การเป็นอีหม่ามของคนมัสบู๊ก  (อ่าน 7979 ครั้ง)

อนีส

  • บุคคลทั่วไป
การเป็นอีหม่ามของคนมัสบู๊ก
« เมื่อ: มกราคม 13, 2015, 05:09:15 pm »
อัสสลามุอะลัยกุมวะเราะฮ์มะตุลลอฮิวะบารอกาตุฮ์....
ขอถามอ.ว่า สมมุติว่านาย ก. เป็นอีหม่ามนำละหมาดญะมาอะฮ์ และนายข.เป็นมะมูมในสภาพมัสบู๊ก เมื่อละหมาดญามาอะสิ้นสุดนาย ก.ให้สลาม ส่วนนายข.ก็ลุกขึ้นละหมาดต่อไปเพราะมัสบู๊ก ในขณะที่นายข.กำลังละหมาดอยู่ มีนายค.มาสะกิดและยืนข้างหลังเพื่อให้นายข.เปนอีหม่าม
ทีนี้ผมอยากทราบว่า ในลักษณะที่นายข.เป็นมะมูมของนาย ก.แล้ว และมาเป็นอีหม่ามให้นายค.อีก จะใช้ได้หรือไม่ครับในทัศนะของอีหม่ามชาฟิอี
หากว่าใช้ได้ อยากทราบถึงหลักฐานด้วยครับและอ้างอิงจากหนังสืออะไร
เพราะมีคนรู้จักเขาบอกว่าในลักษณะของนายข. จะมาเป็นอีหม่ามของนายค.ไม่ได้ เพราะเขาเนียตเป็นมะมูมของนาย ก. แล้วจะมาเนียตเป็นอีหม่ามอีกไม่ได้ ผมจึงมาขอความกระจ่างจากอ.ครับ ญาซากัลลอฮ์ครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: การเป็นอีหม่ามของคนมัสบู๊ก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2015, 02:59:26 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

เมื่ออิมาม (นาย ก.) ได้ให้สล่ามครั้งที่ 1 แล้วการละหมาดตามของมะอฺมูมที่เป็นมุวาฟิกและมัสบู๊กก็สิ้นสุดลงแล้วเนื่องจากผู้นั้นออกจากการตามในการละหมาด (ด้วยการให้สล่ามของอิมาม) ในกรณีของมะอฺมูมมุวาฟิก (คือคนที่ละหมาดตามอิมามโดยพ้องกันนับแต่ต้น) มีสิทธิเลือกเอาว่า หากประสงค์ก็ให้สล่ามหลังอิมาม และหากประสงค์ก็สามารถนั่งอยู่ต่อไปเพื่ออ่านดุอาอฺและทำสิ่งดังกล่าวให้ยาวได้ เช่นนี้อัล-กอฎีย์ อบู อัฏ-ฏอยยิบกล่าวไว้ในตำราตะอฺลีกขอท่าน (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอ์ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวีย์ 3/464)



ส่วนกรณีของมัสบู๊กนั้น หากว่าอิมามให้สล่ามแล้ว มัสบู๊กผู้นั้นก็ยังคงนั่งแช่อยู่หลังการให้สล่ามของอิมาม และการนั่งของมัสบู๊กนั่นยาว (นาน) อัศหาบุชชาฟีอียะฮ์กล่าวว่า : หากการนั่งเป็นตำแหน่งของอ่านตะชะฮฺฮุดครั้งแรกของมัสบู๊กผู้นั้นก็อนุญาตและการละหมาดของเขาก็ไม่เสีย เพราะเป็นการนั่งที่ถูกคิด (มะหฺสูบ) จากการละหมาดของมัสบู๊กและการตามอิมามก็สิ้นสุดลงแล้ว ตลอดจนการนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรกนั้นอนุญาตให้นั่งยาว (นาน) ได้ แต่มักรูฮฺ



ดังนั้นหากตำแหน่งการนั่งมิใช่ตำแหน่งของตะชะฮฺฮุด ก็ไม่อนุญาตให้มัสบู๊กนั่งแช่ภายหลังการให้สล่ามของอิมาม เพราะการนั่งของมัสบู๊กเป็นผลมาจากการตามอิมามซึ่งหมดไปแล้ว หากมัสบู๊กผู้นั้นนั่งนานโดยเจตนาและรู้ว่าเป็นที่ต้องห้ามก็ถือว่าละหมาดของมัสบู๊กนั้นใช้ไม่ได้ แต่ถ้ามัสบู๊กนั้นหลงลืม (เพลินไป) คือไม่ได้มีเจตนา การละหมาดของมัสบู๊กก็ไม่เสีย และให้สุหญูดสะฮฺวีย์ (อ้างแล้ว 3/464 , 4/116)



ดังนั้น เมื่ออิมามให้สล่ามครั้งที่หนึ่งแล้ว การตามอิมามของมัสบู๊กก็สิ้นสุดลง และมัสบู๊กผู้นั้นก็มิใช่มุอฺมูมที่ละหมาดตามอิมามอีกต่อไป จึงมีสภาพเหมือนกับผู้ที่ละหมาดเป็นเอกเทศ และเงื่อนไขในการเศาะห์การตามอิมามก็คือ อิมามผู้นั้นต้องไม่ใช่มะอฺมูมที่ละหมาดตามอิมามอีกคนหนึ่ง (อ้างแล้ว 4/97 , อัล-ฟิกฮุลอิสลามีย์ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลีย์ 2/207)



ซึ่งในกรณีของมัสบู๊กผู้นี้ (นาย ข.) ไม่ได้ตามอิมาม (นาย ก.) เพราะการตามอิมาม (นาย ก.) สิ้นสุดลงแล้วด้วยการให้สล่ามของอิมามครั้งที่ 1 ดังนั้น เมื่อมัสบู๊ก (นาย ข.) ลุกขึ้นทำรอกอะฮ์ที่เหลืออยู่ แล้วนาย ค. ได้มาละหมาดตามหลังมัสบู๊ก (นาย ข.) โดยเหนียตเป็นมะอฺมูมของมัสบู๊ก (นาย ข.) ก็ย่อมใช้ได้ เพราะอิมามอัน-นะวาวีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เมื่ออิมามให้สล่ามแล้ว และในหมู่มะอฺมูมมีคนที่เป็นมัสบู๊กหลายคน ต่อมาคนมัสบู๊กหลายคนก็ลุกขึ้นยืนเพื่อทำให้ละหมาดของพวกเขาครบสมบูรณ์ แล้วพวกเขาก็ให้คนที่ทำละหมาดให้ครบพร้อมกับพวกเขาขึ้นมานำหน้าและพวกเขาก็ละหมาดตามคนๆ นั้นในการอนุญาตว่าทำเช่นนี้ได้หรือไม่ มี 2 แนวทาง (วัจญ์ฮานี่)



อิมามอัช-ชีรอซียฺ , อัล-บันดะนัยญีย์ , ชัยค์อบูหามิด , อัล-มุหามิลีย์ , อัล-ญุรญานีย์ และนักวิชาการชาวเมืองอีรักท่านอื่นๆ เล่า 2 แนวทางนี้เอาไว้ ที่ถูกต้องที่สุดคืออนุญาตให้กระทำได้ และการตัศหิหฺว่าอนุญาตถือเป็นมุอฺตะมัดในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ 4/141) ส่วนมัซฮับอัล-หะนะฟียฺนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะมัซฮับอัล-หะนะฟีย์ถือว่า มัสบู๊กนั้นไม่อนุญาตให้ตามผู้อื่นและไม่อนุญาตให้ผู้อื่นตามคนมัสบู๊ก (อัล-ฟิกฮุลอิสลามีย์ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ 2/210 , 258)



ดังนั้น หากถือตามมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ซึ่งระบุว่า (ولاتَصِحُّ قُدْوَةٌبِمُقْتَدٍ) “และการตามผู้ที่ตาม (ในขณะที่ผู้ตามนั้นอยู่ในสภาพการตาม (อิมาม) ของตน) ใช้ไม่ได้ (มุฆนียฺ อัล-มุหฺตาจญ์ ; อัช-ชิรฺบีนียฺ อัล-เคาะฏีบ 1/238) และระบุว่า

(اذا) خَرَجَ الإمَامُ مِنْ صلاتِه انقَطَعَتِ القُدْوَةُ))

“เมื่ออิมามออกจากการละหมาดของตนแล้ว (ด้วยเหตุมีหะดัษหรือสิ่งอื่นๆ) การตาม (อิมามผู้นั้นของมะอฺมูม) ก็ขาดตอนลงแล้ว (ด้วยการออกจากละหมาดของอิมาม) เนื่องจากความเกี่ยวพัน (อัร-รอบิเฏาะฮฺ) ระหว่างมะอฺมูมกับอิมามหมดไป และในขณะนั้นมะอฺมูมก็จะสุหญูดสะฮฺวียฺสำหรับตัวเอง (ไม่ผูกพันการสุหญูดสะฮฺวียฺของอิมามอีกต่อไป) และมะอฺมูมนั้นจะตามผู้อื่นก็ได้และผู้อื่นจะตามผู้นั้นก็ได้ (อ้างแล้ว 1/259) ก็ย่อมบ่งชี้ว่า มะอฺมูมผู้เป็นมัสบู๊กนั้นมิได้ละหมาดตามผู้ใดอีกในขณะนั้น และแยกเป็นเอกเทศเหมือนผู้ที่ละหมาดคนเดียว (มุมฟะริด)



เมื่อมัสบู๊กผู้นั้นไม่เกี่ยวพันกับอิมามที่ออกจากการละหมาดด้วยการให้สล่ามของอิมามไปแล้ว นาย ค. ที่มีทีหลังก็ย่อมเหนียตละหมาดตามนาย ข. ที่เป็นมัสบู๊กนั้นได้ เพราะไม่มีข้อห้ามที่จะตามนาย ข. ในขณะนั้น และการเหนียตเป็นมะอฺมูมของนาย ข. ในการละหมาดตามนาย ก. ก่อนหน้านั้นก็ไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะนาย ข. จะไม่เหนียตเป็นอิมามของนาย ค. ก็ได้ในกรณีนี้ เพราะไม่มีเงื่อนไขสำหรับผู้เป็นอิมามในการละหมาดที่นอกเหนือจากละหมาดวันศุกร์ว่า อิมามจะต้องเหนียตเป็นอิมามในเรื่องเศาะหฺการตาม แต่เป็นเรื่องที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) เท่านั้น ส่วนมะอฺมูมคือนาย ค. นั้นต้องเหนียตตามนับตั้งแต่การตักบีเราะตุลอิหฺรอมของตน (อ้างแล้ว 1/252 , 253)

والله أعلم بالصواب