็นลูกเหลี่ยมมี 6 หน้า แต่ละหน้าเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีแต้ม ใช้ในการเล่นพนัน มีลูกเต๋า สกา และไฮโล เป็นต้น


ประเด็นที่ถามมาเป็นกรณีของหมากรุกซึ่งถามว่าเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ในการเล่นหมากรุกหรือไม่? ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฺฎอวียฺ ระบุว่า “บรรดานักปราชญ์ จากนักวิชาการฟิกฮฺ , นักอรรถาธิบายอัล-กุรอาน (มุฟัสสิรฺ) และนักวิชาการหะดีษ (มุหัดดิษ) ตลอดจนนักอรรถาธิบายตำรา (ชุรฺรอห์) มีความเห็นตรงกันว่า หมากรุกไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอาหรับในสมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ชาวอาหรับรู้จักหมากรุกภายหลังพิชิตดินแดน (ตามที่อิบนุกะษีร ระบุไว้ในอัล-อิรฺชาด และในตำรานัยลุล-เอาฏ็อรฺ 8/259) ชาวอาหรับรับเอาหมากรุกมาจากชาวเปอร์เซีย ซึ่งชาวเปอร์เซียเอามาจากชาวอินเดีย (ฟะตาวา มุอาศิเราะฮฺ เล่มที่ 2/462) อัล-หาฟิซ อิบนุ กะษีร กล่าวว่า “บรรดาหะดีษที่รายงานมาในเรื่องนี้ไม่มีสิ่งใดถูกต้อง (เศาะหิหฺ) เลย”


เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า หมากรุกยังไม่เป็นที่รู้จักในสมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงไม่มีหะดีษที่ถูกต้องตามรายงานมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเนื่องจากไม่มีตัวบททางศาสนาที่ชัดเจนและเด็ดขาดชี้ชัดในเรื่องการเล่นหมากรุกทำให้บรรดานักนิติศาสตร์มีความเห็นต่างกัน บ้างก็ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ (มุบาห์) บ้างก็ว่าน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) บ้างก็ว่าเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)


ท่านอัลลามะฮฺ อิบนุ หะญัรฺ อัล-ฮัยษะมียฺ กล่าวถึงบรรดาหะดีษที่มีเล่ามาในการประณามการเล่นหมากรุกว่า “อัล-หาฟิซฺ กล่าวว่า “ไม่มีหะดีษใดเลยจากบรรดาหะดีษเหล่านั้นที่มีการรายงานอย่างถูกต้องจากสายรายงานที่เศาะฮีหฺและหะสัน แน่แท้มีคนกลุ่มหนึ่งจากชนอาวุโสของเศาะหาบะฮฺเคยเล่นหมากรุก และมีคนรุ่นตาบิอีนและคนหลังจากพวกเขาอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่เคยเล่น ส่วนหนึ่งจากบุคคลที่เล่นหมากรุกบ้าง คือ ท่านสะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ (ร.ฎ.)” (ตุหฺฟะฮฺ อัล-มุหฺตาจญ์ ฟี ชัรหิลมินฮาจญ์ 10/217)


ตำราอ้างอิงในมัซฮับหะนะฟียฺเห็นตรงกันที่ว่า ผู้ที่เล่นการพนันด้วยหมากรุก ถือว่าเป็นคุณสมบัติในความมีคุณธรรม (อะดาละฮฺ) ของผู้นั้นตกไป และการเป็นพยาน (ชะฮาดะฮฺ) ของผู้นั้นจะไม่ถูกยอมรับ เพราะกระทำบาปใหญ่ที่ต้องห้ามเนื่องจากมีการพนันเข้าไปในการเล่นหมากรุก ซึ่งการพนันเป็นสิ่งที่คู่กับสุราตามที่ปรากฏในอัล-กุรอาน ส่วนการเล่นหมากรุกเฉยๆ ไม่ถือเป็นสิ่งที่ฝ่าฝืนบัญญัติ (ฟิสก์) ที่ห้ามรับการเป็นพยาน เพราะการวิเคราะห์ข้อชี้ขาดใน หุก่มของหมากรุกเป็นสิ่งที่อนุญาต (อัล-ฮิดายะฮฺ มะอ๊า ฟัตหิลเกาะดีร 6/38)


และการเล่นลูกเต๋ากับการเล่นหมากรุกก็มีข้อชี้ขาดต่างกัน กล่าวคือ การเล่นลูกเต๋า (อัน-นัรฺด์) เป็นสิ่งที่ทำให้คุณสมบัติของความมีคุณธรรม (อะดาละฮฺ) เป็นโมฆะโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากมีมติเห็นพ้องว่าการเล่นลูกเต๋าเป็นสิ่งต้องห้าม ต่างจากกรณีของหมากรุก เพราะมีการวิเคราะห์ (อิจญ์ติฮาด) ข้อชี้ขาดที่ต่างกันของบรรดาอิมามมุจญ์ตะฮิด อาทิ อิมามมาลิก (ร.ฮ.) และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่าเป็นสิ่งที่อนุญาต และมีรายงานจากอิมามอบูยูสุฟ (ร.ฮ.) อีกด้วย (อัล-บะหฺรุรฺรออิก ชัรหุกันซฺ อัด-ดะกออิก 7/91)


สำหรับมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺนั้น อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า “การเล่นหมากรุกเป็นมักรูฮฺ (น่ารังเกียจ) บ้างก็ว่า อนุญาต (มุบาหฺ) ไม่มักรูฮฺแต่อย่างใด อัล-หะลีมียฺมีทัศนะค่อนไปทางหะรอม และอัร-รูยานียฺก็เลือกทัศนะนี้ แต่ที่ถูกต้องคืออันแรก (อัร-เราะเฏาะฮฺ 11/225)” กล่าวคือ เป็นมักรูฮฺ ตันซีฮฺ และอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ยังกล่าวอีกว่า “การเล่นลูกเต๋าถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามคำกล่าวที่ถูกต้อง และการเล่นหมากรุกนั้นมักรูฮฺ (11/226)”


อิมามมาลิก (ร.ฮ.) ถูกถามถึงการเล่นหมากรุก ท่านกล่าวว่า “ไม่มีความดีอันใดในมัน ไม่ใช่อะไร มันเป็นส่วนหนึ่งจากสิ่งไร้สาระ การเล่นทั้งหมดเป็นสิ่งไร้สาระ...” (อัล-บะยาน วัต-ตะหฺศีล 18/436)


นักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัล-หัมบะลียฺ เช่น อิบนุกุดามะฮฺ (ร.ฮ.) ระบุว่าการเล่นหมากรุกก็เหมือนกับการเล่นลูกเต๋าในการเป็นที่ต้องห้าม เว้นเสียแต่ว่า การเล่นลูกเต๋าหนักกว่าการเล่นหมากรุกในการเป็นที่ต้องห้าม เพราะมีตัวบทรายงานระบุการห้ามมา แต่การเล่นหมากรุกก็เข้าอยู่ในความหมายของการเล่นลูกเต๋าโดยใช้หลักกิยาส (ดู รายละเอียดใน อัล-มุฆนียฺ 9/172,173)


หะดีษที่ระบุว่าการเล่นลูกเต๋าเป็นที่ต้องห้าม (ไม่ว่าจะมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม) มีรายงานมาอย่างถูกต้องเป็นเพราะการเล่นลูกเต๋าเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอาหรับมาก่อนยุคอิสลามโดยรับมาจากพวกเปอร์เซีย ซึ่งต่างจากกรณีของการเล่นหมากรุกที่ไม่ปรากฏมีหะดีษที่อ้างถึงรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องและหะสันดังที่กล่าวมาข้างต้น และการเทียบ (กิยาส) ระหว่างการเล่นลูกเต๋ากับการเล่นหมากรุกก็เป็นการเทียบที่มีข้อต่าง (กิยาสมะอัลฟาริก)


ส่วนที่มีรายงานจากท่านอะลี (ร.ฎ.) ว่า “หมากรุกเป็นส่วนหนึ่งจากการพนัน” ก็ปรากฏว่าสายรายงานขาดตอน (มุงเกาะฏิอฺ) นอกเหนือจากเป็นหะดีษเมาวฺกูฟ ซึ่งไม่ถือเป็นหลักฐาน ตลอดจนสิ่งที่ถูกรายงานมาจากบรรดาเศาะหาบะฮฺก็มีความขัดแย้งกัน กล่าวคือ มีรายงานจากอิบนุ อับบาส , อิบนุ อุมัร , อบุมูซา อัล-อัชอะรียฺ , อบูสะอีด และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอลันฮุม) ว่า พวกเขารังเกียจการเล่นหมากรุก ในขณะที่รายงานจากอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) และอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) รวมถึงชนรุ่นตาบิอีน เช่น อิบนุสีรีน , สะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบ , สะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ และ ฮิชาม อิบนุ อุรวะฮฺ อิบนุ อัซ-ซุบัยฺร์ ว่าเป็นที่อนุมัติ (มุบาหฺ) (นัยลุ้ล-เอาฏ็อร 8/259)


ชัยคฺ ยูสุฟ อัล-กอรฎอวียฺ สรุปว่า “ที่มีน้ำหนักก็คือ หลักเดิมในข้อชี้ขาดของหมากรุกเป็นที่อนุมัติแต่มีเงื่อนไขตามที่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และ อัลหะนะฟียฺ ระบุไว้คือ

1) ต้องไม่มีการเล่นพนัน หาไม่แล้วก็เป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นบาปใหญ่

2) ไม่เล่นจนเพลินเลยเวลาละหมาด

3) ไม่มีการใช้คำหยาบคาย การสบถสาบานขณะเล่น

4) ไม่เล่นตามข้างทางหรือถนนเพราะทำให้เสียกริยาของผู้ประพฤติคุณธรรม

5) ไม่เล่นจนเสพติด (ดู ฟะตะวา มุอาศิเราะฮฺ เล่ม 2 หน้า 458-477 โดยละเอียด)

ในทัศนะของผม ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ ชัยคฺยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ ให้น้ำหนักไว้ ส่วนคำกล่าวของอัล-ลามะฮฺ อิบนุ ก็อยยิม (ร.ฮ.) และอิมามอัซ-ซะฮฺบียฺ (ร.ฮ.) ที่มีการชี้ชัดว่า การเล่นหมากรุกเป็นที่ต้องห้าม นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งจากทัศนะของนักวิชาการที่มีความเห็นต่างดังรายละเอียดที่กล่าวมา ซึ่งข้อชี้ขาดว่าเป็นที่ต้องห้ามนั้นไม่เด็ดขาดและไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะไม่มีตัวบทที่ถูกต้องและเด็ดขาดมาตัดสินแบบเบ็ดเสร็จ จึงมีการวิเคราะห์และวินิจฉัยที่ต่างกัน


หากการเล่นหมากรุกจะเป็นที่ต้องห้ามก็เป็นที่ต้องห้ามด้วยการวิเคราะห์ (حرام بالاجتهاد) มิใช่เป็นที่ต้องห้ามด้วยตัวบทหลักฐาน (حرام بالنص) และสิ่งใดที่จะเป็นที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาดก็จะต้องมีตัวบทหลักฐานมาเป็นตัวกำหนดเท่านั้น ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่มีตัวบทหลักฐานเด็ดขาดจึงกลายเป็นเรื่องของทัศนะ ซึ่งใครเห็นด้วยกับทัศนะใดก็ว่ากันไปตามนั้น เรื่องของหมากรุกเป็นอย่างไรเรื่องของหมากฮอสก็อีหรอบเดียวกันครับ

والله اعلم بالصواب