ความหมาย/ความต่างของคำเหล่านี้ที่ได้ยินกันบ่อยๆ  (อ่าน 5648 ครั้ง)

prateep

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 3
Slam krub..
ผมอยากทราบความหมาย/ความต่างของคำเหล่านี้ที่ได้ยินกันบ่อยๆ
1. ซอหะบะห์
2. ซะรับซอและห์
3. อุละห์มา
4. (คนรุ่น) ตาบิอีน
5. มัซฮับ
อาจจะสะกดผิดไปบ้างนะครับ
ขอบคุณครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ความหมาย/ความต่างของคำเหล่านี้ที่ได้ยินกันบ่อยๆ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 06, 2013, 10:55:41 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


เศาะหาบะฮฺ  (صَحَابَةٌ)   : บรรดามิตรสหายผองเพื่อน , สาวก (โดยอนุโลมคำว่าสาวกแปลว่า ศิษย์ของศาสดา) คำว่า “เศาะหาบะฮฺ” เป็นคำนามพหูพจน์ของคำว่า “ศอหิบ”  (صَاحِبٌ)ซึ่งเป็นคำนามประธาน (اسم الفاعل) ของคำกริยาว่า “เศาะหิบ้า” (صَحِبَ) หมายถึง ผู้ที่อยู่ร่วมเป็นประจำ , ผู้ที่เป็นเพื่อน , ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ในด้านรูปคำตามวิชานิรุกติศาสตร์นั้น คำว่า “เศาะหาบะฮฺ” ยังเป็นคำอาการนาม (مصدر) ของคำกริยา “เศาะหิบ้า” อีกด้วย มีความหมายว่า การเป็นเพื่อน ความเป็นมิตร และการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น


คำนามพหูพจน์ของคำว่า “ศอหิบ” นอกจากคำว่า “เศาะหาบะฮฺ” ยังมีคำว่า “เศาะหฺบุน” (صَحْبٌ) , “อัศหาบ” (أَصْحَابٌ) , ศุหฺบะฮฺ” (صَحْبَةٌ), “ศิหาบ” (صِحَابٌ) , “ศุหฺบาน” (صُحْبَان)และคำว่า “ศิหาบะฮฺ” (صِحَابَةٌ)  ทั้งหมดมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “เศาะหาบะฮฺ” แต่มีรูปคำต่างกัน


ส่วนความหมายโดยนิยามนั้น โดยรวมคำว่า “เศาะหาบะฮฺ” หมายถึงบรรดามิตรสหายผู้เป็นศิษยานุศิษย์ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยพบหรือเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ศรัทธาต่อท่านและมั่นคงในศรัทธาจนสิ้นอายุขัย ส่วนในรายละเอียดของคำนิยามว่าจะต้องอยู่ร่วมกับท่าน (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในระยะเวลาสั้นๆ หรือยาวนานต้องรายงานอัล-หะดีษหรือไม่กรณีนี้มีความเห็นต่างกันในหมู่นักวิชาการ และเรียกบุคคลที่เป็นเศาะหาบะฮฺนี้ว่า เศาะหาบียฺ  (صَحَابِيٌّ)   หมายถึงผู้ที่ถูกอ้างถึงความเป็นมิตรสหายของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั่นเอง



อัส-สะลัฟ อัศ-ศอลิหฺ (السَّلَفُ الصَّالِحُ) คำว่า อัส-สะลัฟ (السَّلَفُ) หมายถึง ทุกๆ การกระทำที่ดีในอดีตที่ผ่านมา หรือหมายถึง ทุกๆ บุคคลที่มีชีวิตมาก่อนหน้าท่าน เช่น บรรดาบรรพบุรุษหรือบรรพชน ส่วนคำว่า อัศ-ศอลิหฺ หมายถึง ที่ดีหรือผู้ที่ประพฤติดีประพฤติชอบมีคุณธรรมอันงดงาม เมื่อนำเอาคำว่า อัส-สะลัฟ และคำว่า อัศ-สอลิหฺมาผสมเพื่อให้คำหลังแสดงคุณสมบัติหรือคุณลักษณะให้แก่คำหน้าก็มีความหมายตามรากศัพท์ว่า “บรรพชนผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ”


ส่วนความหมายโดยนิยามคือ กลุ่มชนในยุคอดีตนับแต่ต้นการอุบัติขึ้นของศาสนาอิสลาม ซึ่งโดยรวมจะหมายถึงชนรุ่นแรกในช่วงเวลาราว 300 ปีแรกหรือ 3 ชั่วคน หรือ 3 ศตวรรษแรกของประชาคมมุสลิม อันได้แก่ ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) รุ่นที่สองเรียกว่า ตาบิอุศเศาะหาบะฮฺ (تَابِعُوالصحابة) หมายถึง บรรดาผู้ปฏิบัติตามแนวทางของชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ กล่าวคือ เป็นศิษย์ของเศาะหาบะฮฺ ซึ่งไม่ทันพบกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) รุ่นที่สาม เรียกว่า “ตาบิอุตตาบิอีน” (تَابِعُوالتَابِعِيْنَ) หมายถึง บรรดาผู้ปฏิบัติตามแนวทางของชนรุ่นศิษย์ของเศาะหาบะฮฺ ชนทั้ง 3 รุ่นนี้เรียกรวมๆ ว่า “อัส-สะลัฟ อัศ-ศอลิหฺ”



อุละมาอฺ (عُلَمَاءُ) หมายความว่า บรรดาผู้รู้ บรรดาปราชญ์หรือบัณฑิต เป็นคำนามพหูพจน์ของคำว่า “อาลิม” (عَالِمٌ) หรือ “อะลีม” (عَلِيْمٌ) โดยปริยายคำว่า “อุละมาอฺ” จะหมายถึง ปราชญ์หรือผู้รู้ทางศาสนา แต่ถ้ามุ่งหมายการเจาะจงสาขาวิชาก็จะมีการเติมชื่อเรียกวิชาสาขานั้นๆ ต่อจากคำว่า “อาลิม” หรือ “อุละมาอฺ” เช่น อาลิม บิลหิสาบ (عالِمٌ بالحِسَاب) “ปราชญ์วิชาคำนวณ” หรือ “อุละมาอฺ อัต-ตัฟสีร” (عُلَمَاءُالتَّفْسِبْرِ) “บรรดาปราชญ์ศาสตร์แห่งการอรรถาธิบายอัล-กุรอาน”


หรือไม่ก็อ้างถึงศาสตร์แขนงนั้นโดยใส่อักษรยาอฺนิสบะฮฺที่ท้ายคำ เช่น ลุเฆาะวียฺ (لُغَوِيٌّ) นักภาษาศาสตร์ , ฟะละกียฺ  (فَلَكِيٌّ) นักดาราศาสตร์ เป็นต้น บางทีคำว่า “อุละมาอฺ” ก็หมายถึง นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการที่สันทัดกรณีหรือชำนาญทางเฉพาะสาขาวิชาก็ได้ เช่นกัน


ตาบิอูน – ตาบิอีน (تابعون – تابعين) หมายถึง ผู้ตาม ผู้ถือตาม ผู้ที่ตามมาในลำดับหรือชั้นหลัง เป็นคำพหูพจน์ของคำว่า ตาบิอฺ  (تابعٌ) ซึ่งโดยปริยายหมายถึง ชนในรุ่นที่สองซึ่งเป็นศิษย์ของเศาะหาบะฮฺ


มัซฮับ  (مَذْهَبٌ)เป็นคำอาการนาม (مصدر) ของคำกริยา ซะฮะบ้า (ذَهَبَ) ซึ่งแปลว่า ไป หรือ มีทัศนะมีความเห็นในประเด็นนั้นๆ หรือแปลว่า ที่ไป ก็ได้ โดยปริยายหมายถึง ความเชื่อที่ถูกยึดถือ (อัล-มุอฺตะก็อด) , วิถีทาง – แนวทาง (อัฏ-เฏาะรีเกาะฮฺ) , หลักมูลฐาน (อัล-อัศล์) หรือสำนักคิดที่มีหลักคิดและแนวทางเฉพาะในการแสดงความเห็น มุมมองการวิเคราะห์


เช่น มัซฮับทั้ง 4 ของกลุ่มอะฮิลุสสุนนะฮฺ วัล-ญามาอะฮฺ อันได้แก่ มัซฮับ-หะนะฟียฺ , มาลิกียฺ , ชาฟิอียฺ และหัมบะลียฺ ในด้านนิติศาสตร์อิสลาม , มัซฮับอัล-กูฟียีน และอัล-บะเศาะรียีน ในศาสตร์ไวยากรณ์และนิรุกติศาสตร์ของชาวอาหรับ เป็นต้น


والله اعلم بالصواب
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 06, 2013, 10:57:14 am โดย อ.อาลี เสือสมิง »