มีเงื่อนไขอะไรไหม ในการตามบรรดามัสฮีบทั้งหลาย?  (อ่าน 7843 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
สลาม อ. อาลี  ตัวผมสังกัดมัสฮับ ของท่านอีหม่ามซาฟีอี   แต่มีในบางมัสอาละห์ที่ผมก็ไม่ได้ตามมัสฮับ ของท่านอีหม่ามซาฟีอี  ผมจึงมีข้อสงสัยดังนี้..
  1.   มีเงื้อนไขไหมในการตามมัสฮับอื่น.....
  2.   จำเป็นไหมที่จะต้องรู้ว่า..การกระทำอย่างนี้....เป็นของมัสฮับใด..หรือรู้ ว่ามีมัสฮับที่รับรองไว้  แต่ไม่รู้ว่าเป็นของมัสฮับใด
  3.   ถ้าผมอาบน้ำละหมาดตามมัสฮับ...แล้วจะส่งผลไหม?ในการละหมาด..หรือสิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาด ว่าจะต้องตามมัสฮับนั้น
  4.   การเลือกทำในบางอย่างที่ตรงกับความพอใจของเราได้ไหม ?


ถามโดย - adam « เมื่อ: สิงหาคม 19, 2008, 05:10:09 am »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
มีเงื่อนไขอะไรไหม ในการตามบรรดามัสฮีบทั้งหลาย?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 26, 2010, 01:18:29 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد؛


บุคคลที่จะเลือกเอาประเด็นปัญหาศาสนาจากมัซฮับอื่น ๆ นั้น นักวิชาการในภาควิชาอุซูลุลฟิกฮฺ(หลักมูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม) ได้ระบุเงื่อนไขที่จำต้องคำนึงถึงเอาไว้หลายประการด้วยกัน ดังนี้


1. ประเด็นปัญหาศาสนานั้นต้องอยู่ในหมวดของประเด็นปัญหาที่มีการวิเคราะห์โดย กำลังสติปัญญา (อิจติฮาดียะฮฺ) และไม่เด็ดขาด (ซ็อนฺนียะฮฺ) ส่วนเรื่องที่รู้กันโดยภาวะจำเป็นจากหลักการศาสนา อันเป็นสิ่งที่มีมติเห็นพ้อง (อิจญฺมาอฺ) และผู้ปฏิเสธเรื่องนั้น ๆ ถือเป็นผู้ปฏิเสธ ย่อมใช้ไม่ได้ในการเลือกเอาทัศนะที่ค้านกับเรื่องดังกล่าวมาปฏิบัติเพราะ เป็นเรื่องที่มีตัวบทชัดเจนและเด็ดขาด (ก็อฏอียะฮฺ) ซึ่งกรณีนี้ไม่อนุญาตให้ใช้การวิเคราะห์โดยกำลังสติปัญญา ทั้ง ๆ ที่มีตัวบท


ดังนั้นจีงไม่อนุญาตให้ตัลฺฟีก หรือ ตักลีดฺ ซึ่งจะนำพาไปสู่การอนุมัติสิ่งที่ถูกบัญญัติห้ามเอาไว้ เช่น การดื่มของหมักที่ทำให้มึนเมาและการทำซินา เป็นต้น (อุซูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์, ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์, ดารุ้ลฟิกร์ (1996) เล่มที่ 2 หน้า 1144)

นอกจากนี้เรื่องที่เกี่ยวกับหลักศรัทธา (อะกออิด) การศรัทธา (อีมาน) และจริยธรรม (อัคล๊าก) ก็ไม่อนุญาตให้เช่นกัน (อ้างแล้ว 2/1150 โดยสรุป)



2. จะต้องไม่เป็นไปเพื่อการติดตามเสาะหาข้ออนุโลม (อัรรุค็อซฺ) ต่าง ๆ โดยเจตนาทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นถึงขึ้นวิกฤติ (ฎ่อรูเราะฮฺ) และอุปสรรคขัดข้อง (อุซฺร์) การกระทำเช่นนี้เป็นที่ต้องห้ามทั้งนี้เพื่อเป็นการปิดหนทางต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่ความเสียหายโดยทำลายข้อบังคับอันเป็นภารกิจทางศาสนบัญญัติ (อ้างแล้ว 2/1148 โดยสรุป)



3. การเลือกประเด็นข้อปัญหานั้นๆ จะต้องไม่ทำลายคำตัดสินชี้ขาดของผู้เป็นฮากิม (ผู้ปกครอง) ทั้งนี้เพราะคำตัดสินของผู้ปกครองถือเป็นสิ่งยกเลิกข้อขัดแย้งทั้งปวงเพื่อ ป้องกันความวุ่นวายสับสนที่จะเกิดขึ้นได้ และประเด็นข้อปัญหานั้น ๆ จะต้องไม่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความจำเป็นในการถอนตัวจากสิ่งที่เขาได้ ปฏิบัติสิ่งนั้นไปแล้วโดยการถือตาม (ตักลีด) (อ้างแล้ว 2/1149 โดยสรุป)



4. จะต้องถือตามทัศนะที่กล่าวถึงประเด็นข้อปัญหานั้นเนื่องจากมีหลักฐานยืนยัน ดังนั้นบุคคลผู้นั้นจะต้องไม่เลือกเอาทัศนะที่อ่อนหลักฐานของมัซฮับต่างๆ แต่ให้ถือเลือกทัศนะที่มีหลักฐานแข็งแรงที่สุด  ตลอดจนไม่ถือตามคำฟัตวาที่แหวกแนว (ช๊าซฺ) อีกทั้งผู้นั้นจำต้องรู้ถึงแนวทางต่างๆ ของมัซฮับที่เขาเลือกนำเอามาปฏิบัติ (อุซูลุลฟิกฮฺ ; อิหม่ามมุฮำมัด อบูซะฮฺเราะฮฺ ; ดารุ้ลฟิกร์ อัลอะรอบีย์ ; หน้า 379 โดยสรุป) และส่วนนี้เป็นคำตอบสำหรับคำถามของคุณ adam ในข้อ 2 ที่ถามว่า จำเป็นไหมที่จะต้องรู้ว่า การกระทำอย่างนี้เป็นของมัซฮับใด?


5. จะต้องพยายามอย่างสุดความสามารถในการที่จะไม่ละทิ้งข้อปัญหาที่เห็นพ้องไปปฏิบัติข้อที่มีทัศนะเห็นต่าง (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)


6. จะต้องไม่ถือตามอารมณ์ของผู้คน หากแต่จำต้องถือตามสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ (อัลมัซละฮะฮฺ) และหลักฐาน (อ้างแล้ว หน้า 380) เงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 6 ข้อนี้เป็นคำตอบสำหรับคำถามของคุณ adam ที่ถามว่า “มีเงื่อนไขในการตามมัซฮับอื่นหรือไม่?”



ท่านอิหม่ามอัลฆ่อ ซาลีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ย่อมไม่มีสิทธิสำหรับผู้หนึ่งผู้ใดในการที่เขาจะยึดเอามัซฮับที่เห็นต่างโดย อารมณ์ (ชะฮฺวะฮฺ) และบุคคลทั่วไป (อามมีย์) ย่อมไม่มีสิทธิในการที่เขาจะเลือกเฟ้นจากบรรดามัซฮับทั้งหลายในทุกข้อ ประเด็นปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับเขาผู้นั้นและลามปามเปิดกว้าง ...” (อัลมุสตัซฟา 2/125) และย่อมเข้าสู่ภายใต้ขอบข่ายของชนิดนี้โดยสมควรอย่างยิ่งคือการเสาะแสวงหา ติดตามข้ออนุโลมต่าง ๆ เพื่อความเพลิดเพลินและการยึดเอาคำกล่าวที่อ่อนหลักฐานจากทุก ๆ มัซฮับโดยถือตามความพอใจและอารมณ์ (อุซูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ เล่มที่ 2 หน้า 1148-1149)


นี่คือคำตอบสำหรับคำถามข้อที่ 3 ซึ่งคุณ adam ถามมาว่า “การเลือกทำในบางอย่างที่ตรงกับความพอใจของเราจะได้ไหม?”  (กล่าวคือ ทัศนะที่จะเลือกมาปฏิบัติและยึดถือนั้นต้องมีหลักฐานที่แข็งแรงถูกต้อง มาสนับสนุนความพอใจหรือการที่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดีและปฏิบัติได้นั้น ต้องเป็นไปตามหลักการ อันเป็นวิชาการมิใช่อาศัยอารมณ์หรือการต้องจริตมาเป็นบรรทัดฐาน


และผู้ใดอาบน้ำละหมาดและเช็ดศีรษะโดยถือตาม (ตักลีด) อิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) การอาบน้ำละหมาดของผู้นั้นถือว่าใช้ได้ ต่อมาเมื่อเขาผู้นั้นไปกระทบอวัยวะเพศของเขาในภายหลังโดยถือตามอิหม่ามอบูฮะ นีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ก็อนุญาตให้ผู้นั้นละหมาดได้ ทั้งนี้เพราะการอาบน้ำละหมาดของผู้ถือตามคนนี้ใช้ได้โดยมติเห็นพ้อง ทั้งนี้เพราะการสัมผัสอวัยวะเพศไม่ทำให้เสียในทัศนะของอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ดังนั้นเมื่อบุคคลหนึ่งถือตามอิหม่ามของอบูฮะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ในการไม่มีการทำลายสิ่งที่ถูกต้องในทัศนะของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) การอาบน้ำละหมาดของผู้นั้นก็ยังคงอยู่ตามสภาพของมันด้วยการถือตาม (ตักลีด) อิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ และในขณะนั้นจะไม่ถูกกล่าวว่า : แท้จริงการอาบน้ำละหมาดนั้นใช้ไม่ได้เนื่องจากการเสียน้ำละหมาดในทั้ง 2 มัซฮับ



ทั้งนี้เพราะประเด็นปัญหาทั้งสองเป็นกรณีที่แยกจาก กัน เพราะการอาบน้ำละหมาดนั้นสมบูรณ์แล้ว โดยใช้ได้ด้วยการถือตามอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) และการอาบน้ำละหมาดก็ยังคงอยู่เรื่อยไปหลังการกระทบสัมผัสอวัยวะเพศนั้นด้วย การถือตามอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ดังนั้นการถือตามอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ (ร.ฎ.) จึงเป็นไปในการคงอยู่ของการใช้ได้ มิใช่ในตอนเริ่มของมัน (ดูอุซูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ อ้างแล้ว เล่มที่ 2 หน้า 1146) และนี่คือคำตอบสำหรับคำถามข้อที่ 3 ของคุณ adam ที่ถามมา


วัลลอฮุอะอฺลัม