หลักฐานการปลูกต้นไม้บนกุโบ้ร  (อ่าน 18382 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
หลักฐานการปลูกต้นไม้บนกุโบ้ร
« เมื่อ: กันยายน 26, 2010, 09:38:18 pm »
อยากทราบว่าการปลูกต้นไม้บนกุโบ้รฮูก่มว่าอย่างไรและมีผลอย่างไรต่อคนตาย และการตัดต้นไม้บนกุโบ้รและในกุโบ้รด้วยครับ


ถามโดย - haroon « เมื่อ: ตุลาคม 02, 2008, 12:15:57 pm »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
หลักฐานการปลูกต้นไม้บนกุโบ้ร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 26, 2010, 09:39:38 pm »
نَحمدالله حق حمده ، ونصلى ونسلم على محمد النبى الأمي  وبعد...؛

การปลูกต้นไม้บนหลุมฝังศพนั้นเป็นสิ่งที่นักวิชาการวิเคราะห์  (อิสติมบ๊าฏ)  จากกรณีการวางกิ่งอินทผลัม 2 กิ่งบนหลุมฝังศพ  ให้มีการปลูกต้นไม้ต่างๆ และบรรดาต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมกรุ่น (เช่น โหระพา กระเพรา)  บนหลุมฝังศพ  แต่นักวิชาการก็มิได้ให้ความกระจ่างถึงวิธีการของการปลูกนั้น  แต่ทว่าในสิ่งที่ถูกต้องนั้นให้มีการปลูกในแต่ละหลุมฝังศพ 1 ต้น ก็ครอบคลุมหลุมฝังศพทั้งหมด  และเป้าหมายนั้นจะเกิดได้ ณ ตรงที่ใดก็ได้จากหลุมฝังศพนั้น  

ใช่! อับด์ อิบนุ ฮุมัยค์  ได้บันทึกไว้ในมุสนัดของท่านว่าแท้จริง  ท่านนบี (ศ็อลล้อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้วางกิ่งอินทผลัมบนหลุมฝังศพตรงส่วนศีรษะของมัยยิต  (ดู อัลฟะตาวา  อัลกุบรออฺ อัลฟิกฮียะฮฺ, อับนุ ฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ เล่มที่ 2 หน้า 401)  อิอานะตุตตอลิบีน ; อัดดุมยาฏีย์  เล่มที่ 2 หน้า 136)  ดังนั้นการปลูกต้นไม้บนหลุมฝังศพนั้นมีความเกี่ยวพันกับเรื่องของการวางกิ่งอินทผาลัมบนหลุมฝังศพ  จึงขอนำคำฟัตวาของชัยค์ อะฏียะฮฺ ซอกรี  มานำเสนอประกอบดังนี้

\"อัลบุคอรีย์  ได้รายงานจาก  อิบนุ  อับบาส  (ร.ฎ.)  ว่า  ; แท้จริงท่านนบี  (ศ็อลล้อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้เคยผ่านไปยังหลุมฝังศพ 2 แห่ง  และกล่าวว่า ;  แท้จริงทั้งสอง (มัยยิตในหลุมฝังศพ)  กำลังถูกลงทันฑ์.... ต่อมาท่านก็เรียกเอากิ่งอินทผลัมสดและฉีกเป็น 2 ส่วน  แล้วท่านก็ปักลงบนหลุมนี้อันหนึ่ง  และบนหลุมนี้อันหนึ่ง  และกล่าวว่า ; หวังว่าการลงทัณฑ์จะถูกผ่อนผันแก่ทั้งสอง  ตราบใดที่กิ่งอินทผลัมทั้งสอง (ซีก)  ยังไม่แห้ง\"  

นักวิชาการแบ่งเป็น 2 ฝ่ายในการบัญญัติเรื่องการวางกิ่งอินทผลัมบนหลุมฝังศพ  ฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า ; เป็นเรื่องเฉพาะของท่านนบี (ศ็อลล้อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  และไม่ใช่สิ่งที่ถูกบัญญัติให้กระทำสำหรับผู้อื่น  และอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า  ;  เป็นเรื่องทั่วไปสำหรับมุสลิมทุกคน  (ที่จะกระทำได้)  นักวิชาการฝ่ายแรก  ได้แก่  อัลคอฎฎอบีย์  ใน  ชัรฮุ สุนัน อบีดาวูด เล่มที่ 1 หน้า 42,  อัฏฏอรฏูซีย์,  อัลบุคอรีย์  และอัลกอฎีย์  อิยาฎ์  เป็นต้น  ฝ่ายที่อนุญาตให้วางกิ่งอินทผาลัมบนหลุมฝังศพสำหรับมุสลิมทั่วไป  กล่าวว่า ไม่มีรายงานระบุว่าสิ่งดังกล่าวบ่งชี้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะของท่านนบี (ศ็อลล้อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าบรรดาซอฮาบะฮฺได้คัดค้านต่อ  อิบนุ  อัลค่อซีบ  ซึ่งสั่งเสียให้วางกิ่งอินทผลัมบนหลุมฝังศพ.....

ตอนท้ายชัยค์ อะฎียะฮฺ สรุปว่า : \"นี่คือประเด็นปัญหาระหว่างฝ่ายที่อนุญาตและฝ่ายที่ห้าม ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีสิ่งที่บ่งชี้ว่าห้ามในประเด็นปัญหานี้ ตราบใดที่อีหม่านว่า ผู้ให้คุณและผู้ให้โทษนั้นคือพระองค์อัลลอฮฺแต่เพียงพระองค์เดียว  และสิ่งที่เราได้หยิบยื่นให้แก่ผู้ที่ล่วงลับจากการขอดุอาอฺและการทำทานและอื่น ๆ เป็นเรื่องของบรรดาเหตุซึ่งทำให้พระเมตตาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) หลั่งลงมา ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นสำหรับการปฏิเสธ...\" (อะฮฺซะนุ้ล กะลาม ฟิลฟะตาวา วัลอะฮฺกาม ; ชัยค์ อะฏียะฮฺ ซอกร์ เล่มที่ 2 หน้า 212 ดารุ้ลฆอดฺ อัลอะรอบีย์)

นักวิชาการในฝ่ายอนุญาตให้เหตุผลสั้น ๆ ในเรื่องการวางกิ่งอินทผลัมบนหลุมฝังศพว่า เพื่อเป็นการปฏิบัติตามอย่างที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กระทำเอาไว้ (لِلاتبَاعِ) -ดู อิอานะตุตตอลิบีน เล่มที่ 2 หน้า 135) ความจริงรายละเอียดที่นักวิชาการทั้งสองฝ่ายถกกันนั้นมีเนื้อหาค่อนข้างมาก จึงต้องตอบโดยสรุป ซึ่งเรื่องนี้นั้นมีรายงานชัดเจนว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และซอฮาบะฮฺ บางท่านกระทำเอาไว้ ส่วนจะใช้กิ่งอินทผลัมทั้งกิ่งหรือฉีกออกเป็น 2 ซีกหรือจะวางบนหลุมศพหรือใส่ในหลุมศพ ถ้าจะกระทำก็สามารถเลือกกระทำได้ และไม่กระทำก็ได้เพราะเป็นเพียงสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ มิใช่สิ่งที่เป็นวาญิบ

ส่วนจะนำเอาเรื่องนี้มาเป็นเหตุในการโจมตีกล่าวหากันนั้นเป็นเรื่องที่ควรหลีกห่าง วางก็ได้ไม่วางก็ได้ อย่าปฏิเสธอย่างเด็ดขาด หรือยืนยันว่าต้องวางไม่วางไม่ได้ เพราะเถียงกันในเรื่องกิ่งอินทผลัมจนหมองใจกันไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีปัญญากระทำกัน หลักฐานน่ะมี แต่นักวิชาการมีมุมมองและคำอธิบายต่างกัน ก็แค่นั่นแหล่ะ!

ส่วนต้นไม้ใหญ่ เช่น ไม้ผลที่ปลูกในสุสานนั้น ไม่มีข้อห้ามในการกินผลของมัน (อะฮฺซะนุ้ลกะลามฯ เล่มที่ 4/678) และต้นไม้ที่ขึ้นในสุสาน (กุโบรฺ) ซึ่งไม่ใช่ไม้ผลนั้น ถ้าหากต้นไม้มีสภาพที่ดี มิได้หักโค่น ตามสิ่งที่ปรากฏชัด (ซอฮิรฺ) ให้คงรักษาต้นไม้นั้นไว้เพื่อผู้ที่มาเยี่ยมสุสานและผู้ที่ร่วมขบวนมาส่งญะนาซะฮฺจะได้อาศัยร่มเงา

ส่วนไม้ผลนั้นเดิมไม่อนุญาตให้ตัดและนำไปขายยกเว้นสุสานนั้นมีผู้ดูแลเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นนายป่าช้าหรือคณะกรรมการมัสญิดก็สามารถนำผลของต้นไม้นั้นไปขายได้ และนำเงินที่ขายผลไม้นั้นมาใช้ในเรื่องสาธารณกุศลสำหรับชาวมุสลิมทั่วไป และถ้าไม้ยืนต้นในสุสานหักโค่นเนื่องจากถูกลมพัดก็สามารถนำมาตัดหรือเลื่อยเป็นฟืนหรือไม้เฟอร์นิเจอร์และนำไปขายได้ โดยนำเงินที่ขายได้มาใช้ในเรื่องของสุสานก็เป็นสิ่งที่สมควรยิ่ง

ทั้งนี้ผู้ที่ดำเนินการต้องเป็นผู้ดูแลเฉพาะหรือคณะกรรมการมัสญิด แต่ถ้าหากไม่มีผู้ดูแลเป็นการเฉพาะก็ให้กอฎีย์เป็นผู้ดำเนินการตามที่กล่าวมา (เก็บความจากคำฟัตวาของอัลลามะฮฺ อัตตอมบะดาวีย์ ในอิอานะตุตตอลิบีน เล่มที่ 3 หน้า 217)

(والله أعلم بالصواب)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: หลักฐานการปลูกต้นไม้บนกุโบ้ร
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ธันวาคม 07, 2013, 05:34:59 pm »
ชี้แจงกรณีการปลูกไม้ยืนต้นหรือพืชเศรษฐกิจในสุสานที่มีการอุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์ในการฝังศพ  (อัล-มักบะเราะฮฺ อัล-มุสับบะละฮฺ)


ตามที่มีผู้ถามถึงหลักฐานการปลูกต้นไม้บนหลุมฝังศพ (กุโบรฺ) ซึ่งตอบไว้เมื่อกันยายน 2556 ในเวบไซด์แล้วนั้น ขอชี้แจงว่า เนื้อหาของคำตอบเป็นกรณีของการปลูกต้นไม้ล้มลุกที่มีกลิ่นหอม เช่น โหระพา กะเพรา เป็นต้น ซึ่งหลักฐานที่เป็นทัศนะของนักวิชาการฝ่ายที่ว่าอนุญาตให้กระทำได้เป็นกรณีของการปลูกพืชล้มลุกบนหลุมฝังศพเท่านั้น มิได้มุ่งหมายถึงไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น ไม้ผล อินทผลัม เป็นต้น



และในท้ายของคำตอบมีการระบุถึงต้นไม้ใหญ่ที่มีการปลูกในบริเวณของสุสานหรือขึ้นเองในบริเวณสุสาน เป็นกรณีของการให้คำตอบว่า ผลไม้ของต้นไม้นั้นสามารถกินผลของมันได้หรือไม่ (ซึ่งตอบว่าได้) หรือเอาประโยชน์จากต้นไม้นั้นได้หรือไม่ เช่น อาศัยร่มเงา การขายไม้ที่ถูกตัดหรือเลื่อยเป็นพื้นภายหลังการหักโค่นของต้นไม้นั้น เป็นต้น (ซึ่งอ้างคำตอบจากคำฟัตวาของอัล-ลามะฮฺ อัฏ-ฏอมบะดาวียฺ ในตำรา อิอานะตุฏฏอลิบีน เล่มที่ 3 หน้า 217)



คำตอบดังกล่าวมิได้เจาะจงในการตอบถึงกรณีของการใช้พื้นที่ว่างเปล่าหรือพื้นที่ในเขตสุสานที่มีการอุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์ในการฝังศพ (มักบะเราะฮฺ มุสับบะละฮฺ) เพื่อนำมาใช้ปลูกไม้ยืนต้น หรือปลูกพืชเศรษฐกิจเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอินทผลัม ตลอดจนการทำสวนเกษตรของผลไม้แต่อย่างใด



คำตอบที่เคยตอบไว้ในเวบไซด์จึงเป็นคนละกรณีกัน กล่าวคือ เป็นคำตอบที่เกี่ยวกับกรณีของต้นไม้ที่มีขึ้นอยู่ในสุสานแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นการปลูกของผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือว่าขึ้นเองตามลักษณะของพื้นที่ในสุสานก็ตาม) โดยผู้ตอบได้อ้างอิงทัศนะของนักวิชาการมาประกอบเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการกับไม้ยืนต้นที่มีอยู่แล้วนั้นว่าจะดำเนินการอย่างไร?



คำตอบที่ระบุว่าการปลูกต้นไม้บนหลุมฝังศพทำได้หรือไม่ และมีหลักฐานอย่างไร เป็นคำตอบคนละกรณีกับปลูกไม้ล้มลุก เช่น โหระพา กะเพรา เป็นต้น มิได้ตอบในกรณีของการปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนหลุมฝังศพหรือในเขตพื้นที่ของสุสาน เพราะกรณีหลังนั้นเป็นคนละกรณีกับคำตอบที่มีผู้ถามมา เมื่อเป็นคนละกรณีกัน จึงไม่อาจทึกทักเอาเนื้อหาที่ตอบไว้มาเป็นคำตอบหรือข้ออ้างอิงให้แก่กรณีหลัง คือการปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนหลุมฝังศพหรือในเขตพื้นที่ของสุสาน เพราะผู้ถามมิได้ถามถึงเรื่องนี้ และผู้ตอบก็มิได้ตอบถึงเรื่องนี้



ส่วนประโยคในคำตอบก่อนที่เคยตอบว่า : “ส่วนต้นไม้ใหญ่ เช่น ไม้ผลที่ปลูกในสุสานนั้น ไม่มีข้อห้ามในการกินผลของมัน” (อ้างจาก อะหฺสะนุลกะลาม ฯ เล่มที่ 4/678)” ก็ไม่ใช่คำตอบที่ชี้ขาดว่าอนุญาตให้ปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนหลุมฝังศพหรือในเขตพื้นที่ของสุสานที่ถูกอุทิศ (มักบะเราะฮฺ มุสับบะละฮฺ) แต่เป็นการตอบในกรณีของต้นไมัที่ถูกปลูกหรือขึ้นอยู่ในเขตสุสานว่ากินผลของมันได้ ไม่ว่าต้นไม้ที่มีผลนั้นจะถูกปลูกเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าห้ามปลูกหรือว่าต้นไม้นั้นขึ้นเองตามธรรมชาติ (ที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้) ก็ตาม และไม่ว่าต้นไม้นั้นจะมีมาก่อนการอุทิศให้ที่ดินแปลงนั้นเป็นสุสานหรือมีภายหลังการอุทิศก็ตาม



ส่วนถ้าหากจะถามว่าอนุญาตให้ปลูกไม้ยืนต้นหรือพืชเกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา หรือปาล์มน้ำมันเป็นต้นในเขตสุสานที่ถูกอุทิศได้หรือไม่ ก็คงตอบว่า ไม่ได้ เพราะขัดกับเจตนาและเป้าหมายของผู้อุทิศที่อุทิศที่ดินนั้นเพื่อการฝังศพ และเป็นเพราะมีคำฟัตวาของนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุห้ามเอาไว้ ซึ่งรายละเอียดของคำฟัตวาตลอดจนตำราอ้างอิงในเรื่องที่ว่าไม่ได้นี้ อาจารย์อารีฟีนตอบไว้โดยละเอียดแล้ว http://www.sunnahstudent.com/forum/index.php?topic=3517.0 ซึ่งเห็นด้วยตามนั้นทุกประการ จึงขอชี้แจงไว้เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน


วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก
อาลี เสือสมิง
23 พ.ย. 2556