เงินปัญผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  (อ่าน 8061 ครั้ง)

มูฮำหมัดตอเฮร สันประเสริฐ

  • บุคคลทั่วไป
สลามครับท่านอาจารย์อาลี คือมีเรื่องอยากถามว่า เงินปันผลที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สามารถนำไปใช้จ่ายได้ตามปกติหรือไม่ครับ เพราะยังค้างคาใจอยู่ว่าฮาล้าลหรือไม่

ขออธิบายเพิ่มหน่อยนะครับ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนของเงินเก็บของเรา 2. ส่วนที่บริษัทให้พรีๆ และ 3. คือ ส่วนที่เป็นผลกำไร ที่ได้จากการเอาเงินส่วนที่ 1 และ 2. ไปลงทุนตามหุ้นกู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรรัฐบาล หรือ ตราสารหนีี้ เหมือนกับการเล่นหุ้นนะครับ ซึ่งมีความเส่ียงที่เราต้องแบกรับ
ที่สงสัยคือ ข้อ3 ในส่วนของปัญผลที่เราไปลงทุนเนี่ยะแหละว่าฮาล้าลหรือไม่
อัตราผลกำไรก็ไม่ได้ตายตัวครับ
มากบ้างน้อยบ้าง ในแต่ละปีไม่เท่ากัน

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته

คำตอบอยุ่ในบทความนี้ครับ...

بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله رب العالمين ، والصلاة والسلام على سيد المرسلين ، وعلى آله وصحبه أجمعين

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund) คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ มีลักษณะเป็นสวัสดิการที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงิน และส่งเสริมให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบไปด้วยเงินส่วนหนึ่งที่มาจากลูกจ้าง เรียกว่า “เงินสะสม” และจากอีกส่วนหนึ่งที่มาจากนายจ้าง เรียกว่า “เงินสมทบ”


ความสำคัญของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นนอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีการออมอย่างต่อเนื่องโดยมีนายจ้างช่วยออมแล้วนั้น ยังมีการนำเงินไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารมืออาชีพ และดอกผลที่จะเกิดขึ้นนั้นจะถูกนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุนนั้นๆ


นักนิติศาสตร์อิสลามร่วมสมัยส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การจัดตั้งกองทุนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้  มีลักษณะเป็นบริษัทร่วมหุ้น (شركة المساهمة)  ซึ่งบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามถือว่า เป็นการลงทุนแบบเข้าหุ้นที่ถูกต้องตามหลักการ ดังปรากฏหลักฐานมากมาย ทั้งจากตัวบทอัลกุรอ่านและฮาดิษ  รวมถึงอัลอิจมาอ์ของปวงปราชญ์ด้วย  อาทิ พระดำรัสของอัลลอฮ์ตาอาลาที่ว่า

وإن كثيرا من الخلطاء ليبغي بعضهم على بعض إلا الذين آمنوا وعملوا الصالحات وقليل ما هم . (سورة ص ، 24)
ความว่า “ แท้แล้ว , ส่วนใหญ่ของพวกหุ้นส่วนนั้นมักจะเอาเปรียบและละเมิดสิทธิผู้ร่วมหุ้นของเขา จะมีก็แต่ผู้ศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์และเพียรปฏิบัติคุณงามความดีเท่านั้น ที่ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา แต่คนเหล่านี้ก็มีอยู่น้อยเหลือเกิน”
   

และจากฮาดีษกุดซีที่ท่านนบีมูฮัมหมัด صلى الله عليه وسلم ได้ถ่ายทอดพระดำรัสของอัลลอฮ์ سبحانه وتعالىว่า
أنا ثالث الشريكين ما لم يخن أحدهما صاحبه ، فإذا خانه ، خرجت من بينهما
ความว่า “ข้าคือหุ้นส่วนที่สามของสองคนที่ตกลงร่วมหุ้นกัน ตราบใดที่ทั้งสองซื่อสัตย์ต่อกัน, แต่เมื่อใดก็ตามที่ใครคนหนึ่งกระทำทุจริต ข้าก็จะถอนตัวออกมาจากหุ้นส่วนนั้น”


เมื่อพิจารณาตามหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า หลักการขั้นพื้นฐานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้มีบัญญัติแห่งหลักการรับรองอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองความจำเป็นแห่งยุคสมัย และเอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างทัดเทียมกัน แต่ก็จำเป็นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ ผู้บริหารกองทุนจะต้องไม่นำเงินไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลงอกเงยในกิจการหรือการบริการที่ขัดต่อหลักการอิสลาม และการลงทุนนั้นจะต้องไม่มีเรื่องของดอกเบี้ยมาเกี่ยวข้อง


ดังกล่าวนี้ , หากมองในแง่ของนโยบายการลงทุน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบ เราสามารถจำแนกคำวินิจฉัยตามประเภทของนโยบายการลงทุนออกได้ดังนี้

1. นโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน         
การลงทุนในตราสารแห่งทุนเป็นที่อนุมัติในหลักการ หากกิจการหรือบริการของบริษัทที่ร่วมลงทุนนั้นไม่ไปขัดต่อบัญญัติข้อใดในอิสลาม  ดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นำเงินทั้งหมดไปลงทุนในตราสารทุนแบบฮาล้าลล้วนๆ  ก็ถือเป็นที่อนุมัติถูกต้องตามหลักการของอิสลามเช่นกัน.   กล่าวได้ว่าว่า เงินที่สมาชิกกองทุนได้รับเมื่อความเป็นสมาชิกภาพสิ้นสุดลง ทั้งในส่วนของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดสรรของบริษัทกองทุน เป็นเงินที่สะอาด สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้


2. นโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้

3. นโยบายการลงทุนในแบบผสม
การลงทุนตามนโยบายของสองประเภทหลังนี้ มีการนำเงินไปลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนแบบประจำในรูปของดอกเบี้ย . โดยหลักการถือว่า ผู้ถือตราสารแห่งหนี้มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ของบริษัท และถือว่าบริษัทเป็น“ลูกหนี้” ซึ่งทำการระดมทุนจากมวลชน เพื่อขยายกิจการของบริษัท เมื่อครบสัญญา  บริษัทจะจ่ายคืนทุนทั้งหมดแก่ผู้ถือตราสารหนี้ พร้อมผลตอบแทนตามข้อตกลงในรูปแบบดอกเบี้ยซึ่งขัดต่อหลักการอิสลามแน่นอน


ดังนั้น  การนำเงินของกองทุนไปบริหารตามนโยบายของทั้งสองประเภทนี้จึงถือเป็นเรื่องต้องห้ามและผิดต่อหลักการอิสลาม  ด้วยเพราะมีส่วนของดอกเบี้ยเข้าร่วมปะปนอยู่ ไม่ว่าสัดส่วนของดอกเบี้ยนั้นจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม  ทังนี้เป็นการพิจารณาโดยอาศัยกฎหลักทางนิติศาสตร์ที่ว่า

اذا اختلط الحرام والحلال والتمييز غير ممكن يحرم الكل
“เมื่อของฮารอมไปปะปนกับของฮาล้าล โดยไม่อาจแยกแยะให้เป็นดำเป็นขาวได้ ให้ถือว่าทั้งหมดเป็นของฮารอม” 


เช่นนี้เอง, จึงถือว่า เงินที่สมาชิกกองทุนได้รับเมื่อความเป็นสมาชิกภาพสิ้นสุดลง จำเป็นจะต้องแยกให้เป็นสองส่วน คือ หนึ่ง.ส่วนที่มาจากเงินสะสมและเงินสมทบทั้งหมด ส่วนนี้ถือเป็นเงินสะอาด สามารถนำมาใช้ได้.  สำหรับส่วนที่สอง ซึ่งเป็นเงินปันผลที่งอกเงยจากการลงทุนในตราสารหนี้นั้น จัดว่าเป็นดอกเบี้ย จึงไม่อนุญาตให้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

والله تعالى أعلم بالصواب