ละหมาดคนตายที่กุโบ๊ร  (อ่าน 7715 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ละหมาดคนตายที่กุโบ๊ร
« เมื่อ: กันยายน 26, 2010, 10:01:40 pm »
อาจารย์ครับการละหมาดคนตายที่กุโบ๊รมีหลักการและเงื่อนไขอย่างไรบ้างครับ และมีกำหนดเวลาหรือไม่ว่าหมดเวลาแล้วที่จะไปละหมาดที่กุโบ๊ร

ถามโดย - haroon « เมื่อ: มีนาคม 17, 2009, 09:31:13 am »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ละหมาดคนตายที่กุโบ๊ร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 26, 2010, 10:02:17 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...


การละหมาดญะนาซะฮฺในสุสาน  (กุบู๊ร-มักบะเราะฮฺ)  ท่ามกลางกุบู๊ร  (หลุมฝังศพ)  ต่าง  ๆ  นั้นเป็นที่น่ารังเกียจ  (มักรูฮฺ)  นี่คือทัศนะของมัซฮับอัชชาฟิอีย์  และปวงปราชญ์  (ญุมฮู๊ร  อัลอุละมาอฺ  และอิบนุ  อัลมุนซิรฺได้เล่าเอาไว้จากท่านอะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ,  ท่านอิบนุ  อับบ๊าส,  อิบนุ  อุมัร,  อะฏออ์,  อิบนุ  ซีรีน,  อะฮฺหมัด,  อิสหากและอบูเซาว์ริน  ส่วนท่านอบูฮุรอยเราะฮฺและท่านอุมัร  อิบนุ  อับดิลอะซีซฺ  ไม่ถือว่าเป็นที่น่ารังเกียจ  และมีรายงานจากท่านอิหม่ามมาลิก  2  รายงานเหมือนกับ  2  มัซฮับที่กล่าวมา  (กิตาบ  อัลมัจญ์มูอฺ  ชัรฮุ้ลมุฮัซซับ  ;  อิหม่ามอันนะวาวีย์  เล่มที่  5  หน้า  231)  


เมื่อผู้ที่ยังไม่ได้ละหมาดญะนาซะฮฺได้มาภายหลังจากฝังมัยยิตแล้วและมีความประสงค์ที่จะละหมาดให้แก่มัยยิตในกุบู๊ร  ก็เป็นที่อนุญาตโดยไม่มีข้อขัดแย้งเนื่องจากมีหลักฐานจากหะดีษที่รายงานโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม  จากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ  (ร.ฎ.)  อันเป็นเรื่องของการเสียชีวิตของหญิงผิวดำหรือชายผิวดำที่เคยกวาดมัสยิดของท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  และหะดีษอื่น ๆ ที่เป็นหะดีษซ่อฮีฮฺ  (ดูอัลมัจญ์มูอฺ  เล่มที่  5  หน้า  206)  


ประเด็นต่อมาก็คือ  อนุญาตให้ละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่มัยยิตที่ถูกฝังไปแล้วยังระยะเวลาใด?  ในประเด็นนี้มีถึง  6  ประเด็นคือ  

1. ให้ละหมาดแก่มัยยิตได้จนถึงเวลา  3  วัน  และไม่ต้องละหมาดให้หลังจาก  3  วันนั้น  นักวิชาการฝ่ายคุรอซานได้เล่าประเด็นนี้เอาไว้  และเป็นประเด็นที่มัชฮู๊รสำหรับนักวิชาการฝ่ายนี้

2. ได้จนถึงเวลา  1  เดือน

3. ตราบใดที่ศพมัยยิตยังไม่สูญสลาย

4. ให้ผู้ที่จำเป็นต้องละหมาดให้แก่มัยยิตในวันที่มัยยิตเสียชีวิตละหมาดได้

5. คล้าย ๆ กับประเด็นที่  4

6. ให้ละหมาดได้โดยตลอด  ซึ่งตามประเด็นที่  6  นี้ก็เป็นที่อนุญาตให้ละหมาดที่สุสานของบรรดาซอฮาบะฮฺและบุคคลที่อยู่ก่อนเหล่าซอฮาบะฮฺได้ในทุกวันนี้  แต่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์ถือว่าประเด็นที่  6  นี้อ่อน  (ฎ่ออีฟ)  เช่น  อัลมาวัรดีย์,  อัลมุฮามิลีย์,  อัลเฟาว์รอนีย์,  อิหม่ามอัลฮะร่อมัยน์,  อัลบัฆวีย์  และอัลฆ่อซาลีย์ในตำราอัลบะซีฏ  เป็นต้น  


นักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่าประเด็นใดถูกต้องที่สุด  (อะซ๊อฮฺ)  อัลมาวัรดีย์,  อิหม่ามอัลฮะร่อมัยน์  และอัลญุรญานีย์  ถือว่าประเด็นที่  3  ถูกต้องที่สุด  คือละหมาดได้ตราบใดที่ศพของมัยยิตยังไม่สูญสลาย  ส่วนปวงปราชญ์ในมัซฮับอัชชาฟิอีย์  ถือว่าให้คนที่จำเป็นต้องละหมาดให้  (อะฮฺลุ้ฟัรฎ์)  ละหมาดแก่มัยยิตที่ถูกฝังไปแล้วได้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง  (อ้างแล้ว  เล่มที่  5  หน้า  208)  


หากเรากล่าวตามประเด็นที่อ่อน  คือละหมาดให้ได้โดยตลอด  ก็ถามว่า  อนุญาตให้ละหมาดที่กุบู๊รของท่านนบีของเราและนบีท่านอื่น ๆ หรือไม่?  ประเด็นนี้มี  2  แนวทางคือ  

1. ถูกต้องที่สุดในฝ่ายคุรอซานและอัลมาวัรดีย์  คือ  ไม่อนุญาตให้ละหมาด  อิหม่ามอัลฮะร่อมัยน์ระบุว่า  เป็นคำกล่าวของปวงปราชญ์ในมัซฮับ  และอัลบันดะนัยญี่ย์ชี้ขาดเอาไว้

2.ให้ละหมาดเป็นรายบุคคลไม่ให้ละหมาดเป็นหมู่คณะ ข้อนี้เป็นคำกล่าวของอบุลวะลีด  อันนัยซะบูรีย์  ซึ่งเป็นนักวิชาการรุ่นก่อนจากอัศฮาบอัชชาฟิอียะฮฺ  แต่อิหม่ามอันนะวาวีย์กล่าวว่า  แนวทางแรกถูกต้องที่สุด  (อ้างแล้ว  เล่มที่  5  หน้า  209-210)  

والله أعلم بالصواب