เรื่องการใหว้ / التشبه การเลียนแบบ  (อ่าน 7152 ครั้ง)

zainul / ซัลมาน

  • บุคคลทั่วไป
เรื่องการใหว้ / التشبه การเลียนแบบ
« เมื่อ: กันยายน 27, 2010, 09:04:29 pm »
สลามครับ
        มีเรื่องรบกวน อ.อาลี อีกแล้วนะครับ คือเรื่องการใหว้นะครับ เกิดข้อข้องใจว่า
ใน หลักการอิสลามนั้น ถ้าหากเราใหว้คนมุสลิมด้วยกัน จะเป็นไรใหม เพราะเคยได้ยินว่า มีฮาดิษบอกว่า \"ใครก็ตามที่เลียนแบบกลุ่มชนหนึ่ง เขาก็คือกลุ่มชนนั้น\" เลยอยากทราบคำตอบที่ชัดเจนพร้อมหลักฐานจากหนังสือนะครับ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สลามครับ
         ก็อยากถามถึงเรื่องการเลียนแบบ التشبه ในหลักการว่าอย่างไร มีรูปแบบอย่างไร

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : เรื่องการใหว้ / التشبه การเลียนแบบ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 27, 2010, 09:06:53 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمد لله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ท่านรสูล ( ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิว่าซัลลัม ) กล่าวว่า
مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوِمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ
ความว่า “ ผู้ใดเลียนแบบ( เอาอย่าง ) กลุ่มชนหนึ่ง ผู้นั้นคือส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนนั้น”
รายงานโดย อิบนุอุมัร ( ร.ฏ ) และหุซัยฟะฮฺ ( ร.ฏ )


อัซซัรกะชียฺ กล่าวว่า ในสายรายงานหะดีษนี้อ่อน อัสสะยูฏียฺ กล่าวว่า สายรายงานหะดีษนี้อ่อน ( อัด-ดุร๊อร ) อัศ-ศอดร์ อัล-มุนาวียฺ กล่าวว่า ในสายรายงานหะดีษบทนี้มีอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ ษาบิต อิบนิ เษาบาน ซึ่งฏ่ออีฟ ตามที่ อัล-มุนซิรียฺกล่าวเอาไว้  อัส-สะคอวียฺ กล่าวว่าสายรายงานหะดีษบทนี้อ่อนแอ แต่มีชะวาฮิดมาสนับสนุน อิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า สายรายงานหะดีษบทนี้ดี ( جَيِّد ) อิบนุ หะญัรกล่าวไว้ใน อัลฟัตหฺ ว่า สายรายงานหะดีษบทนี้ หะสัน ในสายรายงานจาก หุซัยฟะฮฺ ( ร.ฏ ) นั้น อัล-หาฟิซฺ อัล-อิรอกียฺ กล่าวว่า สายรายงานนี้อ่อนแอ อัล-ฮัยษะมียฺ กล่าวว่า “ อัฏ-เฏาะบะรอนียฺ บันทึกเอาไว้ในอัล-เอาสัฏ ซึ่งในสายรายงานมี อะลี อิบนุ ฆุร็อบมากกว่าหนึ่งคนถือว่า บุคคลผู้นี้เชื่อถือได้ ( ษิเกาะฮฺ ) และกลุ่มหนึ่งถือว่า เขาอ่อนแอ ส่วนผู้รายงานที่เหลือเชื่อถือได้ ( ษิกอตฺ ) ตามนี้ สายรายงานจากอิบนุ อุมัรที่บันทึกโดย อบูดาวูด ไม่ดีเท่าสายรายงานของอัฏ-เฏาะบะรอนียฺ ที่รายงานจากหุซัยฟะฮฺ (ฟัยฏุลเกาะดีร ชัรหุลญามิอฺ อัศเศาะฆีร ของ อัล-มินาวียฺ เล่ม 6 หน้า104-105 หะดีษเลขที่ 8593 )


ดังนั้น หะดีษบทนี้มิใช่หะดีษเศาะฮีหฺ แต่มีระดับที่ดีที่สุดของหะดีษบทนี้หะสัน ลิฆอยฺริฮฺ ฉะนั้นข้อชี้ขาดที่เกิดจากหะดีษบทนี้ จึงเป็นสิ่งที่เข้าข่ายน่ารังเกียจ ( มักรูฮฺ ) ตามหลักศาสนา ยังไม่ถึงขั้นต้องห้าม ( หะรอม ) ในหลักเดิมทั่วๆไป เพียงแต่บางกรณีนั้นอาจจะเลื่อนขั้นจากระดับมักรูฮฺ ไปเป็นมักรูฮฺ ตันซีฮฺ หรือมักรูฮฺ ตะหฺรีม หรือหะรอมก็ได้ จึงต้องดูเนื้อหาของแต่ละเรื่อง เป็นกรณีๆไป จะเหมารวมทั้งหมดไม่ได้


ทั้งนี้เพราะการเลียนแบบชนต่างศาสนิกมี 2 ประเภท คือ

          1) การเลียนแบบที่ชอบด้วยหลักการของศาสนา ( التَشَبُّهُ المَحْمُوْد ُ )  กล่าวคือ เป็นสิ่งที่อนุญาตให้เลียนแบบ และเอาอย่างชนต่างศาสนาได้โดยเฉพาะเรื่องทางโลกที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ส่วนรวม การศึกษา เรียนรู้ศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อหลักการของศาสนา และตอบสนองความต้องการของสังคมมุสลิม เช่นการแพทย์ วิศวะกรรมศาสตร์ กฎหมายสากล ศาสตร์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี และการสื่อสาร นิเทศศาสตร์และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ เป็นต้น การเลียนแบบและเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ตามหลักการของศาสนาในทางโลกจากชนต่างศาสนา เป็นสิ่งที่กระทำได้  ในบางกรณีมีข้อชี้ขาดว่าส่งเสริม ( มุสตะหับ ) และในบางกรณีอาจจะเป็นวาญิบ เช่น วาญิบกิฟาอียฺ ( ฟัรฏุกิฟายะฮฺ ) อย่างการเป็นหมอ นักกฎหมาย ทนายความ เป็นต้น และในหลายๆ กรณีหรือส่วนใหญ่มีข้อชี้ขาดว่า อนุญาต ( มุบาหฺ ) เช่นมีคอมพิวเตอร์ หรือโน๊ทบุ้คเอาไว้ใช้สอย มีรถเก๋งยี่ห้อดีๆเอาไว้ ปลูกบ้านสไตล์ยุโรปหรือสไตล์ประยุกต์เป็นต้น ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ในขอบเขตที่ศาสนาอนุญาตให้ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย หรือมีเจตนาโอ้อวด


        2) การเลียนแบบที่ไม่ชอบด้วยหลักการของศาสนา ( التَشَبُّهُ المَذْمُوْمُ )  กล่าวคือ เป็นสิ่งศาสนาตำหนิ และเรียกร้องให้หลีกห่างจากการเลียนแบบ หรือเอาอย่างชนต่างศาสนิก หรือแม้กระทั่งคนศาสนิกเดียวกันแต่เป็นคนชั่ว ( ฟาสิก ) โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อ จารีตประเพณีอันมีคติความเชื่อในทางศาสนา การแต่งกายเฉพาะของกลุ่มชน เช่นสวมห่มจีวร แต่งชุดนักบวช บาทหลวง หรือการแต่งกายตามแฟชั่นที่เปิดเผยเอาเราะฮฺ นุ่งน้อยห่มน้อย  การเที่ยวกลางคืนตามสถานบันเทิงเริงรมย์ การตั้งก๊วนตั้งแก๊งค์แล้วยึดมอเตอร์ไซค์ออกป่วนเมืองสร้างความรำคาญให้ชาวบ้านชาวช่อง และสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง การกินไม่เลือก เสพย์ไม่เลือก การเห่อแฟชั่น และตามกระแสอินเทรนด์ของดารานักแสดง นักร้อง และศิลปิน การแสดงจำอวด ตลกโปกฮา การมีรสนิยมทางเพศที่เบี่ยงเบน เป็นตุ๊ดเป็นแต๋ว เป็นเกย์ และอีกสารพัดที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในสังคมเมือง ทั้งหมดเป็นการเลียนแบบเอาอย่างที่ศาสนาตำหนิ ซึ่งบางกรณีก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ( มักรูฮฺ ) เช่น ใส่แหวนมากกว่าหนึ่งวง ( สำหรับผู้ชาย ) ทักทายกันโดยการอิชาเราะฮฺ (ยกมือตะเบะกฺ) เพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้สล่าม การโค้งคำนับเป็นต้น บางกรณีก็เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม ) เช่น การใส่ตุ้มหู การเจาะจมูกแล้วใส่ห่วง ( สำหรับผู้ชาย ) เป็นต้น และบางกรณีก็ถึงขั้นหะรอมรุนแรง และอาจจะตกศาสนาด้วย วัลอิยาซุบิลลาฮฺ เช่น เลียนแบบในเรื่องพิธีกรรมทางศาสนา และความเชื่อ หรือกระทำตนเหมือนกับคนนอกศาสนาทั้งภายใน และภายนอกเป็นต้น


         ย้อนกลับมาในเรื่องของการไหว้ สำหรับคนมุสลิมด้วยกันแล้ว ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไหว้กันเพราะการทักทาย และการแสดงความเคารพระหว่างมุสลิมด้วยกันมีสุนนะฮฺ และรูปแบบที่ชัดเจนตามตัวบทของศาสนา กล่าวคือ ให้ทักทายกันด้วยการให้สล่าม และตอบสล่าม จะมีการสัมผัสมือหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าจะไหว้กันก็ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่เป็นสิ่งที่มักรูฮฺ เพราะเป็นการละทิ้งสุนนะฮฺ และเป็นการกระทำที่ไม่มีในตัวบทของศาสนา อันนี้ระหว่างมุสลิมด้วยกัน แต่ถ้าเป็นกรณีระหว่างมุสลิมกับต่างคนต่างศาสนิก ก็ไม่อนุญาตให้มุสลิมกล่าวสล่ามกับคนต่างศาสนิก ตามทัศนะที่ถูกต้องของปวงปราชญ์ ( กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ 4/468 ) แล้วจะทำอย่างไร ?  ก็ให้กลับไปดูธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตทั่วไปในสังคม ซึ่งสามารถกระทำได้ตราบใดที่ไม่มีตัวบทที่ถูกต้องชัดเจนรายงานระบุห้ามมา และการไหว้ก็ไม่มีตัวบทที่ถูกต้องชัดเจนรายงานระบุห้ามมา จึงอนุญาตให้กระทำได้ตามกาลเทศะ และตามความเหมาะสม ทั้งนี้เพราะการไหว้ด้วยการยกมือ มิใช่เรื่องเฉพาะที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจารีตประเพณีในการทักทายเวลาเจอกันของผู้คนในภูมิภาคนี้นับตั้งแต่อินเดียจนถึงอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามการไหว้ระหว่างมุสลิมกับคนต่างศาสนิกเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ก็ตาม เช่น ถ้าชนต่างศาสนิกเขาไม่ได้ไหว้เราก่อน เราก็ไม่ควรไหว้ก่อน แต่เมื่อเขาไหว้เราก่อน เราก็ควรรับไหว้แต่พอเป็นพิธี หรือถ้าชนต่างศาสนิกเป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ การที่เราเริ่มไหว้เขาก่อน ก็เป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ และไม่เป็นข้อห้ามที่จะกระทำเช่นนั้น


จริงๆแล้ว การกระทำเลียนแบบ หรือเอาอย่างชนต่างศาสนิกนั้น ชัดๆมีอยู่ 2 อย่าง คือ

       1) เลียนแบบด้วยการกระทำ ( اَلتَّشَبُّهُ بِالفِعْل )   เช่นการไหว้ การจับมือ ( เช็คแฮนด์ ) เป็นต้น

       2 เลียนแบบด้วยคำพูด ( التَشَبُّهُ بِالْقَوْلِ ) เช่นการกล่าวสวัสดี อรุณสวัสดิ์ ซำบายดีหรือ กินข้าวหรือยัง เป็นต้น ทั้งสองกรณีนี้เป็นเรื่องของวิถีปฏิบัติตามประเพณีนิยมที่มิได้เกี่ยวกับเรื่องคติความเชื่อทางศาสนา และไม่ใช่เรื่องอิบาดะฮฺ แต่เป็นเรื่อง มุอามะละฮฺ ( ปฏิสัมพันธ์ ) ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ถ้าบอกว่า การไหว้ การจับมือ เวลาเจอกันเป็นสิ่งต้องห้าม การกล่าว “สวัสดี” หรือ good morning , hi hello ก็ทำไม่ได้เช่นกันเพราะถือเป็นการเลียนแบบทั้งคู่ แต่ถ้ากรณีที่ 1  ทำได้ กรณีที่ 2 ก็ต้องทำได้เช่นกัน การนำเอาหะดีษข้างต้นมาตีขลุม มาเหมารวมโดยไม่แยกแยะเนื้อหา และกรณีตลอดจนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่อาจจะทำให้เราสับสน และอยู่ในสังคมได้ยากยิ่ง


ถ้าพิจารณาสถานภาพของหลักฐานจากหะดีษบทดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่ถือเป็นหลักฐานด้วยซ้ำไป เพราะมีนักวิชาการเป็นจำนวนมากบอกว่าสายรายงานอ่อน ! คนที่เคร่งครัดกับหะดีษเศาะฮีหฺเพียงอย่างเดียว  และตั้งมาตรฐานว่าไม่รับหะดีษเฎาะอีฟ ก็ไม่ควรจะซีเรียสในเรื่องนี้ด้วยการยกหะดีษบทนี้มาหุ่ก่มแบบเหมารวม ท้ายที่สุดก็เสียมาตรฐานที่ตนประกาศเอาไว้ว่ารับเฉพาะหะดีษเศาะฮีหฺ แต่ดันชอบยกหะดีษบทนี้มาตีขลุม หุก่มแบบเหมารวมทั้ง ๆที่เข้าข่ายว่าเป็นหะดีษเฎาะอีฟ !

والله اعلم بالصواب