การขอความช่วยเหลือจากวลียุ้ลเลาะห์ที่เสียชีวิตแล้วกระทำได้หรือไม่  (อ่าน 7400 ครั้ง)

อัลดุ้ลลาตี๊ฟ

  • บุคคลทั่วไป
 salam ครับอาจารย์  คือ  ผมมีข้อข้องใจอยากถามอาจารย์ว่า  มีมุสลิมบางกลุ่มที่เขานับถือวลียุ้ลลอห์  แล้วพวกเขาได้ทำการขอความช่วยเหลือจากวลีดังกล่าวซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วจากที่กุโบ๊รของวลีนั้น  เราสามารถกระทำได้หรือไม่  แล้วจะขัดกับอัลกุรอ่านหรือไม่ครับ  และการมีรูปวลีไว้ในบ้านนั้นสามารถกระทำได้หรือไม่  อยากทราบมากครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
...الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


      การไปเยี่ยม (ซิยาเราะฮฺ) สุสานของคนศอลิหฺหรือโต๊ะวะลียฺและการขอดุอาอฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่สุสานหรือมะก็อมของโต๊ะวะลียฺนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ตาม ศาสนบัญญัติ ในตำราสิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺของอิมามอัซ-ซะฮฺบียฺ (ร.ฮ.) เล่มที่ 17 หน้า 755 ระบุว่า : และการขอดุอาอฺนั้นเป็นสิ่งที่ถูกตอบรับ (มุสตะญาบ) ณ ที่สุสานของบรรดานบีและบรรดาวะลียฺ และในสถานที่อื่นๆ ทั่วไป


แต่สาเหตุของการตอบรับดุอาอฺนั้นคือการมาปรากฏตัวของผู้ขอดุอาอฺ การมีความนอบน้อม และมีการมุ่งมั่นในการวิงวอนขอ และไม่ต้องสงสัยว่าในสถานที่ที่มีความจำเริญ ในมัสญิด และในช่วงเวลาดึกสงัดก่อนรุ่งสาง และที่คล้ายๆ กันนั้น สิ่งดังกล่าวจะเกิดขึ้นแก่ผู้ขอดุอาอฺโดยส่วนใหญ่ และผู้ที่มีความคับขันทุกคน การดุอาอฺของผู้นั้นจะถูกตอบรับ


และชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ระบุไว้ในตำราอิกติฎออฺ อัศ-ศิรอฎิล มุสตะกีม 2/689-691 ว่า “มีนักวิชาการและผู้มีความประเสริฐหลายกลุ่มจากชนรุ่นก่อนและชนรุ่นหลังพวกเขาเลือกที่จะทำการขอดุอาอฺที่สุสาน”


และในริสาละฮฺ อัร-ร็อด อะลา อัล-อัคนาอียฺ หน้า 115 ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “และผู้ศรัทธานั้นเขาอาจจะเลือกการละหมาดหรือการขอดุอาฮฺในสถานที่หนึ่งโดยไม่เลือกอีกสถานที่หนึ่งเพื่อให้หัวใจของเขารวมเป็นหนึ่งในสถานที่นั้นและเกิดความสอบและความนอบน้อม มิใช่เป็นเพราะว่าเขาเชื่อว่าผู้วางบัญญัติศาสนา (ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ถือว่าสถานที่นั้นประเสริฐกว่า เช่น การละหมาดของคนที่อยู่ภายในบ้านของเขาและที่คล้ายกันนั้น ดังนั้น สิ่งที่เหมือนกับเรื่องทำนองนี้เมือ่ไม่เป็นการขอในสิ่งที่ต้องห้ามก็ย่อมไม่เป็นอะไร”



      ดังนั้น การขอดุอาอฺที่สุสานของคนศอลิหฺหรือโต๊ะวะลียฺจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ และมีตัวบทกว้างๆ ส่งเสริมให้ทำการซิยาเราะฮฺและขอดุอาอฺที่สุสานอีกด้วย แต่การขอดุอาอฺที่ว่านี้จะต้องเป็นการขอต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยตรง เพียงแต่ผู้ขออาศัยสถานที่ตรงนั้นเป็นสื่อในการตอบรับดุอาอฺเท่านั้น มิใช่ขอต่อผู้เสียชีวิตในสุสานหรือโต๊ะวะลียฺผู้นั้น เพราะการขอดุอาอฺเป็น    อิบาดะฮฺ และการขอความช่วยเหลือ (อิสติอานะฮฺ / อิสติฆอษะฮฺ) ก็เป็นอิบาดะฮฺที่จำเป็นจะต้องมอบหมายและมุ่งตรงสู่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ดังปรากฏในสูเราะอัล-ฟาติหะฮฺที่ว่า إياك نَعْبُدُ وإياك نستعين


ดังนั้น หากบุคคลมุ่งการขอดุอาอฺหรือการขอความช่วยเหลือโดยตรงไปยังโต๊ะวะลียฺ และเชื่อว่าโต๊ะวะลียฺสามารถให้คุณให้โทษได้ด้วยอำนาจหรือบารมีของโต๊ะวะลียฺเอง กรณีนี้ก็เข้าข่ายเป็นชิรฺก์ใหญ่ (ชิรฺก์ อักบัรฺ) ซึ่งทำให้ตกศาสนา (มุรตัด) ได้ วัลอิยาซุบิลลาฮฺ ส่วนการมีรูปโต๊ะวะลียฺเอาไว้ในบ้านนั้นก็ต้องดูที่เจตนาว่ามีไว้เพื่อสิ่งใด


หากมีเจตนาให้เกียรติและยกย่องความสำคัญถึงขั้นบูชาก็เป็นสิ่งต้องห้ามและหมิ่นเหม่ต่อการชิริก แต่ถ้าไม่มีเจตนาเช่นนั้น เช่นมีไว้เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีที่เขาเป็นคนรักของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเราจะปฏิบัติตามในสิ่งที่เป็นคุณงามความดีนั้นเพื่อเราจะได้เป็นคนรักของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เช่นกัน ก็ไม่เป็นอะไร ส่วนว่าควรหรือไม่ควรก็เป็นประเด็นของรูปภาพที่นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน

والله أعلم بالصواب