สารบัญปัญหาคาใจ > หมวด : หะล้าลหะรอม และมุอามะลาต

เราจะทำตัวอย่างไรเมื่อเราต้องอยู่ในสังคมที่ไมใช่มุสลิม

(1/1)

อาลี เสือสมิง:
อัสลามู่อะลัยกุม ครับอาจารย์ ผมก็มีเรื่องอยู่ว่าแถวบ้านผมมีหลากหลายศาสนา แล้วอยู่ใกล้ๆสนามหลวงซึ่งเขาก็มีงานจัดพิธีศพของพระพี่นาง บางคนซึ่งเป็นมุสลิมก็แต่งชุดสีดำออกไปร่วมด้วยไม่ทราบว่าจะเป็นไรหรือเปล่า ครับ ต่อมาผมไปละหมาดอีชาที่มัศยิดก็ได้คุยกันถึงเรื่องนี้ว่าเราต้องทำตัวอย่าง ไงดีในเมื่อเราก็อยู่ในประเทศนี้ เช่น บางคนออกความคิดว่าถ้าเราจะดุอาให้กับคนตายนอกศาสนา เราจะขอได้หรือเปล่าครับ ถ้าได้เราจะขอว่าอย่างไงครับ (ทีนี้ในมัศยิดก็เถียงกันใหญ่เลยครับบอกว่าขอให้กับคนนอกศาสนาไม่ได้ )อีกคนพูดว่าเฮ้ยอย่างนี้มุสลิมก็ไม่แฟร์นี่หว่าคนที่พูดก็เป็นมุสลิมเพิ่ง ละหมาดลงมาครับ อ้าวแล้วเราจะทำอะไรได้บ้างล่ะ นั่งเป็นตอเฉยไม่รู้ร้อนอะไรเลยหรือ  อีกคนเข้ามาบอกว่าเขาทำงานกับเพื่อนที่เป็นคนนอกศาสนาแต่เพื่อนเข้าใจเป็น อย่างดีที่ทำงานเขาจัดห้องให้ไว้ละหมาดเป็นอย่างดีเวลาทำกับข้าวก็จะมีชุดทำ อาหารให้เขาแยกไปเลยทั้งถ้วยจานหม้อข้าวกับข้าวอาหาร   ผมก็เลย งง แล้วเราจะทำตัวยังไงดีครับ อาจารย์
 1ถ้าเราขอดุอาให้คนตายนอกศาสนาได้เป็นอย่างน้อยโดยที่เราไม่ไปร่วม จะได้หรือเปล่าครับ ถ้าได้จะขออย่างไงดีครับ
 2ดี่ที่สุดเราควรทำตัวอย่างไงครับถึงจะอยู่รวมกันได้โดยเขาก็ไม่ว่าเรา  ว่าไอ้พวกมุสลิมมันเอาตัวพวกมัน นอกศาสนามันไม่เอา
ขออาจารย์ได้โปรดตอบปัญหาคาใจ พวกผมและพี่น้องจะได้ไม่ต้องมานั่งเถียงกัน
ว่าอะลัยกุมวัสลาม

ถามโดย - Dawud « เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2008, 11:30:57 pm »

อาลี เสือสมิง:
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته


สังคมในบ้านเราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม  มีศาสนิกของศาสนาต่าง ๆ เป็นพลเมือง  พุทธศาสนา  เป็นศาสนาของพลเมืองส่วนใหญ่  ส่วนศาสนาอิสลามก็เป็นศาสนาของพลเมืองจำนวนหลายล้านคน  พุทธศาสนิกชนได้อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมมานับแต่ครั้งโบราณกาล  ไม่มีปัญหาความรุนแรงระหว่างทั้งสองศาสนา  ถ้าจะมีก็เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจกันหรือการมีอคติที่เกิดจากประสบการณ์ของการรับรู้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน  จริง ๆ แล้วทุกศาสนามีกรอบและขอบเขตในการดำรงอัตลักษณ์และความเป็นศาสนิกชนของตนด้วยกันทั้งสิ้น  ในพุทธศาสนายึดหลักไตรสรณคมน์  คือ  การเข้าถึงพระรัตนตรัย ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก  


ส่วนในศาสนาอิสลามก็มีกรอบและขอบเขตที่ชัดเจนในการรักษาความเป็นมุสลิมเอาไว้  โดยถือว่าศาสนาและพิธีกรรมเป็นเรื่องเฉพาะที่ต้องสงวนสิทธิเอาไว้  ไม่มีการบังคับหรือเบียดเบียนกันตลอดจนไม่มีการก้าวล่วงขอบเขตที่ศาสนากำหนดเอาไว้  หากผู้ใดก้าวล่วงสู่ความเชื่อ , พิธีกรรมของศาสนาอื่น  ก็ถือว่าตกศาสนาและสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม  (ริดดะฮฺ)  ส่วนเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างศาสนิกในเรื่องทางโลกที่ไม่มีข้อบัญญัติห้ามเอาไว้  มุสลิมก็สามารถปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นได้ตามความเหมาะสม


การยอมรับถึงคุณงามความดีของบุคคลที่ได้กระทำเอาไว้  ตลอดจนสำนึกในบุญคุณเป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับและเรียกร้องให้ศาสนิกชนตระหนักถึงความสำคัญในคุณูปการนั้น  ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาที่จำต้องตั้งมั่นอยู่บนกรอบหลักการของศาสนา  สมเด็จพระพี่นางเธอในขณะที่ทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น  พระองค์ท่านได้สร้างคุณูปการเอาไว้อย่างอเนกอนันต์ต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า  ข้อนี้เราชาวมุสลิมจำต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนั้น  เพราะมีหลักคำสอนระบุว่า  :  \"ผู้ใดไม่สำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์อัลลอฮฺ  ผู้นั้นก็ย่อมไม่สำนึกในบุญคุณคน\"  และหลักคำสอนที่ว่า :   \"มนุษย์ผู้ประเสริฐสุด  คือผู้ที่ก่อเกิดประโยชน์มากที่สุดในหมู่ชนมนุษย์ด้วยกัน\"  แต่เมื่อพระองค์ท่านได้สิ้นพระชนม์แล้ว  ก็ย่อมเป็นเรื่องของพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อในการจัดพิธีบรมศพ  ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของพุทธศาสนิกชน  


การที่ชาวมุสลิมไม่ได้มีส่วนอันใดในการเข้าร่วมพิธีพระบรมศพของพระองค์  ก็มิได้หมายความว่าชาวมุสลิมไม่แฟร์หรือไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ทรงกรณียกิจเอาไว้  ในขณะเดียวกันพุทธศาสนิกชนหรือพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ได้มีการบังคับให้ประชาชนในศาสนาอื่นจำต้องเข้าร่วมในพระราชพิธีดังกล่าว  เพราะเป็นเรื่องของศาสนาที่จะไม่มีการเบียดเบียนหรือบังคับกัน  สิ่งที่เราชาวมุสลิมทำได้อย่างแน่นอนก็คือการสนองพระมหากรุณาธิคุณนั้นด้วยการเป็นศาสนิกชนที่ดี  เป็นพสกนิกรที่มีความรักในการสร้างประโยชน์แก่ตนเองและสังคมโดยรวม  มีจิตสำนึกสาธารณะ  มีความสมัครสมานสามัคคี  ไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาของชาติบ้านเมือง  ซึ่งเป็นมาตุภูมิและปิตุภูมิที่เราทุกคนถือกำเนิดและฝังรกราก  ด้วยเหตุที่ประเทศของเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งยึดหลักทศพิธราชธรรมซึ่งสอดคล้องกับหลักจริยศาสตร์ของศาสนาอิสลาม  พสกนิกรทุกหมู่เหล่าทุกศาสนาจึงอยู่เย็นเป็นสุขบนผืนแผ่นดินนี้  และนี่คือความโปรดปรานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่พวกเรา  และพวกเรามีหน้าที่ต้องรักษาเอาไว้


การเป็นมุสลิมที่ดีก็คือการมีความเคร่งครัดในหลักการของศาสนา  อิสลามคือความศานติ  ศานติคือความสงบสุขร่มเย็น  มุสลิมจึงมิใช่ผู้บ่อนทำลายและเป็นภัยต่อความเป็นปกติสุขของสังคม  ในขณะที่มุสลิมมีความเคร่งครัดในหลักการของศาสนานั่นย่อมหมายถึงการที่มุสลิมต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วยความดีงามทางจริยธรรม  คุณธรรมโดยไม่แบ่งแยก  เพราะมีหลักคำสอนว่า  :  \"ท่านจงปฏิบัติดีกับผู้คนด้วยมารยาทที่งดงาม\"  และ  \"จงทำความดีเยี่ยงที่พระองค์อัลลอฮฺทรงทำดีกับท่าน\"  การที่มีบุคคลเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามุสลิมเอาแต่เฉพาะพวกพ้องของตนนั้นก็อาจจะเกิดจากความไม่รู้ของเขาเอง  หรือไม่ก็เกิดจากการประพฤติของคนมุสลิมเองที่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในหลักการของศาสนา  


ความจริง  มุสลิมสามารถช่วยเหลือผู้คนในสังคมนี้ได้อย่างมากมายนานับประการ  เพราะศาสนาใช้ให้เราเป็นมือบน  (คือเป็นผู้ให้)  แต่ปรากฏว่าชาวมุสลิมเองก็ละเลยที่จะกระทำ  และมักจะยินดีกับการเป็นมือล่าง  (ผู้รับ)  ในบ่อยครั้ง  ถ้าหากชาวมุสลิมที่มีศักยภาพเห็นถึงความสำคัญในการสังคมสงเคราะห์และช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่แบ่งแยก  ลองคิดดูสิว่า  ศาสนาอิสลามจะได้รับการตอบรับมากกว่าที่เป็นอยู่มากแค่ไหน!  เพราะอย่างน้อยคนในสังคมบ้านเราก็ยังเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า  ใจกว้างและพร้อมสำหรับการยอมรับอิสลามมากกว่ากลุ่มคนชาติอื่น ๆ มุสลิมจำต้องรับผิดชอบต่อการละเลยในเรื่องการดะอฺวะฮฺนี้ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า!  


ย้อนกลับมายังเรื่องที่เป็นคำถาม  ก็ขอตอบว่า  มุสลิมสามารถขอดุอาอฺต่อพระองค์อัลลอฮฺให้ทรงชี้ทางนำแก่ชนต่างศาสนิกสู่การยอมรับในสัจธรรมของอิสลามได้  ต่อเมื่อชนต่างศาสนิกนั้นยังมีชีวิตอยู่  ส่วนเมื่อชนต่างได้เสียชีวิตไปในสภาพที่ตั้งภาคีหรือปฏิเสธต่อพระผู้เป็นเจ้า  ก็ไม่อนุญาตให้ขอดุอาอฺอันใดได้อีก  ส่วนการยอมรับและบอกเล่าถึงการประพฤติของบุคคลต่างศาสนิกเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ว่าเขาได้กระทำประโยชน์อันใดเอาไว้  ข้อนี้ไม่เป็นที่ต้องห้ามแต่อย่างใด  ดังเช่นการที่ชาวมุสลิมยอมรับและเล่าขานถึงคุณงามความดีของอบูตอลิบ  ผู้เป็นลุงของท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  เป็นต้น  


ส่วนหลักในการใช้ชีวิตร่วมกับชนต่างศาสนิกนั้น  ก็ให้พิจารณาว่า  ถ้าเป็นเรื่องทางโลกที่มีการปฏิสัมพันธ์กันโดยทั่วไป  เช่น  การมีมารยาทที่ดีต่อกัน  ให้เกียรติและช่วยเหลือกัน  อย่างนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ตราบใดที่ไม่มีข้อบัญญัติห้ามระบุเอาไว้  ดังตัวอย่างว่า  ถ้าเพื่อนเดือดร้อนเรื่องเงินและมาขอยืมเรา  อย่างนี้ช่วยได้  แต่ถ้าเพื่อนขอแรงให้ไปซื้อเหล้า  เบียร์มาให้  อย่างนี้ไม่ได้  เป็นต้น  และถ้าเป็นเรื่องของศาสนาและพิธีกรรมข้อนี้จำต้องขอสงวนสิทธิเอาไว้  ว่าร่วมไม่ได้  เหมือนอย่างที่เวลาเราทำพิธีกรรมทางศาสนาของเรา  เขาก็ไม่ต้องมาร่วม  เรียกว่า  ของใครของมัน  ไม่เกี่ยวกัน  หากเราเข้าใจหลักที่ว่านี้  ซึ่งพอจะอนุโลมเรียกว่า  แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง  เราก็คงอยู่ได้ในสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมนี้อย่างปกติสุข  อินชาอัลลอฮฺ  


والله ولي التوفيق والهداية

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version