ทัศน่ะน้ำ  (อ่าน 6200 ครั้ง)

bakinfililmi

  • บุคคลทั่วไป
ทัศน่ะน้ำ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 01, 2013, 09:51:12 pm »
มีไหมทัศนะในมัศฮับชาฟีีที่ว่าน้ำมุสตะมัลที่ใช้ตามศาสนาแล้วใช้ทำความสะอาดนายิสอาบน้ำละหมดยกฮาดัษได้      และ ใยแมงมุมเป็นนายิสไหม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ทัศน่ะน้ำ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 13, 2014, 11:56:11 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า น้ำมุสตะอฺมัล (الماءالْمُسْتَعْمَلُ) มี 2 ประเภท 1)น้ำมุสตะอฺมัลในการทำเฏาะฮาเราะฮฺจากหะดัษ (อาบน้ำละหมาด-อาบน้ำทั่วร่างกาย) 2) น้ำมุสตะอฺมัลในการทำเฏาะฮาเราะฮฺจากนะญิส


ในกรณีของน้ำมุสตะฮฺมัลในการเฏาะฮาเราะฮฺจากหะดัษนั้น ก็ให้พิจารณาว่า หากน้ำนั้นถูกใช้ (มุสตะอฺมัล) ในการยกฮะดัษก็ถือว่าน้ำนั้นสะอาด เพราะเป็นน้ำที่สะอาดซึ่งโดนสิ่งที่สะอาดมันจึงเป็นน้ำที่สะอาดเหมือนอย่างกรณีที่เสื้อผ้าที่สะอาดถูกซักล้างด้วยน้ำนั้น ถามว่า อนุญาตให้ใช้น้ำมุสตะอฺมัลซึ่งสะอาดในการทำเฏาะฮาเราะฮฺจากหะดัษหรือไม่? กรณีนี้มี 2 แนวทาง (เฏาะรีกอนี่) ในมัซฮับ บ้างก็ว่ามี 2 คำกล่าว (เกาวฺลานี่)


แนวทางหรือคำกล่าวที่ถูกระบุเป็นตัวบท (อัล-มันศูศ) ถือว่าไม่อนุญาต เพราะการเรียกชื่อน้ำว่าเป็นน้ำมุฏลักหมดไปแล้ว จึงกลายเป็นว่าน้ำนั้นเป็นเหมือนน้ำที่เปลี่ยนสภาพด้วยกับหญ้าฝรั่น


ส่วนแนวทางหรือคำกล่าวที่สองนั้นมีรายงานจากอิมามอัช-ชาฟิอียฺว่า อนุญาตในการอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำมุสตะอฺมัลนั้นเพราะเป็นการใช้น้ำที่ไม่เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของน้ำ จึงไม่ห้ามในการนำน้ำนั้นมาใช้อาบน้ำละหมาด ผู้รายงานแนวทางที่สองนี้คือ อีซา อิบนุ อับบาน อิมามท่านหนึ่งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอิบนุ อัล-มุนซิรฺ (ร.ฮ.) ก็ถือตามแนวทางนี้ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ 1/202,203)


ส่วนในกรณีการใช้น้ำมุสตะอฺมัลเพื่อขจัดนะญิสนั้นมี 2 ประเด็นในมัซฮับ (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่ถูกต้องในมัซฮับคือไม่อนุญาต ส่วนประเด็นที่สองนั้น อิมามอบุลกอสิม อัล-อันมาฏียฺ และอิมามอบูอะลี อิบนุ คอยร็อน กล่าวเอาไว้ว่าอนุญาตให้ใช้น้ำมุสตะอฺมัลในการชำระล้างนะญิส (อ้างแล้ว 1/208) วัลลอฮุอะอฺลัม



ส่วนกรณีของแมงมุมนั้น ยังไม่พบหลักฐานที่เป็นตัวบทและทัศนะของนักวิชาการระบุว่าเป็นนะญิส ใยของแมงมุมออกมาจากรูเปิดตรงกลางส่วนท้องซึ่งเป็นอวัยวะภายนอกมิใช่เป็นของเหลวที่ออกจากส่วนในของแมงมุมที่เปลี่ยนแปรสภาพ (อิสติหาละฮฺ) จึงไม่น่าจะเป็นนะญิส


ทั้งนี ชัยคฺ กะมาลุดดีน อัด-ดะมีรียฺ กล่าวไว้ในตำรา หะยาตุลหะยะวาน อัล-กุบรอ เล่มที่ 3 หน้า 241 ว่า “สิ่งที่แมงมุมใช้ถักทอ (คือเส้นใย) นั้นไม่ได้ออกมาจากภายในของมัน หากแต่ออกมาจากผิวหนังภายนอกของมัน” ดังนั้นของเหลวที่แมงมุมใช้ในการถักทอคือเส้นใยของมันไม่ใช่ของเหลวที่ออกมาจากภายในตัวแมงมุมซึ่งมีการเปลี่ยนสภาพ ต่างจากกรณีของสารแหลวที่มีการคัดหลั่ง (เช่น น้ำนม) จากสัตว์ที่ห้ามรับประทานซึ่งเป็นนะญิส (บินญัยริมียฺ อะลัลเคาะฏีบ เล่มที่ 1 หน้า 95)


ส่วนที่มีคำกล่าวของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ระบุว่า

(طَهِّرُوْابُيُوْتَكُمْ مِنْ نَسْجِ العَنْكَبُوْتِ فإنَّ تَرْكَهُ فى البَيْتِ يُوْرِث الفقر)

“พวกท่านจงทำความสะอาดบ้านเรือนของพวกท่านจากใยแมงมุม เพราะแท้จริงการปล่อยใยแมงมุมไว้ในบ้านเรือนย่อมก่อให้เกิดความยากจนตามมา” (อ้างสายรายงานโดย อัษ-ษะอฺละบียฺ และอิบนุ อะฏียะฮฺ)


คำกล่าวนี้ก็ไม่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าใยแมงมุมเป็นนะญิสแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะการรักษาความสะอาดภายในบ้านเรือนมีนัยกว้างและครอบคลุมมากกว่าการระบุข้อชี้ขาดว่า ใยแมงมุมเป็นนะญิส และถ้าหากว่าจะบ่งชี้ว่าใยแมงมุมเป็นนะญิสก็เป็นคำกล่าวของ เศาะหาบะฮฺเท่านั้น มิใช่ตัวบทหลักฐานเด็ดขาดในทางศาสนา

والله اعلم بالصواب