สารบัญปัญหาคาใจ > หมวด : การแต่งงาน มุสลิมะหฺ ครอบครัวและมรดก

สามีบอกหย่าภรรยาเกินสามครั้ง

(1/1)

อาลี เสือสมิง:
อัสสลามมุอลัยกุมค่ะอาจารย์ อาลี เสือสมิง

ดิฉันขอรบกวนถามอาจารย์หน่อยค่ะ มีครอบครัวหนึ่งซึ่งภรรยาเป็นมุสลิมะฮ์ตั้งแต่เกิด แต่มาได้สามีที่ไม่ใช่มุสลิม
และก็แทบจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องของศาสนาอิสลามเลยก็ว่าได้ มีการทะเลาะกันเกิดขึ้นหลายครั้ง
จนมาครั้งนี้สามีก็บอกหย่าภรรยาทันควันมากกว่าสามครั้ง เรียกว่าทั้งตลาดที่เขาไปขายของด้วยกัน ได้ยินกันหมด
แล้วภรรยาเขาก็ไล่สามีให้ออกจากบ้านไป ด้วยการทะเลาะกัน แล้วสามีเขาก็ออกจากบ้านไปประมาณสองสามอาทิตย์ได้
แล้วภรรยาเขาก็เขียนเมลล์มาเล่าให้น้องสาวเขาฟังถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น น้องสาวเขาก็เขียนบอกทันทีว่า
ขาดกันแล้วนะ จะกลับไปอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว พี่สาวเขาก็เข้าใจดี แต่หลังจากนั้นสามหรือสี่อาทิตย์ได้ สามีเขาก็กลับมาบ้าน
ลืมบอกไปค่ะ ว่าเขามีลูกด้วยกันสามคน โดยที่ทั้งสามคนก็เรียนศาสนาค่อนข้างน้อยเหลือเกิน น้องสาวก็เคยเตือนเขาแล้ว
แต่ก็ต้องโดนต่อว่ากลับมา แล้วเขาก็ไม่พูดด้วย จนน้องสาวเขาก็ไม่อยากที่จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง จนสุดท้าย
น้องเขาก็ต้องไปง้อพูดด้วย
เล่าต่อนะค่ะ พอสามีกลับมาบ้าน ลูกๆเขาก็วิ่งไปกอดกันทั้งสามคนเลย เหมือนกับว่าคิดถึงกันมากนั่นแหล่ะ ยิ่งคนเล็กที่เป็นที่รักยิ่ง
ของพ่อแม่ครอบครัวนี้แล้ว รักแบบถวายหัวเลยเชียว ภรรยาเขาก็ใจอ่อนให้เข้าบ้าน และก็อยู่บ้านหลังคาเดียวกัน
ภรรยาเขาบอกว่าเรื่องบนเตียงไม่มีอยู่แล้ว เพราะสามีอายุมากแล้ว และก็ไม่เคยนอนด้วยกันมานานแล้ว
น้องสาวเขาก็บอกว่า ตามกฎและก็หลักของศาสนาอิสลามของเราแล้วมันไม่ได้เลย สามีบอกหย่าแล้ว
เขาก็เหมือนเป็นคนอื่นแล้ว ใช่ใหมค่ะ จะมาอยู่รวมชายคาเดียวกันไม่ได้แล้ว
เขาก็เลยโมโหแล้วก็ร้องไห้ แล้วก็บอกว่าจะให้เขาทำยังไง จะมาห้ามเขาว่า \"ไม่ให้นั่น ไม่ให้นี่\" เขาทำไม่ได้หรอก
เพราะเขารักลูกเขามากที่สุด และเขาก็ทนไม่ได้หรอกที่จะให้ลูกของเขาต้องร้องไห้ และก็เสียใจเพราะต้องขาดพ่อ
เขาก็เลยโมโหน้องสาวเขา และเขาก็บอกว่า มันเป็นเรื่องของเขาที่จะตัดสินใจเอง อัลเลาะห์ (ซบ) ที่จะรู้จะเห็น
ไม่เกี่ยวกับคนอื่นแล้ว ปล่อยเขาให้พระเจ้าตัดสินเอง คนอื่นไม่ต้องมายุ่งแล้ว ในเมื่อเขาไม่ดีก็ขอเขาอยู่แบบของเขา
อยากจะถามอาจารย์ก็คือ น้องเขาควรจะทำตัวยังไงดีค่ะ น้องเขาสามารถไปบ้านพี่สาวเขาได้ใหม (บางทีสามีเขาก็คงไม่ให้เข้าบ้าน)
ในเมื่อสามีกับพี่สาวเขาอยู่กันแบบไม่ถูกต้องตามกฎของอัลเลาะห์ (ซบ) และถ้าเขาไม่ไปที่บ้านพี่สาวเขาอีกเลย
แต่ในใจเขาก็ไม่ได้ตัดขาดจากพี่สาวเขาเลย แต่พี่สาวเขาและครอบครัวเขาก็คงจะเกลียดน้องสาวเขาไปแล้ว
แล้วเขาสามารถที่จะมาอยู่ด้วยกันในชายคาบ้านเดียวกันได้ใหม แต่เขาไม่ได้นอนด้วยกันค่ะ ???

ต้องขอมะอัฟอาจารยร์ด้วยนะค่ะที่ถามคำถามยาวเลย
ยะดากั้ลลอฮุคอยรอนค่ะ

วัสสลามมุ

ถามโดย - มีนา « เมื่อ: กันยายน 22, 2008, 12:11:44 am »

อาลี เสือสมิง:
الحمدلله رب العالمين والصلاة والسلام على المبعوث رحمة للعالمين  وبعد ؛

รับรู้เรื่องราวครอบครัวพี่สาวของคุณมีนาบางส่วนแล้วก็เศร้าใจ ว่านี่แหล่ะหนา เรื่องของคน  บอกตามตรงว่าพูดไม่ออกบอกไม่ถูกสำหรับเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ คิดแล้วก็ละเหี่ยใจ เอาเป็นว่า คุณมีนาทำดีที่สุดแล้ว ในฐานะน้องสาวที่ได้ตักเตือนบอกกล่าวแก่พี่สาว  พยายามเชื่อมสัมพันธ์และสืบสานความเป็นพี่น้องเอาไว้  


เมื่อพี่สาวและพี่เขยไม่รับฟังและไม่ญาติดีด้วยก็เป็นอันพ้นภาระหน้าที่ของคุณมีนาแล้ว  หน้าที่คือบอกกล่าวและตักเตือนตลอดจนทัดทานและห้ามปราม เมื่อกระทำสิ่งดังกล่าวแล้ว  ผู้ที่ถูกตักเตือนบอกกล่าวไม่เชื่อและยืนกรานในพฤติกรรมของตน ก็พ้นภาระของเราแล้ว ส่วนที่เหลือก็คือขอดุอาอฺวิงวอนต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้พระองค์ทรงโปรดเปิดหัวใจของพี่สาวและครอบครัวให้เห็นถูกเป็นถูก เห็นผิดเป็นผิด และทบทวนตัวเอง อินชาอัลลอฮฺดุอาอฺที่เราขอเช่นนี้ถือว่าเป็นดุอาอฺขอลับหลังคือเจ้าตัวไม่รู้ มีหะดีษระบุว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงตอบรับ


ส่วนการปฏิบัติและแสดงออกต่อพี่สาวและครอบครัวของพี่สาวนั้น เช่น จะไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนตามประสาพี่น้อง เป็นต้น กรณีนี้ก็ควรพิจารณาดูว่า การปฏิบัติดังกล่าวมีผลบวกลบอย่างไรต่อการเปลี่ยนทัศนะของพี่สาว กล่าวคือ ถ้ามีผลทำให้เขาเห็นใจเราและยอมรับฟังข้อตักเตือน อย่างนี้ก็ควรทำ แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วมีผลในเชิงลบ เช่น ทำให้เรากลายเป็นผู้เออออห่อหมกในพฤติกรรมเช่นนั้นด้วย อย่างนี้ก็ควรหลีกห่าง


เรื่องการเอาชนะใจคนนั้นต้องอาศัยความอดทน ความอุตสาหะและโชคที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้ตลอดจนเวลาซึ่งอาจจะยาวนานมากในบางราย  ส่วนเรื่องที่สามีหย่าภรรยา 3 ตอล๊ากในวาระเดียวกันนั้น  ก็ถือว่าความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาสิ้นสุดลงแล้ว และทั้งสองจะกลับมาครองคู่กันใหม่ได้ก็ต่อเมื่อภรรยาหมดอิดดะฮฺจากสามีที่หย่าแล้ว และแต่งงานใหม่กับสามีคนใหม่และสามีคนใหม่หย่าขาดนาง ก็ให้นางตั้งอิดดะฮฺจนเมื่อพ้นอิดดะฮฺจากสามีใหม่แล้วถึงจะกลับมานิกาฮฺกับสามีคนแรกได้

ฉะนั้นในช่วงเวลาการครองอิดดะฮฺของนางนั้น ไม่ว่าจะเป็นการครองอิดดะฮฺ (เกลี้ยงจากรอบเดือน 3 เกลี้ยง เป็นต้น) เนื่องจากการหย่าของสามีคนแรกหรือคนที่สองก็ตาม ไม่อนุญาตให้นางออกจากบ้านของสามีจนกว่านางจะครองอิดดะฮฺครบเสียก่อน ในระหว่างที่นางอยู่ในบ้านของสามีนั้นต้องมีเครื่องกั้นระหว่างนางกับอดีตสามี  ถ้าหากบ้านกว้างมีห้องหับก็ให้นางอยู่ในภายในห้องของนาง  

โดยไม่อนุญาตให้สามีผู้หย่ามองดูนางหรืออยู่ร่วมกับนางในห้องดังกล่าว  แต่ถ้าบ้านนั้นคับแคบมีเพียงห้องเดียว ก็จำเป็นที่สามีผู้หย่าต้องออกจากบ้านที่พักอาศัยนั้น  โดยให้นางอยู่ในบ้านนั้นจนกระทั่งหมดอิดดะฮฺ (อัลฟิกฮุล อิสลามีย์ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ เล่มที่ 7 หน้า 657)


ดังนั้นคำถามของคุณมีนาที่ถามว่า สามี (พี่เขย) จะสามารถอยู่ด้วยกันกับพี่สาวที่ถูกหย่า 3 ครั้งภายในชายคาบ้านเดียวกันได้หรือไม่ก็ขอตอบว่า ได้ในช่วงที่พี่สาวของคุณมีนาครองอิดดะฮฺอยู่โดยพิจารณารายละเอียดข้างต้นที่กล่าวมา ส่วนเมื่อพี่สาวคุณมีนาหมดอิดดะฮฺแล้วก็จำต้องแยกกันอยู่ จะอยู่ภายในบ้านเดียวกันนั้นมิได้อีกต่อไป


และถ้ามีการร่วมหลับนอนกันในขณะที่พี่สาวคุณมีนาครองอิดดะฮฺอยู่ก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามถือว่าเป็นการผิดประเวณี (ซินา) เรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้ก็คงป่วยการที่คุณมีนาจะไปอธิบายแก่พี่สาวและพี่เขยซึ่งตัดรอนคุณมีนาและเขาก็ยืนกรานแล้วว่า มันเป็นเรื่องที่เขาจะตัดสินใจเอง คนอื่นไม่ต้องมายุ่ง เขาขออยู่แบบของเขา ตามที่คุณมีนาเล่ามา ก็คงต้องปล่อยไปตามที่เขาต้องการ เพราะเราทำสุดความสามารถแล้ว


การฮิดายะฮฺและชี้นำสู่หนทางที่ถูกต้องเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงเหลือแต่การวิงวอนขอดุอาอฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้พระองค์ชี้ทางสว่างและดลใจให้พี่สาวของคุณมีนาเตาบะฮฺตัวและพบทางสว่างเท่านั้น ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตอบรับความปรารถนาดีของคุณมีนาด้วยเทอญ อามีน

والله ولي التوفيق والهداية والسلام

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version