สารบัญปัญหาคาใจ > หมวด : การแต่งงาน มุสลิมะหฺ ครอบครัวและมรดก

อิดดะห์

(1/1)

อาลี เสือสมิง:
อยากทราบอิดดะห์ของหญิงที่สามีหย่า
1 หญิงที่ปกติทั่วไปยังไม่หมดประจำเดือน
2 หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว-คนชรา
3 หญิงที่ตั้งครรภ์
4 หญิงสาวที่ไม่เคยมีประจำเดือนเลย

ถามโดย - haroon  « เมื่อ: ตุลาคม 28, 2008, 11:59:21 am »

อาลี เสือสมิง:
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد؛

1.  อิดดะฮฺของหญิงปกติทั่วไปที่ยังไม่หมดประจำเดือนซึ่งถูกสามีหย่า (ตอล๊าก) หรือ ฟ่าซัค คือ 3 กุรูอฺ คือมีเฮด 3 ครั้งในทัศนะของฮะนะฟีย์และฮะนาบิละฮฺ หรือหมดเฮด (เกลี้ยง) 3 เกลี้ยงในทัศนะของมาลิกียะฮฺและชาฟิอียะฮฺ ฉะนั้นตามทัศนะของ 2 ฝ่ายหลังนี้ เมื่อหญิงถูกหย่าในขณะที่นางเกลี้ยงอยู่ (คือไม่มีรอบเดือน) สภาพการเกลี้ยงที่เหลืออยู่จึงนับเป็น 1 กุรูอฺที่สมบูรณ์ ถึงแม้เพียงชั่วครู่ก็ตาม นางก็นับมันเป็นช่วงอิดดะฮฺ ต่อมาก็ให้นับไปอีกสองเกลี้ยง หลังจากนั้น ทั้งหมดจึงเท่ากับ 3 เกลี้ยง


ฉะนั้นหญิงใดถูกหย่าในสภาพที่นางไม่มีรอบเดือน (เกลี้ยงอยู่) อิดดะฮฺของนางก็จะสิ้นสุดด้วยการเริ่มมีเฮดครั้งที่ 3 และหญิงใดถูกหย่าในสภาพที่นางมีรอบเดือนอยู่ อิดดะฮฺของนางก็จะสิ้นสุดลงด้วยการเข้าสู่รอบเดือน (เฮด) ครั้งที่ 4 หลังจากการมีรอบเดือน (เฮด) ซึ่งนางถูกหย่าในช่วงการมีรอบเดือนนั้น แต่ทัศนะที่ปรากฏชัด (الأظهر) ในฝ่ายชาฟิอียะฮฺนั้นไม่คิด ช่วงเวลาการเกลี้ยงของหญิงที่รอบเดือนยังไม่มาเป็น 1 กุรูอฺ เมื่อนางถูกหย่าในช่วงเกลี้ยง ดังนั้นหญิงใดถูกหย่าในช่วงเกลี้ยงโดยที่นางยังยังไม่มีรอบเดือนเลย ต่อมานางก็มีรอบเดือนในระหว่างอิดดะฮฺของนางเป็นเวลาหลายเดือน ช่วงเกลี้ยงดังกล่าวซึ่งนางถูกหย่าในช่วงนั้นจะไม่ถูกคิด (อัลฟิกฮุลอิสลามี่ย์ ว่า อะดิลละตุฮู ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลี่ย์ เล่มที่ 7 หน้า 639-640)


2.  อิดดะฮฺ (ช่วงครองตน) ของสตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว เนื่องจากเข้าสู่วัยทองหรือวัยชราคือ 3 เดือน (ตามจันทรคติ) นับแต่การหย่าของสามีเป็นผล ซึ่งอายุของสตรีที่หมดประจำเดือนนี้ ฝ่ายฮะนาบิละฮฺ มีความเห็นว่า อายุ 50 ปี ฝ่ายฮะนะฟียะฮฺว่า 55 ปี ฝ่ายชาฟิอียะฮฺว่า อายุ 62 ปี ฝ่ายมาลิกียะฮฺว่า 70 ปี (กัชชาฟุ้ลกินาอฺ 5/484 , อัดดุรรุลมุคต๊าร 2/835 , อัชชัรฮุซซ่อฆีร 2/672 , มุฆนีย์ อัลมุฮฺต๊าจฺญ์ 3/387 , อัลมุฆนีย์ 7/460)


3.  อิดดะฮฺของสตรีมีครรภ์นั้นจำเป็นด้วยเหตุของการตาย (ของสามี) หรือการหย่า (ตอล๊าก) และจะสิ้นสุดลงด้วยการคลอดบุตรโดยมติเห็นพ้องของบรรดานักวิชาการ (อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ อ้างแล้ว 7/634) ดังนั้นเมื่อหญิงนั้นตั้งครรภ์อยู่ ต่อมานางก็ถูกหย่าหรือสามีของนางเสียชีวิตจากนางไป อิดดะฮฺของนางก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยการคลอดบุตร ถึงแม้ว่าการคลอดบุตรนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของสามีเพียงเล็กน้อยก็ตาม


ดังหลักฐานของสุบัยอะฮฺ บินตุ อัลฮาริษ ซึ่งสามีของนางเสียชีวิตในขณะที่นางตั้งครรภ์อยู่ ต่อมานางก็คลอดบุตร หลังจากการตายของสามีได้ราว 10 คืน นางได้มาหาร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งกล่าวกับนางว่า : เธอจงแต่งงานเถิด (รายงานโดยอัลญะมาอะฮฺ ยกเว้น อบูดาวูดและอิบนุ มาญะฮฺ รายงานจากอุมมุสะละมะฮฺ (นัยลุ้ลเอาฏ๊อร : 6/286-287)


นักวิชาการได้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องการคลอดบุตรซึ่งเป็นอันสิ้นสุดของอิดดะฮฺด้วยว่า ต้องคลอดทารกออกมาทั้งหมด ดังนั้นถ้าหากว่าทารกในครรภ์เป็นแฝดแล้วคลอดออกมาเพียงคนเดียวก็ยังไม่ถือว่าสิ้นสุดอิดดะฮฺ และการตั้งครรภ์นั้นต้องถูกอ้างไปยังเจ้าของอิดดะฮฺ (คือสามี) ถึงแม้ว่าจะโดยคาดการณ์ก็ตาม เช่นในกรณีลิอาน เป็นต้น (อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ฯ อ้างแล้ว เล่มที่ 7 หน้า 635-636)


4.  อิดดะฮฺของสตรีที่ไม่เคยมีประจำเดือนเลยแม้มีอายุเลยจาก 15 ปีแล้วก็ตาม อิดดะฮฺของนางคือ 3 เดือน (ตามจันทรคติ) (อ้างแล้ว เล่มที่ 7 หน้า 640)

والله أعلم بالصواب

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version