ซากาตขาดบวช  (อ่าน 34608 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ซากาตขาดบวช
« เมื่อ: กันยายน 26, 2010, 10:42:21 pm »
อัสสลามมุอลัยกุมค่ะ   :)

มีมุสลิมคนหนึ่งเขาไม่สามารถที่จะบวชได้ในเดือนรอมฎอนทั้งเดือนเลย เพราะเขาต้องกินยาตามหมอสั่งสามเวลา
เพื่อคุมโรคของเขา เขาจะต้องจ่ายข้าวสารฟิตเราะฮ์ขาดบวชทั้งเดือนแล้ว เขาจะต้องจ่ายซากาตที่จำเป็นสำหรับตัวเขา
ในเดือนบวช (ซึ่งจำเป็นเหนือมุสลิมทุกคน) อีกหรือเปล่าค่ะ ซึ่งเท่ากับเขาจะต้องจ่ายสองอย่างเลยใช่ใหม
แล้วที่ต่างประเทศประชาชนมีพอกินกันนอยู่แล้ว เราอยากจะส่งเป็นเงิน (ไม่ใข่ข้าว)ไปจ่ายเป็นซากาตที่ประเทศไทยจะได้ใหม

วัสสลาม


ถามโดย -  มุสลิมะฮ์ทางไกล « เมื่อ: สิงหาคม 30, 2008, 01:16:10 am »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ซากาตขาดบวช
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 26, 2010, 10:43:15 pm »
الحمدلله الذىهدانالهذاوماكنالنهتدى
لولاأن هداناالله ، وأفضل الصلاة وأتم التسليم على رسول الله وبعد ؛

กรณีของผู้ป่วยที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ในเดือนรอมาฎอนเพราะต้องกินยาตามหมอสั่งสามเวลาเพื่อคุมโรคนั้น  ศาสนาอนุโลมให้ไม่ต้องถือศีลอด ทั้งนี้หมอที่เป็นเจ้าของไข้ดังกล่าวต้องเป็นหมอที่มีความชำนาญเฉพาะทาง และยืนยันว่าผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด  ถ้าหากไม่กินยาตามเวลาอาจจะทำให้อาการของโรคกำเริบรุนแรงหรือหายป่วยช้าออกไป  ก็ถือว่าอยู่ในข่ายของผู้ที่ศาสนาอนุโลมให้ไม่ต้องถือศีลอด ถือตามพระดำรัสที่ว่า

وَمَنْ كَانَ مَرِيْضًااَوْعَلی سَفَرٍفَعِدَّةٌ مِنْ أَيَّامٍ أُخَرَ  الآية

\"และผู้ใดเจ็บป่วยหรืออยู่บนการเดินทาง ก็ (ให้ถือศีลอดชดใช้) ตามจำนวน (ที่ขาดไป) จากวันเวลาอื่น (นอกรอมาฎอน)\"


ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยหายจากอาการป่วยหรือมีอาการดีขึ้นแล้วก็จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องถือศีลอดชดใช้ (قَضَاءٌ) ตามจำนวนวันที่ขาดไปในช่วงเวลาอื่นที่พ้นรอมาฎอนแล้ว (ดูฟิกฮุซซิยาม ; ดร.ยูซุฟ อัลก็อรฺฎอวีย์ หน้า 56,57 เพิ่มเติม) ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า การถือศีลอดชดใช้นั้นจะต้องเกิดขึ้นก่อนเข้าสู่รอมาฎอนในปีถัดไป ถ้าหากสามารถถือศีลอดได้แล้วกลับไม่ถือ เพราะเพิกเฉยจนเข้าสู่รอมฎอนถัดไปถือว่าผู้นั้นมีบาป และจำเป็นต้องเสียฟิดยะฮฺ (ค่าปรับ) ควบคู่กับการถือศีลอดชดใช้นั้นด้วย


ฟิดยะฮฺคือการออกอาหารหลักในแต่ละวันตามจำนวนที่ขาดไปเป็นจำนวน 1 มุดฺ (ประมาณ 600 กรัม) ส่วนถ้าหากยังมีอุปสรรคอย่างต่อเนื่อง เช่น ยังคงป่วยและมีความจำเป็นต้องกินยาตามคำสั่งของหมอโดยตลอดจนกระทั่งเข้าสู่รอมาฎอนถัดไป ก็จำเป็นต้องชดใช้ (قَضَاءٌ)  เพียงอย่างเดียวและไม่จำเป็นต้องออกฟิดยะฮฺแต่อย่างใด (อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ เล่มที่ 2 หน้า 92)  ส่วนกรณีของผู้ป่วยเรื้อรังไม่หวังหายและไม่สามารถถือศีลอดได้  ก็ให้ออกฟิดยะฮฺตามจำนวนวันที่ขาดไป และไม่จำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ เพราะไม่สามารถถือศีลอดได้แต่เดิมอยู่แล้ว (อ้างแล้ว 2/94)


ส่วนกรณีการจ่ายซะกาตนั้นจริง ๆ แล้ว ไม่ได้จำเป็นจะต้องจ่ายในเดือนรอมาฎอนเป็นการเฉพาะ ขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลาในการครอบครองกรรมสิทธิในทรัพย์สินนั้นครบรอบหนึ่งปีเมื่อใด แต่ถ้าหากครบรอบปีพอดีในเดือนรอมาฎอนก็จำเป็นต้องจ่ายซะกาตทรัพย์สินนั้นเมื่อจำนวนทรัพย์สินถึงเพดานพิกัดที่ศาสนากำหนดเอาไว้ (คือตีค่าสกุลเงินจากทองคำจำนวนประมาณ 6 บาท) ในกรณีเช่นนี้ก็เป็นไปได้ว่าต้องจ่ายฟิดยะฮฺ (ค่าปรับ) และซะกาตทรัพย์สินทั้งสองอย่าง และถ้าหากผู้นั้นมีชีวิตอยู่จนถึงตะวันตกดินของวันสุดท้ายจากเดือนรอมาฎอนก็จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์อีกกรณีหนึ่งด้วย โดยจ่ายเป็นอาหารหลักของเมือง ๆ นั้นเป็นจำนวน 1 ซออฺ ราว ๆ 2,751 กรัม (เกือบ ๆ 3 กิโลกรัม) หรือจะตีค่าเป็นเงินก็ได้ตามทัศนะของฝ่ายฮะนะฟียะฮฺ (อัลฟิกฮุ้ล – มันฮะญี่ย์ เล่มที่ 1/229,230)


ส่วนกรณีการเคลื่อนย้ายซะกาตไปยังเมืองอื่นนั้น เช่น ส่งเงินซะกาตจากเนเธอร์แลนด์หรือเยอรมันมายังประเทศไทยนั้น นักวิชาการฟิกฮฺ (นักนิติศาสตร์) เห็นพ้องว่าอนุญาตให้ย้ายซะกาตไปยังผู้มีสิทธิรับซะกาตจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งได้ แต่มีข้อแม้ว่า ผู้คนในเมืองที่วาญิบต้องออกซะกาตนั้นมีความพอเพียงหรือพ้นสภาพจากผู้มีสิทธิรับซะกาตแล้ว  แต่ถ้าพลเมืองในเมืองนั้นยังมีผู้มีสิทธิรับซะกาตอยู่ก็มีหะดีษระบุชัดเจนว่า ซะกาตของแต่ละเมืองนั้นจะถูกแจกจ่ายแก่บรรดาผู้ยากจนที่เป็นพลเมืองนั้น และซะกาตนั้นจะไม่ถูกย้ายไปยังเมืองอื่น


นักวิชาการฝ่ายฮะนะฟีย์ ระบุว่า การเคลื่อนย้ายซะกาตเป็นสิ่งที่ไม่บังควรกระทำ (มักรูฮฺ) ยกเว้นเคลื่อนย้ายซะกาตไปยังบรรดาญาติที่มีความต้องการ เพราะมีการเชื่อมสัมพันธ์ทางเครือญาติในกรณีดังกล่าว หรือยังกลุ่มชนที่มีความต้องการมากกว่าผู้คนในบ้านเมืองของตน หรือการเคลื่อนย้ายนั้นเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชาวมุสลิม หรือเป็นการเคลื่อนย้ายจากดินแดนที่ก่อสงครามกับรัฐอิสลามไปยังดินแดนอิสลาม หรือยังผู้แสวงหาความรู้หรือซะกาตนั้นเป็นการรีบจ่ายก่อนครบรอบปี ทุกกรณีที่กล่าวมานี้ถือว่าไม่มักรูฮฺแต่อย่างใดในการเคลื่อนย้ายซะกาต


ท่านอิบนุกุดามะฮฺ (ร.ฮ.)ระบุว่า : ถ้าหากผู้จ่ายซะกาตกระทำค้านกับเงื่อนไขที่ว่ามา และเคลื่อนย้ายซะกาตของตนก็ถือว่าใช้ได้ ตามคำกล่าวของนักวิชาการส่วนมาก (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ ; ซัยยิดซาบิก 1/476-478) อนึ่งซะกาตที่ว่านี้คือ ซะกาตทรัพย์สิน ส่วนซะกาตฟิตร์นั้นต้องจ่ายในถิ่นที่ผู้นั้นอาศัยอยู่เท่านั้น และคำว่า \"ซะกาตขาดบวช\" นั้น ไม่ปรากฏในคำศัพท์เทคนิคทางนิติศาสตร์ (اَلإِصْطِِلاَحُ) แต่อย่างใด เข้าใจว่าผู้ถามคงหมายถึง ฟิดยะฮฺ (ค่าปรับ,ค่าชดใช้,ค่าไถ่) อันเนื่องมาจากขาดการถือศีลอดในช่วงเดือนร่อมาฎอนด้วยเหตุของอุปสรรคดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว  

(วัลลอฮุอะอฺลัม)