สารบัญปัญหาคาใจ > หมวด : การแต่งงาน มุสลิมะหฺ ครอบครัวและมรดก

จากหัวข้อเรื่องการนิกะห์ที่ผู้หญิงไม่ยอมครับ

(1/1)

อาลี เสือสมิง:
อาจารย์ครับจากที่ปรึกษาเรื่องการนิกะห์ที่ผู้หญิงไม่ยินยอมน่ะครับ ยาดากัลลอฯครับที่นี่ขอถามเพิ่มครับ

1.ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะซื้อหย่าไช่ไหมครับ?
2.ระหว่างรอคำตอบของอาจารย์ เพื่อนฝูงก็ให้คำตอบบางอย่างมา(ไม่มีเจตนาไม่ในทางลบนะครับ)อย่างหาทางออกให้ฝ่ายหญิงครับ
 
  \"มีฮะดิษที่รายงานโดยอิบนุมายะฮ และ คนอื่น ๆ ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า\"

*\"มีหญิงสาวคนหนึ่งได้มาหาท่านรซูล และได้แจ้งให้ท่านได้ทราบว่า
พ่อของเธอได้จับเธอแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเธอโดยที่เธอไม่ต้องการ
ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสดาจึงได้อนุญาตให้เธอเลือก ดังนั้น เธอจึงได้กล่าวว่า
\"ฉันได้ยอมตามในสิ่งที่พ่อฉันได้ทำไป แต่ฉันต้องการที่จะให้ผู้หญิงคนอื่น
ได้รู้ว่าพ่อไม่มีสิทธิในเรื่องนี้\"*

 แต่ถ้าหากว่ามีผู้ชายคนใดที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและเคร่งครัดในศาสนา
มาสู่ขอและผู้หญิงยอมรับ พ่อของเธอจะต้องรีบแต่งงานให้โดยเร็วที่สุด
ดังที่ท่านศาสดาได้กล่าวไว้ว่า
\"3 สิ่ง ที่มิอาจจะล่าช้าได้ก็คือ นมาซเมื่อถึงเวลา ฝังเมื่อศพมาถึง และแต่งงานให้หญิงโสด
เมื่อผู้ชายที่มีฐานะเท่าเทียมกันมาสู่ขอ\" รายงานโดย อัต - ติรฺมีซี

ดังนั้นการนิกะฮที่ทำโดยไม่ได้สอบถามถึงความสมัครใจของเธอ
หรือการบีบบังคับ ทั้ง ๆ ที่เธอก็ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจกับพ่อแม่แล้ว
แต่พ่อแม่ ก็ยังไปรับนิกะฮ กับชายผู้มาสู่ขอ ซึ่งเป็นการขัดต่อความประสงค์ของเธอ
ก็ย่อมถือได้ว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งใช้ของท่านนบีค่ะ

เชคก็อรตอวี เป็นปราชญ์อิสลามร่วมสมัยที่ยังมีชิวิตอยู่  ตอบด้วยอัลฮาดีษจากท่านนบีมุฮำหมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิว่าซัลลัม เป็นหลักฐาน ..
และ อย่างยิ่งยวดตามมัซฮับของอิหม่าม ชาฟีอียฺแล้ว ยิ่งไม่มีการบังคับในการแต่งงาน กล่าวคือ ถ้าคุณพ่อ หรือ คุณปู่ ( สองท่านนี้ใหญ่สุดในเรื่องการ
เป็น วะลี ผู้ปกครอง ) ถามลูกสาวว่า ฉันจะแต่งงานเธอ กับนายนั้นนายนี้ ผู้หญิงไม่ปฎิเสธ จะถือว่าเป็นการยอมรับ แต่ถ้าผู้หญิงปฎิเสธก็จะไม่มีการบังคับ
ให้แต่งงานขอความเห็นอาจารย์ครับ ว่าฮาดิษต่างๆนั้นมีน้ำหนักเพียงใด และ \"เชคก็อรตอวี\" นั้นเป็นใคร อุลามะห์สายไหน

ขอพระองค์อัลลอห์โปรดประทานสุขภาพ พลานามัย ริสกีแด่อาจารย์ครับ
                                                                                          วัสลามฯ              


ถามโดย - abusalamah « เมื่อ: กันยายน 29, 2008, 10:54:50 pm »

อาลี เสือสมิง:
الحمدلله وكفى والصلاة والسلام على عبده المصطفى  أمابعد  ؛

1.  ครับ !  ผู้หญิงมีสิทธิซื้อหย่าจากสามีของนาง  เรียกการซื้อหย่านี้ว่า  อัลคุลอ์ ซึ่งหมายถึง การไถ่ตัวของฝ่ายหญิงจากสามีของนางซึ่งนางไม่พอใจ  (รังเกียจ)  ด้วยทรัพย์ที่นางจะมอบให้แก่สามีเพื่อให้สามีปล่อยนางไปตามทางของนาง  ข้อชี้ขาดของการซื้อหย่าเป็นที่อนุญาต  (اَلْجَا ِِﺋﺰُ)  ถ้าหากครบเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดเอาไว้  


โดยมีหลักฐานว่า  ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวแก่ภรรยาของซาบิต อิบนุ ก็อยฺซ์  ซึ่งได้มาหาท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และกล่าวถึงสามีของนางว่า : \"โอ้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ ฉันมิได้ตำหนิเขาในเรื่องมารยาทและศาสนา  แต่ทว่าดิฉันรังเกียจการกุฟร์ในอิสลาม\"  ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  จึงกล่าวแก่นางว่า : เธอจะมอบสวนของเขาคืนแก่เขาหรือไม่ล่ะ? นางกล่าวว่า : ค่ะ!  ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  จึงกล่าวแก่สามีของนางว่า : \"ท่านจงรับเอาสวนนั้นไปและจงหย่านาง 1 ตอล๊าก\"  (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ 7/60)


สำหรับการซื้อหย่านั้นมีเงื่อนไขดังนี้
          1.  การโกรธเคืองหรือความไม่พึงพอใจนั้นเกิดจากฝ่ายภรรยา  ดังนั้นถ้าหากฝ่ายสามีคือผู้ที่รังเกียจนาง สามีก็ย่อมไม่มีสิทธิในการเรียกร้องเอาค่าไถ่ตัว (ฟิดยะฮฺ) จากนาง และสามีจำต้องอดทนต่อพฤติกรรมของนาง หรือไม่ก็หย่านางเสีย หากเกรงว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น

          2.   ฝ่ายภรรยาจะต้องไม่ร้องขอให้มีการซื้อหย่าจนกว่านางจะบรรลุถึงขั้นของการเป็นอันตราย  โดยนางเกรงว่าไม่สามารถดำรงขอบเขตของอัลลอฮฺในตัวนางเองหรือในสิทธิของผู้เป็นสามีของนาง

          3.   สามีจะต้องไม่มีเจตนาทำร้ายภรรยาเพื่อให้ภรรยาซื้อหย่าจากตน ถ้าหากสามีทำเช่นนั้น ก็ไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับสามี ในการถือเอาสิ่งใดจากนางเลยแม้แต่น้อย และถือว่าสามีเป็นผู้ฝ่าฝืน (อาซิน) อนึ่งการซื้อหย่านั้นถือเป็นการตอล๊ากบาเอ็น ฉะนั้นถ้าหากสามีต้องการคืนดีกับนางก็ไม่อนุญาตสำหรับสามี นอกจากภายหลังการทำข้อตกลงสมรสใหม่เท่านั้น (มินฮาญุลมุสลิม , อบูบักร ญาบิร อัลญะซาอิรี่ย์ , ด๊าร อัสสลาม หน้า 355-356)


อนึ่ง จากคำถามที่ให้ข้อมูลมาก่อนนี้ ผมมีความเห็นทิ้งท้ายว่า ให้ฝ่ายสามีพยายามอย่างถึงที่สุดในการประคองชีวิตคู่เอาไว้ โดยไม่อยากเสนอมาตรการขั้นสุดท้ายเช่นการซื้อหย่าจากฝ่ายภรรยา หรือการหย่าจากฝ่ายสามี เพราะเป็นสิ่งที่ไม่บังควรในการให้คำตอบเช่นนั้นทั้ง ๆ ที่ยังมีลู่ทางและความหวังในการรอมชอม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั่นเอง


2. สำหรับคำฟัตวาของท่านดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ ที่ส่งมาด้วยนั้น ท่านได้ฟัตวาเอาไว้ในหนังสือฟะตาวา มุอาซิเราะฮฺ ; ดารุ้ลว่าฟาอฺ เล่มที่ 2 หน้า 337-341  บรรดาหะดีษต่าง ๆ ที่ท่านดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ ได้นำมาอ้างสนับสนุนเป็นหะดีษที่ถูกต้อง (ซ่อฮีฮฺ) มีปรากฏในซ่อฮีฮฺอัลบุคอรีย์, ซ่อฮีฮฺมุสลิม, สุนันอบีดาวูด , สุนันอันนะซาอีย์ , มุสนัด อะฮฺมัด อิบนิ ฮัมบัล เป็นต้น  


ส่วนหะดีษที่รายงานโดยอิบนุ อับบ๊าส (ร.ฎ.) เกี่ยวกับสตรีนางหนึ่งที่มาหาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเล่าให้ท่านฟังว่า : บิดาของนางนิกาฮฺนาง โดยที่นางไม่มีความพึงพอใจนั้น รายงานโดยอะฮฺมัด, อบูดาวูด (2096) และอิบนุ มาญะฮฺ (1875) อัลฮาฟิซ อิบนุ ฮะญัร ผู้รวบรวมหนังสือบุลูฆุ้ลมะรอม ระบุตอนท้ายหะดีษบทนี้ว่ามีข้อด้อยด้วยการเป็นหะดีษมุรซัล


และท่านอิหม่ามอัซซอนอานีย์ (ร.ฮ.) ตอบว่า หะดีษนี้รายงานโดยอัยยู๊บ อิบนุ สุวัยด์ จากอัซเซารี่ย์ จากอัยยูบ เป็นหะดีษเมาซู้ล และมะอฺมัร อิบนุ สุลัยมาน อัรร่อกีย์ จากท่านซัยด์ อิบนุ ฮิบบาน จากอัยยูบเป็นหะดีษเมาซู้ล และเมื่อขัดแย้งกันว่า หะดีษนั้นสายรายงานต่อเนื่อง (เมาซู้ล) หรือเป็นมุรซั้ล ให้ชี้ขาดแก่ผู้ที่รายงานเป็นเมาซู้ล (ซุบุลุสสลาม , อัซซอนอานีย์ เล่มที่ 3 หน้า 236-237 ; ดารุ้ลกุตุบอัลอิลมี่ยะฮฺ)


และท่าน ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ นั้นเป็นนักวิชาการคนสำคัญของโลกอิสลามร่วมสมัย เป็นนักวิชาการสายอะหฺลิซซุนนะฮฺ วัลญ่ามาอะฮฺ เกิดในประเทศอียิปต์ ท่องจำอัลกุรอานและเรียนการอ่านแบบตัจญ์วีดขณะมีอายุไม่ถึง 10 ขวบ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร คณะอุซูลุดดีนในปีคศ.1953 ได้รับใบอนุญาตบรรจุเป็นครูผู้สอนในปี คศ.1954 ได้รับปริญญาเป็นด๊อกเตอร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่งในปี คศ.1973  


เคยดำรงตำแหน่งในฝ่ายตรวจสอบกิจการอิสลามของกระทรวงเอาก๊อฟ (สาธารณสมบัติ) ในประเทศอียิปต์, ฝ่ายวิชาการอิสลามของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ต่อมาได้เป็นผู้จัดการของสถาบันศาสนาในกาตาร์ และเป็นหัวหน้าแผนกอิสลามศึกษาของคณะตัรบียะฮฺ (คุรุศาสตร์) และอัชชะรีอะฮฺ (นิติศาสตร์) และเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ และประธานศูนย์เพื่อการวิจัยซุนนะฮฺและซีเราะฮฺในกาตาร์ ผลงานทางวิชาการของท่านมีมากกว่า 50 เล่ม  นับเป็นนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในโลกอิสลาม


อนึ่ง เนื่องจากคำถามที่ส่งมาในช่วงแรก (ภาคที่ 1) นั้นเป็นคำถามที่ให้รายละเอียดโดยสรุปและบ่งชี้ว่าการสมรสในกรณีดังกล่าวลุล่วงไปแล้ว ปัญหาของฝ่ายหญิงนั้นเป็นปัญหาของภรรยาที่ไม่พึงใจต่อสามีและไม่ยอมรับการตัดสินใจของผู้เป็นพ่อซึ่งตามคำถามระบุว่า ฝ่ายหญิงไม่อิเซนให้ แต่การทำข้อตกลงนิกาฮฺเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อถามว่าการนิกาฮฺของพ่อฝ่ายหญิงในกรณีดังกล่าวใช้ได้หรือไม่ ก็ตอบตามมัซฮับอัชชาฟิอีย์ว่าใช้ได้  


เมื่อปัญหายังคงคาราคาซังอยู่ก็ต้องแก้กันไป ถ้าหากตอบว่าใช้ไม่ได้  ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย (พื้นฐานทางความคิดตรงนี้และทัศนคติของผู้ตอบตั้งอยู่บนการมีคติที่ดี (ฮุซนุซฺซฺอนฺ) และการให้เกียรติต่อนักวิชาการหรือผู้รู้ที่ทำหน้าที่ในการทำข้อตกลงนิกาฮฺ)


และการตอบฟัตวาของ ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์  ในเรื่องนี้เป็นการตอบปัญหาโดยทั่วไปซึ่งอาจจะยังไม่มีการนิกาฮฺเกิดขึ้น  เพราะผู้ถามถามว่า : “ถูกต้องหรือไม่? สิ่งที่เราเคยอ่านพบในวารสารบางฉบับที่อ้างถึงหนึ่งในบรรดามัซฮับของอิสลามที่ถูกถือตามและเป็นที่รู้กัน -คือมัซฮับของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์- ว่ากำหนดให้เป็นสิทธิของพ่อในการนิกาฮฺลูกสาวของตนที่บรรลุศาสนภาวะแล้วโดยที่นางไม่เต็มใจ และเมื่อปรากฏว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง  


ถามว่าสอดคล้องกับวิถีทางของอิสลามโดยทั่วไปหรือไม่ในการกำหนดเงื่อนไข ว่าต้องพ้องกับข้อตกลงยินยอมของหญิงสาวเสียก่อน และว่าลีย์ (ผู้ปกครองฝ่ายหญิง) ถือเป็นเงื่อนไขเสมอในการทำข้อตกลงนิกาฮฺใช่หรือไม่?”  (ดูฟะตาวา มุอาซิเราะฮฺ เล่มที่ 2 หน้า 337)


คำถามดังกล่าวลงท้ายว่าถามโดยมุสลิมะฮฺผู้มีความหึงหวง  ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่ถามความเห็นโดยทั่วไปจากประเด็นที่เคยรับรู้ผ่านนิตยสาร โดยขอทราบรายละเอียดถึงข้อเท็จจริง มิใช่ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว  


ดังนั้นถ้าหากผู้ถามถามมาแต่แรกเกี่ยวกับความเห็นในเรื่องนี้อย่างกว้าง ๆ ถึงทัศนะโดยทั่วไปของบรรดานักวิชาการซึ่งมิใช่กรณีเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างที่ถามมา  ผมก็คงนำเอาคำฟัตวาของดร.ยูซุฟ มาถ่ายทอดเช่นกัน แต่ที่ถามมาถึงผมเป็นเรื่องของกรณีที่เกิดขึ้นแล้วและมีปัญหาคาราคาซังจึงต้องตอบอย่างนั้น


والله أعلم

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version