พ่อกับแม่ท่านนบีมุฮำหมัด เป็นอะลุ้ลฟิตเราะห์ หรือเป็นกาฟีรครับ  (อ่าน 8536 ครั้ง)

อบูมุอาซ

  • บุคคลทั่วไป
 salam
อยากทราบว่าพ่อกับแม่ท่านนบีมุฮำหมัด (ซ.ล.) เป็นอะลุ้ลฟิตเราะห์ หรือเป็นกาฟีรครับ แล้วถ้าหากเป็นกาฟิรทั้งสองท่านต้องอยู่ในนรกไมครับ มีหะดีษบอกหรือยืนยันบ้างไมครับเกี่ยวกับเรื่องนี้

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


อะฮฺลุลฟัตเราะฮฺ (أَهْلُ الْفَتْرَةِ) หมายถึงกลุ่มชนที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตลงในช่วงเวลาที่ปลอดจากการส่งนบีหรือรสูลลงมาประกาศศาสนาหรือเป็นช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างรสูลท่านหนึ่งกับอีกท่านหนึ่ง และไม่มีหลักฐานที่กำหนดช่วงเวลาระหว่างรสุล 2 ท่าน ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานในอัล-กุรอานและสุนนะฮฺ (อะหฺสะนุลกะลาม ฟิลฟะตาวา วัล-อะหฺกาม  ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศอกร์ เล่มที่ 3 ภาคที่ 16 หน้า 82)


นักประวัติศาสตร์บางท่านได้พยายามกำหนดช่วงเวลาที่ปลอดหรือเว้นว่าง (อัล-ฟัตเราะฮฺ) ระหว่างบรรดารสูลด้วยกัน เช่น มุฮัมมัด อิบนุ สะอฺด์ ในตำราอัฏ-เฏาะบะกอตของท่านได้ระบุรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า : ปรากกว่าระหว่างมูซา อิบนุ อิมรอน (อ.ล.) และอีซา อิบนุ มัรยัม (อ.ล.) คือ 1,700 ปี โดยไม่ปรากฏว่าระหว่างนบีทั้งสองท่านมีปลอดหรือว่างเว้นจากการส่งนบีมาแต่อย่างใด เพราะระหว่างนบีทั้งสองนั้นมีบรรดานบีของพงษ์พัยธุ์อิสรออีลถูกส่งมาจำนวน 1,000 ท่าน นอกเหนือจากรสูลที่ถูกส่งมาจากชนกลุ่มอื่นที่มิใช่พงษ์พันธุ์อิสรออีล


และปรากฏว่าระหว่างการถือกำเนิดของอีซา (อ.ล.) และนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นคือ 509 ปี  โดยมีนบี  3 ท่านถูกส่งมาในช่วงต้นของระยะเวลานัน ดังปรากฏในสูเราะฮฺยาสีน อายะฮฺที่  14 และปรากฏว่าช่วงปลอดหรือว่างเว้นที่ไม่มีรสูลท่านใดถูกส่งมาในช่วงเวลานั้นคือ 434  ปี


อัล-กัลบียฺระบุว่า แท้จริงระหว่างอีซา (อ.ล.) และมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือ 569 ปี  และระหว่างนบีทั้งสองนั้นมีนบี 4 ท่าน ท่านหนึ่งเป็นชาวอาหรับจากชนเผ่าบะนูอับส์ คือ คอลิด อิบนุ สินาน อัล-กุชัยรียฺกล่าวว่า : และในเรื่องในทำนองนี้จะรู้ไม่ได้นอกเสียจากด้วยการบอกเล่าที่สัจจริง


และเกาะตาดะฮฺกล่าวว่า : ปรากฏว่าระหว่างอีซา (อ.ล.) และมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นคือ 600 ปี มุกอติล , อัฏ-เฏาะหาก และวะฮ์บฺ อิบนุ มุนับบิฮฺ ก็กล่าวตามนี้ เว้นเสียแต่ว่าวะฮ์บฺได้เพิ่มอีก  (คือ 620 ปี) และจากอัฏ-เฏาะหากระบุว่า 430  ปีเศษอีกเช่นกัน


และอิบนุ สะอฺด์ระบุจากอิกริมะฮฺว่า : ระหว่างอาดัม (อ.ล.) และนัวหฺ (อ.ล.) 10 ศตวรรษทั้งหมดอยู่บนศาสนาอิสลาม อิบนุ สะอฺด์กล่าวว่า : มุอัมมัด อิบนุ อัมร์ อิบนิ วากิด อัล-อัสละมียฺได้บอกให้เราทราบจากหลายคนว่า : ระหว่างอาดัม (อ.ล.) และนัวหฺ (อ.ล.) 10 ศตวรรษ หนึ่งศตวรรษคือร้อยปี และอิบรอฮีม (อ.ล.) 10 ศตวรรษ หนึ่งศตวรรษคือร้อยปี และระหว่างอิบรอฮีม (อ.ล.) และมูซา อิบนุ อิมรอน (อ.ล.) 10  ศตวรรษ หนึ่งศตวรรษคือร้อยปี


ดังนั้นคือช่วงเวลาระหว่างอาดัม (อ.ล.) และมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จากบรรดาศตวรรษและบรรดาปี (ตัฟสีรฺ อัล-กุรฏุบียฺ เล่มที่ 6 หน้า 121 ) ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศอกร์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ทั้งหมดเป็นการบอกเล่าที่ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้มาสนับสนุน (อะหฺสะนุลกะลาม ฟิล ฟะตาวา วัล-อะหฺกาม เล่มที่ 3 ภาคที่ 14 หน้า 82-83)


อิมามมุสลิมระบุสายรายงานในเศาะฮีหฺของท่านว่า : อบูบักรฺ อิบนุ อบีชัยบะฮฺเล่าให้เราฟังว่า อัฟฟานเล่าให้เราฟังว่า หัมมาด อิบนุ สละมะฮฺ เล่าให้เราฟังจากษาบิต จากท่านอะนัส (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงมีชายคนหนึ่งกล่าวว่า โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ บิดาของฉันอยู่ที่ไหน? ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า : “ในนรกภูมิ” แล้วเมื่อชายผู้นั้นหันท้ายทอยของเขาในสภาพที่จากไป ท่านก็เรียกเขาผู้นั้นแล้วกล่าวว่า : “แท้จริงบิดาของฉันและบิดาของท่านอยู่ในนรกภูมิ” (เศาะฮีหฺมุสลิม บิชัรหิ อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 79 , อบูดาวูด เล่มที่ 18 หน้า  251 , 252 อะหฺมัด ในอัล-มุสนัด เล่มที่  3/119)


และมีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฮ.) ว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เยี่ยมสุสานมารดาของท่าน ท่านก็ร้องไห้ และทำให้ผู้ที่ห้อมล้อมท่านร้องไห้ ท่านกล่าวว่า : ฉันขออนุญาตพระผู้อภิบาลของฉันในการที่ฉันจะขอลุแก่โทษแก่นาง พระองค์ก็ไม่อนุญาตให้แก่ฉัน และฉันได้ขออนุญาตพระองค์ในการที่ฉันจะเยี่ยมสุสานของนาง พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้แก่ฉัน ดังนั้น พวกท่านจงเยี่ยมสุสานเถิด เพราะมันจะทำให้รำลึกถึงความตาย” (มุสลิม 7/45  , อบูดาวูด 14/202 , อัน-นะสาอียฺ 4/90 , อิบนุมาญะฮฺ  1/501 และอัล-หากิมในอัล-มุสตัดรอก 1/375)


ในตัวบทของหะดีษแรก (ที่ระบุถึงบิดาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อิมาม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ได้อธิบายว่า : ในหะดีษบ่งว่า แท้จริง บุคคลที่ตายลงบนการปฏิเสธ (กุฟร์) ผู้นั้นอยู่ในนรกภูมิ และความเป็นญาติใกล้ชิดของเหล่าผู้ใกล้ชิดอัลลอฮฺจะไม่ให้ประโยชน์แก่ผู้นั้น และในหะดีษบ่งว่า แท้จริงผู้ที่เสียชีวิตในช่วงเวลาที่ปลอด (อัล-ฟัตเราะฮฺ) บนสิ่งที่ปรากฏว่าชาวอาหรับอยู่บนสิ่งนั้นจากการเคารพรูปเจว็ดทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเป็นหนึ่งจากชาวนรก และสิ่งนี้มิใช่การลงโทษก่อนการเรียกร้อง (ดะอฺวะฮฺ) มาถึง เพราะแท้จริงพวกเขาเหล่านี้ (ชาวอาหรับ) ปรากฏว่า แน่แท้การเรียกร้องของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) และนบีท่านอื่นๆ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิมวะสัลลัม) ได้มาถึงพวกเขาแล้ว” (เศาะฮีหฺมุสลิม บิชัรฺหิ อัน-นะวาวียฺ 3/79)


เมื่อมีหะดีษที่ถูกต้องระบุมาในเรื่องนี้ก็ให้ว่าไปตามสิ่งที่หะดีษระบุ ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศอกร์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : คำถามในทำนองนี้ (คือถามถึงบุพการีย์ทั้งสองของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าเป็นอย่างไร) ไม่มีผลประโยชน์อันใดในด้านการปฏิบัติ และไม่มีความจำเป็นสำหรับการพูดยืดยาวในเรื่องนี้ แน่แท้ บุพการีย์ทั้งสองของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กลับไปยังพระผู้อภิบาลของท่านทั้งสองแล้ว และพระองค์ทรงรู้ดีถึงสภาพของท่านทั้งสอง


และไม่สมควรที่การมีทัศนะคติที่ดีและความรักของเราที่มีต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะมานำพาให้เราต้องระบุบรรดาอัคบารฺ (เรื่องราวที่มีการบอกเล่า) ซึ่งหลักฐานที่แข็งแรงได้ทำให้บรรดาอัคบารฺเหล่านั้นบกพร่อง เช่นการบันดาลใจให้บุคคลทั้งสองฟื้นคืนชีพหลังความตายเพื่อศรัทธาต่อท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)...” (อะหฺสะนุลกะลาม ฟิลฟะตะวา วัล-อะหฺกาม : เล่มที่ 3 ภาคที่ 20 หน้า692 ,693 โดยสรุป)

والله اعلم بالصواب