การเพาะปลูกในที่ดินของคนอื่นโดยเจ้าของที่ดินยินยอม  (อ่าน 5091 ครั้ง)

halim

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 38
 salam มีปัญหาคาใจคับอาจารย์ คือว่า
นาย ก มีที่ดินอยู่ 10 ไร่ ให้นาย ข ปลูกยางพารา โดยได้ตกลงกับ นาย ข ว่า ให้นาย ข เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนี้
1. ค่าพันธ์ยาง
2. ค่าจ้างปลูก (ถ้ามี)
3. ค่าปุ๋ย
4. ค่าดูแล
เมื่อยางกรีดได้แล้ว นาย ก จะแบ่งที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ข 5 ไร่ ทำอย่างนี้ได้มั้ยครับ
และถามเพิ่มเติมคับ
 ปกติ ยางพาราอย่างน้อย 7 ปี เริ่มตัดได้ แล้วถ้าเกิดว่า คนใดคนหนึ่งตายไป ก่อนที่ยางจะตัดได้ จะแบ่งมรดกกันยังไงครับ
ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนคับ
 salam

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

หลักเดิมนั้น หากนาย ก. เป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 10 ไร่ แล้วนาย ก. ก็ดำเนินการเพาะปลูกยางพาราในพื้นที่ดังกล่าวด้วยตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมเพราะเป็นการทำประโยชน์ในที่ดินด้วยการเพาะปลูก


กรณีต่อมาคือ หากเจ้าของที่ดิน (นาย ก.) ไม่สามารถดำเนินการเพาะปลูกด้วยตนเองในที่ดินดังกล่าว จึงให้บุคคลอื่น (นาย ข.) ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นเพื่อการเพาะปลูกโดยไม่มีสิ่งแลกเปลี่ยน โดยที่ดินนั้นยังคงเป็นสิทธิในการครอบครองของเจ้าของที่ดิน (นาย ก.) ส่วนผลประโยชน์ที่ได้รับจากที่ดินนั้นเป็นสิทธิของผู้เพาะปลูก กรณีนี้เป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมเช่นกัน ทั้ง 2 กรณีไม่มีทัศนะขัดแย้งในหมู่นักวิชาการว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้และเป็นที่ส่งเสริม


ส่วนกรณีที่ถามมานั้น พิจารณาแล้ว น่าจะเป็นเรื่องอัล- มุคอบะเราะฮฺ (المُخَابَرَة) หรือ อัล-มุซาเราะอะฮฺ (المُزَارَعَةُ) ซึ่งนักวิชาการให้นิยามไว้ต่างกัน


ในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺนิยามอัล-มุซาเราะอะฮฺว่า : การทำข้อตกลงเพาะปลูกด้วยผลผลิตบางส่วนที่ออกมาจากที่ดินนั้น


ฝ่ายอัล-มาลิกียฺให้นิยามว่า หมายถึงกรณีมีหุ้นส่วนกันในการเพาะปลูก


ฝ่ายอัล-หัมบะลียฺนิยามว่า หมายถึงการมอบที่ดินแก่ผู้ที่จะเพาะปลูกหรือทำงานเหนือที่ดินนั้น โดยผลผลิตสิ่งที่ถูกเพาะปลูกแบ่งกันระหว่างสองฝ่าย


ส่วนนักวิชาการมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺนิยามอัล-มุคอบะเราะฮฺว่า หมายถึง การทำงานในที่ดินด้วยบางส่วนของสิ่งที่จะออกมาจากที่ดินนั้น โดยเมล็ดพันธุ์มาจากผู้ทำงาน ส่วนอัล-มุซาเราะอะฮฺนั้นคือ อัล-มุคอบะเราะฮฺแต่เมล็ดพันธุ์ในกรณีของอัล-มุคอบะเราะฮฺจะมาจากเจ้าของที่ดิน (อัล-ฟิกฮุลอิสลามียฺ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ 5/613-614)


นักวิชาการมีความเห็นต่างกันในเรื่องอัล-มุซาเราะอะฮฺหรืออัล-มุคอบะเราะฮฺ ฝ่ายอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และท่านซุฟัรไม่อนุญาตในเรื่องอัล-มุซาเราะอะฮฺและถือว่าเป็นโมฆะ อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ก็ไม่อนุญาตเช่นกัน ส่วนอัศหาบุช ชาฟิอียะฮฺ อนุญาตให้อัล-มุซาเราะอะฮฺตามกรณีของอัล-มุสากอต เนื่องจากมีความจำเป็น ส่วนอัล-มุคอบะเราะฮฺนั้นไม่อนุญาตเช่นกันตามกรณีของอัล-มุสากอต (อ้างแล้ว 5/614)


แต่อิมามอบู ยูสุฟ (ร.ฮ.) และ มุฮัมมัด (ร.ฮ.) สหายทั้งสองของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) อิมามมาลิก (ร.ฮ.) ดาวูด อัซ-ซอฮิรียฺ และเป็นทัศนะของปวงปราชญ์ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอฺ) มีทัศนะว่า อัล-มุซาเราะฮฺเป็นที่อนุญาต และนี่เป็นทัศนะที่มีน้ำหนัก (รอญิหฺ) (อ้างแล้ว 5/615)


ดังนั้นในกรณีที่ถามมา นาย ก. เจ้าของที่ดินตกลงกับนาย ข. ให้ปลูกยางพาราโดยให้นาย ข. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้ง 4 ข้อที่ระบุมา กรณีนี้ที่ดินเป็นของนาย ก. คนเดียว ส่วนค่าใช้จ่ายเป็นของนาย ข. คนเดียว ก็ถือว่าอนุญาตตามที่อิมามอบูยูสุฟ (ร.ฮ.) และอิมามมุฮัมมัด (ร.ฮ.) ระบุไว้ (อ้างแล้ว 5/621)


แต่ถ้าถือตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็ถือว่าไม่อนุญาตเพราะเป็นอัล-มุคอบะเราะฮฺ คือการใช้จ่ายเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ (เทียบได้กับต้นกล้ายางพาราในกรณีที่ถาม) มาจากผู้ทำงานในที่ดิน (คือ นาย ข.) (อ้างแล้ว 5/624)


การมีข้อตกลงในขั้นนี้ยังถือว่าอนุญาตในทัศนะของฝ่ายอัล-หะนะฟียฺและปวงปราชญ์ แต่ก็มีประเด็นที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้ข้อตกลงนี้ใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะขาดเงื่อนไขในระยะเวลาที่แน่ชัด แต่ก็อนุโลมได้ว่าเอาระยะเวลาการกรีดยางเป็นตัวกำหนด เพราะสิ่งที่ถูก ฟัตวาในมัซฮับอัล-หะนะฟียฺคืออัล-มุซาเราะอะฮฺนั้นใช้ได้โดยไม่ต้องแจ้งช่วงเวลา (อ้างแล้ว 5/618)


กระนั้นก็ติดปัญหาอยู่ตรงที่ว่า นาย ก. ตกลงกับนาย ข. ว่า เมื่อกรีดยางได้แล้ว นาย ก. จะแบ่งที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ข. 5 ไร่ ข้อตกลงนี้สุ่มเสี่ยงว่าจะใช้ไม่ได้ เพราะนักวิชาการที่อนุญาตในเรื่องอัล-มุซาเราะอะฮฺหรืออัล-มุคอบะเราะฮฺกำหนดเรื่องผลผลิตที่เกิดจากการเพาะปลูกว่าเป็นสิ่งที่ร่วมกันระหว่างคู่ตกลงในการทำสัญญา ซึ่งเทียบได้กับผลผลิตจากน้ำยางพารา แต่ในข้อตกลงของนาย ก. กับ นาย ข. กลายเป็นเรื่องที่ดิน คือแบ่งที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นาย ข. จำนวน 5 ไร่ ซึ่งนักวิชาการไม่ได้ระบุถึงและการทำข้อตกลงเช่นนี้ย่อมทำให้กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเปลี่ยนจากเรื่องอัล-มุซาเราะฮฺ หรืออัล-มุคอบะเราะฮฺไปเป็นเรื่องอัล-มุฆอเราะฮฺ (المُغارَسَة) ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลจะมอบที่ดินของตนแก่บุคคลที่จะปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินนั้น (อัล-เกาะวานีน อัล-ฟิกฮิยะฮฺ ; หน้า 281) หรือเรียกอีกอย่างว่าอัล-มุนาเศาะบะฮฺ (المُنَاصَبَة) หรืออัล-มุชาเฏาะเราะฮฺ (المُشَطَرة) กรณีนี้ปวงปราชญ์ (นอกเหนือจากฝ่ายอัล-มาลิกียะฮฺ) ถือว่าไม่อนุญาต ส่วนฝ่ายอัล-มาลิกียฺถือว่าใช้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่ากำหนดเวลาในเรื่องอัล-มุฆอเราะสะฮฺจะต้องไม่กินเวลาหลายปี ดังนั้นหากกำหนดเวลาสำหรับอัล-มุฆอเราะสะฮฺเลยช่วงเวลาการออกผลของต้นไม้ (หรืออายุในการกรีดยางได้) ถือว่าไม่อนุญาต แต่ถ้าไม่ถึงช่วงเวลาการออกผลผลิตก็อนุญาต และหากว่ากำหนดช่วงเวลาถึงการออกของผลผลิตก็มี 2 ทัศนะในมัซฮับอัล-มาลิกียฺ (อ้างแล้ว 5/653-654)


ดังนั้นหากถือตามทัศนะของฝ่ายมาลิกียฺ การทำข้อตกลงของนาย ก. กับนาย ข. ว่าเมื่อยางกรีดได้ นาย ก. จะแบ่งที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ข. จำนวน 5 ไร่ (คือครึ่งหนึ่ง) พร้อมกับต้นยางก็สามารถกระทำได้ และถ้าตกลงว่า นาย ข. จะได้ส่วนหนึ่งจากน้ำยางที่กรีดได้โดยเจาะจงแน่นอนก็สามารถกระทำได้ตามมัซอับอัล-หัมบะลียฺ หรือตกลงกันว่าเมื่อนาย ข. ปลูกต้นยางในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ต้นยางและน้ำยางที่กรีดได้จะแบ่งคนละครึ่งก็สามารถกระทำได้ตามมัซฮับอัล-หะนะฟียฺ โดยทำให้อัล-มุฆอเราะเสาะฮฺนั้นถูกต้องด้วยการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันทั้งในที่ดินและต้นยางทั้งคู่ด้วยการทำข้อตกลงการซื้อขายและการให้เช่า เช่น นาย ก. จะขายที่ดินครึ่งหนึ่งด้วยจำนวนต้นยางที่ปลูกครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าถือตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็ถือว่าอัล-มูฆอเราะสะฮฺเป็นสิ่งที่โมฆะ (อ้างแล้ว 5/654)


ในกรณีที่ถือเอาข้อตกลงของนาย ก. กับนาย ข. เป็นอัล-มุซาเราะอะฮฺหรืออัล- มุคอบะเราะฮฺตามทัศนะของมัซฮับอัล-หะนะฟียฺและอัล-หัมบะลียฺ ถือว่าอัล-มุซาเราะอะฮฺจะสิ้นสุดลงหรือยกเลิกเมื่อหนึ่งในคู่สัญญาที่ทำข้อตกลงเสียชีวิต ไม่ว่าการเสียชีวิตนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหน้าการเพาะปลูกหรือหลังจากนั้น และไม่ว่าจะทันช่วงเวลาของการออกของผลผลิตหรือไม่ก็ตาม (อ้างแล้ว 5/627) ทั้งนี้ให้เจ้าของที่ดิน (นาย ก. หรือทายาท) จ่ายค่าจ้างแก่นาย ข. หรือทายาทของนาย ข. ในส่วนค่าใช้จ่ายที่นาย ข. เป็นผู้ออกทั้ง 4 ข้อนั้น ส่วนที่ดินและต้นยางยังคงเป็นกรรมสิทธิของนาย ก. หรือทายาทของนาย ก. ส่วนถ้าถือตามมัซฮับอัล-มาลิกียฺและอัช-ชาฟิอียฺ อัล-มุซาเราะอะฮฺนั้นจะไม่สิ้นสุดลงด้วยการเสียชีวิตของหนึ่งในคู่สัญญาที่ทำข้อตกลงเช่นเดียวกับการเช่า ดังนั้น หากเจ้าของที่ดินเสียชีวิตในขณะที่สิ่งเพาะปลูกยังไม่ทันออกผล (เช่น ยางยังไม่ได้อายุในการกรีด) นาย ข. หรือทายาทของนาย ข. ก็ยังคงต้องทำหน้าที่ในการดูแลสิ่งเพาะปลูกนั้น เพราะสัญญาที่ตกลงกันยังคงอยู่ตราบจนกรีดยางได้ก็ให้แบ่งผลผลิตจากน้ำยางระหว่างกัน ส่วนกรณีของอัล-มุฆอเราะสะฮฺคือการแบ่งที่ดินและสิ่งเพาะปลูกคนละครึ่งนั้นเป็นอันยกเลิกไป

والله اعلم بالصواب