มะฮัด ๑๒๕ บาท เที่ยบกับอะไรครับ  (อ่าน 10316 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
มะฮัด ๑๒๕ บาท เที่ยบกับอะไรครับ
« เมื่อ: ตุลาคม 05, 2010, 11:02:24 pm »
สลามอาจารย์อาลีครับ
       ผมสงสัยว่า มะฮัด อย่างน้อย ๑๒๕บาท นั้นเทียบกับอะไรครับ เห็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่มีการปรับค่าหรือ หากถ้าไปเที่ยบกับทองหรือของมีค่าอย่างอื่น
แล้วสมมติว่า เวลาอะกัดนิกะห์ เราตกลงให้ มะฮัด ๑๒๕บาท แต่เอาเงินไปตั้งไว้แสนบาทขณะนิกะห์ โดยไม่ได้เหนียตเป็นค่ามะฮัด แค่เอาไปโชว์หรือตั้งไว้ดูเวอร์ๆไว้ก่อน เงินแสนนี้ ฝ่ายชายจะเอาคืนได้ไหม
      อาจารย์ช่วยตอบด้วยนะครับ

ถามโดย - ซัยดุน « เมื่อ: มีนาคม 21, 2009, 12:12:56 am »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : มะฮัด ๑๒๕ บาท เที่ยบกับอะไรครับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 05, 2010, 11:02:50 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته


เข้าใจว่า  ที่มาของมะฮัร  125  บาทนั้นบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่สมัยก่อนคงตีค่ามาจากมะฮัรที่ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  กำหนดในการสมรสบรรดาบุตรีและภรรยาของท่านจำนวน  500  ดิรฮัม  ซึ่งนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์ระบุว่า  มีซุนนะฮฺมิให้มะฮัรน้อยกว่า  10  ดิรฮัมเพื่อออกจากข้อขัดแย้งของท่านอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ  (ร.ฮ.)  และมิให้เกินกว่า  500  ดิรฮัมฺ  (มุฆนีย์  อัลมุฮฺต๊าจญ์ ;  อัลค่อฏีบ  อัชชีรบีนีย์  เล่มที่  4  หน้า  367 ;  ดารุ้ลกุตุบ  อัลอิลมียะฮฺ  เบรุต  :  1994)  

จากจุดนี้กระมัง  ท่านครูสมัยก่อนได้ตีราคามะฮัรจำนวน  500  ดิรฮัมว่า  1  ดิรฮัมเท่ากับ  1  สลึง  และ  4  สลึงเป็น  1  บาท  เอา  4  หารด้วยกับ  500  ก็จะได้  125  บาทไม่ขาดไม่เกิน  ผู้หลักผู้ใหญ่สมัยก่อนจึงกำหนดมะฮัรที่ฝ่ายชายต้องมอบให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นจำนวน  125  บาท  ซึ่งสมัยก่อนนั้นก็มากโขอยู่ทีเดียว  เพราะยังจำที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังได้ว่า  บ้านทรงไทย  1  หลังสมัยนั้นมีราคา  40  บาท  ไร่นาก็มีราคาไม่กี่ร้อยบาท  


แต่นั่นก็เป็นเรื่องสมัยก่อนที่นมนานมาแล้ว  ค่าเงินในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก  เงิน  125  บาท  ในปัจจุบันซื้อลูกชิ้นเนื้อได้กี่ไม้ก็ลองคิดดูเอา  ค่าเงินบาทเปลี่ยนไป  ค่าดิรฮัมก็น่าจะเปลี่ยนไปด้วย  เพียงแต่ความคิดของคนอาจจะยังยึดติดอยู่กับสิ่งดังกล่าว  ตรงนี้ก็คงต้องค่อย ๆ อธิบายสร้างความเข้าใจกันไป  หากเราเติมเลขศูนย์ต่อท้ายเข้าไปอีกซัก  2  ตัวก็คงจะเข้าท่าอยู่ในที  เป็น  12,500  บาท  โดยเฉพาะในยุคที่ทองคำมีราคาปาเข้าไปบาทละเกือบ  16,000  บาท  ก็คงต้องปรับกันให้เป็นมาตรฐานตามยุคตามสมัย  


ที่พูดอย่างนี้มิได้หมายความว่า  มะฮัรจำนวน  125  บาท  ไม่เซาะฮฺหรือจะใช้ไม่ได้อย่างที่บางคนเข้าใจและมีอคติ  ทั้งนี้เพราะทุกสิ่งที่ใช้ได้ในการเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนหรือมีราคาก็ย่อมใช้ได้ในการเป็นมะฮัรหรือซ่อด๊ากฺให้แก่ฝ่ายหญิง  (อ้างแล้ว  เล่มที่  4  หน้า  367-368)  ซึ่งแน่นอนเงินจำนวน  125  บาทก็มีค่าของมัน  เพียงแต่มันน้อยไปสักนิดเมื่อนำไปเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำหรือสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน  มะฮัรที่ดีที่สุดก็คือ  มะฮัรที่ฝ่ายชายมีความพร้อมและสะดวกในการนำมามอบให้แก่ฝ่ายหญิงซึ่งก็แตกต่างกันไปตามสถานภาพและฐานานุรูปในสังคม  


ส่วนเงินจำนวนแสนบาทที่ถามมาว่า  หากนำไปตั้งเอาไว้ขณะอะก็อดนิกะฮฺและไม่มีการกำหนดหรือขาน  (ตัสมียะฮฺ)  ว่าเป็นมะฮัรก็เป็นสิทธิของเจ้าของเงินดังกล่าว  จะเอาคืนก็ได้  หรือจะกำหนดว่าเป็นเงินที่ให้แก่ฝ่ายหญิงโดยสิเน่หาก็คงต้องเป็นของฝ่ายหญิงเพราะถือเป็นฮิบะฮฺ  (هِبَة)  หรือจะกำหนดว่าเป็นค่าออกเรือนของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายร่วมกัน  (شَرِكَة) ก็ให้ถือไปตามนั้น  งานทั้งปวงขึ้นอยู่กับเจตจำนงค์  แต่ถ้าเอาไปตั้งไว้เฉย ๆ  เพื่อโชว์หรืออะไรก็ตามและไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของเงินจำนวนดังกล่าวในขณะอะกอดนิกาฮฺ  ก็เป็นเพียงเงินโชว์เท่านั้น  ใครเป็นเจ้าของเงินก็มีสิทธิจะเอาคืนได้  เพราะมิใช่มะฮัรครับ


والله أعلم بالصواب