การประณามหรือการประจาร  (อ่าน 8641 ครั้ง)

หมัด

  • บุคคลทั่วไป
การประณามหรือการประจาร
« เมื่อ: กันยายน 27, 2010, 08:39:10 pm »
salam  อยากทราบว่าการประณาม หรือการประจาร บุคคลหนึ่งบุคคลใดในสิ่งที่เขากระทำความผิดนั้น สามารถกระทำได้หรือไม่  หรือว่ามีความผิดใดบ้างที่เราต้องนำมาประจาร ให้ทราบกันโดยทั่วไปในอิสลาม หรือว่าไม่มีอย่างไรครับ ขอบคุณครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การประณามหรือการประจาร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 27, 2010, 09:42:53 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
      الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

“ประณาม” เป็นคำกริยา หมายถึง กล่าวร้ายให้เขา (ผู้อื่น) เสียหาย ส่วนคำว่า “ประจาน” เป็นคำกริยาเช่นกัน หมายถึง เปิดเผยความชั่วให้รู้ทั่วกัน การประณามในภาษาอาหรับเทียบได้กับคำว่า อัล-บุฮฺตานฺ (اَلْبُهْتَانُ)  หรือ อัล-อิฟติรออฺ (اَلإفْتِرَاءُ) โดยมีความหมายว่า สิ่งมดเท็จหรือเรื่องโกหกที่กุขึ้น ไม่เป็นความจริง และทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวตู่เกิดความฉงนงงงวย


ส่วนการประจาน ในภาษาอาหรับเทียบได้กับคำว่า อัล-ฟัฎหุ (اَلْفَضْحُ) หรือ อัล-ฟะฎีหะฮฺ (اَلْفَضِيْحَةُ) ซึ่งหมายถึงการเปิดเผยความชั่วหรือสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลาย (اِنْكِشَا فُ اْلمَسَاوِئْ) โดยหลักการของศาสนาแล้ว ทั้งการประณามและการประจานเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ซึ่งจำเป็นที่ผู้ศรัทธาต้องหลีกห่างและปลอดจากพฤติกรรมดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม มีประเด็นแตกต่างระหว่างการประณามกับการประจานอยู่หลายประการ เช่น การประณามตามความหมายของอัล-บุฮฺตาน และ อัล-อิฟติรออฺ ที่เป็นการกุเรื่องเท็จไม่ต่างอะไรกับการใส่ร้ายผู้อื่นในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งบางทีคำ 2 คำนี้ก็แปลว่า “การใส่ร้าย” อย่างแพร่หลายเพราะตรงตัว การใส่ร้ายมีโทษรุนแรงยิ่งกว่าการโกหกธรรมดาทั่วไป เพราะผลจากการใส่ร้ายอาจทำให้ผู้ถูกใส่ร้ายถูกพิพากษาถึงชีวิตได้ การประณามในความหมายของการใส่ร้ายจึงเป็นบาปใหญ่ มีโทษอาญาในโลกนี้ (เช่น เฆี่ยน 80 ที / สิ้นสถานภาพการเป็นพยาน เป็นต้น) และมีโทษในวันอาคิเราะฮฺ


แต่ถ้าประณามในความหมายว่า ไม่เห็นชอบกับการกระทำที่ชั่วช้าหรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่กลับเป็นสิ่งที่จำเป็นในหลายๆ กรณี ส่วนการประจานนั้นมี 2 ลักษณะ คือ ประจานเพื่อให้ผู้ถูกประจานเสียหาย ซึ่งเขาอาจจะกระทำผิดจริง และปกปิดเรื่องความผิดเอาไว้พร้อมกับมีการสำนึกผิดแล้ว ศาสนาห้ามมิให้ผู้ที่รู้เรื่องนำเอาไปโพทะนาหรือประจาน แต่ส่งเสริมให้ปิดเอาไว้


ยิ่งถ้าผู้ถูกประจานเคยร้องขอและมีสัญญากับผู้ที่นำเรื่องมาประจานว่า ขอให้ปกปิดไว้เป็นความลับ ผู้ประจานก็จะมีความผิดเพิ่มอีก 1 ข้อหา คือ ตระบัดสัตย์ ไม่รักษาสัญญา การประจานในลักษณะที่ 1 นี้เป็นการกระทำที่เข้าอยู่ภายใต้ลักษณะของมุนาฟิก ซึ่งเวลาใดที่มีข้อพิพาทระหว่างกันก็มักจะเอาเรื่องไม่ดีของอีกฝ่ายมาประจาน เข้าทำนอง สาวไส้ให้กากิน หรือ แฉ หรือ แบล็กเมย์นั่นเอง ส่วนลักษณะที่ 2 คือการเปิดโปงความชั่วร้าย หรือการเปิดเผยความจริงให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่จะได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมของบุคคลผู้นั้น หากเก็บงำเอาไว้ก็อาจจะมีความเสียหายใหญ่หลวงเกิดขึ้น อย่างนี้ศาสนาก็อนุโลมให้เท่าที่มีความจำเป็น เช่น การเป็นพยานการให้ปากคำ การบอกถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคลซึ่งผู้บอกรู้จักเป็นอย่างดีแก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องทราบ เช่น กรณีที่ชายมาสู่ขอหญิงเพื่อแต่งงาน ผู้ปกครองฝ่ายหญิงก็สืบสาวข้อเท็จจริงจากผู้ที่รู้จักชายผู้นี้ ผู้ที่ให้ข้อมูลก็จำต้องบอกกล่าวไปตามข้อเท็จจริง เป็นต้น อย่างนี้ไม่ถือเป็นการประจานที่ศาสนาห้ามเอาไว้


หรือการสอบถามข้อชี้ขาดจากผู้พิพากษาหรือมุฟตีโดยเล่าถึงบุคคลที่กระทำอย่างนั้นอย่างนี้มีหุก่มอย่างไร ก็อนุโลมให้ แต่ที่ดีคือสมมุติตัวบุคคลเป็นสิ่งที่สมควรกว่า หรือการบอกข้อเท็จจริงให้ผู้คนได้รับทราบเกี่ยวกับบุคคลที่กระทำความชั่วอย่างเปิดเผยเพื่อให้ผู้คนได้ระมัดระวังจากความชั่วของบุคคลผู้นั้น อย่างนี้ก็อนุโลมให้ทำได้ หรือการลงโทษในคดีอาญาที่ศาสนากำหนดเอาไว้ว่าต้องกระทำต่อหน้าธารกำนัล (ต่อหน้าผู้คน) ซึ่งถือเป็นการประจานที่มีเป้าหมายเพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เห็นได้เอาเยี่ยงอย่าง อย่างนี้ก็เป็นที่อนุญาต


สรุปก็คือ ทั้งการประณามและการประจาน มีทั้งที่ต้องห้ามและมีทั้งที่อนุญาต จึงต้องดูข้อเท็จจริง เป้าหมาย และวิธีการประกอบด้วย

والله أعلم بالصواب