มุสลิมเพชรบุรีมาจากตานีด้วยไม  (อ่าน 7069 ครั้ง)

อบู

  • บุคคลทั่วไป
มุสลิมเพชรบุรีมาจากตานีด้วยไม
« เมื่อ: มกราคม 29, 2014, 03:12:09 pm »
 salam
ขอถามอาจารย์ว่า มุสลิมในจังหวัดเพชรบุรีมีเชื้อสายมาลายูด้วยไม? สืบเนื่องจากสมัยทึ่อยุธยาเกณฑ์ชาวปัตตานีขึ้นไปที่บางกอก แล้วเกิดมีการหลบหนีระหว่างทาง บ้างก็ไปอยู่ที่ นครศรีหรือสุราษ 
ญาซากัลลอฮ์คับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: มุสลิมเพชรบุรีมาจากตานีด้วยไม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 15, 2014, 12:02:57 am »
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته

เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองเก่าในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองจัตวาเป็นเมืองขึ้นตรงต่อการปกครองจากราชสำนักอยุธยา ในบันทึก “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” ระบุว่า มีมุสลิมตั้งชุมชนอยู่ตามเมืองในเขตวงราชธานีอยู่หลายเมือง เช่น ลพบุรี พริบพรี (เพชรบุรี) บางกอก เป็นต้น โดยระบุว่าเมืองบนเส้นทางจากเพชรบุรีไปยังอยุธยาอุดมสมบูรณ์ด้วยสวนผลไม้และเจ้าเมืองเป็นมุสลิมชาวเติร์ก (ตุรกี) ที่นับถือนิกายชีอะฮฺ (Muhammad Rabi , The Ship of Sulaiman pp.50-51)


ทั้งนี้เมืองเพชรบุรีถือเป็นเส้นทางสำคัญทางการค้าที่เกี่ยวพันกับการเมืองมะริด ตะนาวศรี เมืองปราณบุรี และกุยบุรี จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อค้ามุสลิมชาวอินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย และมลายู-ชวาจะเดินทางผ่านเมืองเพชรบุรีและตั้งสถานีทางการค้าขึ้นที่นั่น และเป็นไปได้ว่าในเขตเมืองเพชรบุรีจะมีชุมชนของชาวมลายูตั้งอยู่ที่นั่นมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพราะชาวมลายูเป็นพลเมืองพื้นถิ่นที่ประกอบอาชีพค้าขายและทำการเกษตรกรรมมาแต่เดิมแล้วในภูมิภาคนี้


      ในหนังสือที่ระลึกครบรอบ 370 ปี มัสยิดวาดี อัล-ฮูเซ็น (ตะโละมาเนาะ) เขียนโดย อับดุลลอฮฺ ลออแมน (พ.ศ. 2532) หน้าที่ 10 ระบุว่า : “ชาวปัตตานีที่ถูกจับเป็นเชลยศึกในคราวไทยรบกับปัตตานีนั้น เมื่อถูกนำไปถึงอยุธยาบางส่วนได้หนีกลับมาหรือถูกปล่อยให้กลับมา ชาวมุสลิมในจังหวัดเพชรบุรีนั่น คือลูกหลานของชาวปัตตานีที่เคยเป็นเชลยศึก เมื่อถูกปล่อยหรือหนีมาแล้ว มาถึงที่เพชรบุรี เห็นทำเลดีจึงปักหลักอยู่ที่นั่นเลย แต่บางรายกลับมาถึงบ้าน เช่น ตนกูมะหฺมูด กลับมาถึงบ้านในปี ฮ.ศ. 1043 ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าท่านได้ไปสร้างบ้านที่โก๊ะกือดง ขณะนี้อยู่ในอำเภอยี่งอ เกี้ยว (ไม้คาน) สำหรับหาบท่านกลับมานั้น ขณะนี้ลูกหลานของท่านได้รักษาไว้อย่างดี ตนกูผู้นี้เป็นลุงหรืออาของท่านวันฮูเซ็นนั่นเอง ฮ.ศ. 1043 เทียบกับศํกราชสากลประมาณ พ.ศ. 2166 / ค.ศ. 1623”


      สงครามระหว่างสยาม-ปัตตานีในเวลาที่ไล่เลี่ยกับปีที่สร้างมัสยิดตะโละมะเนาะ (ฮ.ศ. 1044 / ค.ศ. 1603) ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรแห่งกรุงศรีอยุธยา และรัชสมัยราชินีฮิเญาวฺ แห่งอาณาจักรปัตตานี แต่สงครามครั้งนั้นอยุธยาไม่สามารถตีปัตตานีได้ ถึงแม้ว่าจะยกกองทัพเข้าปะชิดเมือง และมีการรบพุ่งในเมืองปัตตานีก็ตาม (อิบรอฮีม ชุกรี่ ; ตำนานเมืองตานี , หะสัน หมัดหมาน แปล (2525) หน้า 23-24)


      สงครามครั้งต่อมาเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2175-2176 (2177 ?) รัชกาลสมเด็จพระเจ้า ปราสาททองตรงกับรัชสมัยราชินีอูงฆู แต่สยามก็ไม่สามารถตีปัตตานีได้ (ม.ล. มานิจ ชุมสาย : ประวัติศาสตร์มะลายูและปัตตานี (2517) หน้า 9-11) สงครามครั้งนั้นรบพุ่งกันที่ทุ่ง “ลอรอง มาลิม อายี” (อยู่ระหว่างอำเภอหนองจิกกับยะรังปัจจุบัน)        ถึงแม้ว่าอยุธยาจะไม่สามารถตีเมืองปัตตานีได้ในการรบทั้งสองครั้งนั้น แต่การยกทัพเข้าประชิดและรบพุ่งในเมืองก็ย่อมมีพลเมืองปัตตานีบางส่วนถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกกวาดต้อนขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยาเป็นธรรมดา


แต่ต่อมาชาวปัตตานีบางส่วนที่ถูกจับเป็นเชลยก็หลบหนีหรือถูกปล่อย การเดินทางกลับสู่ปัตตานีจึงเกิดขึ้นตามมา และความน่าเชือถือของการระบุว่า ชาวปัตตานีส่วนหนึ่งที่เดินทางมาถึงเมืองเพชรบุรีแล้วตั้งรกรากอยู่ที่นั่นก็เป็นสิ่งที่มีข้อยืนยัน เพราะมีตัวบุคคลปรากฏชัดเจนในแหล่งข้อมูลของชาวปัตตานีเอง เช่น วันหะซันพี่ชายของวันหุเซ็นผู้สร้างมัสยิดตะโละมะเนาะ ถูกระบุชัดเจนว่าเป็นเชลยศึกถูกจับตัวไปยังกรุงศรีอยุธยา และตนกูมะหฺมูดซึ่งสามารถเดินทางกลับมาถึงเมืองปัตตานีในปี ฮ.ศ.ที่ 1043 ตรงกับ พ.ศ. 2166 / ค.ศ. 1623 


และมีหลักฐานเป็นเกี้ยวหรือคานหามที่ลูกหลานของท่านยังคงเก็บรักษาเอาไว้ การระบุว่าชาวปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกไม่ยอมกลับปัตตานีแต่เลือกที่จะตั้งรกรากอยู่ที่เมืองเพชรบุรีย่อมเป็นอื่นไปได้นอกจากเป็นคำบอกเล่าของผู้ที่กลับมาถึงปัตตานี เช่น ตนกูมะหฺมูดนั่นเอง ตัวของตนกูมะหฺมูดก็เป็นลุงหรืออาของท่านวันหุเซ็นซึ่งเป็นโต๊ะฆูรูที่บ้านสะนอญันญาร์มาก่อน และเป็นผู้สร้างมัสยิดวาดียฺ อัล-ฮุเซ็น ราวปี พ.ศ. 2167 (ฮ.ศ. 1044) ถึงปัจจุบันก็มีอายุร่วม 390 ปี บุคคลในเรื่องมีตัวตนอยู่จริงและสืบค้นได้ มิใช่เป็นบุคคลนิรนาม


การให้การว่า เมื่อเกือบ 400 ปีที่แล้วสมัยกรุงศรีอยุธยามีเชลยศึกชาวปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนขึ้นไปกรุงศรีอยุธยาแล้วมีการหลบหนีหรือถูกปล่อยตัวจึงเดินทางกลับสู่เมืองปัตตานี แต่พอมาถึงเมืองเพชรบุรีก็เปลี่ยนใจและตั้งรกรากอยู่ที่นั่น จึงมิน่าจะเป็นเพียงตำนานหรือเรื่องปรัมปรา และเรื่องนี้ก็คงเป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคนั้นต้องสอบสวนทวนความเกี่ยวกับความเป็นไปของพี่น้องและเครือญาติที่ถูกจับไปเป็นเชลย โดยเฉพาะเมื่อบางคนอย่างตนกูมะหฺมูดกลับไปถึงปัตตานีก็จะต้องถามไถ่และบอกกล่าวกันเป็นธรรมดา และจากคำบอกเล่านั้นก็คงได้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังว่าทำไมคนปัตตานีอีกกลุ่มหนึ่งจึงไม่กลับมาด้วย


และเป็นไปได้ว่านอกจากการมีทำเลที่ดีของเมืองเพชรบุรีแล้วโดยเฉพาะเรื่องการทำนาซึ่งเป็นอาชีพโดยสายเลือดของคนตานี เหตุที่เลือกตั้งรกรากที่นั่นก็อาจจะมีปัจจัยอย่างอื่นด้วย นั่นคือ เพราะที่นั่นน่าจะมีคนมลายูตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้วจึงเป็นเรื่องที่สมควรว่าเมื่อมีคนมลายูอยู่ที่นั่นก็เลยลงหลักปักฐานอยู่เสียด้วยกัน เพราะคงจะเป็นเรื่องยากหากคนปัตตานีที่ถูกจับเป็นเชลยจะลงหลักปักฐานท่ามกลางคนสยามที่เป็นคู่สงครามกันโดยไม่มีคนมลายูเจ้าถิ่นตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้วในเมืองเพชรบุรี การมาพบเจอทำเลที่ดีอย่างเดียวคงไม่พอ แต่น่าจะเป็นเพราะมาเจอพวกมลายูด้วยกันด้วย จึงชักชวนให้อยู่ด้วยกันหรือให้การช่วยเหลือมิให้ถูกตามจับตัวจากฝ่ายสยามหรือแม้กระทั่งการถูกรังแกจากชาวสยามเจ้าถิ่น


      อย่างไรก็ตาม หากการตั้งรกรากของชาวมลายูปัตตานีที่เมืองเพชรบุรีนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเรื่องจริงตามคำให้การนั้นก็แสดงว่าคนมลายูมุสลิมในเมืองเพชรบุรีเป็นคนเก่าแก่มากที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมืองเพชรบุรี และมีระยะเวลาการตั้งรกรากนานมากแล้วร่วม 400 ปีเลยทีเดียว