ซะกาต (คนมิสกีนที่ไปประกอบอาชีพ)  (อ่าน 8841 ครั้ง)

hud

  • บุคคลทั่วไป
ซะกาต (คนมิสกีนที่ไปประกอบอาชีพ)
« เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2013, 02:42:27 pm »
พระองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ) ได้กำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ให้เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับซะกาต มี 8 ประเภท คือ

   1. คนอนาถา (ฟะกีร) ได้แก่บุคคลไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากขาดสมรรถภาพบางประการในร่างกาย จำเป็นต้องได้รับการอนุเคราะห์
   
   2. คนขัดสน (มีสกีน) ได้แก่ผู้ที่มีความสามารถจะเลี้ยงชีพได้แต่ขาดแคลน เนื่องจากความยากจน เช่น แม่หม้ายที่สามีตายต้องเลี้ยงลูกกำพร้าตามลำพังโดยที่ไม่มีทรัพย์สมบัติ
   
   3. ผู้รวบรวมและจ่ายซะกาต ได้แก่เจ้าหน้าที่ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นให้รวบรวมเก็บซะกาตไปแจกจ่ายแก่บุคคล หรือองค์การที่พึงได้รับ ซึ่งแสดงว่าการรวบรวมและการแบ่งทรัพย์นี้ต้องอาศัยองค์การกลาง ซึ่งเรียกว่า บัยตุลมาล คือคลังเก็บสิ่งที่ได้จากการรับซะกาต (คลังซะกาต)
   
   4. ผู้ที่ควรแก่การปลอบใจ ได้แก่ผู้ที่จะมาหรือได้รับนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อเข้ามาใหม่ ๆ ก็อาจจะอัตคัตขาดแคลนด้วยถูกตัดญาติจากพ่อแม่พี่น้อง จึงสมควรได้รับการอุปการะ หากเป็นผู้มั่งคั่งก็ไม่ต้อง
   
   5. เชลยหรือทาส ซึ่งไม่สามารถไถ่ตนเองได้ แสดงถึงการที่อิสลามช่วยในการเลิกทาส
   
   6. ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบสัมมาอาชีวะ แต่หากเป็นหนี้จากการเสียพนัน การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ฯลฯ ไม่จัดอยู่ในประเด็นที่จะนำซะกาตไปไถ่ถอน
   
   7. ผู้เดินทาง ที่มีความจำเป็นต้องรับการช่วยเหลือ เช่น ขาดปัจจัยในการเดินทางกลับมาตุภูมิของตน
   
   8. การบริจาคในแนวทางของอัลเลาะห์ (พี สบีลิลลาฮ์)

แต่ถ้าคนขัดสน (มีสกีน) ที่มีความสามารถจะเลี้ยงชีพได้แต่ไม่ได้ทำ เช่นเดินขอตามบ้าน จะรับซะกาตได้หรือไม่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 26, 2013, 08:56:30 am โดย อ.อาลี เสือสมิง »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ซะกาต (คน มิสกีนที่ไปประกอบอาชีพ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 26, 2013, 08:56:00 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

เมื่อปรากฏว่าขอบเขตของการมีสิทธิในการรับซะกาตคือ ความจำเป็น (อัล-หาญะฮฺ) – คือความจำเป็นของบุคคลที่ต้องการความเพียงพอในการดำรงชีพของตนเองและผู้ที่บุคคลนั้นมีภาระเลี้ยงดู ก็ถามว่า คนที่มีความจำเป็นนั้นจะถูกให้ซะกาตแก่เขาได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นผู้ว่างงานที่ใช้ชีวิตเป็นภาระต่อสังคม และดำรงชีพด้วยการขอทานและการช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ผู้นั้นมีร่างกายแข็งแรง สามารถประกอบอาชีพและทำให้ตัวเองเกิดความพอเพียงด้วยการประกอบอาชีพและการทำงานของตน?



นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอัล-หัมบะลียฺกล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้แจกจ่ายซะกาตไปยังคนร่ำรวยจากซะกาตที่เป็นส่วนของคนยากจนและขัดสน และไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตไปยังผู้ที่มีความสามารถต่อการขวนขวาย (ประกอบอาชีพ) ที่เหมาะสม ซึ่ง ความพอเพียงในการดำรงชีพจะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นจากการขวนขวายตลอดจนผู้ที่มีบุคคลผู้นั้นมีภาระเลี้ยงดู (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 6 หน้า 228)



นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-มาลิกียฺบางส่วนก็มีความเห็นว่าไม่อนุญาตในการจ่ายซะกาตให้แก่ผู้ที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ (หาชิยะฮฺ อัด-ดุสูกียฺ 1/1494) ส่วนนักวิชาการส่วนใหญ่ที่สังกัดมัซฮับอัล-หะนะฟียฺกล่าวว่า “การเอาซะกาตในกรณีนี้ไม่เป็นที่ต้องห้าม แต่การไม่เอาถือว่าดีกว่าสำหรับบุคคลที่มีความสามารถจากการดำรงชีพ (มัจญ์มะอฺ อัล-อันฮุรฺ หน้า 22)



ทั้งนี้มีหลักฐานระบุในอัล-หะดีษว่า

لَا تَحِلُّ الصَّدَ قَةُ لِغَنِيٍّ وَلالِذِي مِرَّةٍ سَوِيٍّ

ความว่า “การทำเศาะดะเกาะฮฺ (หมายถึงการจ่ายทานซะกาต) ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับคนร่ำรวยและไม่อนุมัติสำหรับผู้มีกำลังเข้มแข็งมีร่างกายสมประกอบเป็นปกติ” (รายงานโดย 5 คนและอัต-ติริมิซียฺระบุว่าเป็นหะดีษหะสัน) ดร.ยูสุฟ อัล-กอรฺฎอวียฺ สรุปว่า ผู้ที่มีความสามารถในการขวนขวาย (ประกอบอาชีพ) ซึ่งทานซะกาตเป็นที่ต้องห้ามเหนือบุคคลผู้นั้น คือผู้ที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครบถ้วนคือ


1. ผู้นั้นมีงานที่สามารถประกอบเป็นอาชีพได้


2. งานที่ทำนั้นต้องเป็นงานที่อนุมัติตามหลักการของศาสนา ดังนั้น แท้จริงงานที่ถูกห้ามตามหลักการของศาสนาอยู่ในสถานะของสิ่งที่ไม่มี (มะอฺดูม)


3. ผู้นั้นสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานนั้นได้โดยไม่มีความลำบากที่เกินความสามารถในการแบกรับตามจารีต


4. งานที่ทำนั้นมีความเหมาะสมกับสถานภาพของบุคคล


5. เขาผู้นั้นสามารถประกอบอาชีพและได้รับค่าตอบแทนจากอาชีพนั้นในอัตราที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของตนตลอดจนการดำรงชีพของผู้ที่บุคคลนั้นมีภาระเลี้ยงดู



ดังนั้นหากบุคคลผู้นั้นไม่ครบองค์ประกอบเงื่อนไขข้างต้น เช่น บุคคลที่ไร้ความสามารถ ทุพพลภาพ สุขภาพอ่อนแอ หรือไม่พบงานที่เหมาะสมกับสถานภาพของตนหรือพบแต่รายรับที่ได้ไม่เพียงพอในการที่ตนจะดำรงชีพตลอดจนบุคคลที่จำต้องเลี้ยงดู ก็อนุญาตสำหรับผู้นั้นในการรับเอาซะกาตนั้นได้โดยไม่มีบาปแต่อย่างใด (ฟิกฮุซ-ซะกาต เล่มที่ 2 ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวียฺ หน้า 600)

والله اعلم بالصواب