การอ่านกรุอ่านซูเราะสั้นยาวในละหมาด  (อ่าน 14162 ครั้ง)

นาอีม

  • บุคคลทั่วไป
 salam
อาจารย์ครับมีข้อสงสัยขอให้อาจารย์ชี้แจงหน่อยครับ
เวลาอ่านกรุอ่านซูเราะสั้นยาวจำเป็นต้องเรียงซูเราะหน้าหลังไหมครับ อย่างเช่นหากในรอกาอัตอ่านซูเราะ เกาซัรเพราะที่ซูราะทีอยู่หน้าซูเราะอัลอิคลาส แล้วรอกาอะที่สองอ่านซูเราะ อิคลาส อย่างนี้ใช่ได้ไหม แต่ว่าเท่าที่ทราบในรอกาอัตแรกจำเป็นต้องอ่านยาวกว่ารอกาอัตที่สอง ซูเราะ เกาซัรอยู่หน้าซูเราะอัลอิคลาส แล้วมีอายะฮที่น้อยกว่าซูเราะอัลอิคลาส อย่างนี้ต้องอ่านซูเราะในรอกาอัตแรกซูเราะใดครับ  แล้วหากว่าหากว่าเราอย่างกรุอ่านในละหมาดแต่ไม่เริ่มต้นที่ซูเราะเราต้องอ่านบิสมิลลาห์หรืออาอูซูบิลลาห์ไหมครับ ตัวอย่างเช่นหลังอ่านซูเราะฟาตีฮะ เสร็จแล้วเราอ่านซูเราะอัลวากีอะฮฺ แต่ไปไม่ได้เริ่มต้นที่ซูเราะ คือข้ามไปอ่านอายะฮที่ สามสิบ  อย่างนี้เราต้องอ่านบิสมิลลาห์ไหม อาจารย์เวลาซูยุดซาญาดะต้องเหนียตไหมแล้วมีคำเหนีียตว่าอย่างไร
ซูยุดติลาวะฮฺต้องเหนียตไหมแล้วมีคำเหนีียตว่าอย่างไร แล้วมีวิธีการทำอย่างไร หากซูยุดติลาวะฮฺนอกละหมาดหลังซูยุดต้องให้สลามไหม แล้วคนที่น้ำมะซี(น้ำหล่อลื่น)เคลื่อนออกมา ต้องน้ำอาบยกฮาดัษไหม แต่มีผู้รู้บอกว่าไม่ต้องอาบ แต่ให้อาบน้ำละหมาด แล้วต้องเหนียตอาบน้ำละหมาดมีคำเนียตอย่างไร   salam

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: การอ่านกรุอ่านซูเราะสั้นยาวในละหมาด
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 14, 2014, 02:10:58 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1. การอ่านสูเราะฮฺหลังจากการอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺในละหมาดนั้นเป็นสุนนะฮฺ มิใช่วาญิบ


2. การเรียบเรียงสูเราะฮฺในการอ่านตามการเรียบเรียงลำดับในคัมภีร์อัล-กุรอานในแต่ละรอกอะฮฺที่มีสุนนะฮฺให้อ่านสูเราะฮฺหลังอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ เช่น รอกอะฮฺแรกอ่าน สูเราะฮฺอัล-กาฟิรูน รอกอะฮฺที่สองอ่านสูเราะฮฺอัล-อิคลาศ เป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) และเป็นสิ่งที่อัฟฎ็อล (ประเสริฐยิ่ง) ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) และหากผู้ละหมาดอ่านสูเราะฮฺในรอกอะฮฺแรกซึ่งอยู่ทีหลังสูเราะฮฺที่อ่านในรอกอะฮฺที่สองตามลำดับการเรียบเรียงในคัมภีร์อัล-กุรอานก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ และไม่มีโทษแต่อย่างใด เพียงแต่ค้านกับสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นเอง


3. การอ่านสูเราะฮฺหลังสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺในการละหมาดรอกอะฮฺแรกยาวกว่า สูเราะฮฺที่ถูกอ่านในรอกอะฮฺที่สองหรือการละหมาดรอกอะฮฺแรกนานกว่ารอกอะฮฺถัดมาเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) เท่านั้น มิใช่สิ่งจำเป็น (วาญิบ) และการอ่านหลังสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺนั้นจะเป็นอายะฮฺอัล-กุรอานที่ยาวเพียงหนึ่งอายะฮฺก็ได้ หรือจะเป็นสูเราะฮฺสั้นๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการท่องจำและความสะดวกของผู้อ่าน

และไม่มีข้อกำหนดที่เป็นวาญิบว่าต้องอ่านสูเราะฮฺใดก่อนหรือสูเราะฮฺใดอ่านหลังในรอกอะฮฺถัดไป ส่วนที่มีระบุว่าควรอ่านสูเราะฮฺหนึ่งสูเราะฮฺใดในรอกอะฮฺที่หนึ่งและที่สอง เช่น อ่านสูเราะฮฺอัล-อะอฺลาในรอกอะฮฺที่หนึ่ง และอ่านสูเราะฮฺอัล-ฆอชิยะฮฺในรอกอะฮฺที่สองของการละหมาดอีดหรือวันศุกร์เป็นต้น นั่นเป็นเพียงสุนนะฮฺ มิใช่สิ่งที่เป็นวาญิบ


4. ในกรณีของการอ่านอายะฮฺอัลกุรอานที่มิได้เริ่มต้นที่ต้นสูเราะฮฺ เช่น อ่านตรงกลาง หรือตรงท้ายของสูเราะฮฺ ส่งเสริมให้อ่านอะอูซุบิลลาฮฺและจะอ่านบิสมิลลาะฮฺด้วยก็ได้หรือไม่อ่านทั้งสองอย่างเลยก็ได้ เพราะเป็นเพียงสุนนะฮฺ มิใช่วาญิบ


5. ขณะมีการสูหญูดสะญะดะฮฺ (ซึ่งเป็นอันเดียวกับการสุหญูดติลาวะฮฺ เพราะคำว่า อัส-สัจญ์ดะฮฺ (السَّجْدَه) หมายถึงการก้มลงสุหญูด 1 ครั้ง เมื่ออ่านอายะฮฺอัล-กุรอานที่มีเครื่องหมายกำกับว่าอัส-สัจญ์ดะฮฺ และเรียกอีกอย่างว่า สุหญุดอัต-ติลาวะฮฺ (التِّلَاوَه) หมายถึงการอ่านอัล-กุรอานในอายะฮฺที่มีเครื่องหมายกำกับว่าอัส-สัจญ์ดะฮฺ ก็ให้ก้มลงสุหญูดเนื่องจากการอ่านนั่นเอง) ก็ให้พิจารณาว่า ผู้ที่อ่านอายะฮฺอัส-สัจญ์ดะฮฺนั้นอยู่ในการละหมาดหรือไม่ ถ้าหากผู้นั้นมิใช่ผู้ทำละหมาด ก็จำเป็นที่ผู้นั้นต้องมีเจตนา (นียะฮฺ) สุหญูดเพื่อการอ่านนั้น (กล่าวคือมิใช่มีเจตนาก้มลงสุหญูดเฉยๆ) มีการตักบีรฺตะหัรฺรุม มีการก้มลงสุหญูดเหมือนท่าสุหญูดในละหมาด 1 ครั้ง (มิใช่ 2 ครั้ง) และให้สลาม (อิอานะตุฏฏอลีบีน เล่มที่ 1 หน้า 245)


ส่วนในกรณีถ้าหากว่าผู้นั้นอยู่ในการละหมาด เมื่อผู้นั้นประสงค์จะก้มลงสุหญูดก็ให้ก้มลงสุหญูดโดยไม่ต้องมีเจตนา (นียะฮฺ) ไม่ต้องตักบีรฺตะหัรฺรุมและไม่ต้องให้สล่าม แต่ส่งเสริมให้ผู้นั้นกล่าวตักบีรเพื่อลงสู่การสุหญูดและ ตักบีรฺในการเงยขึ้นจากการสุหญูด ทั้งนี้ไม่ส่งเสริมให้ยกมือทั้งสองในตอนลงและตอนเงย แต่มักรูฮฺที่จะยกมือทั้งสอง


และไม่ส่งเสริมให้นั่งอิสติรอหะฮฺหลังการเงยขึ้นจากการสุหญูด และมีอยู่คำกล่าวหนึ่ง (قِيْلَ) ว่า จำเป็นต้องมีเจตนา (นียะฮฺ) โดยไม่ต้องเปล่งวาจาออกมา ให้เหตุผลว่าเพราะการตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ของการละหมาดไม่ครอบคลุม (ไม่รวม) การสุหญูดนี้เอาไว้ (อิอานะตุฏฏอลิบีน 1/245)


6. ในกรณีที่มั่นใจว่าน้ำที่เคลื่อนออกมาคือน้ำมะซียฺ (المَذِيٌّ) ก็ไม่วาญิบต้องอาบน้ำยกหะดัษใหญ่ แต่น้ำมะซียฺเป็นนะญิสจึงจำเป็นต้องล้างอวัยวะเพศและสิ่งที่เปื้อนน้ำมะซียฺ เช่น กางเกงในหรือผ้านุ่ง เป็นต้น


ส่วนการอาบน้ำละหมาดนั้น หากผู้ที่มีน้ำมะซียฺเคลื่อนออกมา ไม่ได้ประสงค์จะละหมาด ก็มีสุนนะฮฺให้อาบน้ำละหมาดภายหลังทำความสะอาดจากน้ำมะซียฺแล้วแต่ไม่วาญิบ ส่วนในกรณีที่ผู้นั้นประสงค์จะละหมาด ก็จำเป็น (วาญิบ) ต้องอาบน้ำละหมาด เพราะผู้นั้นมีหะดัษเล็กเนื่องจากการเคลื่อนออกมาของน้ำมะซียฺ โดยในการอาบน้ำละหมาดเพื่อทำการละหมาดนั้นให้ตั้งเจตนาว่า “ข้าพเจ้าอาบน้ำละหมาดเป็นฟัรฎูเหนือข้าพเจ้า ลิลลาฮิตะอาลา” (เก็บตกจาก กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 2 หน้า 164)

والله أعلم بالصواب