วิธีการจัดการศพ (เด็ก) ที่ตายในครรภ์มารดา  (อ่าน 17912 ครั้ง)

ร่อหีม ชอบงาม

  • บุคคลทั่วไป
salam
สลามครับอาจารย์  ผมมีเรื่องรบกวนอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างหน่อยครับ  ดังนีคำถาม....จะจัดการอย่างไรตามบทบัญญัติของอัลอิสลาม  กับเด็ก (ตาย) ที่คลอดออกมาก่อนอายุครรภ์  (สี่เดือน)  ครับ ?
ขอบคุณมากครับอาจารย์
ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนความีแด่ท่านอาจารย์  ตลอดถึงครอบครัวของอาจารย์ด้วยครับ
...อามีน 
  ยาร๊อบบัลอาลามีน"

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: วิธีการจัดการศพ (เด็ก) ที่ตายในครรภ์มารดา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 13, 2014, 12:26:29 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

เด็กทารกที่แม่ของเด็กคลอดออกมาในสภาพที่เด็กทารกนั้นเสียชีวิตหรือมีร่างกายยังไม่ครบสมบูรณ์หรือยังไม่ครบกำหนดอายุครรภ์ เรียกว่า อัส-สุกฏุ(السُّقْطٌ) หรือ อัส-สิกฏู้ (السِّقْطٌ) มี 3 สภาพด้วยกันคือ

1.การมีชีวิตของเด็กเป็นที่รู้กันด้วยการร้องส่งเสียงขณะคลอด ต่อมาเด็กก็เสียชีวิต กรณีนี้ อิบนุ อัล-มุนซิรฺ (ร.ฮ.) ถ่ายทอดด้วยการอิจญ์มาอฺว่า จำเป็น (วาญิบ) ต้องอาบน้ำศพ ห่อศพ ละหมาดญะนาซะฮฺ ให้แก่เด็กนั้นและนำไปฝังเมื่อเด็กเสียชีวิตแล้ว


กล่าวคือ ให้ปฏิบัติกับเด็กทารกในกรณีนี้เหมือนกับผู้เสียชีวิตที่บรรลุศาสนภาวะแล้วทุกประการ เป็นทัศนะของปวงปราชญ์ใน 4 มัซฮับและนักวิชาการส่วนมาก (อัล-มุฮัซซับ 1/134 , อัล-มัจญ์มูอฺ 5/205 , เราวฺเฎาะฮฺ อัฏ-ฏอลิบีน 2/117 , มุฆนียฺ อัล-มุหฺตาจญ์ 1/349 , บะดาอิอฺ อัส-เศาะนาอิอฺ 1/302 , มัจญ์มะอฺ อัล-อันฮัรฺ 1/185 , อัล-มุนตะกอ 2/21 , บิดายะฮฺ อัล-มุจญ์ตะฮิด 1/240 , อัล-มุฆนียฺ 2/522)



2.การมีชีวิตของเด็กทารกไม่เป็นที่รู้และไม่รู้แน่ชัดถึงการเสียชวิตของเด็กทารกนั้น เช่น เด็กดิ้นหรือปัสสาวะ แต่ไม่ส่งเสียงร้อง ต่อมาเด็กก็เสียชีวิตในกรณีเช่นนี้ปวงปราชญ์มีความเห็นว่า จำเป็นต้องอาบน้ำดังเช่นทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับหะนะฟียฺ , หัมบะลียฺ และเป็นทัศนะที่ปรากฏชัดในมัซอับอัช-ชาฟิอียฺ ส่วนฝ่ายมาลิกียฺและนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺบางส่วนมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้แก่ศพของทารกที่เสียชีวิต


ส่วนการละหมาด ญะนาซะฮฺก็เช่นกัน ปวงปราชญ์มีความเห็นว่าจำเป็น ส่วนฝ่ายมาลิกียฺและอัช-ชาฟิอียฺบางส่วนถือว่าส่งเสริม (มุสตะหับ) ดร.สะอฺดุดดีน มุสอัด ฮิลาลียฺ ระบุว่า ทัศนะที่ถูกเลือก (อัล-มุคตารฺ) คือ ทัศนะของปวงปราชญ์ที่ถือว่าจำเป็นต้องละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งไม่รู้แน่ชัดว่าเด็กมีชีวิตในขณะคลอดออกมาเพื่อเป็นการเผื่อเอาไว้ว่าเด็กนั้นอาจมีชีวิตอยู่จริงในขณะคลอด (อะหฺกาม อัศ-เศาะลาฮฺ อะลัลเมาวฺตา หน้า 73)



3.เด็กทารกที่คลอดออกมาเป็นที่รู้แน่ชัดว่าเสียชีวิตแล้วโดยไม่มีการเคลื่อนใหวใดๆ ตลอดจนไม่มีเครื่องหมายใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเด็กยังมีชีวิตในขณะที่คลอดออกมา กรณีนี้มี 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1.เด็กทารกคลอดออกมาก่อนที่จะเป็นร่างกายที่สมบูรณ์ชัดเจน กล่าวคือ คลอดออกมาก่อนครบอายุครรภ์ 4 เดือนนับแต่การปฏิสนธิ กรณีนี้ไม่ต้องอาบน้ำศพ และไม่ต้องละหมาดญะนาซะฮฺให้ แต่ส่งเสริมให้ปกปิดด้วยการห่อศพและนำไปฝัง อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “อัล-อับดะรียฺกล่าวว่า “หากปรากฏว่าเด็กทารกมีอายุครรภ์น้อยกว่า 4 เดือนก็ไม่ต้องละหมาดให้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง” หมายความว่า โดยอิจญ์มาอฺ (อัล-มัจญ์มูอฺ 5/206)



และอิบนุ กุดามะฮฺ กล่าวว่า “เราไม่รู้ว่าในเรื่องนี้มีทัศนะที่ขัดแย้งยกเว้นมีรายงานจากอิบนุ สีรีน ที่กล่าวว่า “ให้ละหมาดแก่ทารกนั้น เมื่อรู้ว่าวิญญาณได้ถูกเป่าในทารกนั้นแล้ว” แต่อัล-หะดีษของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บ่งชี้ว่า วิญญาณจะไม่ถูกเป่าในทารกยกเว้นภายหลัง 4 เดือนแล้ว และก่อนหน้านั้นก็ไม่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิญญาณ (อัล-มุฆนียฺ 2/523)



ประเด็นที่ 2.ทารกคลอดออกมาภายหลังมีเรือนร่างปรากฏชัดแล้ว กล่าวคือ คลอดออกมาภายหลังอายุครรภ์ได้ 4 เดือนนับตั้งแต่การปฏิสนธิ กรณีนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่าจำเป็นต้องอาบน้ำศพหรือไม่ แบ่งเป็น 2 ทัศนะ คือ

ทัศนะที่หนึ่ง เห็นว่าไม่จำเป็นต้องอาบน้ำศพให้แก่ทารกนั้น เป็นคำกล่าวของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ ,มุฮัมมัด , มาลิก และอัช-ชาฟิอียฺ หนึ่งในสองคำกล่าวของท่าน และเป็นทัศนะที่ถูกรายงานจากท่าน อัล-หะสัน , อิบรอฮีม , อัล-หะกัม , หัมมาด , อัล-เอาวฺซาอียฺ , ญาบิร อิบนุ ซัยดฺ อัต-ตาบีอียฺ ตลอดจนเป็นรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร และอิบนุ ชิฮาบฺ


ทัศนะที่สอง มีความเห็นว่าจำเป็นต้องอาบน้ำศพให้แก่ทารก เป็นคำกล่าวของอบูยูสุฟ และอัฏ-เฏาะหาวียฺ จากฝ่ายอัล-หะนะฟียฺเลือกเอาไว้ ตลอดจนเป็นทัศนะที่ถูกต้อง

และมีตัวบทระบุไว้ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ รวมถึงเป็นมัซฮับของอิมามอะหฺมัด และสะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบ , อิบนุสีรีน , อิสหาก และอิบนุอบีลัยลากล่าวเอาไว้


ในกรณีของการละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่เด็กทารกที่คลอดออกมาภายหลังมีอายุครรภ์ 4 เดือน นับจากการปฏิสนธิก็มีทัศนะของนักวิชาการเหมือนอย่างที่กล่าวมา คือฝ่ายที่กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำศพก็จะกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องละหมาดญะนาซะฮฺให้ แต่ฝ่ายที่เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องอาบน้ำศพให้กลับมีความเห็นว่าต่างกันว่าจำเป็นต้องละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่ทารกที่เสียชีวิตนั้นหรือไม่


คำกล่าวที่หนึ่ง ระบุว่า ไม่ต้องละหมาดให้แก่ทารกที่คลอดออกมาภายหลังปรากฏเรือนร่างบางส่วนชัดเจนและไม่ส่งเสียงร้องในขณะคลอดเป็นคำกล่าว ของอบู ยูสุฟ และอัฏ-เฏาะหาวียฺจากฝ่ายอัล-หะนะฟียฺเลือกเอาไว้ และเป็นทัศนะที่ถูกต้องใน มัซฮับอัช-ชาฟิอียฺซึ่งมีระบุเป็นตัวบทในตำราอัล-อุมม์ (1/267)


อิมาม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “หากเด็กมีอายุครรภ์ถึง 4 เดือนนี้ก็มี 3 คำกล่าว คำกล่าวที่ถูกต้องและมีตัวบทอยู่ในตำราอัล-อุมม์ตลอดจนตำราส่วนใหญ่ของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) คือ จำเป็นต้องอาบน้ำศพ แต่ไม่จำเป็นต้องละหมาดญะนาซะฮฺให้ และไม่อนุญาตให้ละหมาดด้วยซ้ำไป


คำกล่าวที่สอง มีตัวบทอยู่ในตำราของอัล-บุวัยฏียฺ จากตำราที่เป็นเกาวฺลุนญะดีด คือไม่ต้องละหมาดให้และไม่ต้องอาบน้ำศพ


คำกล่าวที่สาม อัช-ชีรอซียฺและปวงปราชญ์ในมัซฮับเล่าจากตัวบทที่เป็นเกาวฺลุน เกาะดีม คือ ให้อาบน้ำศพและให้ละหมาดแก่ศพของทารกนั้น (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ 5/204)


คำกล่าวที่สอง จำเป็นที่จะต้องละหมาดให้แก่ศพของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและเสียชีวิตโดยทารกนั้นมีเรือนร่างบางส่วนปรากฏชัดแล้ว ถึงแม้ว่าเด็กทารกนั้นจะไม่ส่งเสียงร้องขณะที่คลอดออกมาก็ตาม เป็นทัศนะที่ถูกกล่าวถึงคำอ้างเกาะดีมของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และเป็นทัศนะของมัซฮับอัล-หัมบาลียฺ ตลอดจนเป็นคำกล่าวของดาวูด อัซ-ซอฮีรียฺ ดร.สะอฺดุดดีน มุสอัด ฮิลาลียฺเลือกทัศนะของปวงปราชญ์ที่ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องละหมาดให้แก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดซึ่งไม่ส่งเสียงร้องในขณะคลอด (อะหฺกาม อัศ-เศาะลาฮฺ อะลัลเมาวฺตา หน้า 79)



หากจะสรุปเอาเฉพาะคำชี้ขาดในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเกี่ยวกับเด็ก (ตาย) ที่คลอดออกมาก่อนอายุครรภ์ 4 เดือนตามที่ถามมา ก็ชี้ขาดได้ว่า ตามมัซฮับคือไม่ต้องละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่เด็กนั้นโดยไม่มีข้อขัดแย้ง เพราะเด็กเสียชีวิตแล้วในขณะที่คลอดออกมา


ส่วนกรณีของการอาบน้ำนั้น ตามมัซฮับและเป็นที่สิ่งที่ปวงปราชญ์ในมัซอับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดคือ ไม่ต้องอาบน้ำ (คือไม่วาญิบต้องอาบน้ำ) แต่ถ้าจะอาบน้ำให้ก็มีเงื่อนไขว่าเด็กนั้นต้องมีเรือนร่างปรากฏชัดแล้วตามที่อัล-มุหามิลียฺระบุไว้ในตำราอัต-ตัจญ์รีด


ส่วนการห่อศพ (กะฝั่น) นั้นก็ไม่ วาญิบแต่สามารถกระทำได้ และการฝังนั้นเป็นวาญิบโดยการเห็นพ้อง (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุล มุฮัซซับ เล่มที่ 5/215)

والله اعلم بالصواب