สัญญายืมเงิน  (อ่าน 6111 ครั้ง)

Huda

  • บุคคลทั่วไป
สัญญายืมเงิน
« เมื่อ: พฤษภาคม 29, 2013, 01:17:57 am »
 salam
เรียนถามอาจารย์คะว่า ถ้าเราจะให้พี่น้องมุสลิมยืมเงิน
เราจำเป็นต้องเขียนสัญญาไหม และถ้าเขียน ต้องเขียนแบบใดจึง
จะถูกต้องตามหลักศาสนาคะ   

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: สัญญายืมเงิน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 10, 2013, 12:37:05 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ในกรณีของการยืมเงินนั้น มีบัญญัติทางศาสนาให้มีการเขียนสัญญาการยืมและการมีพยานรับรู้เพื่อป้องกันปัญหาและความขัดแย้งในภายหลัง แต่ถามว่า การเขียนสัญญาการยืมเงินหรือการทำธุรกรรมตลอดจนการมีพยานรับรู้นั้นเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) หรือไม่ กรณีนี้นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นต่างกัน


นักวิชาการกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่าการเขียนสัญญาและการมีพยานรับรู้ในเรื่องหนี้สินที่มีกำหนดเวลาในการชำระหนี้เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ทั้งนี้อิมาม อัฏ-เฏาะบะรียฺ (ร.ฮ.) มีความเห็นว่าการเขียนสัญญาการชำระหนี้จำเป็นทั้งในกรณีการซื้อขายและกู้ยืม เพื่อมิให้เกิดการหลงลืมและการปฏิเสธจากฝายหนึ่งฝ่ายใดในภายหลัง


แต่ปวงปราชญ์ (อัล-ญุมฮูรฺ) มีความเห็นว่า คำสั่งใช้ในคัมภีร์อัล-กุรอาน (อายะฮฺ 282-283 สูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ) ที่ว่าด้วยการเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรและการมีพยานรับรู้นั้นเป็นคำสั่งในเชิงส่งเสริม (มันดูบฺ) มิใช่เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) เพราะไม่มีการรายงานถ่ายทอดจากบรรดาชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ , อัต-ตาบิอีน และบรรดานักนิติศาสตร์ในหัวเมืองอิสลามว่าพวกท่านเหล่านั้นเข้มงวดและเคร่งครัดในเรื่องนี้ แต่การยืมหนี้ยืมสินและการทำธุรกรรมค้าขายในหมู่พวกท่านเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีการเขียนสัญญาและการมีพยานรับรู้โดยไม่มีการคัดค้านใดๆ เกิดขึ้น ตลอดจนในกรณีที่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้ให้ยืม (เจ้าหนี้) กับผู้ยืม (ลูกหนี้) ก็ให้มีการชำระหนี้สินตามปกติเมื่อครบกำหนดตามที่ได้ตกลงกันไว้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนสัญญาหรือมีพยาน (อัต-ตัฟสีรฺ อัล-มุนีรฺ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ เล่มที่ 3 หน้า 118)



อย่างไรก็ตามการเขียนสัญญาและมีพยานรับรู้นั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริมเพื่อความชัดเจนและป้องกันปัญหาที่จะเกิดภายหลัง ทั้งนี้ไม่ว่าวงเงินที่หยิบยืมนั้นจะมากหรือน้อยก็ตาม


ส่วนวิธีการเขียนสัญญานั้นก็มีระเบียบตามสากลทั่วไปอย่างที่ทราบกัน คือ ผู้เขียนสัญญาต้องเขียนสัญญานั้นตามความเป็นจริงและถูกต้องชัดเจนตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน คือ ระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้ให้ยืม ใครเป็นผู้ยืม ยืมในวงเงินเท่าใด มีกำหนดเวลาในการชำระหนี้นั้นเมื่อใด แล้วก็ลงลายมือชื่อของบุคคลทั้งสองฝ่ายพร้อมด้วยการมีพยานรับรู้เป็นชาย 2 คน หรือ ชาย 1 คน กับหญิง 2 คน โดยพยานจำต้องรับรู้รายละเอียดอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาที่เขียนขึ้นต่อหน้าพยานแล้วให้ลงลายมือชื่อรับรองเอาไว้ ซึ่งสัญญาที่เขียนนี้สามารถทำเป็น 2 ฉบับโดยมีรายละเอียดและเนื้อหาเหมือนกันแล้วมอบไว้ให้แก่บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 1 ฉบับเหมือนอย่างที่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไป

والله اعلم بالصواب