ชี้แจงกรณีการปลูกไม้ยืนต้นหรือพืชเศรษฐกิจในสุสาน...  (อ่าน 6980 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ชี้แจงกรณีการปลูกไม้ยืนต้นหรือพืชเศรษฐกิจในสุสานที่มีการอุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์ในการฝังศพ  (อัล-มักบะเราะฮฺ อัล-มุสับบะละฮฺ)


ตามที่มีผู้ถามถึงหลักฐานการปลูกต้นไม้บนหลุมฝังศพ (กุโบรฺ) ซึ่งตอบไว้เมื่อกันยายน 2556 ในเวบไซด์แล้วนั้น http://alisuasaming.org/webboard/index.php?topic=331 ขอชี้แจงว่า เนื้อหาของคำตอบเป็นกรณีของการปลูกต้นไม้ล้มลุกที่มีกลิ่นหอม เช่น โหระพา กะเพรา เป็นต้น ซึ่งหลักฐานที่เป็นทัศนะของนักวิชาการฝ่ายที่ว่าอนุญาตให้กระทำได้เป็นกรณีของการปลูกพืชล้มลุกบนหลุมฝังศพเท่านั้น มิได้มุ่งหมายถึงไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น ไม้ผล อินทผลัม เป็นต้น



และในท้ายของคำตอบมีการระบุถึงต้นไม้ใหญ่ที่มีการปลูกในบริเวณของสุสานหรือขึ้นเองในบริเวณสุสาน เป็นกรณีของการให้คำตอบว่า ผลไม้ของต้นไม้นั้นสามารถกินผลของมันได้หรือไม่ (ซึ่งตอบว่าได้) หรือเอาประโยชน์จากต้นไม้นั้นได้หรือไม่ เช่น อาศัยร่มเงา การขายไม้ที่ถูกตัดหรือเลื่อยเป็นพื้นภายหลังการหักโค่นของต้นไม้นั้น เป็นต้น (ซึ่งอ้างคำตอบจากคำฟัตวาของอัล-ลามะฮฺ อัฏ-ฏอมบะดาวียฺ ในตำรา อิอานะตุฏฏอลิบีน เล่มที่ 3 หน้า 217)



คำตอบดังกล่าวมิได้เจาะจงในการตอบถึงกรณีของการใช้พื้นที่ว่างเปล่าหรือพื้นที่ในเขตสุสานที่มีการอุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์ในการฝังศพ (มักบะเราะฮฺ มุสับบะละฮฺ) เพื่อนำมาใช้ปลูกไม้ยืนต้น หรือปลูกพืชเศรษฐกิจเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอินทผลัม ตลอดจนการทำสวนเกษตรของผลไม้แต่อย่างใด



คำตอบที่เคยตอบไว้ในเวบไซด์จึงเป็นคนละกรณีกัน กล่าวคือ เป็นคำตอบที่เกี่ยวกับกรณีของต้นไม้ที่มีขึ้นอยู่ในสุสานแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นการปลูกของผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือว่าขึ้นเองตามลักษณะของพื้นที่ในสุสานก็ตาม) โดยผู้ตอบได้อ้างอิงทัศนะของนักวิชาการมาประกอบเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการกับไม้ยืนต้นที่มีอยู่แล้วนั้นว่าจะดำเนินการอย่างไร?



คำตอบที่ระบุว่าการปลูกต้นไม้บนหลุมฝังศพทำได้หรือไม่ และมีหลักฐานอย่างไร เป็นคำตอบคนละกรณีกับปลูกไม้ล้มลุก เช่น โหระพา กะเพรา เป็นต้น มิได้ตอบในกรณีของการปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนหลุมฝังศพหรือในเขตพื้นที่ของสุสาน เพราะกรณีหลังนั้นเป็นคนละกรณีกับคำตอบที่มีผู้ถามมา เมื่อเป็นคนละกรณีกัน จึงไม่อาจทึกทักเอาเนื้อหาที่ตอบไว้มาเป็นคำตอบหรือข้ออ้างอิงให้แก่กรณีหลัง คือการปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนหลุมฝังศพหรือในเขตพื้นที่ของสุสาน เพราะผู้ถามมิได้ถามถึงเรื่องนี้ และผู้ตอบก็มิได้ตอบถึงเรื่องนี้



ส่วนประโยคในคำตอบก่อนที่เคยตอบว่า : “ส่วนต้นไม้ใหญ่ เช่น ไม้ผลที่ปลูกในสุสานนั้น ไม่มีข้อห้ามในการกินผลของมัน” (อ้างจาก อะหฺสะนุลกะลาม ฯ เล่มที่ 4/678)” ก็ไม่ใช่คำตอบที่ชี้ขาดว่าอนุญาตให้ปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนหลุมฝังศพหรือในเขตพื้นที่ของสุสานที่ถูกอุทิศ (มักบะเราะฮฺ มุสับบะละฮฺ) แต่เป็นการตอบในกรณีของต้นไมัที่ถูกปลูกหรือขึ้นอยู่ในเขตสุสานว่ากินผลของมันได้ ไม่ว่าต้นไม้ที่มีผลนั้นจะถูกปลูกเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าห้ามปลูกหรือว่าต้นไม้นั้นขึ้นเองตามธรรมชาติ (ที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้) ก็ตาม และไม่ว่าต้นไม้นั้นจะมีมาก่อนการอุทิศให้ที่ดินแปลงนั้นเป็นสุสานหรือมีภายหลังการอุทิศก็ตาม



ส่วนถ้าหากจะถามว่าอนุญาตให้ปลูกไม้ยืนต้นหรือพืชเกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา หรือปาล์มน้ำมันเป็นต้นในเขตสุสานที่ถูกอุทิศได้หรือไม่ ก็คงตอบว่า ไม่ได้ เพราะขัดกับเจตนาและเป้าหมายของผู้อุทิศที่อุทิศที่ดินนั้นเพื่อการฝังศพ และเป็นเพราะมีคำฟัตวาของนักวิชาการในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุห้ามเอาไว้ ซึ่งรายละเอียดของคำฟัตวาตลอดจนตำราอ้างอิงในเรื่องที่ว่าไม่ได้นี้ อาจารย์อารีฟีนตอบไว้โดยละเอียดแล้ว http://www.sunnahstudent.com/forum/index.php?topic=3517.0 ซึ่งเห็นด้วยตามนั้นทุกประการ จึงขอชี้แจงไว้เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน


วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก
อาลี เสือสมิง
23 พ.ย. 2556
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 18, 2019, 12:03:04 pm โดย admin »