การอ้างอิงคำพูดของคนต่างศาสนา เพื่อช่วยในการดะวะห์ ถือว่าถูกต้องหรือไม่??  (อ่าน 6918 ครั้ง)

kritsada

  • บุคคลทั่วไป
Asalamu'alaikum  อาจารย์ครับ คือผมได้มีโอกาสไปฟัง ดร. ซากิร อับดุลการีม ไนค์ บรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับคำภีร์ไบเบิ้ล และอัลกุรอาน ในยูทูป(พิมพ์ว่า กุรอานกับไบเบิ้ลก้จะเจอ)มีอยู่ตอนนึง ท่านดร. ได้อ้างคำพูดของ ไอน์สไตล์ที่ว่า "วิทยาศาสตร์ที่ไม่มีศาสนานั้น ไม่สมประกอบ ศาสนาที่ไม่มีวิทยาศาสตร์นั้น มืดบอด" แล้วผมก็รู้สึก ชอบเกี่ยวกับ คำพูดนี้ ผมจึงโพสในเฟสบุ๊ค เพื่อหวังให้คนต่างศาสนาในเฟสได้ฉุกคิดว่า ศาสนาที่เขานับถือนั้น สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์หรือไม่!! แต่ก็ได้มีเพื่อนคนหนึ่ีงมาคอมเม้นท์ ประมาณว่าสิ่งที่คุณทำ ถือเป็นการดูถูกคำสอนของศาสนาอิสลาม ทำไมต้องเอาคำพูดของคนต่างศาสนามาทำการดะวะห์คน แล้วผมก็ได้ชี้แจงว่า ผมได้แรงบันดาใจมาจาก ดร. ท่านนี้ ชี้แจงกันยาวพอสมควร" ....... เข้าคำถามเลยนะครับ สรุปว่า การที่นำคำพูดของคนที่ไม่ใช่มุิสลิม เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในการดะวะห์ศาสนา โดยคำพูดนั้น ก็มิได้ผิดหลักการแต่อย่างใด เป็นตัวช่วยให้เกิดความแข็งค่า และเป็นสากลมากขึ้นในสายตาของคนต่างศาสนา ฉะนั้นอยากถามอาจารย์อาลี การกระทำดังกล่าว เป็นการดูถูกคำสอนของศาสนาอิสลามหรือไม่ ดูถูกในแง่นี้คือ คำสอนในอิสลามก็มี แต่ไปใช้คำของคนนอกศาสนาประมาณนี้น่ะคับ

ญาซากัลลอฮฺ ค๊อยรอน ครับอาจารย์

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

แน่นอน หลักคำสอนของศาสนาอันมีที่มาจากคัมภีร์อัล-กุรอานซึ่งเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และมีที่มาจากวจนะของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) ถือเป็นสัจธรรมสูงสุดที่ผู้ศรัทธาต้องอ้างอิงเป็นหลักและเป็นเบื้องปฐมของการดะอฺวะฮฺเรียกร้องเชิญชวนผู้คนสู่หนทางอันเที่ยงตรง ข้อนี้ผู้ศรัทธาเทิดทูนและเชื่อมั่น



แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าการใช้ข้อมูลประกอบเรื่องสำหรับการดะอฺวะฮฺเรียกร้องเชิญชวนผู้คนที่ไม่ได้ศรัทธาต่ออัล-กุรอานและอัล-หะดีษไม่เชื่อมั่นในถ้อยคำของปราชญ์และนักคิดชาวมุสลิมจะไม่สามารถนำถ้อยคำของปราชญ์หรือนักคิดหรือนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่มุสลิมมาประกอบเรื่องเป็นข้อมูลเสริมได้



เพราะถ้าหากตั้งเงื่อนไขว่าจำต้องอาศัยถ้อยคำหรือหลักคิดของชาวมุสลิมเท่านั้นและห้ามมิให้อ้างอิงคำพูดหรือทัศนะของชนต่างศาสนามาใช้ในเรื่องการดะอฺวะฮฺเชิญชวนโดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ถ้อยคำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและไม่ได้ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลามแล้วไซร้ ตำรับตำราที่เขียนปกป้องหลักคำสอนของศาสนาอิสลามและตอบโต้แนวคิดในเชิงมิจฉาทิฐิและเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอิลาม ชาวมุสลิมก็คงต้องฉีกทิ้งหรือเผาทำลายเสีย เพราะมีการอ้างอิงคำพูดของชนต่างศาสนาเป็นจำนวนมากในตำรับตำราเหล่านั้น



การอ้างอิงเพื่อสนับสนุนและมุ่งชี้ประเด็นว่าแม้แต่ชนต่างศาสนิกยังยอมรับในความงดงามของหลักคำสอนของอิสลาม ความยิ่งใหญ่ของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และคุณูปการของเหล่านักปราชญ์ชาวมุสลิมในการสร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ย่อมมิใช่เป็นการดูถูกดูแคลนหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม และย่อมมิใช่เป็นการกระทำเบาความต่อหลักคำสอนในศาสนาอิสลามด้วยการไปใช้คำพูดของคนนอกศาสนามาสนับสนุนสัจธรรมแห่งอิสลาม



เพราะแม้แต่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็เคยอ้างบทกวีของนักกวีในยุคก่อนอิสลามนามว่า อุมัยยะฮฺ อิบนุ อบี-อัศศ็อลต์ (เสียชีวิต ค.ศ. 626) ที่กล่าวถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) นั่นย่อมบ่งชี้ว่าการอ้างคำพูดที่ถูกต้องและไม่ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาย่อมเป็นข้ออนุโลมที่สามารถกระทำได้



ถึงแม้ว่าเจ้าของพูดจะมิใช่มุสลิมก็ตาม จึงมีคำพูดที่กล่าวว่า “จงพิจารณาสิ่งที่เขาพูด อย่าพิจารณาผู้พูดว่าเป็นผู้ใด” แน่นอนการพิจารณาสิ่งที่เขาพูดในเรื่องทั่วไปว่าจริงหรือถูกต้องหรือไม่คงมิใช่เป็นประเด็นของการวิเคราะห์สายรายงานของหลักฐานจากอัล-หะดีษ เพราะประเด็นนั้นต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้พูดหรือผู้รายงาน



แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นเรื่องของคำพูดทั่วๆ ไปที่มิใช่หลักฐานทางศาสนา ก็ให้พิจารณาเพียงเนื้อหาว่าถูกต้องและสมเหตุสมผลหรือไม่เท่านั้น เรื่องที่น่าเศร้าก็คือคนที่เคร่งครัดในเรื่องนี้ลืมไปเสียสนิทว่า หลายเรื่องที่เป็นวิทยปัญญาในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามซึ่งมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับโดยมากแล้วมักจะอ้างถ้อยคำของนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการผู้สันทัดกรณีซึ่งมิใช่มุสลิมมาประกอบ และสนับสนุนอยู่เนืองๆ การกระทำอย่างนั้นเป็นการดูถูกหลักคำสอนของศาสนาหรือไม่ ลองตรองดู!

والله اعلم بالصواب