การเชือดสัตว์ / ย้ายที่ละหมาดสุนัต  (อ่าน 5864 ครั้ง)

ฮากีม

  • บุคคลทั่วไป
การเชือดสัตว์ / ย้ายที่ละหมาดสุนัต
« เมื่อ: มกราคม 12, 2015, 10:15:19 pm »
อาจารย์ครับ ผมขอรบกวนเวลาของอาจารย์นิดนึงครับ
  ผมมีปัญหาคาใจอยู่ที่อยากจะถามอาจารย์ครับ ดังนี้
1-การเชือดสัตว์ของของโรงงานมุสลิม(บางแห่ง)ที่เชือดกับเครื่องจักร ใช้ได้ไหมครับ? แหละวิธีเชือดที่ถูกต้องอย่างไร? คนนอกศาสนาเชือดใช้ได้ไม่?
   
       อีกคำถามครับ
2-อยากทราบว่าทำไมเวลาผู้คนจะหมาดสุนัตi(รอวาเตบ)ต้องย้ายที่ด้วยครับอาจารย์ เช่นเวลาละหมาดมัฆริบ วีริด ดุอา อะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว พอจะหมาดสุนัตทำไมต้องย้ายที่ด้วย(ไม่ละหมาดที่เดิม) อยากทราบว่าหลักฐานมีหรือป่าว ในการย้ายที่นั้น?
  รบกวนอาจารย์ตอบด้วยนะครับ สุดท้ายนี้ขออัลลอฮทรงคุ้มครองอาจารย์ให้มีสุขภาพแข็งแรง ห่างใกลจากโรคภัยใข้เจ็บ
อามีน.....
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 18, 2015, 02:47:44 am โดย อาลี เสือสมิง »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: การเชือดสัตว์ / ย้ายที่ละหมาดสุนัต
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2015, 02:47:23 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1) ชัยคฺ ญาดัลหัก อะลี ญาดัลหัก (ร.ฮ.) ชัยคุลอัซฮัรระบุถึงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดด้วยมีดที่เคลื่อนไหว (ขณะเชือด) ด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าว่า : เมื่อปรากฏว่ามีดนั้นตัดสิ่งที่จำเป็นต้องตัดให้ขาดในตำแหน่งของการเชือดที่ถูกอธิบายมาก่อนแล้ว (คือระหว่างลูกกระเดือและหน้าอกพร้อมกับจำเป็นต้องตัดหลอดลม หลอดอาหารและเส้นเลือดใหญ่ที่แผ่นคอ 2 เส้นให้ขาด) และปรากฏว่า ผู้ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นบุคคลที่ครบเงื่อนไขในการเชือดสัตว์ ก็ถือว่าสิ่งดังกล่าว (อุปกรณ์ไฟฟ้า – เครื่องจักร) เป็นเหมือนมีดที่อยู่ในมือของผู้เชือด และอนุญาตให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดนั้นได้ (บุหูษ ว่า ฟะตะวา อิสลามียะฮฺฟี เกาะฎอยา มุอาสิเราะฮฺ ; ชัยคฺ ญาดัลหัก 4/234) ส่วนวิธีการเชือดสัตว์ที่ถูกต้องก็คือการตัดอวัยวะของสัตว์ในตำแหน่งการเชือดที่ถูกกล่าวมาข้างต้นในวงเล็บ


ส่วนกรณีการเชือดสัตว์ของคนต่างศาสนา ที่มิใช่ชาวคัมภีร์ (ยะฮูดียฺ – นัศรอนียฺ) นั้นถือว่าสัตว์ที่ถูกเชือดไม่เป็นที่หะลาลสำหรับชาวมุสลิมในการนำมารับประทาน นี่เป็นหลักกว้างๆ อย่างที่ทราบกัน ส่วนรายละเอียดจริงๆ นั้นมีเนื่อหาค่อนข้างมาก จึงขอตอบแบบสรุปตามที่ถามมา



2) กรณีการย้ายที่ละหมาดสุนนะฮฺจากที่เดิมนั้น นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช- ชาฟิอียฺกล่าวว่า : หากผู้ละหมาดยังไม่กลับไปยังบ้านของตน (เพื่อทำละหมาดสุนนะฮฺ เช่น ละหมาดสุนนะฮฺบะอฺดียะฮฺที่บ้านซึ่งเป็นสุนนะฮฺ) และผู้นั้นประสงค์จะทำละหมาดสุนนะฮฺในมัสญิด ก็ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ผู้นั้นย้ายจากสถานที่ละหมาด (ฟัรฎู) ของตนเล็กน้อย เพื่อทำให้สถานที่สุหญูดของผู้นั้นมาก (กว่า 1 สถานที่) นี่เป็นสิ่งที่อิมามอัล-บะเฆาะวียฺและท่านอื่นๆ ได้ให้เหตุผลไว้ แต่ถ้าผู้นั้นจะไม่ย้ายไปยังอีกสถานที่หนึ่งก็สมควรที่ผู้นั้นจะต้องคั่นระหว่างละหมาดฟัรฎูและละหมาดสุนนะฮฺนั้นด้วยการพูดกับผู้คน (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ 3/472)


หลักฐานที่ถูกยึดถือในเรื่องนี้นั้น อิมามอัล-บัยฮะกียฺและนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺท่านอื่นๆ ได้นำมาอ้างคือ หะดีษที่รายงานโดย อัมรฺ อิบนุ อะฎออฺ ว่า :

นาฟิอฺ อิบนุญุบัยรฺได้ส่งอะฏออฺไปหาอัส-สาอิบ บุตรพี่น้องหญิงของนุมัยรฺให้ถามอัส-สาอิบถึงสิ่งหนึ่งที่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ได้เห็นสิ่งนั้นจากอัส-สาอิบในการละหมาด อัส-สาอิบกล่าวว่า : ใช่แล้ว ฉันเคยละหมาดวันศุกร์พร้อมกับมุอาวียะฮฺในห้องที่กั้นเอาไว้เป็นการเฉพาะ (อัล-มักศูเราะฮฺ) ต่อมาเมื่ออิมามได้ให้สล่ามแล้ว ฉัน (อัส-สาอิบ) ได้ลุกขึ้นในที่ยืนละหมาดของฉัน แล้วฉันก็ละหมาด เมื่อมุอาวียะฮฺได้เข้า (ยังที่พักของเขาแล้ว) มุอาวียะฮฺส่งคนมาบอกฉันว่า : ท่านอย่าได้หวนกลับไปกระทำสิ่งที่ท่านได้กระทำมาแล้วนั้นอีก เมื่อท่านละหมาดวันศุกร์แล้ว ท่านก็อย่าทำให้ละหมาดวันศุกร์นั้นติดต่อกับการละหมาดหนึ่งจนกว่าจะได้พูด (กับผู้คน) หรือออก (จากที่ละหมาดนั้น) เสียก่อน เพราะแท้จริงท่านรสูลุลลฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เคยใช้ให้พวกเรากระทำสิ่งดังกล่าว คือ อย่าทำให้ละหมาดนั้นติดต่อกันจนกว่าเราจะได้พูด (กับผู้คน) หรือเราออก (จากที่ละหมาดนั้น) เสียก่อน” หะดีษนี้รายงานโดยอิมามมุสลิม (อ้างแล้ว 3/473)



นี่คือหลักฐานที่นักวิชาการวิเคราะห์และนำมาอ้างเป็นหลักฐานให้ผู้ละหมาดฟัรฎูเสร็จแล้วควรจะย้ายจากสถานที่เดิมเพื่อละหมาดสุนนะฮฺอื่นหลังจากนั้น ส่วนการให้เหตุผลว่าเพื่อทำให้สถานที่สุหญูดมีมาก เป็นสิ่งที่อิมามอัล-บะเฆาะวียฺและท่านอื่นๆ ได้วิเคราะห์ไว้ดังที่กล่าวมาข้างต้น



ส่วนหะดีษที่อะฎออฺ อัล-คุรอสานียฺรายงานจากอัล-มุฆีเราะฮฺ อิบนุ ชุอฺบะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า : “อิมามอย่าได้ละหมาดในสถานที่ซึ่งอิมามได้ละหมาดแล้วในสถานที่นั้นจนกว่าอิมามผู้นั้นจะได้เปลี่ยน (ท่านั่งหรือที่ละหมาด) เสียก่อน” เป็นหะดีษเฎาะอีฟ อบูดาวูดได้รายงานไว้แล้วกล่าวว่า : อะฏออฺไม่ทันอัล-มุฆีเราะฮฺและอีกหะดีษหนึ่งจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “คนหนึ่งของพวกท่านไม่สามารถกระนั้นหรือในการที่ผู้นั้นจะขึ้นไปข้างหน้าหรือถอยลงมาข้างหลังจากทางขวามือของเขาหรือจากทางซ้ายมือของเขาในการละหมาด หมายถึง ละหมาดสุนนะฮฺ หะดีษนี้อบูดาวูดรายงานไว้ด้วยสายรายงานที่เฎาะอีฟ (อ่อน) (อ้างแล้ว 3/473) หลักฐานที่ส่งเสริมให้ย้ายที่ในการะละหมาดสุนนะฮฺจึงเป็นหะดีษบทแรกที่ อิมามอัล-บัยฮะกียฺและท่านอื่นๆ รายงานเอาไว้ครับ

والله أعلم بالصواب