คำว่า จะไม่กลับมาอีก พร้อมกับยินยอมให้ชายอื่นดูแลภรรยาแทน ถือเป็นการอย่าหรือไม่  (อ่าน 6594 ครั้ง)

อิสมาอีล อับดุลเลาะ

  • บุคคลทั่วไป
 salam   ภรรยาจับได้ว่ามีกิ๊ก และภรรยาก็ประจานสามี ด้วยความอาย จึงบอกว่าจะไม่กลับมาอีก เพราะอายคนแถวนัั้น หลังจาก1-2 เดือนให้หลัง ก็มีชายคนหนึ่งไปถามว่า จะกลับไปอยู่กับภรรยาไหม ถ้าไม่กลับ ฉันขอดูแลภรรยาแทนนะ สามีตอบกลับมาว่า ครับบัง..
คำถามก็คือว่า คำว่าจะไม่กลับมาอีก เป็นกินายะห์ ที่ต้องถามถึงเจตนา แต่ผมถามเขาหลังจากที่เขาอยากจะกลับมาอยู่กับภรรยา เขาก็บอกว่า ไม่ได้เจตนาที่จะอย่า
แต่ผมสงสัยว่า การยินยอมให้คนอื่นมาดูแลภรรยาตน ก่อนหน้าที่จะคิดอยากกลับมาอยู่ด้วยกัน  ถือว่าเป็นการอย่าหรือไม่   ถ้าเป็นถือว่าตก 1 ต่อลากใช่หรือไม่ และถ้าเลยอิดดะห์ไปแล้ว และอยากจะกลับมาอยู่ด้วยกัน เขาทั้งสองต้อง นิกาห์ใหม่ สินสอดใหม่ ใช่ไหมครับ
รบกวนด้วยนะครับ  ขอบคุณครับ
 

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

คำหย่าที่เป็นกินายะฮฺนั้นเท่าที่ทราบเป็นคำที่ใช้โต้ตอบ (คิฏอบ) กับฝ่ายหญิงโดยนัยของคำกำกวมคือตีความว่าหย่า (เฏาะลาก) หรือมิใช่หย่าก็ได้ เช่น เธอว่างจากฉันแล้ว เธอจงกลับไปยังครอบครัวของเธอ เธอจงไปไหนก็ได้ตามที่เธอต้องการ เป็นต้น แต่ประโยคที่ถามมา ฝ่ายชายพูดว่า “จะไม่กลับมาอีก” ซึ่งผู้ถามให้เหตุผลมาด้วยว่า “เพราะอายคนแถวนั้น” ประโยคที่พูดว่า “จะไม่กลับมาอีก” จึงไม่น่าจะเป็นสำนวนหย่าไม่ว่าจะเป็นเศาะรีหฺ (ชัดเจน) หรือกินายะฮฺ (กำกวม) ก็ตาม เมื่อไม่น่าจะใช่คำหย่า (ศีเฆาะฮฺ อัฏ-เฏาะลาก) ก็ย่อมไม่มีผลใดๆ ในเรื่องหย่า


และถ้าจะตีความว่าเป็นสำนวนหย่าแบบกินายะฮฺ (กำกวม) ก็ต้องมีเจตนา (นียะฮฺ) ของฝ่ายชายเป็นตัวกำหนดว่ามีเจตนาหย่าหรือไม่ เมื่อฝ่ายชายยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาหย่าก็ย่อมไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน การยินยอมให้คนอื่นดูแลภรรยาของตนทั้งก่อนและหลังที่ฝ่ายชายคิดจะกลับมาอยู่กับภรรยาของตนก็ไม่ใช่การหย่า และชายที่ถามนั้นก็ไม่มีสิทธิในการดูแลหญิงที่เป็นภรรยาของผู้อื่นอยู่แล้ว จะมาขอสิทธินั้นได้อย่างไร สามีของฝ่ายหญิงจะหย่าจริงหรือไม่ก็ตาม เพราะถ้าสามีไม่ได้หย่า หญิงนั้นก็ยังคงเป็นภรรยาของเขา คนอื่นย่อมไม่มีสิทธิอยู่แล้ว


แต่ถ้าสามีหย่าจริงก็ต้องมีอิดดะฮฺสำหรับฝ่ายหญิง การมาถามเพื่อขอสิทธิดูแลหญิงที่ยังคงอยู่ในอิดดะฮฺก็ย่อมกระทำไม่ได้อยู่ดี และเมื่อฝ่ายหญิงพ้นอิดดะฮฺแล้ว ชายคนที่ถามเรื่องนั้นก็ต้องไปสู่ขอกับผู้ปกครองของฝ่ายหญิง ไม่ใช่มาขอสิทธิ์ดูแลหญิ่งที่พ้นอิดดะฮฺจากสามีของนาง


ดังนั้นการพูดตกปากรับคำของฝ่ายชายกับชายคนหนึ่งที่มาขอดูแลภรรยาของฝ่ายชายจึงไม่มีผลในการหย่า ตามความเห็นของผม เพราะไม่มีใครเขาหย่าภรรยาของตนโดยการยกให้ชายคนอื่นมาดูแลภรรยาของตน ดังนั้นกรณีที่ถามมาจึงไม่น่าจะมีการหย่าเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวประโยค “จะไม่กลับมาอีก” เพราะเหตุผลในการกล่าวประโยคคือ เรื่องอายคน กอปรกับประโยคนี้ก็ไม่ใช่สำนวนการหย่าอีกด้วย


และการพูดตกปากรับคำให้ชายคนอื่นมาดูแลภรรยาของตนก็ไม่ใช่การหย่าตามหลักการของศาสนา หากจะถือว่าหย่าก็เป็นการหย่าแบบกำกวม (กินายะฮฺ) ซึ่งต้องการเจตนา เมื่อฝ่ายชายยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาก็ให้ถือว่าไม่มีการหย่าเกิดขึ้น การกลับมาคืนดีกับภรรยาจึงมิใช่การรุญัวะอฺ (رجوع) ตามศาสนบัญญัติ เพราะการรุญัวะอฺ (رجوع) ต้องเกิดขึ้นหลังการหย่าที่เป็นผล ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีการหย่าเกิดขึ้น จึงเป็นการกลับมาอยู่กันตามปกติฉันท์สามีภรรยาเท่านั้น


ส่วนในกรณีทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ถามนี้ เมื่อสามีหย่าภรรยาของตนแบบเฏาะลาก รอจอียฺ (คือการหย่า 1 เฏาะลาก หรือ 2 เฏาะลาก ที่สามารถกลับมาคืนดี (รุญัวอฺ) ได้) ฝ่ายหญิงก็ต้องตั้งอิดดะฮฺ (ช่วงเวลาครองตน) หากกลับมาคืนดีในระหว่างที่ฝ่ายหญิงยังคงอยู่ในอิดดะฮฺก็ไม่ต้องนิกาห์ใหม่แต่อย่างใด แต่ถ้าปล่อยให้เลยอิดดะฮฺของฝ่ายหญิงไปแล้ว หากจะกลับมาคืนดี กรณีนี้ต้องทำอักดุน นิกาห์ใหม่และกำหนดมะฮัรฺให้แก่ฝ่ายหญิงใหม่ครับ

والله اعلم بالصواب