สงสัยในหลักการ เห็นที่ไหนตามได้ทั่วโลก  (อ่าน 13171 ครั้ง)

Abi Atiya

  • บุคคลทั่วไป
 salam

เรียน อ. อาลี เสือสมิง

ผมได้พยายามศึกษาเรื่องราวของวันและการนับวันในอิสลาม จนวันหนึ่งได้เจอจุลสารจากนักวิชาการท่านหนึ่ง ได้กล่าวถึง การเห็นฮิลาลที่ได ตามได้กันทั่วโลก แท้จริงแล้วเป็นทัศนะของเช็ค อัลบานี แต่ก่อนหน้านั้นเจอแต่การอ้างว่า เป็นทัศนะของญุมฮูรอูลามา ซึ่งในใจผมยังขัดๆ ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อหลักการโดยปฐมบท ให้ดูฮิลาลหากเห็นให้นับ 1 เดือนใหม่ หากไม่เห็นก็ให้นับเดือนเก่าให้ครบ 30 วัน

จึงอยากรบกวนให้ อ. อาลีช่วยอธิบายว่า แท้ที่จริงๆ แล้วที่อ้างว่า เห็นเดือนที่ไหน ให้ทั่วโลกตามได้นั่นน่ะ เป็นเพียงทัศนะของ เช็ค อัลบานี และกลุ่มที่เห็นพ้องและสนับสนุนแนวคิดของเช็คเท่านั้น หรือเป็นเพียงการแอบอ้างญุมฮูรเพื่อการยกระดับทัศนะ
หรือเป็นมติเห็นพ้องจากอูลามาครับ

ขอ الله ตอบแทนความดีงามแก่อ. ครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: สงสัยในหลักการ เห็นที่ไหนตามได้ทั่วโลก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2015, 03:16:35 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ทัศนะที่ว่า เห็นฮิลาล (จันทร์เสี้ยว) ที่ใด ตามได้กันทั่วโลกนั้นเป็นทัศนะของปวงปราชญ์ส่วนใหญ่ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอ์) ซึ่งกล่าวว่า การถือศีลอดระหว่างชาวมุสลิมนั้นจะต้องเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของมัฏละอฺ (ตำแหน่งการขึ้นของจันทร์เสี้ยว) (อัล-ฟิกฮุลอิสลามีย์ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮ์บะฮ์ อัซซุหัยลีย์ 2/605)



นักวิชาการมัซฮับอัล-หะนะฟีย์ กล่าวว่า : ความแตกต่างของมัฏละอ์ และการเห็นจันทร์เสี้ยวในเวลากลางวันก่อนเวลาตะวันคล้อยและหลังตะวันคล้อยไม่ถูกพิจารณาตามทัศนะที่ปรากฏชัดของมัซฮับ และบรรดาคณาจารย์อาวุโสในมัซฮับส่วนมากตลอดจนการฟัตวาในมัซฮับถือตามหลักที่ว่านี้



ดังนั้นคนที่อยู่ทางทิศตะวันออกจำเป็นต้องถือศีลอดตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของคนที่อยู่ทางทิศตะวันตก ทั้งนี้เมื่อการเห็นของคนทางทิศตะวันตกเป็นที่แน่ชัด (อัด-ดุรรุลมุคตารฺ ว่า รอดดุลมุห์ตารฺ 2/131-132 , มะรอกีย์ อัล-ฟะลาห์ หน้า 109)



นักวิชาการมัซฮับอัล-มาลิกีย์กล่าวว่า : เมื่อจันทร์เสี้ยวถูกเห็น การถือศีลอดก็ครอบคลุมดินแดนอื่นๆ ด้วยไม่ว่าดินแดนนั้นจะใกล้หรือไกลก็ตาม โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะทางของการละหมาดย่อ และไม่ต้องคำนึงถึงมัฏละอ์ว่าตรงกันหรือไม่ ดังนั้นทุกคนที่ข่าวการเห็นจันทร์เสี้ยวไปถึงผู้นั้นก็จำเป็นต้องถือศีลอด ทั้งนี้หากข่าวการยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยวได้ถูกถ่ายทอดโดยการเป็นพยานของผู้ที่มีคุณธรรม 2 คน หรือกลุ่มคณะบุคคลที่รับรู้กันแพร่หลาย (อัช-ชัรหุลกะบีร 1/510 , บิดายะตุลมุจญ์ตะฮิด 18278 , อัล-เกาะวานีน อัล-ฟิกฮียะฮ์ หน้า 116)



และนักวิชาการฝ่ายอัล-หัมบะลีย์กล่าวว่า : เมื่อการเห็นจันทร์เสี้ยวเป็นที่ยืนยัน ณ สถานที่หนึ่ง จะใกล้หรือไกลก็ตาม การถือศีลอดก็จำเป็นสำหรับผู้คนทั้งหมด และข้อชี้ขาดของคนที่ไม่เห็นจันทร์เสี้ยวก็คือข้อชี้ขาดของคนที่เห็นจันทร์เสี้ยว (กัชชาฟุล กินาอ์ 2/353)



นี่คือทัศนะของทั้ง 3 มัซฮับซึ่งเป็นญุมฮุร อัล-อุละมาอ์เป็นทัศนะที่มีมาก่อนการกำเนิดของชัยค์ มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัล—อัลบานีย์ (ร.ฮ.) มิใช่เป็นทัศนะที่ชัยค์ อัล-อัลบานีย์ (ร.ฮ.) ได้ตั้งขึ้น



ส่วนกรณีที่ชัยค์อัล-อัลบานีย์ (ร.ฮ.) จะถือตามทัศนะของปวงปราชญ์ในเรื่องนี้นั้นก็มิใช่เรื่องแปลก ในทำนองเดียวกันที่ชัยค์ อัล-อัลบานีย์ (ร.ฮ.) ไม่ถือตามทัศนะของปวงปราชญ์ในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน และการที่กลุ่มเห็นพ้องกับชัยค์ อัล-อัลบานีย์จะอาศัยทัศนะของปวงปราชญ์มาสนับสนุนแนวทางของกลุ่มตนในประเด็นปัญหาเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ในทำนองเดียวกันทัศนะของปวงปราชญ์ที่คนกลุ่มนี้ไม่ถือตาม ไม่เห็นพ้องด้วยในประเด็นอื่นๆ ก็มีมากอยู่และไม่แปลกเช่นกัน เพราะทัศนะของปวงปราชญ์มิใช่การอิจญ์มาอ์ที่คัดค้านหรือเห็นต่างด้วยไม่ได้ มีประเด็นปัญหาจำนวนมิใช่น้อยที่เป็นทัศนะในมัซฮับหนึ่งแข็งแรงและมีน้ำหนักมากกว่าทัศนะของปวงปราชญ์



และโดยข้อเท็จจริงเท่าที่สังเกตพบ เรื่องของจันทร์เสี้ยวนี้ ทัศนะของปวงปราชญ์ถือว่าที่ไหนเห็นจันทร์เสี้ยวที่อื่นก็ตามได้นั้นเป็นไปในทำนองทฤษฎีที่มีการยอมรับกัน แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติจริง ประชาคมมุสลิมส่วนใหญ่ทั่วโลกกลับยึดทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์มาปฏิบัติเสียมากกว่า กล่าวคือ แต่ละประเทศต่างก็ดูจันทร์เสี้ยวเป็นเอกเทศและถือตามผลของการเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศของตนเป็นเกณฑ์ กลุ่มประเทศอาหรับและประเทศมุสลิมล้วนแล้วแต่ยึดตามคำประกาศของมุฟตีย์หรือองค์กรศาสนาหรือศาลสูงของตน มุฟตีย์ของประเทศอียิปต์ก็ไม่ถือตามการเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศอื่นอย่างนี้เป็นต้น การเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนและออกอีดจึงไม่พร้อมกันทั่วโลก ทัศนะของปวงปราชญ์จึงยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมถึงแม้ว่าจะมีการประชุมร่วมของนักวิชาการในเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้งก็ตาม




สิ่งที่แปลกก็คือ ความแตกต่างของมัฏละอ์เป็นกรณีที่นักวิชาการทุกมัซฮับยอมรับและไม่ได้ถกเถียงกัน เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงระหว่างดินแดนที่อยู่ห่างไกลกัน ส่วนที่เห็นต่างกันก็คือปวงปราชญ์ใน 3 มัซฮับไม่นำเอาเรื่องความแตกต่างของมัฏละอ์มาพิจารณา แต่มัซฮับอัช-ชาฟิอีย์พิจารณาเรื่องนี้ (อ้างเล้ว 2/605)



และกรณีที่ปวงปราชญ์ไม่ได้ขัดแย้งกันก็คือ อิมามมีสิทธิในการในการออกคำสั่งให้ถือศีลอดตามที่สิ่งที่แน่ชัดสำหรับอิมาม เพราะแท้จริงการชี้ขาดตัดสินของผู้ปกครอง (หากิม) จะขจัดข้อขัดแย้งออกไป (อ้างแล้ว 2/606) ซึ่งกรณีนี้เป็นทัศนะของปวงปราชญ์เช่นกัน



แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่อ้างว่าตามทัศนะปวงปราชญ์ในเรื่องการเห็นจันทร์เสี้ยวที่ใดก็ตามกันได้ทั่วโลก กลับไม่ยอมรับกรณีนี้ เพราะไม่ยอมรับว่าผู้นำมุสลิมในประเทศของตนเป็นผู้นำที่มีสิทธิชี้ขาดในเรื่องนี้ และจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เมื่อเลือกเอาทัศนะของปวงปราชญ์ในเรื่องการเห็นจันทร์เสี้ยว แต่ทิ้งทัศนะที่เห็นพ้องของปวงปราชญ์ในเรื่องสิทธิของผู้นำ ความพร้อมเพรียงในการถือศีลอดหรือออกอีดในประเทศเดียวกันจึงยังไม่เกิดขึ้น เมื่อภายในประเทศเดียวกันยังทำให้เกิดความพร้อมเพรียงกันไม่ได้ แล้วจะมีประโยชน์อันใดในการเรียกร้องให้ถือศีลอดหรือออกอีดพร้อมกับมุสลิมทั่วโลกซึ่งมุสลิมทั่วโลกก็ยังคงมีความแตกต่างในเรื่องนี้อยู่ตามข้อเท็จจริง



การถือตามทัศนะของปวงปราชญ์ในเรื่องการเห็นจันทร์เสี้ยวหรือถือตามทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์จึงไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับการนำมาถกเถียงกันเพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีหลักฐานและตัวบทมาสนับสนุนทัศนะของฝ่ายตนซึ่งเป็นหลักฐานและตัวบทเดียวกัน และนี่ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าอิจญ์มาอ์ของปวงปราชญ์มีเฉพาะในประเด็นการเห็นจันทร์เสี้ยวหรือนับวันของเดือนก่อนให้ครบ 30 วัน กรณีไม่เห็นจันทร์เสี้ยว ส่วนที่ว่า ที่ไหนเห็น ที่อื่นตามการเห็นนั้นด้วยนี่เป็นเพียงทัศนะของนักปราชญ์ส่วนใหญ่ มิใช่เป็นการอิจญ์มาอ์



ส่วนที่เห็นพ้องก็คือเมื่อผู้นำได้ตัดสินชี้ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดจะตามจันทร์เสี้ยวภายในประเทศหรือต่างประเทศหรือไม่ก็ตามให้ถือเป็นข้อยุติ และจำต้องปฏิบัติตาม กรณีนี้ต่างหากที่เป็นทางออกของปัญหาแต่ดูเหมือนคนกลุ่มที่ว่ามาไม่อินังขังขอบแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่กรณีนี้เป็นการเห็นพ้อง (อิตติฟาก) ของนักวิชาการทั้งหมด มิใช่เป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ เรื่องจึงกลายเป็นว่า คนกลุ่มดังกล่าวแข็งขันกับทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่นักวิชาการทั้งหมดเห็นพ้องตรงกัน คือ การตามคำชี้ขาดหรือการให้น้ำหนักของผู้นำ

والله ولي التوفيق