การทำกุรบ่าน  (อ่าน 6173 ครั้ง)

อิดริส

  • บุคคลทั่วไป
การทำกุรบ่าน
« เมื่อ: ตุลาคม 17, 2010, 02:38:48 pm »
salam ท่านอาจารย์ ที่มัสยิดผมมีการรณรงค์เชิญชวนให้สัปบุรุษร่วมกันทำกุรบ่านที่มัสยิด โดยกำหนดเงื่อนไขว่า การแจกจ่ายเนื้อเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมัสยิด เจ้าของกุรบ่านไม่มีสิทธิ์ จะได้รับเนื้อก็ต่อเมื่อได้รับแจก ซึ่งทุกครัวเรือนในกอเรียะจะได้รับเท่ากัน ส่วนเนื้อและกระดูกกุรบ่านที่เหลือบางส่วนจะรับประทานกันที่มัสยิด มีปัญหาอยากเรียนถามท่านอาจารย์ ดังนี้
1. การกระทำลักษณะนี้ ถือว่าอัฟฎอลหรือไม่ อย่างไร
2. การรณรงค์ลักษณะนี้ ถือว่าเป็นกุรบ่านนาซัรหรือไม่ เพราะโต๊ะครูเคยบอกว่า น่าจะเป็นนาซัรฮุกมี ซึ่งถ้าหากเป็นนาซัร ถามว่าเจ้าของรับประทานได้หรือไม่ อย่างไร
3. เจ้าของกุรบ่าน จำเป็นต้องเนียตในช่วงที่ผู้เชือด(อีหม่าม)เชือดหรือเปล่า
4. คำถามเพิ่มเติม  วัวเขาหัก(หักแต่กำเนิด) หรือเขาหักจากการชนวัว ใช้ทำกุรบ่านได้หรือไม่
ญาซากัลลอฮ์

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การทำกุรบ่าน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 05, 2011, 06:57:42 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1. การกระทำตามเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการมัสยิดกำหนดมานั้น หากเจ้าของกุรบ่านยินดีและพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขก็ถือว่า “อัฟฎ๊อล” เพราะเจ้าของกุรบ่านก็ได้รับเนื้อแจกเช่นกัน ก็ถือว่ายินดียอมรับเนื้อเพียงบางส่วน และสละเนื้อส่วนใหญ่เป็นทาน อีกทั้งยังได้รับประทานอาหารที่ถูกปรุงจากเนื้อกุรบ่านจากส่วนกองกลางที่กันเอาไว้กินร่วมกันที่มัสยิดอีกด้วย


แต่ถ้าเจ้าของกุรบ่านไม่ยินดีกระทำตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการมัสยิดกำหนดก็คงมิอาจพูดได้ว่าดีที่สุด ทางที่ดีที่สุดในกรณีนี้มีทางออก 2 ประการ คือ ให้เจ้าของกุรบ่านดำเนินการเชือดและแจกจ่ายเอง ไม่ทำกุรบ่านร่วมกับทางมัสยิด ซึ่งตรงนี้เป็นสิทธิอยู่แล้ว หรือไม่ก็เสนอต่อคณะกรรมการมัสยิดให้ทบทวนเงื่อนไขเสียใหม่ คือ ให้คืนเนื้อกุรบ่านจำนวนหนึ่ง เช่น 5 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้นแก่เจ้าของส่วนที่ร่วมทำกุรบ่านกับทางมัสยิด


ทั้งนี้ให้คณะกรรมการมัสยิดแบ่งเนื้อกุรบ่านทั้งหมดออกเป็น 3 กอง คือ กองที่หนึ่งเป็นเนื้อที่คืนส่วนแก่เจ้าของกุรบ่าน กองที่สองกันไว้สำหรับประกอบอาหารร่วมรับประทานกันที่มัสยิด กองที่ 3 แจกจ่ายแก่ผู้ประสงค์รับเนื้อกุรบ่านทั่วไปในชุมชน


สมมุติว่า ทางมัสยิดเชิญชวนสับปุรุษร่วมทำกุรบ่านได้วัวจำนวน 3 ตัว วัวตัวหนึ่งได้เจ็ดส่วน รวมแล้วได้ 21 ส่วน วัวหนึ่งตัวชั่งน้ำหนักตีเป็นเนื้อได้ประมาณ 200 กิโลกรัม ชำแหละเครื่องในและกระดูกออกแล้วจะได้เนื้อประมาณ 120 กิโลกรัม วัว 3 ตัวก็จะได้เนื้อเท่ากับ 120 x 3 เท่ากับ 360 กิโลกรัม กันส่วนที่จะคืนให้เจ้าของได้  63 กิโลกรัม กันเนื้อที่จะใช้ประกอบอาหารประมาณ 100 กิโลกรัม รวม 2 กองเท่ากับต้องกันเนื้อเอาไว้ 163 กิโลกรัม คงเหลือเนื้อเพื่อแจก 197 กิโลกรัม แจกครัวเรือนละ 3 กิโลกรัม ก็จะได้ประมาณ 65 ครัวเรือน ถ้ามีครัวเรือนจำนวนมากกว่าที่ว่านี้ก็ลดสัดส่วนลงตามความเหมาะสม กำหนดเงื่อนไขเช่นนี้เรียกว่าดีที่สุด



2. โดยลักษณะการเชิญชวนร่วมทำกุรบ่านที่ว่ามาน่าจะเป็นการทำกุรบ่านแบบจิตอาสา  คือ เป็นกุรบ่านสุนนะฮฺ ไม่น่าจะเป็นกุรบ่านนะซัรฺ ซึ่งเป็นกุรบ่านวาญิบที่เจ้าของกินเนื้อกุรบ่านไม่ได้ ทั้งนี้ยกเว้นกรณีที่เจ้าของกุรบ่านได้นะซัรเอาไว้ก็ถือเป็นกุรบ่านวาญิบเฉพาะรายไป ซึ่งการรณรงค์ลักษณะที่ว่ามาเป็นการเชิญชวนของทางมัสยิด ผู้ใดเห็นด้วยและประสงค์ร่วมทำกุรบ่านกับทางมัสยิดก็ถือเป็นเพียงความตั้งใจและเจตนาเท่านั้นว่าจะทำกุรบ่าน ยังไม่ถือเป็นการนะซัรแต่อย่างใด


3.การตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ถือเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺเชือดกุรบ่าน ดังนั้นหากเจ้าของส่วนกุรบ่านมอบหมาย (เตากีล) ให้อิหม่ามเชือดกุรบ่านแทนตนและเจ้าของกุรบ่านมีเจตนาขณะการเชือดกุรบ่านของอิหม่ามก็ย่อมถือว่าสิ่งดังกล่าวเพียงพอแล้วและไม่มีความจำเป็นยังการตั้งเจตนาของอิหม่ามที่เชือดกุรบ่านแทน ถึงแม้ว่าอิหม่ามผู้เป็นวะกีล (ผู้ถูกมอบให้เชือดแทน) จะไม่รู้ว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้ทำกุรบ่านหรือเป็นเจ้าของกุรบ่านก็ตาม ไม่ส่งผลแต่อย่างใด (คือใช้ได้)


และถ้าหากเจ้าของกุรบ่านตั้งเจตนาทำกุรบ่านขณะส่งมอบกุรบ่านไปให้แก่ผู้ถูกมอบหมายเท่านั้น ตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ) ในมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺถือว่าการมีเหนียตก่อนการเชือดจริงนั้นเป็นที่อนุญาตกล่าวคือไม่มีเงื่อนไขตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุดนี้ว่าต้องมีเจตนาควบคู่พร้อมกับการเชือด และอนุญาตให้มอบการเหนียตแก่ผู้รับมอบ (วะกีล) ได้เช่นกันหากผู้เชือดเป็นมุสลิม (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 8 หน้า 381)



4. วัวที่ไม่มีเขาและวัวที่เขาหักนั้นถือว่าใช้ได้ในการทำกุรบ่าน  ไม่ว่าเขาของมันที่หักจะมีเลือดออกหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ดี (มักรูฮฺ) ยกเว้นกรณีการที่เขาของมันหักและส่งผลต่อเนื้อบริเวณนั้นก็ถือว่ามีข้อชี้ขาดเหมือนกับสัตว์ที่มีโรคผิวหนัง (เรื้อน) คือใช้ไม่ได้ตามคำกล่าวของอัล-กอฟฟ๊าล (ร.ฮ.) (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ อ้างแล้ว 8/373)

والله اعلم بالصواب