แฟนในอิสลาม  (อ่าน 9874 ครั้ง)

[email protected]

  • บุคคลทั่วไป
แฟนในอิสลาม
« เมื่อ: ตุลาคม 12, 2010, 01:41:11 pm »
อัสลามุอลัยกุม
สืบเนื่องจาก http://alisuasaming.org/webboard/index.php?topic=743.0

ในตอนต้นของคำตอบที่ว่า

\"เสียงของสตรีจะเป็นที่ต้องห้ามขณะเกรงว่าจะเกิดฟิตนะฮฺ\" 
\"เราอนุญาตให้พูดคุยกับบรรดาสตรีที่แต่งงานกันได้และโต้วาทีกับพวกนางได้ในกรณีที่มีความจำเป็นยังสิ่งนั้น\"
 \"อย่างไรก็ตามย่อมเป็นการดีในการพูดจาระหว่างคนต่างเพศว่าจะต้องอยู่ในกรอบหรือขอบเขตที่จำกัดที่สุด และอยู่ในเรื่องที่ไม่นำพาไปสู่ความเสียหาย\"


กับในตอนท้าย
\"และโปรดอย่าลืมว่าฝ่ายหญิงที่เป็นแฟนกันนั้นมิใช่นางทางโทรศัพท์ แต่เป็นคนที่ฝ่ายชายรักชอบอยู่ฉันท์ชายหญิง จึงต้องรักษาน้ำใจและให้เกียรติกัน คิดถึงคราใดก็โทรหากันได้ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบและปรึกษาปัญหาคือเป็นเพื่อนคู่คิด มิใช่คู่ขา การคุยโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวมิอาจทำให้รู้นิสัยใจคอที่แท้จริงได้ ขนาดรู้หน้ายังไม่รู้ใจ สำหาอะไรกับแค่ฟังเสียง ซึ่งเสแสร้งและแต่งเติมกันได้ คบหาดูใจกันก็ไม่ผิดถ้าอยู่ในขอบเขตที่ศาสนากำหนด คุยโทรศัพท์ก็ไม่ผิด แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นและมีขอบเขตตลอดจนระยะเวลาที่เหมาะสม คุยโทรศัพท์ต้องเสียสตังค์มิใช่ M150 จะได้ไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย อย่างนี้ไม่ควร เอาเป็นว่าให้รู้จักลิมิตเวลาโทรหากันจะได้ไม่เบื่อง่าย หน่ายเร็ว!\"

ผมมองว่ามันดูจะขัดๆกันอยู่
การเป็นแฟนกัน คิดถึงคราใดก็โทรหากันได้ ให้ลิมิตเวลาโทรหากัน ทั้งๆที่ทั้งสองคนยังไม่ได้แต่งงานกัน  ไม่มีความรับผิดชอบต่อกัน อยู่ในกรอบของศาสนาที่อนุญาติให้ชายหญิงพูดคุยกันได้ในกรณีจำเป็นได้อย่างไร ?

จะหลีกพ้นจากฟิตนะฮฺที่เกิดขึ้นในใจได้อย่างไร ?

การเป็นแฟนกันโดยพูดคุยกัน คิดถึงแล้วโทรหากัน ในความเป็นจริงของสังคมผู้ชายย่อมไม่ได้กระทำมันต่อหน้ามะหฺรอมของฝ่ายหญิง จะเป็นการรักษาเกียรติกันได้อย่างไร มันจะไม่ในำไปสู่ความเสียหายต่อความบริสุทธิ์ของฝ่ายหญิง ไม่นำไปสู่ความวุ่นวายของสังคมได้อย่างไร ?

อยากให้อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมด้วยครับ

การคบหาดูใจกันก่อนแต่งงานที่เรียกว่า\"แฟน\"อย่างที่วัยรุ่นในปัจจุบันในสังคมของเราทำกันอยู่เป็นที่อนุมัติในอิสลามหรือไม่ครับ อยากให้อาจารย์บอกถึงหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ตลอดจนตัวอย่างจากบรรดาสลัฟในเรื่องนี้ด้วยครับ

ขออัลลอฮฺตอบแทนครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 18, 2019, 12:25:48 pm โดย admin »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : แฟนในอิสลาม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 30, 2010, 07:53:29 am »
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛


หากผู้ถาม ตัดเฉพาะข้อความที่ขึ้นต้น ทั้ง 3 ประโยคเอามาเรียบเรียงตามลำดับก็จะเห็นว่าสาระสำคัญของ 3 ประโยคนั้นจะดูขัดๆ กับข้อความตอนท้ายที่ดูเผินๆ แล้วเขียนคำตอบเอาไว้โดยไม่เคร่งครัดกับสาระสำคัญของ 3 ประโยคตอนต้น หากจะตอบตรงๆ ว่าเรื่องแบบนี้ขัดกันได้เพราะนี่เป็นข้อเขียนที่มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งเขียนตอบเอาไว้ตามความเห็นของตน มิใช่อัลวะหฺยุที่มาจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) คือไม่ใช่ อัล-กุรอาน ซึ่งจะไม่มีข้อขัดแย้งกัน ไม่มีสิ่งที่ผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง


แต่ถ้าจะตอบโดยอธิบายความก็คงตอบได้ว่า เหตุที่เขียนตอบตอนท้ายในทำนองนั้นก็เป็นเพราะเนื้อหาของคำถามที่มีผู้ถามมานั่นเอง คือถามมาว่า : \"ในการคุยโทรศัพท์ของหญิง ชาย ศาสนาอนุญาตหรือไม่\" นี่เป็นคำถามที่หนึ่ง ซึ่งผู้ตอบยังไม่ฟันธงว่าศาสนาอนุญาตหรือไม่? แต่มุ่งประเด็นไปยัง กรณีเสียงของผู้หญิงเป็นเอาเราะฮฺหรือไม่?


 แล้วผู้ตอบก็อ้างคำฟัตวาของ ชัยค์ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์มาประกอบ ซึ่งท่านให้น้ำหนักว่าเสียงของผู้หญิง (ตัวเสียง) มิใช่เอาเราะฮฺ ยกเว้นมีการออกเสียงด้วยน้ำเสียงที่นิ่มนวลและยั่วยวน ก็จะเข้าข่ายว่าเป็นเอาเราะฮฺ สอดคล้องกับคำกล่าวของอิหม่าม อัล-เฆาะซาลียฺ ที่ระบุว่า \"เสียงของสตรีจะเป็นที่ต้องห้ามขณะเกรงว่าจะเกิดฟิตนะฮฺ\" ซึ่งเป็นประโยคที่ 1 ที่ผู้ถามหัวข้อ \"แฟนในอิสลาม\" ตัดเอามาขึ้นจั่วเรื่องเอาไว้ และประโยคที่ 1 นี่เองที่ผู้ถามตั้งข้อสังเกตในตอนหลังว่า \"จะหลีกพ้นจากฟิตนะฮฺที่เกิดขึ้นในใจได้อย่างไร?\"


ก็ตอบตรงประโยคที่ 1 และข้อสังเกตที่ตั้งเอาไว้ว่า \"ฟิตนะฮฺที่เกิดขึ้นในใจนั้น\" ยากที่ลูกหลานของอาดัมจะรอดพ้น และไม่จำเป็นว่าจะต้องคุยโทรศัพท์หรือไม่ก็ตาม เห็นรูปก็เกิดฟิตนะฮฺในใจได้ หลับตาแล้วนึกภาพในจินตนาการโดยไม่พูดออกมาแม้แต่คำเดียวก็เกิดฟิตนะฮฺในใจได้ และฟิตนะฮฺที่เกิดในใจนี้ลูกหลานของอาดัมที่ยังเป็นปุถุชนธรรมดาย่อมไม่สามารถควบคุมหรือห้ามไม่ให้เกิดขึ้นในใจของตนได้  


ศาสนาจึงถือว่าเป็นเพียงซินาทางใจ  ไม่ใช่ซินาตามหุก่มของศาสนา  และจะยังไม่มีการจดบันทึกใดๆ ในบัญชีของความดีและความชั่ว  ต่อเมื่ออวัยวะที่เป็นสิ่งสงวน (อวัยวะเพศ)  และอวัยวะส่วนอื่นเช่น ตา มือ และเท้า  ร่วมกระทำความผิดตามหุก่มของศาสนาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน  


ดังนั้นเมื่อเราได้ข้อสรุปข้างต้นว่าเสียงของผู้หญิงไม่เป็นเอาเราะฮฺ  ก็แสดงว่าไม่ห้ามฟัง  ต่อเมื่อผู้หญิงใช้น้ำเสียงที่นิ่มนวล ไพเราะจับใจ  และยั่วยวน  เสียงของนางจะกลายเป็นเอาเราะฮฺในขณะนั้น  คือห้ามฟังในสภาพเช่นนั้นเพราะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดฟิตนะฮฺในอารมณ์ของฝ่ายชายได้  ความผิดหรือบาปจึงยังไม่ได้อยู่ในขั้นของการฟังน้ำเสียง  แต่ความผิดหรือบาปจะเกิดขึ้นต่อเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้น้ำเสียงที่มีสภาพเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดอารมณ์  และเมื่อฝ่ายที่ฟังเกิดอารมณ์ก็ถือว่าการฟังนับตั้งแต่เริ่มมีอารมณ์กำหนัดนั้นเป็นบาปแล้ว  เพราะฝ่ายหญิงเปลี่ยนสภาพของเสียงที่มิใช่เอาเราะฮฺให้กลายเป็นเอาเราะฮฺ และฝ่ายชายก็กำลังฟังที่กลายเป็นเอาเราะฮฺอยู่นั่นเอง


ผู้ถามเรื่อง  การคุยโทรศัพท์ระหว่างหญิงชาย  ถามประโยคต่อมาว่า  \"และการคุยโทรศัพท์ของชายหญิงโดยให้เหตุผลว่าเพื่อจะได้ทราบนิสัยใจคอของฝ่ายตรงข้าม  ตัวอย่างเช่น  เมื่อเทียบกับวัยรุ่นยุคปัจจุบัน การคบหาดูใจกันระหว่างชายหญิงมักจะคุยโทรศัพท์ทั้งวัน ทั้งคืน อยากทราบว่ามีผลทางศาสนาอย่างไร?\"  


เมื่อผู้ถามให้รายละเอียดมาดังที่ปรากฏในคำถาม  ผู้ตอบจึงได้อ้างคำสรุปของชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์ อีกครั้งว่า \"อย่างไรก็ตามย่อมเป็นการดีในการพูดจาระหว่างคนต่างเพศว่าจะต้องอยู่ในกรอบ หรือขอบเขตที่จำกัดที่สุด  และอยู่ในเรื่องที่ไม่นำพาไปสู่ความเสียหาย  เพราะโดยธรรมชาติของเสียงผู้หญิง คือ ความอ่อนหวานเมื่อมีสิ่งอย่างอื่นผนวกเข้าไปยังธรรมชาติอันนี้ฟิตนะฮฺก็ย่อมมีมากขึ้น สิ่งนี้เองที่บัญญัติของศาสนาเผื่อหรือกันเอาไว้\"  


ถัดจากประโยคนี้ผู้ตอบก็สรุปว่า \"ดังนั้นการพูดคุยกันของชายหญิงผ่านโทรศัพท์จึงต้องคำนึงของกรอบหลักการของศาสนาที่นักวิชาการระบุเอาไว้ข้างต้น  โดยฝ่ายหญิงต้องไม่ใช้น้ำเสียงที่อ่อนหวานจนเกินเหตุหรือยั่วยวนให้ฝ่ายชายเกิดอารมณ์ (ทางเพศ)  ฝ่ายชายก็เช่นกันต้องไม่ใช้คำพูดในเชิงสวาทหรือการออดอ้อนเล้าโลมในทางเพศ  อย่าลืมว่าในปัจจุบันมีการสำเร็จความใคร่ผ่านทางโทรศัพท์อย่างที่รู้กัน\"  แล้วก็มาถึงประโยคที่ผู้ตั้งข้อสังเกตตัดตอนเอามาในคำถามตรงที่ว่า  \"และโปรดอย่าลืมว่าฝ่ายหญิงที่เป็นแฟนกันนั้น...\" จนกระทั่งจบ  


เมื่ออ่านบทสรุปของชัยคฺอะฏียะฮฺ ศ็อกร์  ตรงที่กล่าวว่า  \"อย่างไรก็ตาม...\"  และอ่านบทสรุปของผู้ตอบที่เริ่มตรงประโยคที่ว่า  \"ดังนั้นการพูดคุยกันของชายหญิง...\"   จะเห็นได้ว่าไม่ได้ขัดกัน  เพียงแต่ผู้ตอบเน้นประเด็นเรื่องของโทรศัพท์ซึ่งเป็นคำถามที่ผู้ถามให้รายละเอียดมา แล้วก็ตอบในข้อความย่อหน้าสุดท้ายถึงรายละเอียดของการโทรศัพท์หากันโดยอ้างเหตุผลว่าจะได้ทราบถึงนิสัยใจคอของอีกฝ่าย  และยังแนะนำอีกด้วยว่า การคุยโทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืนนั้นไม่ดีต้องคำนึงถึงขอบเขตและระยะเวลาที่เหมาะสม  โดยใช้สำนวนที่ผู้อ่านไม่เครียดและอมยิ้มเมื่ออ่านจบ  


หากตัดตอนเพียงข้อความย่อหน้าสุดท้ายแล้วนำไปเทียบกับประโยคที่ 2 ใน 3 ประโยคที่ตัดตอนมาซึ่งเป็นคำพูดของท่านกุรฏุบียฺว่า \"เราอนุญาต......ในกรณีที่มีความจำเป็นยังสิ่งนั้น\"  ซึ่งท่านอิหม่ามกุรฏุบีย์ท่านมีความเห็นว่าเสียงของผู้หญิงเป็นเอาเราะฮฺ  แต่กระนั้นท่านก็บอกว่าหากว่าจำเป็นก็ได้โดยมีเงื่อนไข  ซึ่งนำมาเทียบโดยตัดตอนประโยคก็จะดูแล้วขัดกัน  


คุณที่ถามจึงตั้งข้อสังเกตว่า  \"การเป็นแฟนกัน  คิดถึงคราใดก็โทรหากันได้ (ซึ่งนี่เป็นประโยคของผู้ตอบเอง)  ให้ลิมิตเวลาโทรหากัน  (ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจที่สรุปความได้และเป็นการตอบตรงประเด็นคุยโทรศัพท์ทั้งวัน ทั้งคืน)  ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนยังไม่ได้แต่งงานกัน  ไม่มีความรับผิดชอบต่อกัน  (ซึ่งก็ถูกอีกเพราะผู้ตอบได้เขียนคำตอบตามคำถามของวัยรุ่นที่เป็นแฟนกัน ยังไม่ได้แต่งงานกันว่านักวิชาการมีความเห็นอย่างไร  โดยเฉพาะเรื่องเสียงของผู้หญิง  หากว่าแต่งงานกันแล้วก็คงไม่ต้องถามว่ามีข้อชี้ขาดอย่างไร?)  


อยู่ในกรอบของศาสนาที่อนุญาตให้ชายหญิงพูดคุยกันได้ในกรณีจำเป็นได้อย่างไร?  (ก็ในเมื่อเสียงของผู้หญิงไม่เป็นเอาเราะฮฺตามทัศนะที่มีน้ำหนัก  การพูดคุยกันระหว่างชายหญิงที่แต่งงานกันได้  คือไม่ใช่มุหฺร็อมก็ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ และอยู่ในกรอบที่ศาสนาอนุญาตอยู่แล้วโดยให้พิจารณาสภาพและเงื่อนไขที่ให้รายละเอียดมา  ทั้งนี้เมื่ออนุญาตและทั้งสองคนนั้นอยู่ในกรอบที่กำหนดก็ย่อมคุยกันได้ในภาวะปกติอยู่แล้ว  ส่วนกรณีจำเป็นนั้นเป็นคำพูดของอิหม่าม อัล-กุรฏุบีย์ ซึ่งมีทัศนะว่า เสียงของผู้หญิงเป็นเอาเราะฮฺ  ท่านจึงกำหนดว่าได้ในกรณีที่มีความจำเป็นยังสิ่งนั้น  ส่วนในทัศนะที่มีน้ำหนักเมื่ออยู่ในกรอบก็อนุญาต  และถ้าจำเป็นล่ะ  ก็ต้องได้อยู่แล้ว  เพราะในภาวะปกติที่อยู่ในกรอบยังได้เลย!)


จะหลีกพ้นจากฟิตนะฮิที่เกิดขึ้นในใจได้อย่างไร?  (ตอบไปแล้วว่าหลีกยาก ไม่คุยโทรศัพท์ก็เกิดได้เช่นกัน  และใช่ว่าทุกคนที่คุยกันในเรื่องปกติจะต้องมีฟิตนะฮฺเกิดขึ้นในใจเสมอไป  ถ้าเอาเรื่องในใจคนมาเป็นเกณฑ์ก็แย่แล้วล่ะ  จะป้องกันได้ก็คือ  ไม่ให้ผู้ชายเจอผู้หญิงเลยตั้งแต่เกิด และไม่รู้จักด้วยว่าผู้หญิงคืออะไร  ในกรณีของผู้หญิงก็เช่นกัน  หลักการของศาสนาให้เอาสิ่งที่ปรากฏภายนอกเป็นตัวตัดสิน  ส่วนเรื่องภายในใจเป็นกิจของอัลลอฮฺ (نَحْنُ نَحْكُمُ بِالظَّوَاهِرِ واللهُ يَتَوَلَّى السَّرَائِرَ)  ดังนั้นเมื่อผู้หญิงทำน้ำเสียงยั่วยวนก็เรียกว่ากระทำสิ่งที่ปรากฏออกมาแล้ว  และเมื่อผู้ชายฟังเสียงที่ยั่วยวนก็เกิดอารมณ์  ก็เรียกว่ากระทำสิ่งที่ปรากฏออกมาแล้วคือฟังสิ่งต้องห้ามในขณะนั้น  เราจึงตัดสินได้ว่า นี่ออกนอกกรอบที่ศาสนาอนุญาตแล้ว)  


การเป็นแฟนกันโดยพูดคุยกัน  คิดถึงแล้วโทรหากัน  ในความเป็นจริงของสังคมผู้ชายย่อมไม่ได้กระทำมันต่อหน้ามะหฺรอมของฝ่ายหญิง  จะเป็นการรักษาเกียรติกันได้อย่างไร  มันจะไม่นำไปสู่ความวุ่นวายของสังคมได้อย่างไร?

ในความเป็นจริงของสังคมเช่นกัน ผู้หญิงมีเพื่อนผู้ชายซึ่งเรียนร่วมห้องกันที่โรงเรียน  เพื่อนผู้ชายโทรมาถามการบ้านหรือคุยกันเรื่องทำรายงาน  จำเป็นมั๊ยว่าจะต้องคุยต่อหน้ามะหฺร็อมของฝ่ายหญิง  ถ้าตอบว่าจำเป็นก็ต้องถามว่า เพราะอะไร?  


หากตอบว่า จำเป็นเพราะเป็นการคุยกันระหว่างชายหญิงที่แต่งงานกันได้จึงต้องมีมะหฺร็อมอยู่ด้วย  ถ้าตอบอย่างนี้ การพูดคุยกันระหว่างชายหญิงที่เป็นแฟนกันก็ต้องกระทำต่อหน้ามะหฺร็อมเช่นกันดังที่ว่ามา  แต่ถ้าตอบว่าไม่จำเป็น ก็ถามกลับว่า เพราะอะไร?  หากตอบว่า เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบที่สามารถกระทำได้  ถ้าตอบอย่างนี้การพูดคุยกันระหว่างชายหญิงที่เป็นแฟนกันโดยอยู่ในกรอบก็สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องมีมะหฺร็อมร่วมอยู่ด้วย  


ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว  เรื่องที่ต้องมีมะห์ร็อมอยู่ด้วยสำหรับผู้หญิงนั้นเท่าที่มีตัวบทระบุจะหมายถึงกรณีของผู้หญิงออกนอกบ้านหรือเดินทางไกล  หากกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ชายจะคุยกับผู้หญิงได้ก็ต่อเมื่อมีมะหฺร็อมร่วมอยู่ด้วยเสมอ  หากไม่มีไม่ได้ ข้อนี้จะกระทำได้หรือไม่ในสภาพของความเป็นจริง  


การคุยโทรศัพท์ในยุคที่ยังไม่มี 3 G  คือไม่มีภาพมีแต่เสียงก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เศาะหาบะฮฺผู้ชายที่ไปที่บ้านบรรดาภรรยานบี (ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)  หลังจากท่านนบี (ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) วะฟาตไปแล้ว  หรือนบี (ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่อยู่แล้วเศาะหาบะฮฺผู้นั้นก็ถามปัญหาศาสนากับภรรยานบี (ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งตอบอยู่หลังม่านคือได้ยินแต่เสียงแต่ไม่เห็นตัวตนของพระนาง  ถามว่ามีมะหฺร็อมของพระนางร่วมอยู่ด้วยในขณะนั้นหรือไม่?  


คำตอบก็คือไม่มีตัวบทระบุอย่างชัดเจนในเรื่องนี้  และการพูดคุยที่ไม่ได้กระทำต่อหน้ามะหฺร็อม ของฝ่ายหญิงและอยู่ในกรอบที่ศาสนาอนุญาตนั้นก็เป็นการรักษาเกียรติของนางแล้ว  และประเด็นเรื่องรักษาเกียรตินี้ผู้ตอบก็แนะนำผู้ถามว่าผู้หญิงที่คุยด้วยเป็นแฟนไม่ใช่นางทางโทรศัพท์!  


และถ้าหากการพูดคุยที่อยู่ในกรอบแต่ไม่มีมะหฺร็อมอยู่ด้วยเป็นการทำลายความบริสุทธิ์ของฝ่ายหญิงแล้ว  ผู้หญิงคนใดเล่าที่ยังคงมีความบริสุทธิเหลืออยู่อีกในโลกนี้  ผู้หญิงคนใดเล่าที่ไม่เคยคุยกับคนต่างเพศที่แต่งงานกันได้โดยไม่มีมะหฺร็อมร่วมอยู่ด้วย  และถ้าผู้หญิงกับผู้ชายคุยกันโดยไม่มีมะหฺร็อมอยู่ด้วยจะนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคมไปเสียทุกกรณี  ก็ขอตอบตามตรงว่า ต่อให้ไม่คุยกันเลยความวุ่นวายในสังคมก็เกิดขึ้นอยู่แล้วตราบใดที่มี \"คน\" เป็นองค์ประกอบหลักของสังคม  ขึ้นชื่อว่า \"คน\" อยู่คนเดียวก็ยุ่งวุ่นวายได้เช่นกัน  


ดังนั้นอะไรที่เป็นหลักการของศาสนาผู้ตอบก็นำเสนอข้อมูลไว้ให้แล้ว  ส่วนความเห็นของผู้ตอบอาจจะไม่เคร่งครัดไปบ้างก็เพราะเป็นการตอบตามสภาพของผู้ถาม  อะไรที่ผ่อนได้ก็ผ่อน  อะไรที่ตึงและสมควรกระตุกเอาไว้ก็ควรกระทำ  การตอบคำถามก็เหมือนกับการให้ความรู้อย่างหนึ่ง  และหลักการอย่างหนึ่งในการให้ความรู้ก็คือ  ต้องเหมาะสมกับปัญญาและสภาพของผู้รับความรู้  หากขาดหลักข้อนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการมอบสายสร้อยเอาไปคล้องคอของสุกร  ดังที่ปรากฏในอัล-หะดีษ  


ส่วนเรื่องแฟนนั้นก็ตอบไปแล้วว่าเป็นอย่างไร  แต่ถ้าจะเอาหลักฐานจากอัล-กุรอาน สุนนะฮฺ และแนวทางสะลัฟมาเป็นตัวอย่างในเรื่องการมีแฟน ก็เหนื่อยที่จะตอบแล้วล่ะครับ  เอาไว้โอกาสต่อไปดีกว่า  อินชาอัลลอฮฺ  ถ้าไม่หลังขดหลังแข็งเป็นอัมพาตไปเสียก่อน  ขอทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เราเห็น อาจจะไม่ใช่อย่างที่เราเห็น  สิ่งที่เราคิดอาจจะไม่เป็นจริงอย่างที่เราคิดก็ได้!


والله أعلم بالصواب