ญิน, อาซานละหมาดวันศุกร์ (การรักษาผู้ถูกญินเข้าสิง)  (อ่าน 9265 ครั้ง)

anas

  • บุคคลทั่วไป
salam ครับ ท่านอาจารย์ที่เคารพ  คือผมมีประเด็นที่สงสัยอยากจะทราบอ่ะครับ
1. มนุษย์เราที่อยู่ในสภาพใดที่ญินสามารถเข้าตัวเราได้ และเมื่อมันเข้าตัวเราหรือคนอื่น ตามแบบอย่างท่านน่าบี จะต้องทำอย่างไรครับ และอยากให้อาจารย์ได้บอกดุอาที่ขอให้อัลลอฮ์คุ้มครองจากญินหรือชัยตอนพร้อมความหมายครับ
2.การอาซานในการละหมาดวันศุกร์ อาซานครั้งเดียวหรือ2ครั้งครับ และทั้ง2อย่างมีหลักฐานอย่างไรครับ
ขอบคุณมากครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
      الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ได้กล่าวว่า “แท้จริงการที่ญินเข้าสู่เรือนร่างของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ยืนยันแน่นอนโดยการเห็นพ้องของบรรดาอิหม่ามของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ (มัจญมูอฺ ฟะตาวา ; อิบนุตัยมียะฮฺ 19/12 , 24/276)  และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

إِنَّ الشَّيْطَانَ يَجْرِىْ مِنِ ابْنِ آدَمَ مَجْرى الدَّمِ
“แท้จริงชัยฏอนจะวิ่งอยู่ตามเส้นเลือดจากลูกหลานอาดัม”
(รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ 4/282 มุสลิม 14/155)

และในอีกรายงานหนึ่งระบุว่า
إِنَّ الشَّيْطَانَ يَبْلُغُ مِنِ ابْنِ آدَمَ مَبْلَغَ الدَّمِ
“แท้จริงชัยฏอนจะไปถึงที่สุดของเลือดจากลูกหลานอาดัม”
(รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ 4/278 , มุสลิม 14/157)


อัล-หาฟิซฺ อิบนุหะญัร (ร.ฮ.) กล่าวว่า : บ้างก็ว่าเป็นไปตามความหมายของรูปคำที่ปรากฏ (คือชัยฏอนวิ่งอยู่ในเส้นเลือด) และแท้จริงอัลลอฮฺทรงให้ชัยฏอนมีความสามารถทำสิ่งดังกล่าวได้ บ้างก็ว่า ถ้อยความของอัล-หะดีษเป็นการใช้สำนวนโวหารบ่งถึงการล่อลวงอย่างมากมายของชัยฏอนประหนึ่งดังว่า ชัยฏอนจะไม่เคยแยกจากมนุษย์เลยเหมือนกับเลือด ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างมากและไม่มีการแยกออกจากกัน” (ฟัตหุลบารียฺ 4/280)


เมื่อมนุษย์มีพลังศรัทธาอ่อนกำลังลดในบางช่วง มีการกระทำสิ่งต้องห้ามตามบัญญัติของศาสนา มีความเชื่อ (อิอฺติกอด) ไม่ถูกต้อง และมีสภาพทางอารมณ์ไม่ปกติ เช่น โมโห โกรธ ลุ่มหลง โลภ ตระหนี่ อวดเบ่ง ลำพองตน โอ้อวด ตีโพยตีพาย และสิ้นหวัง ตลอดจนเครียด กลุ้มใจ เป็นทุกข์ เป็นต้น


การมีสภาพดังกล่าวมาในมนุษย์ย่อมเป็นลู่ทางที่ชัยฏอนจะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ โดยหัวใจหรือจิตใจของมนุษย์เป็นประตูที่ชัยฏอนชอบเข้ามากที่สุด ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด โดยให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติสิ่งดังต่อไปนี้
   1. มีความอิคลาศ (บริสุทธิ์ใจ) ในการทำอิบาดะฮฺ
   2. ทำให้ความเป็นบ่าว (อุบูดียะฮฺ) ที่ภักดีต่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและถึงพร้อม
   3. เคร่งครัดอยู่กับ อัล-ญะมาอะฮฺ
   4. ดำรงรักษาการละหมาดญะมาอะฮฺ
   5. เคร่งครัดในการปฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺและหลีกห่างจากการกระทำบิดอะฮฺ
   6. ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺให้มีชัยเหนือชัยฏอน
   7. ประกอบคุณงามความดีต่างๆ มากๆ
   8. ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ (อัล-อิสติอาซะฮฺ)
   9. ระวังรักษาอวัยวะในร่างกายจากการกระทำสิ่งที่ผิดต่อหลักการของศาสนา
   10. รำลึกถึงอัลลอฮฺด้วยการอ่านอัล-กุรอาน และบรรดา อัล-อัซการที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัวฮิวะซัลลัม) สอนเอาไว้


นักวิชาการได้สรุปถึงสาเหตุที่ทำให้ญินเข้าสิงสู่ในร่างกายของมนุษย์ดังนี้
   1. ญินเพศผู้หลงรักมนุษย์เพศหญิง หรือญินเพศเมียหลงรักมนุษย์เพศชาย
   2. มนุษย์ไปละเมิดญินโดยไม่ได้เจตนา เช่น ราดน้ำร้อนไปโดน หรือพลาดไปเหยียบหรือทับ เป็นต้น
   3. ญินละเมิดต่อมนุษย์ด้วยการเข้าสิงสู่มนุษย์โดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งมักจะเกิดใน 4 สภาพดังต่อไปนี้ 1. โกรธจัด  2. กลัวจัด  3. มีอารมณ์กำหนัดรุนแรง  4. เผลอไผลหรือหลงลืมจัด


เมื่อญินถูกสร้างจากเปลวไฟเป็นลมร้อนที่ออกจากไฟ ญินจึงมีธาตุละเอียดเช่นเดียวกับลม กอปรกับในร่างกายของมนุษย์จะมีรูขุมขนขนาดเล็ก ญินจึงสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ทุกส่วน เมื่อญินเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์แล้วมันจะมุ่งสู่ “สมอง” ในทันทีโดยตรง และเมื่อญินเข้าสู่ “สมอง” ของมนุษย์มันก็จะสามารถควบคุมการสั่งการอวัยวะทุกส่วนในร่างกายของมนุษย์  (วิกอยะตุ้ลอินสานฺ  มิน อัล-ญิน วัช-ชัยฏอน ; วะฮีด อับดุลสลามบาลี หน้า 75-76)


ชนิดของการเข้าสิงของญิน (อัล-มัสฺ)
   1. มัสฺ กุลลียฺ (สิงร่างทั้งหมด) คือการที่ญินเข้าสิงร่างทั้งหมดของมนุษย์ เหมือนอย่างกรณีของการเกร็งและมีอาการชักกระตุกทางประสาท
   2. มัสฺ ญุซฺอียฺ (สิงเพียงบางส่วน) คือการที่ญินเข้าสิงในอวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น มือ ท่อนแขน ขา และ ลิ้น เป็นต้น
   3. มัสฺ ดาอิมฺ (สิงแบบสถิต) คือการที่ญินสิงเข้าสู่ในร่างกายของมนุษย์เป็นเวลายาวนาน
   4. มัสฺ ฏออิฟฺ (สิงแบบสัญจร) คือการผ่านเข้ามาในร่างกายของมนุษย์ในระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะในยามหลับและฝันร้าย เป็นต้น


เมื่อมีเหตุการณ์การเข้าสิงของญินในร่างกายมนุษย์ต้องคำนึงถึงสิ่งดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
   1. ผู้ทำการรักษา ต้องมีหลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) ที่ถูกต้อง เชื่อว่ากาลามุลลอฮฺมีผลต่อญินและชัยฏอน ผู้ทำการรักษาควรแต่งงานแล้ว ห่างไกลจากการประพฤติผิด มีการประกอบคุณงามความดีอย่างต่อเนื่อง เคร่งครัดต่อบทอัซฺการทั้งหลายในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศฺ) ในการรักษา เป็นต้น

   2. ขั้นตอนการรักษา มี 3 ขั้นตอน คือ
   ขั้นตอนที่หนึ่ง ก่อนทำการรักษาให้ปฏิบัติดังนี้
   (1) เตรียมบรรยากาศให้ถูกต้องด้วยการนำเอารูปภาพออกจากสถานที่ตรงนั้น หรือสิ่งใดก็ตามที่มีปรากฏอยู่แล้วมะลาอิกะฮฺจะไม่เข้ามา

   (2) ปลดสิ่งที่เป็นเครื่องรางที่ผู้ป่วยสวมหรือแขวนอยู่ออกแล้วนำไปเผา

   (3) สถานที่ตรงนั้นต้องปลอดจากเสียงเพลงและเครื่องดนตรี ไม่มีการกระทำที่ขัดต่อหลักการของศาสนา เช่น ผู้ชายใส่ทองคำ ผู้หญิงเปิดเอาเราะฮฺ

   (4) สอนหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วย

   (5) สอบถามถึงสภาพ เช่น เห็นอะไร? ไปทำอะไรมา?

   (6) มีน้ำละหมาด และผู้ที่อยู่ร่วมก็ควรมีน้ำละหมาด

   (7) ถ้าผู้ป่วยเป็นหญิงควรผูกเสื้อผ้าให้รัดกุมเพื่อมิให้เอาเราะฮฺเปิดเผยขณะทำการรักษา และให้มีมะหฺรอมอยู่ด้วย

   8. ขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้ทรงช่วยเหลือในการขับญินออกไป


ขั้อนตอนที่สอง : การรักษา
วางมือลงบนศีรษะของผู้ป่วยแล้วอ่านอายะฮฺต่อไปนี้ที่หูของผู้ป่วย สูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ 1-5, 163-164, 255-257, 285-286 สูเราะฮฺอาลิอิมรอน 18-19, อัล-อะอฺร็อฟ 54-56, อัล-มุอฺมินูน 115-118 อัศ-ศอฟฟาตฺ 1-10, อัลอะหฺก็อฟฺ 29-32 , อัร-เราะหฺมาน 33-36, อัล-หัชรฺ 21-24 , อัล-ญิน 1-9, อัล-อิคลาศ,  อัล-ฟะลัก, อัน-นาสฺ


การอ่านอายาตฺข้างต้นจะส่งผลต่อญินในหลายลักษณะ เช่น ขับไล่และทำให้ออกห่างจากผู้ป่วย ก็ถือว่าจบ  อัล-หัมดุลิลลาฮฺ หรือ ดึงกับลาก (ญัซบฺ ว่า อิหฺฏ็อร) หมายความว่าญินมีการเคลื่อนไหวในร่างกายและทำให้มันต้องพูดออกมา ผู้รักษาควรเน้นการไล่มากกว่าที่จะอยากเผชิญหน้ากับมัน! แต่ถ้ามีอาการดึงกับลากหมายความว่า ญินมาก็จะสามารถสังเกตอาการบางอย่างได้ เช่น หลับตา เปลือกตาเต้น หรือหางตากระดิกหรือกระตุก ตัวสั่น หวีดร้องส่งเสียง เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องเป็นผู้รักษาที่ชำนาญการเท่านั้น


ขั้นตอนที่ 3 : หลังการรักษา ให้ใช้ผู้ป่วยกระทำสิ่งดังต่อไปนี้
   1. รักษาการละหมาด
   2. ไม่ฟังเพลง-ดนตรี-ดูหนัง
   3. อาบน้ำละหมาดก่อนนอนและอ่านอายะฮฺอัล-กุรสียฺ
   4. อ่านสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺในบ้าน 1 จบ ทุกๆ 3 วัน
   5. อ่านยาซีนทุกเช้าหรือฟัง
   6. ซิกรุลลอฮฺยามเช้า-ยามเย็น
   7. ไม่นอนคนเดียว เป็นต้น
   ทั้งหมดคือคำตอบเกี่ยวกับเรื่องญินเข้าสิงมนุษย์

ส่วนเรื่องอะซานวันศุกร์ว่ามีกี่ครั้งนั้นผมเคยตอบไปแล้ว ดูในกระทู้นี้ครับ การอาซานละหมาดวันศุกร์

والله أعلم بالصواب