ประวัติ+ภาษาอาหรับ  (อ่าน 8974 ครั้ง)

ญาลาลุดดีน

  • บุคคลทั่วไป
ประวัติ+ภาษาอาหรับ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2013, 04:33:15 am »
 salam เรียน อ.อาลี เสือสมิง เนื่องจากผมสงสัยมานานแล้วว่า......ใครคือคนที่คิดอักษรภาษาอาหรับ? หรือว่า ท่านนบีอาดัม เขารู้อักษรภาษาอาหรับมาที่เรียบร้อยแล้วจากสวรรค์? แล้วอักษรภาษาอาหรับเมื่อก่อนเหมือนอักษรอาหรับสมัยนี้หรือไม่? ถ้ามีประวัติเกี่ยวกับเรื่องนี้รบกวน อ.อาลี เสือสมิง นำเสนอให้หน่อย.....ญาซากัลลอฮุค๊อยรอล

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ประวัติ+ภาษาอาหรับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 13, 2014, 12:37:05 pm »
ورحمة الله و بركاته السلام عليكم
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

กรณีของภาษาอาหรับที่ฉะฉานแบบมาตรฐาน (العربية الفصحى) ที่ใช้ในการพูดสื่อสารนั้น อัล-หาฟิซ อิบนุ กะษีรฺ (ร.ฮ.) ระบุไว้ในตำราเกาะเศาะศุล อัมบิยาอฺ ของท่านว่า : และแท้จริงนบีอิสมาอีล (อ.ล.) คือบุคคลแรกที่พูดภาษาอาหรับที่ฉะฉาน มีวาทะศิลป์ และท่านเคยศึกษาภาษาอาหรับจากชาวอาหรับแท้ (العرَبُ العَارِبَةَ) ซึ่งมาลงพักอยู่กับพวกท่านที่นครมักกะฮฺจากพวกญุรฺฮุม อะมาลีก และชาวยะมัน รวมถึงชนอาหรับรุ่นก่อนอัล-เคาะลีล (หมายถึงนบี อิบรอฮีม (อ.ล.))


อัล-อุมะวียฺกล่าวว่า : อะลี อิบนุ อัล-มุฆีเราะฮฺ เล่าให้ฉันฟังว่า อบูอุบัยดะฮฺเล่าให้พวกเราฟังจากมัสมะฮฺ อิบนุ มาลิก จากมุฮัมมัด อิบนุ อะลี อิบนิ อัล-หะสัน จากบรรดาบิดาของเขา (บรรพบุรุษ) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า : “บุคคลแรกที่ลิ้นของเขาแตกฉานด้วยภาษาอาหรับที่ชัดเจนคือ อิสมาอีล ขณะที่เขามีอายุได้ 14 ปี” (เกาะเศาะศุลอัมบิยาอฺ ; อิบนุ กะษีร หน้า 199 สำนักพิมพ์ดารุลค็อยรฺ (เบรุต) พิมพ์ครั้งที่ 2 ; 1996)


นี่เป็นกรณีของภาษาอาหรับที่ใช้ในการพูดสื่อสาร ส่วนตัวอักษรภาษาอาหรับที่ใช้ในการเขียนนั้น เป็นกรณีศึกษาที่ถือเป็นปัญหาซับซ้อนในทางประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์จำนวนมากอาศัยการรายงานก็มี อาศัยการคาดคะเนและตั้งสมมุติฐานก็มี นั่นเป็นเพราะประวัติศาสตร์ของชนชาติอาหรับในยุคญาฮิลียะฮฺ ตลอดจนความสัมพันธ์ในเวลานั้นของชนชาติอาหรับกับชนชาติอื่นๆ รอบข้างไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำให้มีเงื่อนงำและความเห็นที่ขัดแย้งของนักประวัติศาสตร์อยู่มากพอควร



อิบนุ อบีดาวูด อัส-สิญิสตานียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.316) ระบุว่า การเขียนตัวอักษรภาษาอาหรับได้เข้าสู่สภาพแวดล้อมของชนเผ่ากุรอยช์ 3 ข้อสมมุติฐานด้วยกันคือ


1.บรรดาผู้อพยพ (มุฮาญิรีน) เรียนรู้อักขระวิธีในการเขียนภาษาอาหรับจากเมืองอัล-หิเราะฮฺ (الحِيْرَة) และชาวเมืองอัล-หิเราะฮฺเอามาจากชนชาติอัล-อัมบารฺ (الأنْبَار)

2.มีชายคนหนึ่งชื่อ บิชฺร์ อิบนุ อับดิลมะลิก อัล-กินดียฺ เรียนรู้อักขระวิธีการเขียนภาษาอาหรับจากชนชาติอัล-อัมบารฺ ต่อมาชายผู้นี้ก็เดินทางสู่นครมักกะฮฺ และแต่งงานกับหญิงที่ชื่ออัศ-เศาะฮฺบาอฺ บุตรีของหัรฺบ์ อิบนุ อุมัยยะฮฺ ชายผู้นี้จึงสอนอักขระวิธีนั้นให้แก่ หัรฺบ์ อิบนุ อุมัยยะฮฺ และสุฟยาน อิบนุ หัรฺบ์น้องชายของภรรยา ต่อมาก็มีการสอนในหมู่ชนเผ่ากุรอยชฺ


3.มุรอมิรฺ อิบนุ มุรฺเราะฮฺ และสละมะฮฺ อิบนุ หัซเราะฮฺ คือผู้วางกฏการเขียนภาษาอาหรับ สองคนนี้มาจากบูลาน ซึ่งเป็นกลุ่มชนหนึ่งของเผ่าฏ็อยฺย์ ที่มีหลักแหล่งอยุ่เบื้องหลังของพวกชนชาติอัล-อัมบารฺ (กิตาบอัล-มุศหัฟ ; อัส-สิญิสตานียฺ ¼) ตามความเห็นนี้แสดงว่า แหล่งกำเนิดของการเขียนตัวอักษรในภาษาอาหรับมาจากพวกอัล-อัมบารฺ ซึ่งอยู่ในอีรัก ริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส (อัล-ฟุร็อต)


ส่วนอบู อับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ อับดูส อัล-ญะฮฺชิยารียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 331) นักประวัติศาสตร์ชาวเมืองแบกแดด เดิมเป็นชาวเมืองกูฟะฮฺ บุคคลผู้นี้เล่ารายงานจากกะอฺบ์ อัล-อะหฺบารฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.32) ซึ่งเป็นชนรุ่นอัต-ตาบิอีนว่า : นบีอาดัม (อ.ล.) ได้วางหลักการเขียนตัวอักษรภาษาอัส-สุรฺยานียฺก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต 300 ปี และบุคคลแรกที่วางหลักการเขียนภาษาอาหรับคือ นบีอิสมาอีล บุตรนบีอิบรอฮีม (อ.ล.)


และอัล-ญะฮฺชิยารียฺยังได้ระบุรายงานเช่นเดียวกับอัส-สิญิสตานียฺว่า บุคคลแรกที่เขียนตัวอักษรภาษาอาหรับคือ ชาย 3 คนจากบูลาน คือ มุรอมิรฺ อิบนุ มุรฺเราะฮฺ , อัสลัม อิบนุ สิดเราะฮฺ และอามิรฺ อิบนุ ญัดเราะฮฺ แต่อัล-ญะฮฺชิยารียฺก็ไม่ได้ระบุว่าพวกเขาเป็นชาวอัมบารฺ และยังรายงานอีกด้วยว่าคนแรกที่เขียนตัวอักษรภาษาอาหรับจากชาวอาหรับคือ หัรฺบ์ อิบนุ อุมัยยะฮฺ อิบนิ อับดิชัมส์ (กิตาบอัล-วุซะเราะอฺ วัลกุตตาบ หน้า2,3)


อัล-ญะฮฺชิยารียฺไม่ได้ผูกเรื่องราวที่มีรายงานหลากหลายเข้าด้วยกันและไม่ได้ลงรายละเอียดแต่อย่างใด ส่วนอิบนุ อัน-นะดีม (เสียชีวิต ฮ.ศ.385) เจ้าของตำราอัล-ฟิฮฺริสต์แสดงความไม่เห็นด้วยกับรายงานของกะอฺบ์ อัล-อะหฺบารฺ และมองว่าน่าจะเป็นเรื่องเล่าแบบตำนานมากกว่าความเป็นวิชาการในเชิงประวัติศาสตร์


แต่อิบนุ อัน-นะดีมก็ระบุเรื่องราวของชาย 3 คนอย่างที่อัล-ญะฮฺชิยารียฺเล่าไว้ และให้น้ำหนักกับการรายงานที่ระบุว่า พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานความฉะฉานทางภาษาอาหรับให้แก่นบีอิสมาอีล (อ.ล) ขณะมีอายุได้ 24 ปี ซึ่งแตกต่างจากที่อิบนุกะษีรฺ (ร.ฮ.) ระบุรายงานของอัล-อุมะวียฺเอาไว้ว่า 14 ปี และอิบนุอัน-นะดีมก็ระบุว่า ลูกๆ ของนบีอิสมาอีล (อ.ล.) คือ นะฟีส , นัฎร์ , ตัยมาอฺ และเดามะฮฺ คือผู้ที่วางกฏการเขียนภาษาอาหรับโดยละเอียด และยังอ้างอีกรายงานหนึ่งว่า ชายคนหนึ่งจากชนเผ่ามุคอลลัด อิบนุ กินานะฮฺ คือผู้ที่สอนวิธีการเขียนให้แก่ชนอาหรับ (อัล-ฟิฮฺรีสต์ หน้า 12,13)



นักวิชาการที่อยู่ร่วมสมัยกับอิบนุ อัน-นะดีมคือ อิบนุ ฟาริส (เสียชีวิต ฮ.ศ. 395) ก็ระบุถึงรายงานของกะอฺบ์ อัล-อะหฺบารฺ ว่านบีอาดัม (อ.ล.) คือบุคคลแรกที่เขียนตัวอักษรภาษาอาหรับ ต่อมาก็ระบุรายงานจาก อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า นบีอิสมาอีล (อ.ล.) คือบุคคลแรกที่เขียนภาษาอาหรับ แล้วอิบนุฟาริสก็ให้น้ำหนักว่า การเขียนตัวอักษรภาษาอาหรับเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดยเป็นที่ยุติ (เตากีฟียฺ) จากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) คือกลับไปยังกรณีของนบีอาดัม (อ.ล.) นั่นเอง (อัศ-ศอหิบียฺ ฟี ฟิกฮิลลุเฆาะฮฺ ; อิบนุ ฟาริส หน้า 7)



หลังจากยุคของอิบนุ ฟาริส ราวครึ่งศตวรรษ นักวิชาการนามว่า อบูอัมรฺ อัด-ดานียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.444) ก็ระบุรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้จากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) และมีทัศนะว่า ตัวอักษรภาษาอาหรับเริ่มต้นด้วยชายคนหนึ่งนามว่า อัล-ญุลญาน อิบนุ อัล-มูฮิม ซึ่งอ้างว่าเป็นอาลักษณ์ผู้จดบันทึกวะฮียฺของนบีฮูด (อ.ล.) และจากบุคคลผู้นี้ชาวยะมันจากเผ่ากินดะฮฺ ก็รับการเขียนเอามาใช้ และยังระบุอีกด้วยว่า อับดุลลอฮฺ อิบนุ ญุดอาน รับเอาจากชาวเมืองอัล-อัมบารฺ และหัรฺบ์ อิบนุ อุมัยยะฮฺก็รับมาจากอับดุลลอฮฺอีกที ต่อจากนั้น หัรฺบ์ อิบนุ อุมัยยะฮฺก็สอนวิธีการเขียนตัวอักษรอาหรับให้แก่ตระกูลกุรอยชฺ (อัล-มุหฺกัมฟี นักดิลมุศอหิบ หน้า 26)



อัซ-ซัรฺกะชียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 794) ก็ถ่ายทอดการรายงานของอิบนุ ฟาริส ในตำราอัศ-ศอหิบียฺและอัซ-ซัรฺกะชียฺ ก็มีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นข้อยุติ (เตากีฟ) คือย้อนกลับไปยังเรื่องของนบีอาดัม (อ.ล.) (อัล-บุรฮาน ฟี อุลูมิลกุรอาน 1/377)


ส่วนอิบนุคอลดูน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 808) ผูกเรื่องกับพัฒนาการทางสังคมของชาวอาหรับระหว่างความเป็นสังคมเมือง (อัล-หะฏอเราะฮฺ) กับการเป็นชนเผ่าเร่ร่อน (อัล-บะดาวะฮฺ) โดยระบุว่า ตัวอักษรภาษาอาหรับมีพัฒนาการที่เด่นชัดในสมัยของพวกตะบาบิอะฮ์ในยะมันที่มีความรุ่งเรืองและมีการประดิษฐ์ตัวอักษรแบบอัล-หิมยะรียฺ ต่อมาก็แพร่หลายสู่เมืองอัล-หิเราะฮฺในอีรัก และจากเมืองอัล-หิเราะฮฺ ชาวเมืองอัฏ-ฏออิฟและกุรอยช์ก็รับแบบการเขียนตัวอักษรภาษาอาหรับมาอีกทอดหนึ่ง (มุกอดดิมะฮฺ ; อิบนุคอลดูน หน้า 293)


นี่คือประวัติของพัฒนาการในการเขียนภาษาอาหรับที่บรรดานักวิชาการได้แสดงทัศนะเอาไว้ สิ่งที่สรุปได้ก็คือ ในยุคญาฮิลียะฮฺก่อนสมัยอิสลามนั้น ชาวกุรอยช์มีการเขียนตัวอักษรภาษาอาหรับอย่างชัดเจนแล้ว

والله أعلم بالصواب