ประวัติท่าน อนัส บิน มาลิก  (อ่าน 15883 ครั้ง)

abuinarm

  • บุคคลทั่วไป
ประวัติท่าน อนัส บิน มาลิก
« เมื่อ: มกราคม 12, 2015, 09:27:17 am »
 salam อาจารย์ครับ ขอทราบประวัติ ท่าน อนัส บินมาลิก อย่างละเอียดได้ไหมครับ แล้วถ้าจะอ่านให้ถูกต้องแล้วต้องออกเสียงชื่อของท่านว่าอย่างไรถึงจะถูกกันแน่ครับ. อานัส. อะนัส. อ้านัส อนัส ฯลฯ

ขอความสุขสันติจงประสบแด่อาจารย์ครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ประวัติท่าน อนัส บิน มาลิก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2015, 03:04:05 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

อบู หัมซะอ์ อนัส อิบนุ มาลิก อิบนิ อัน-นัฎร์ อิบนิ ฎอมฎอม อิบนิ ซัยด์ อิบนิ หะรอม อิบนิ ญุนดุบ อิบนิ อามิร อิบนิ ฆอนม์ อิบนิ อะดีย์ อิบนิ อัน-นัจญาร อัล-คอซเราะญีย์ อัน-นัจญารีย์ อัล-มะดะนีย์ (ร.ฎ.) ผู้รับใช้ (คอดิม) ของท่านรสูลลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเป็นสาวกผู้ใกล้ชิดที่ติดตามรับใช้ท่านรสูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นับแต่ท่านอพยพถึงนครมะดีนะฮ์ ซึ่งขณะนั้นท่านอนัส (ร.ฎ.) มีอายุได้ 10 ขวบ จนกระทั่งท่าน รสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สิ้นชีวิต ซึ่งขณะนั้นท่านอนัส (ร.ฎ.) มีอายุได้ 20 ปี



ท่านอนัส (ร.ฎ.) เข้าร่วมในการศึกกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หลายครั้ง และเคยเข้าร่วมในสมรภูมิบัดร์ อัล-กุบรอ ซึ่งขณะนั้นท่านอนัส (ร.ฎ.) ยังเป็นเด็ก บรรดาตำราอัล-มะฆอซีย์ไม่ได้นับว่าท่านเป็นหนึ่งจากชาวบัดร์ เพราะขณะนั้นท่านยังเด็กและไม่ได้ทำการสู้รบ แต่ท่านคอยปรนนิบัติท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และดูแลข้าวของในกองทัพ



มารดาของท่านอนัส (ร.ฎ.) คือท่านหญิงอุมมุสุลัยม์ บินตุ มิลหาน (ร.ฎ.) และน้าสาวของท่านคือ อุมมุหะรอมผู้เป็นภรรยาของท่านอุบาดะฮ์ อิบนุ อัศ-ศอมิต (ร.ฎ.)




ท่านอนัส (ร.ฎ.) รายงานหะดีษจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จำนวน 1286 บท อิมามอัล-บุคอรีย์และมุสลิมรายงานตรงกันจำนวน 186 บท อิมามอัล-บุคอรีย์รายงานเพียงลำพัง 83 บท อิมามมุสลิมรายงานเพียงลำพัง 71 บท



ท่านอนัส (ร.ฎ.) มีชีวิตยืนยาวหลังจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) 83 ปี , ท่านรายงานหะดีษจากเหล่าเศาะหาบะฮ์จำนวนมาก เช่น ท่านอบูบักร์ , อุมัร ,อุษมาน , มุอาซ , อุสัยด์ อิบนุ อัล-หุฏอยร์ , อบูฏอลหะฮ์ , อบูซัรริน , อบูฮุรอยเราะฮ์ , อุบาดะฮ์ อิบนุ อัศ-ศอมิต , มาลิก อิบนุ เศาะอ์เศาะอะฮ์ และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (เราะฎอยัลลอฮุอันฮุม) เป็นต้น , และมีผู้คนเป็นจำนวนมากรายงานหะดีษจากท่านอนัส (ร.ฎ.) เช่น ท่านอัล-หะสัน , อิบนุ สีรีน , อัช-ชะอ์บีย์ , อบูกิลาบะฮ์ , มักหูล , อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ , ษาบิต อัล-บุนานีย์ , อัซ-ซุฮฺรีย์ , เกาะตาดะฮ์ เป็นต้น



บรรดาผู้รายงานจากท่านอนัส (ร.ฎ.) ที่เชื่อถือได้มีชีวิตอยู่ถึงหลังปี ฮ.ศ. 150 , และบรรดาผู้รายงานที่อ่อนเลยไปถึงช่วงหลังปี ฮ.ศ. 190 และหลังปี ฮ.ศ. ที่ 200 ยังมีผู้รายงานที่รับฟังหะดีษจากสานุศิษย์ที่เชื่อถือได้ของท่านอนัส (ร.ฎ.) อีกหลายท่าน เช่น ยะซีด อิบนุ ฮารูน , อับดุลลอฮ์ อิบนุ บักร์ อัส-สะฮ์มีย์ , มุฮัมมัด อิบนุ อับดิลลาฮ์ อัล-อันศอรีย์ , อบีอาศิม อัน-นะบีล และอบูนุอัยม์




ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยขอดุอาอ์ให้แก่ท่านอนัส (ร.ฎ.) ตามที่ท่านหญิงอุมมุสุลัยม์ (ร.ฎ.) แม่ของท่านอนัส (ร.ฎ.) ร้องขอว่า “โอ้ อัลลอฮ์ โปรดดลบันดาลให้ทรัพย์สินและลูกหลานของเขามีอย่างมากมาย” (อะห์มัด : 10/27496 , อัล-บุคอรีย์ : 6344 , มุสลิม : 143/2480 , อัต-ติรมีซีย์ : 3829) และอีกริวายะฮ์หนึ่งระบุว่า “และขอให้อายุของเขายืนยาว” (อัล-บุคอรีย์ ในอัล-อะดับ อัล-มุฟรอด : 653 , เฎาะบะกอต ; อิบนุสุอฺด์ 7/79 , ตารีคดิมัชก์ ; อิบนุ อะสากิรฺ 5/68)



สวนองุ่นและสวนอินทผลัมของท่านอนัส (ร.ฎ.) ออกผลปีละ 2 ครั้ง , ต้นไม้ในสวนจำพวกใบแมงลักหรือโหระพาจะมีกลิ่นหอมเหมือนชะมดเชียง (อัต-ติรมีซีย์ ในอัล-มะนากิบ : 3833 , ตารีคดิมัชก์ : 5/68)



และท่านอนัส (ร.ฎ) มีลูก 106 คน (ในริวายะฮ์หนึ่ง) หรือ 129 คน (ในอีกริวายะฮ์หนึ่ง) ท่านอนัส (ร.ฎ.) เคยเข้าร่วมสงคราม 8 ครั้งพร้อมกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (ตารีคมัชก์ 5/70) ต่อมาท่านได้ลงพำนักอยู่ในเมืองอัล-บัศเราะฮ์ และเคยนำละหมาดผู้คนที่นั่นเป็นเวลา 40 วัน และเข้าร่วมในการพิชิตเมืองตุสตุรฺในแคว้นคูซิสตาน และนำอัล-ฮุรมุซานมาพบท่านอุมัร (ร.ฎ.) อัล-ฮุรฺมุซานก็เข้ารับอิสลาม



ในครั้งเกิดโรคระบาด ฏออูน อัล-ญาริฟ ในปีฮ.ศ. 69 ซึ่งเกิดในเมืองอัล-บัศเราะฮ์ ลูกๆ ของท่านอนัส (ร.ฎ.) เสียชีวิตถึง 80 คน บ้างก็ว่า 70 คน



ท่านอนัส (ร.ฎ.) เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 93 ขณะมีอายุได้ 103 ปี เป็นสาวกท่านสุดท้ายของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่เสียชีวิต โดยท่านเสียชีวิตนอกเมืองอัล-บัศเราะฮ์ราว 1 ฟัรสัคครึ่ง และถูกฝัง ณ สถานที่รู้จักกันว่า “กอศร์อะนัส” (สรุปจาก สิยัร อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์ ; อัซ-ซะฮะบีย์ 4/482-490 , อัล-หะดีษ วัล-มุหัดดิษูน ; มุฮัมมัด มุฮัมมัด อบูชะฮฺว์ หน้า 137)


คำว่า อนัส (أَنَسٌ) ออกเสียงว่า อะ-นัส หรือ อ้า-นัส ส่วนจะเขียนในภาษาไทยโดยการเทียบเสียงนั้นก็เขียนได้หลายแบบ เช่น อนัส , อะนัส เป็นต้น ส่วนอานัส นั้นไม่พ้องกับการเทียบเสียงเพราะชื่อนี้คือ (أَنَسٌ) อนัส-อะนัส , มิใช่ (آنَسٌ) อ-นัส แต่ก็อนุโลมว่า อานัส ก็คือ อนัส หรืออะนัส นั่นเอง

والله أعلم بالصواب