เรื่อง อาแมนเก็บซากาต  (อ่าน 6269 ครั้ง)

ผู้รู้น้อย

  • บุคคลทั่วไป
เรื่อง อาแมนเก็บซากาต
« เมื่อ: มกราคม 02, 2014, 10:29:08 am »
 salam
อยากเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับอาแมนเก็บซากาตว่า อีหม่ามประจำมัสยิดของแต่ละหมู่บ้านสามารถแต่งตั้งอาแมนเก็บซากาตได้หรือไม่ หรือจะต้องแต่งตั้งจากกษัตริย์ในกรณีที่เป็นรัฐอิสลามอย่างเดียวเท่านั้น และเก็บเฉพาะซากาตฟิตเราะอย่างเดียวหรือว่าต้องเก็บซากาตทุกประเภท ขอบคุณมากครับอาจารย์

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: เรื่อง อาแมนเก็บซากาต
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 14, 2014, 02:04:10 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
...الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฺฏอวียฺ ระบุว่า อัล-อามิลูน อะลัยฮา (العامِلُونَ عَلَيْهَا)หมายถึงบุคคลที่ทำหน้าที่ปฏิบัติงานในฝ่ายรักษาทรัพย์ซะกาต บรรดาเสมียน และนักบัญชีที่จะคำนวณรายรับและรายจ่ายเกี่ยวกับซะกาต รวมถึงผู้ทำหน้าที่แจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต (ฟิกฮุซซะกาต เล่มที่ 2 หน้า 620)


บรรดานักวิชาการฟิกฮฺกำหนดว่า เป็นหน้าที่ของอิมาม (ผู้นำ) ที่จะต้องส่งบรรดาผู้ทำหน้าที่จัดเก็บซะกาตออกไปเพื่อเก็บซะกาต (อ้างแล้ว 2/620) และมีเงื่อนไขถูกกำหนดเป็นคุณสมบัติของอามิล (ผู้จัดเก็บซะกาตหรือผู้ทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารจัดการกิจการ ซะกาตที่กล่าวมาข้างต้น) ดังนี้

1.เป็นมุสลิม

2.บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

3.เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ในหน้าที่

4.มีความรู้เกี่ยวกับหลักการว่าด้วยเรื่องซะกาต

5.มีความสามารถและมีความเหมาะสมกับงานที่ตนรับผิดชอบ (อ้างแล้ว 2/626-628)


ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฺฏอวียฺ มิได้ระบุเงื่อนไขของอามิลที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บซะกาตว่าต้องได้รับการแต่งตั้งจากผู้ปกครองรัฐอิสลามหรือไม่ ทั้งนี้เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าผู้ปกครองรัฐอิสลามมีภารกิจในการบริหารจัดการเรื่องของซะกาตและการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องนี้ เมื่อพิจารณาสภาวะการณ์ในปัจจุบัน อย่างมุสลิมในประเทศไทยเป็นต้น จะเห็นได้ว่า ผู้นำสูงสุดในการบริหารกิจการศาสนาอิสลามคือ จุฬาราชมนตรีและองค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลามตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2540 ซึ่งได้แก่มัสญิด กรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


ในพระราชบัญญัติฯ มิได้ระบุถึงเรื่องการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่จัดเก็บซะกาตหรือกำหนดหน้าที่อย่างชัดเจนว่าองค์กรทั้งหมดมีภารกิจในเรื่องการบริหารจัดการงานด้านซะกาต จะมีก็เพียงแต่บางมาตราที่อนุโลมว่าสามารถนำมาอ้างประกอบได้ เช่น มาตรา 18 (4) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการประจำจังหวัดและมัสยิด (5) ออกระเบียบวิธีการดดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดซึ่งนี่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


และมาตรา 37 อิมามมีอำนาจหน้าที่ (3) แนะนำให้สัปปุรุษประจำมัสยิดปฏิบัติให้ถูกต้องตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและกฏหมาย (4) อำนวยความสะดวกแก่มุสลิมในการปฏิบัติศาสนกิจ ข้อนี้ดูเหมือนจะอนุโลมได้ว่าใกล้เคียงที่สุด แต่ก็ไม่ระบุอย่างชัดเจนอยู่ดีในเรื่องของซะกาต


เมื่อสภาวการณ์และข้อเท็จจริงในบ้านเราเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องอนุโลมว่า หากอิมามประจำมัสยิดได้นำเรื่องการบริหารการจัดการ ซะกาตเข้าบรรจุเป็นวาระในการประชุมของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดแล้วที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการเรื่องซะกาต ก็ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดเสนอมติที่ประชุมแก่สัปปุรุษของมัสยิดเพื่อขอฉันทานุมัติหรือการเห็นชอบให้ดำเนินการเรื่องนี้กับสัปปุรุษได้


ดังนั้นเมื่อได้รับการรับรองหรือฉันทานุมัติจากสัปปุรุษส่วนใหญ่แล้ว อิมามก็ย่อมน่าที่จะมีสิทธิในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาตได้ ทั้งนี้โดยไม่มีการบังคับสัปปุรุษที่จะออกซะกาตว่าต้องนำซะกาตส่งมอบให้แก่ทางมัสยิดเท่านั้น แต่ให้เป็นไปโดยสมัครใจ เพราะผู้ที่จำต้องออกซะกาตอาจจะสะดวกมากกว่าในการดำเนินการจ่ายซะกาตของตนแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตด้วยตนเอง และเป็นเพราะว่าการทำหน้าที่ของผู้จัดเก็บซะกาตที่ถูกแต่งตั้งจากอิมามในกรณีนี้เป็นเพียงข้ออนุโลมให้กระทำได้ ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บซะกาตจึงไม่มีอำนาจเต็มในการบังคับสัปปุรุษที่จะออกซะกาตแต่อย่างใด


ส่วนกรณีที่ถามว่า ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บซะกาตซึ่งถูกแต่งตั้งจากอิมามมัสยิดจะเก็บซะกาตเฉพาะซะกาตอัล-ฟิฏร์อย่างเดียวหรือว่าเก็บซะกาตประเภทอื่นด้วยนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่ทางคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดนำเสนอ และได้รับรองเป็นฉันทานุมัติจากสัปปุรุษประจำมัสยิด และขึ้นอยู่กับสภาพของสัปปุรุษในแต่ละพื้นที่ว่าประกอบอาชีพอะไร หากมีการปลูกข้าวหรือเลี้ยงสัตว์หรือค้าขาย เป็นต้น แหล่งที่มาของซะกาตก็จะมีความหลากหลาย จึงต้องพิจารณาตามข้อตกลงที่กระทำเอาไว้เป็นสำคัญ

والله أعلم بالصواب