สับสนทางเพศควรปฏิบัติตัวอย่างไร  (อ่าน 5917 ครั้ง)

ผูหาทางออก

  • บุคคลทั่วไป
สับสนทางเพศควรปฏิบัติตัวอย่างไร
« เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2014, 03:03:23 am »
 salam   
เรียนถามอาจารย์คะ  ผู้หญิงที่ไม่มีนัฟซูกับผู้ชาย แต่กลับมีนัฟซูกับผู้หญิงด้วยกันเอง ควรปฏิบัติตนอย่างไร
ให้ถูกตามหลักศาสนา เรื่องแบบนี้มันเป็นเหมือนโรคชนิดหนึ่งใช่หรือไม่ เพราะคนที่เป็นแบบนี้ไม่ได้เป็นตามแฟชั่น
แต่มันอยู่ในตัวของผู้เป็นเอง ส่วนเรื่องแต่งงาน นั้น ดิฉันแต่งงานแล้วคะ ตามหลักศาสนา มีลูกแล้ว แต่ก็ไม่เข้าใจตัวเราเอง เวลาที่จะอยู่ใกล้ผู้หญิงก็เหมือนตัวเองไม่สบายใจยังไงก็ไม่ทราบเพราะเรารู้สึกตัวเองตลอดว่าคิดกับเพศเดียวกัน ลำบากมากคะ ในการดำเนินชีวิตและจำเป็นต้องทนในสิ่งที่นัฟซูไม่รับ บางครั้งคิดอิจฉาคนที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ทำอะไรก็ได้ตามใจตัวเอง
แต่มาคิดดูว่าเราคือมุสลิม ต้องทำตามที่ศาสนาสั่งใช้ ไม่ใช่ตามใจตัวเอง แต่จริงๆแล้วรู้สึก
สงสารสามีคะ แต่ยอมรับว่าตัวเองพยายามแล้ว แต่ไม่ได้รู้สึกอะไรจริงๆ  อยากให้ท่านอนจารย์ ช่วยชี้แะแนวทางการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่ถูกต้อง ให้ด้วยคะ

TheMaxET

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 5
Re: สับสนทางเพศควรปฏิบัติตัวอย่างไร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 08, 2014, 09:08:39 am »
คือผมก็เช่นเดียวกันครับ ผมมีนัฟซูกับผู้ชาย ผมหนักใจตัวเองตลอดมา แบบกลัวทำอะไรไปผิด กลัวละหมาดอัลลอฮฺไม่รับ การที่เป็นแบบนี้ อัลลอฮฺจะสาปแช่ง ลำบากใจมาก กลัวแต่งงานไปแล้วจะเหมือนกับหลอกผู้หญิง ผมกับคุณหัวอกด้วนกับครับ

คนผ่านมา

  • บุคคลทั่วไป
Re: สับสนทางเพศควรปฏิบัติตัวอย่างไร
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 09, 2014, 09:13:44 pm »
 salam รู้สึกว่าจะมีคลีนิครักษาโรคนี้โดยตรงคนรักษาเป็นระดับด็อกเตอร์ ลองค้นหาในกูเกิ้ลดู เห็นว่าไม่ใช่ความบกพร่องของจิตใจแต่เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะยิ่งอายุมากอาการหายขาดยิ่งยาก  :)

ผู้ตั้งคำถาม

  • บุคคลทั่วไป
Re: สับสนทางเพศควรปฏิบัติตัวอย่างไร
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 21, 2014, 03:07:41 am »
 :) ญ่าซากัลลอฮฺฮุค็อยร็อน สำหรับความคิดเห็นของผู้ที่ผ่านมาทุกท่านคะ  ดิฉันคิดว่าถ้านี่คือโรคจริงๆ มันอาจสายเกินไปแล้ว ก็เป็นได้  มันกลายเป็นนัฟซูเราไปแล้ว กระทั่งในฝัน ยังเป็นเลยคะ   ดิฉันต้องยอมรับมันแทนที่จะหนีหรือหลีกเลี่ยงด้วยวิธีแต่งงาน นั่นไม่ได้ช่วยอะไรเลย แถมตามมาด้วยความรู้สึก กลัวเวลาที่จะต้องอยู่กับสามี และต้องทำหน้าที่ภรรยาด้วยซ้ำมันขัดกับข้างในตัวเราฝืนใจทุกครั้ง และไม่มีความสุขไม่ได้รู้สึกอะไรเลย แต่กับคนที่เราชอบที่ว่าเป็นเพศเดียวกับเรา รู้สึกพิเศษ อยากใกล้ชิด ทำนั่นนี่ให้ มีความสุขในใจตลอด รู้สึกผิด จนบางครั้งร้องไห้ว่าตัวเองเป็นอะไรไป  มันยังแก้ไม่หายต่อให้เรามีสามีมีลูกแล้วก็ตาม  แค่อยากรอดจากเรื่องนี้ ไม่เดินในทางที่ผิดน่ะคะ  ถ้าเรายอมรับมันและอยู่กับสิ่งนี้ด้วยกับอิสลาม จะมีทางออกยังไง  กำลังรอคำตอบจากท่านอาจารย์อาลี อยู่คะ   :)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: สับสนทางเพศควรปฏิบัติตัวอย่างไร
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กันยายน 21, 2014, 08:05:04 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

มันคือโรคทางใจ  (مَرَضُ الْقَلْبِ) และโรคนี้ไม่มีทางหายขาดตราบใดที่เรายังคงมีอารมณ์ใคร่ (ฮาวา-นัฟสู) กับคนเพศเดียวกัน และโรคทางใจนี้เกิดขึ้นกับคนทุกคน คนที่มีอารมณ์ความใคร่และหมกหมุ่นอยุ่กับเรื่องทางเพศ ถึงแม้ว่าจะเป็นกับเพศตรงกันข้าม (ชาย-หญิง / หญิง-ชาย) และถูกชัยฏอนชักจูงให้คิดและหมกมุ่นอยู่กับเรื่องทางเพศ ก็ถือว่ามีอาการของโรคทางใจนี้แล้วจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมอารมณ์และการขัดขืนจากชัยฎอนว่าทำได้มากน้อยเพียงใด


อย่างกรณีของคนที่ทำซินากับเพศตรงข้าม นั่นก็เป็นเพราะมีเชื้อแห่งโรคทางใจเป็นมูลอยู่แล้ว เมื่อไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้กอปรกับมีปัจจัยปลุกเร้าให้กำหนัดพลุ่งพล่านและถูกชัยฏอนชักจูงและชี้ชวน เชื้อแห่งโรคทางใจนั้นก็จะสำแดงอาการทางกายออกมาและท้ายที่สุดก็พลั้งพลาดสู่การทำซินาจริงๆ


ในทำนองนั้นแล คนที่มีอารมณ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน (ชาย-ชาย / หญิง-หญิง) ก็เป็นเพราะมีเชื้อแห่งโรคทางใจเป็นมูลอยู่แล้ว เมื่อไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความใคร่ของตนได้ กอปรกับมีปัจจัยปลุกเร้าให้กำหนัดพลุ่งพล่าน และถูกชัยฏอนชักจูงและชี้ชวนให้สนองกำหนัดและทำตามอารมณ์เพื่อให้ความใคร่นั้นสำเร็จ


เชื้อแห่งโรคทางใจก็จะสำแดงอาการทางกายและพฤติกรรมออกมา เช่น มีความสุขลึกๆ อยากใกล้ชิด มีชีวิตชีวาเมื่อได้ปฏิสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันคนนั้น เมื่อปล่อยให้อาการที่สำแดงออกมาเป็นไปอย่างนั้น เพลิดเพลินและล่องลอยไปกับมัน (เพราะถูกชัยฏอนจูงหรือกล่อมให้เพลิน) การควบคุมอารมณ์ก็จะหมดประสิทธิภาพ ความยั้งคิดหรือการฝืนอารมณ์ก็จะค่อยๆ อ่อนแรงลง ท้ายที่สุดก็อาจจะเลยเถิดไปสู่การกระทำทางกายที่ผิดพลาด คือ ลิวาฏ (รักร่วมเพศ) หรือ สิห๊าก (เลสเบี้ยน) หรืออะไรในทำนองนั้น


จะเห็นได้ว่าโรคทางใจนี้เกิดได้กับทุกคนที่เป็นมนุษย์ปุถุชน เหตุนี้ศาสนาจึงกำหนดห้ามมิให้ชายกับชายมองอาเราะฮฺซึ่งกันและกัน และห้ามมิให้หญิงมองเอาเราะฮฺซึ่งกันและกัน ห้ามมิให้ชายกับชายอยู่ในสภาพนุ่งน้อยห่มน้อยด้วยกันภายใต้ผ้าห่มผืนเดียวกัน ห้ามมิให้หญิงกับหญิงที่อยู่ในสภาพนุ่งน้อยห่มน้อยนอนด้วยกันภายใต้ผ้าห่มผืนเดียวกัน ห้ามมิให้มองใบหน้าของหนุ่มหน้าใส (อัล-อัมร็อด) ถึงแม้ว่าจะไม่มีฟิตนะฮฺขณะนั้นก็ตาม


ห้ามมิให้ชายหญิงอยู่ในที่ลับตาคน 2 ต่อ 2  และมีคำสั่งให้แยกที่นอนของพี่น้องชายหญิงที่มีอายุได้ 10 ขวบ และห้ามมิให้ชายทำเลียนแบบผู้หญิง หรือผู้หญิงทำเลียนแบบผู้ชาย คือห้ามเป็นกระเทย ห้ามผู้ชายแต่งตัวหรือแต่งกายเป็นหญิง และห้ามผู้หญิงแต่งตัวหรือแต่งกายเป็นชาย


ทั้งหมดที่ว่ามา ทำไมอิสลามจึงห้าม! ก็เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นจริงด้วย อย่างกรณีของชาวเมืองสะดูมที่นบีลูฎ (อ.ล.) ถูกส่งไปเผยแผ่ศาสนานั้น ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วในอดีต คนพวกนั้นมีลักษณะตามที่อัล-กุรอานระบุเอาไว้คือมีอารมณ์ความใคร่และกำหนัดเฉพาะกับผู้ชายด้วยกัน แต่ไม่มีอารมณ์ทางเพศกับผู้หญิง (สูเราะฮฺอัล-นัมล์ อายะฮฺที่ 55) และในกลุ่มชนของนบีลูฏ (อ.ล.) นี้เองที่เชื่อกันว่า หญิงรักหญิงเริ่มปรากฏขึ้นโดยมีลักษณะเหมือนกันคือ มีอารมณ์ความใคร่และกำหนัดเฉพาะหญิงด้วยกัน แต่ไม่มีอารมณ์ทางเพศกับผู้ชาย


ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้คงไม่ใช่วิธีการรักษาทางการแพทย์ในด้านสรีระร่างกาย แต่เป็นเรื่องของการรักษาทางจิตวิญญาณ โดยมีตัวยาสำคัญ 2 ประการ หนึ่ง ความรู้ สอง การปฏิบัติ ตัวยาทั้งสองขนานนี้ต้องใช้คู่กัน โดยเริ่มจากความรู้ก่อน


กล่าวคือ รู้ธรรมชาติของตัวเองตามความเป็นจริงที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) สร้างเรามา เพศชาย เพศหญิง เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนด เราผู้เป็นบ่าวต้องยอมรับในข้อกำหนดนี้เสียก่อน เมื่อยอมรับในธรรมชาติข้อนี้ก็ต้องยินดีและควบคุมพฤติกรรมให้เป็นไปตามนั้น ชายต้องทำตัวเป็นผู้ชาย หญิงต้องทำตัวเป็นผู้หญิง รู้ตัวและควบคุมมันให้เป็นไปอย่างนั้น ถึงแม้ว่าอารมณ์ (นัฟสู) ของเราจะบอกว่า เราชอบผู้หญิงด้วยกัน เราชอบผู้ชายด้วยกัน ก็ให้รู้ตัวและมีสติว่า นั่นเป็นเพียงอารมณ์ (นัฟสู) ที่ถูกชัยฏอนรบกวนให้เกิดความสับสน แต่ถ้าทำใจฝืนต่อสิ่งนั้นไม่ได้ก็จงเก็บมันไว้ในใจ อย่าแสดงมันออกมา


อาจเกิดคำถามว่า เป็นการเก็บกดหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า อาจจะใช่ก็ได้ เก็บกดก็จำต้องยอม เพราะการเก็บกดก็คือการบังคับอารมณ์ (นัฟสู) ความเป็นมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานก็อยู่ตรงนี้แหล่ะ คือ รู้จักเก็บความรู้สึกและกดอารมณ์เอาไว้ สัตว์เดรัจฉานดำรงชีวิตตามอารมณ์และสัญชาติญาณดิบ มันจึงไม่มีเรื่องของการเก็บกดความรู้สึกและอารมณ์ มันนึกอยากจะทำอะไรมันก็ทำ แต่เราไม่ใช่ เราเป็นมนุษย์ และที่สำคัญเราเป็นมนุษย์ที่มีศาสนาเป็นสิ่งควบคุมและกำกับพฤติกรรมทั้งทางใจและทางกาย ที่เราบอกว่าเราคือมุสลิม ต้องทำตามที่ศาสนาสั่งใช้ ไม่ใช่ทำตามใจตัวเอง นั่นแหล่ะคือสิ่งที่ถูกต้อง


และเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการนำมาใช้ต่อสู้กับอารมณ์ความรู้สึกที่เรากำลังมองว่าเป็นความทุกข์ใจและอยากจะหาทางออกเพื่อให้รอดพ้นจากเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องในทำนองนี้มีกันทุกคน อยู่ที่ว่าใครจะควบคุมมันไม่ให้สำแดงอาการออกมาได้ดีกว่ากัน และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องมือในการควบคุมได้ดีกว่าศรัทธา ความอดทน และการเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า เราเป็นมุสลิม


ถามว่า คนมุสลิมไม่มีอารมณ์กำหนัดอยากทำซินาเหรอ คนมุสลิมไม่อยากลิ่มลองกับความยั่วยวนของมะอฺศิยะฮฺ (ความชั่ว) หรอกเหรอ ก็ตอบได้ว่า มีและอยากเหมือนกัน แต่ทำไมคนมุสลิมจึงไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ก็เพราะเขารู้จักควบคุมอารมณ์ความอยากของตนด้วยความศรัทธาในศาสนา เราคงไม่สามารถทำลายความรู้สึกอยากและความปรารถนาให้หมดไปโดยสิ้นเชิงจากใจของเราได้ แต่เราสามารถควบคุมมันเอาได้ เราห้ามความรู้สึกที่มีกับคนเพศเดียวกันไม่ให้เกิดขึ้นในใจของเราได้ยากก็จริง เพราะเชื้อแห่งโรคทางใจมันมีมูลอยู่ และชัยฏอนก็ยังคงพากเพียรทำหน้าที่ของมันในการกระตุ้นเชื้อแห่งโรคทางใจนั้นให้สำแดงอาการ มันกัดเราไม่ปล่อยอยู่แล้ว


เมื่อเรารู้เช่นนี้ เราจะทำอย่างไร ระหว่างยอมให้เป็นไปตามนั้น หรือว่าจะฝืนมันด้วยความทุกข์ทางใจ แต่ก็ยังดีกว่ามิใช่หรือที่เรายอมอดทนแบกรับความทุกข์ทางใจแค่โลกนี้เพื่อความสุขที่เป็นนิรันดร์ การที่เราร้องไห้และรู้สึกผิดในเรื่องนี้นั่นย่อมแสดงว่าเรายังรู้จักที่จะหวนกลับมาทบทวน ดีกว่าไม่รู้สึกผิดและร่าเริงไปกับความรู้สึกที่เกิดนั้น เรารู้สึกสงสารสามีนั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน


อีกทั้งเรื่องเพศสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตคู่มิใช่ทั้งหมด การที่เราไม่มีความสุขในขณะมีอะไรกับสามีก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเราหมดความหมาย อย่างน้อยเราเป็นผู้ให้ความสุขกับสามีได้จนมีลูกด้วยกันโดยที่เราไม่มีความสุขในขณะนั้นเลยมันก็คงไม่สำคัญไปกว่าการที่เราเป็นผู้ให้ ความรักไม่ได้อยู่ที่เรื่องนั้นเป็นสำคัญ ความรักที่มีความสงสารและความเห็นอกเห็นใจกันก็ย่อมเป็นความรักที่สูงส่งกว่าความใคร่และกำหนัดเป็นไหนๆ


อย่าท้อแท้และสิ้นหวังในพระเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อย่าทุกข์ระทมด้วยความรู้สึกนั้น เพราะเมื่อใจของเราทุกข์ระทมนั่นคือโอกาสของชัยฏอน จงบรรเทาอาการที่ว่านั้นด้วยการละหมาดและซิกรุลลอฮฺ เพราะการซิกรุลลอฮฺจะทำให้ใจเราสงบและไม่ฟุ้งซ่าน จงอย่ายอมแพ้ในการที่จะต่อสู้กับอารมณ์และความรู้สึกนั้น


และจงรับรู้ว่าตราบใดที่เรายังชีวิตอยู่ความรู้สึกและอารมณ์นั้นย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และการห้ามมันไม่ให้เกิดก็ทำได้ยาก และการทำให้มันหายไปเลยก็ยากยิ่งกว่า แต่ไม่มีอะไรที่จะต้องท้อแท้และทำให้สิ้นหวัง ขอเพียงตั้งใจให้แน่วแน่ว่าจะควบคุมให้อยู่ในที่อันควร ต่อสู้กับมันในยามที่พลุ่งพล่าน กดมันไว้เมื่อมันดิ้นรน และเก็บมันไว้เมื่อมันพยายามแสดงอาการ และไม่มีอะไรที่สายเกินแก้ ขอให้มั่นในศรัทธาและความอดทน

والله ولي التو فيق