เครื่องหนังที่ทำจากสัตว์ที่ไม่ได้เชือด หรือสัตว์ที่กินไม่ได้  (อ่าน 11191 ครั้ง)

อยากรู้

  • บุคคลทั่วไป
 salam อยากถามอาจารย์ประเด็นเกี่ยวกับการใช้เครื่องหนัง จากสัตว์ที่ไม่ได้เชือดตามหลักศาสนาสามารถใช้เป็นเครื่องแต่งกาย ได้ไหม ครับ เวลาละหมาด จะสวมใส่ ไปด้วยได้ไหม ครับ เช่นสายนาฬิกา เข็มขัด กระเป๋าสตางค์ ทำจากหนังวัว แต่ไม่ได้เชือดตามหลักศาสนา รวมทั้งหนังสัตว์ที่ศาสนาไม่อนุมัติให้ รับประทาน แต่ไม่ใช่หมู หมา เช่น ช้าง เสือ จระเข้ หรืออื่นๆ สามารถ นำมาเป็นเครื่องแต่งกาย หรือ ใส่ ไปละหมาดได้ไหม ครับ ขอความกระจ่างสำหรับประเด็นนี้ด้วยครับ ขออัลลอฮ ตอบแทน

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

สัตว์ที่ห้ามรับประทานและสัตว์ที่ถูกเชือดโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา ถือว่าเป็นซากสัตว์ (มัยตะฮฺ) และซากสัตว์ถือเป็นนะญิสจึงไม่อนุญาตให้รับประทานหรือเอาประโยชน์จากซากสัตว์นั้น ยกเว้นกรณีของหนังสัตว์นั้นจะกลายเป็นสิ่งที่สะอาดและใช้ประโยชน์ได้ด้วยการฟอก (อัด-ดิบ๊าฆฺ) และกรณีของการฟอกหนังสัตว์ที่เป็นซากสัตว์ (มัยตะฮฺ) ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้หนังสัตว์นั้นสะอาดหรือไม่? นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน 5 ทัศนะ ดังนี้


1) หนังของซากสัตว์ทั้งหมด (ทุกชนิด) จะสะอาดได้ด้วยการฟอก แม้กระทั่งหนังของสุนัขและสุกร เป็นทัศนะของกลุ่มอัซ-ซอฮิรียะฮฺ และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งในมัซฮับอัล-มาลิกียฺ และเป็นคำกล่าวของอิมามอบู ยูสุฟจากมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ หลักฐานของนักวิชาการกลุ่มนี้คือ อัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “เมื่อหนังดิบ ได้ถูกฟอก แน่แท้หนังนั้นก็สะอาดแล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม อบูดาวูด อัต-ติรฺมีซียฺ ซึ่งสำนวนที่อัต-ติรฺมิซียฺบันทึกระบุว่า “หนังดิบใดๆ ก็ตามที่มันถูกฟอก แน่แท้มันก็สะอาดแล้ว” อัล-หะดีษบ่งชี้ว่าหนังของสัตว์ที่เป็นซากสัตว์ (มัยตะฮฺ) ทั้งหมดเป็นสิ่งที่สะอาดเมื่อมันถูกฟอกโดยมีนัยครอบคลุมหนังสัตว์ทุกชนิด


2) หนังของซากสัตว์ (มัยตะฮฺ) ทั้งหมดจะสะอาดได้ด้วยการฟอก ยกเว้นหนังของสุกรเท่านั้น เป็นทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ หลักฐานของนักวิชาการฝ่ายนี้ก็คือหลักฐานจากอัล-หะดีษของฝ่ายแรก และอาศัยอายะฮฺที่ 145 จากสูเราะฮฺอัล-อันอามมายกเว้นกรณีของหนังสุกร เพราะสุกรถือเป็นนะญิสในขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ และการเป็นนะญิสของมันเป็นนะญิสซาตียฺ (คือตัวสุกรทั้งหมดเป็นนะญิส) การเชือดสุกรก็ย่อมไม่ทำให้สามารถกินมันได้อยู่ดี และการเป็นนะญิสของสุกรแข็งแรงมากกว่าการฟอก หนังของสุกรจึงไม่สะอาดด้วยการฟอกนั้น


3) หนังของซากสัตว์ (มัยตะฮฺ) ทั้งหมดจะสะอาดได้ด้วยการฟอกยกเว้นหนังของสุกรและหนังของสุนัขตลอดจนสิ่งที่กำเนิดจากสัตว์ทั้งสองหรือหนึ่งจากทั้งสองพร้อมกับสัตว์ที่สะอาด (กล่าวคือ มีการผสมพันธุ์กับสัตว์ที่สะอาด) เป็นทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ เป็นริวายะฮฺหนึ่งจากอิมาม อะหฺมัด (ร.ฮ.) และเป็นคำกล่าวของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-หะนะฟียฺกลุ่มหนึ่ง โดยอาศัยหลักฐานจากตัวบทเดียวกันของนักวิชาการกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง แล้วเพิ่มเติมกรณีของสุนัขที่โดยอาศัยหลักฐานจากอัล-หะดีษของท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งระบุเกี่ยวกับการเลียภาชนะของสุนัข และการล้างภาชนะนั้น 7 ครั้ง 1 ใน 7 ครั้งให้ผสมดิน


4) การฟอกย่อมไม่ทำให้หนังของซากสัตว์ (มัยตะฮฺ) สะอาดไปได้ ยกเว้นหนังของซากสัตว์ที่อนุญาตให้กินเนื้อของมันได้ (ในกรณีที่มีการเชือดอย่างถูกต้อง) เท่านั้น กล่าวคือ หากสัตว์ที่กินเนื้อของมันได้ตายลงโดยมิได้ถูกเชือดหรือเชือดไม่ถูกต้อง สัตว์นั้นก็เป็นมัยตะฮฺและห้ามกิน แต่หนังของมันจะสะอาดได้ด้วยการฟอก เป็นทัศนะของอิมาม อัล-เอาซาอียฺ , อบูเษาริน และอื่นจากทั้งสอง


โดยอาศัยอัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ในเรื่องของแพะหรือแกะที่ตายลง แล้วท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ผ่านไปพบแล้วกล่าวว่า เหตุไฉนพวกท่านจึงไม่เอาหนังดิบของมัน แล้วพวกท่านก็ฟอกมัน พวกท่านก็เอาประโยชน์กับหนัง (ที่ถูกฟอกแล้ว) นั้นได้เล่า! อัล-หะดีษระบุถึงหนังของแพะหรือแกะซึ่งเป็นสัตว์ที่อนุญาตให้กินเนื่อของมันได้ (เมื่อถูกเชือด) จึงไม่รวมสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้กินเนื้อของมันในเรื่องของการฟอก


5) การฟอกจะไม่ทำให้หนังของซากสัตว์ (มัยตะฮฺ) ทุกชนิดสะอาดไปได้ เป็นทัศนะที่รู้กัน (มัรฮูรฺ) ของอิมามมาลิก (ร.ฮ.) และอิมาม อะหฺมัด (ร.ฮ.) โดยอาศัยหลักฐานจากอายะฮฺที่ระบุว่า ซากสัตว์ (มัยตะฮฺ) เป็นที่ต้องห้าม ซึ่งครอบคลุมอวัยวะทุกส่วนของซากสัตว์ในทุกกรณี และอาศัยสาส์นที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีไปถึงพวกญุฮัยนะฮฺ ซึ่งระบุห้ามมิให้เอาประโยชน์จากหนังสัตว์ และมีการยกเลิกข้ออนุโลมที่ระบุถึงฟอกหนังไปแล้ว


ดังนั้น เครื่องหนังที่ถูกฟอกอันเป็นหนังของสัตว์ที่อนุญาตให้กินเนื้อของมันได้ (ในกรณีที่ถูกเชือดอย่างถูกต้อง) เช่น หนังวัว เป็นต้นย่อมสามารถนำมาใช้สอยได้ เป็นสิ่งสะอาดไม่ใช่นะญิส เมื่อหนังนั้นถูกฟอกตามทัศนะของนักวิชาการกลุ่มที่ 1 , 2  , 3 และ 4 ซึ่งเป็นทัศนะของปวงปราชญ์ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอฺ)


แต่ถ้าเป็นสัตว์ที่ห้ามรับประทานเนื้อของมัน (ถึงแม้ว่าจะมีการเชือดอย่างถูกต้องก็ตาม) เช่น จระเข้ ช้าง เสือ เป็นต้น เมื่อมีการฟอกก็ถือว่าสะอาดและใช้สอยได้ตามทัศนะของนักวิชาการกลุ่มที่ 1 , 2 , 3 เท่านั้น ส่วนทัศนะของนักวิชาการกลุ่มที่ 4 , 5 ถือว่าใช้ไม่ได้และเป็นนะญิส


ก็ให้เลือกเอาตามที่กล่าว เพราะแต่ละทัศนะแล้วมีหลักฐานมาสนับสนุนทั้งสิ้น และในกรณีที่ยึดถือตามทัศนะของนักวิชาการที่มีความเห็นว่า การฟอกหนังของซากสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้หนังนั้นสะอาด ก็ย่อมสามารถนำมาเป็นเครื่องแต่งกายหรือใส่ไปละหมาดได้ ยกเว้นบางกรณี เช่น หนังเสือ เป็นกรณีที่มีหลักฐานอื่นมาระบุว่า เป็นที่ต้องห้ามหรือเป็นที่น่ารังเกียจ

(เก็บความจาก อะหฺกาม อัฏ-เฏาะฮาเราะฮฺ อะลัล มะซาฮิบ อัล-อัรฺบะอะฮฺ ; ดร.อบูสะรีอฺ มุฮัมมัด อับดุลฮาดียฺ หน้า 216-217)
والله أعلم بالصواب