การที่อิหม่ามหันมาถามว่า “\"ท่านจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับมัยยิตนี้\" เป็นบิดอะฮฺหรือไม่  (อ่าน 5889 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
การที่อิหม่ามนำนมาซผู้ตาย หันมาถามมะอ์มูมหลังให้สล่ามว่า  
“ท่านจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับมัยยิตนี้?”  แล้วมะอ์มูมก็จะตอบพร้อมๆ กันว่า “เป็นคนดี”  

การกระทำนี้เป็นบิดอะฮฺหรือไม่


ถามโดย  แสวงหา
« เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2009, 12:25:28 AM »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛


อิหม่ามนำละหมาดญะนาซะฮฺหรือผู้ร่วมละหมาดหันมาถามมะอฺมูมหลังให้สล่ามแล้วว่า  ท่านจะว่าอย่างไร?  เกี่ยวกับมัยยิตนี้  แล้วมะอฺมูมก็ตอบว่า  เป็นคนดี!  มีข้อชี้ขาดว่าอย่างไร?  ตอบว่า  การกระทำที่ยึดเป็นรูปแบบดังกล่าว  ไม่ปรากฏมีในซุนนะฮฺของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  เท่าที่ดูในตำราใหญ่ ๆ ของมัซฮับชาฟิอีย์ก็ไม่มีระบุไว้ถึงสิ่งดังกล่าวเช่นกัน  


นักวิชาการจึงมองการกระทำดังกล่าวด้วยความเห็นและข้อชี้ขาดที่ต่างกัน  ฝ่ายหนึ่งถือเป็นอุตริกรรม  (บิดอะฮฺ)  ดังเช่นในหนังสืออัสสุนัน  วัลมุบตะดะอาต  ของชัยค์มุฮำหมัด  อับดุสสลาม  คิเฎร  อัชชุกอยรีย์  หน้า  108  ระบุว่า  เป็นการพูดเท็จและถือเป็นบาปใหญ่และเป็นบิดอะฮฺที่ถูกปฏิเสธและหลงผิด  ในกรณีที่ผู้ตายนั้นเป็นคนฟาซิก  เช่น  ทิ้งละหมาด  ดื่มสุรา  เป็นต้น  


ในทำนองเดียวกัน  ชัยค์อะลี  มะฮฺฟูซ  ก็ระบุเอาไว้ในหนังสืออัลอิบดาอฺ  ฟี  มะฎ็อรฺริล  อิบติดาอฺ  หน้า  220  ว่าเป็นบิดอะฮฺ  และย้ำว่า  การยืนยันดังกล่าวไม่เคยปรากฏในสมัยของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  และในสมัยของยุคสะลัฟซอลิฮฺ  อีกทั้งยังเป็นการกล่าวอ้างด้วยการบอกให้รับรู้ถึงสิ่งที่เป็นเท็จ  หลังจากนั้นท่านชัยค์ก็ระบุถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  เกี่ยวกับกรณีที่มีญะนาซะฮฺผ่านมา  ญะนาซะฮฺหนึ่งซอฮาบะฮฺชมเชยในสิ่งดีงามที่ญะนาซะฮฺนั้นประพฤติไว้  แล้วนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ก็กล่าวว่า  ว่ะญะบัต  (คือสวรรค์เป็นสิทธิของผู้นั้นแล้ว)  อีกญะนาซะฮฺหนึ่งผ่านมาบรรดาซอฮาบะฮฺก็กล่าวในทำนองไม่ดี  นบีก็กล่าวว่า  นรกเป็นสิทธิของผู้นั้นแล้ว  (เล่าโดยสรุปความจากหะดีษของบุคอรีและมุสลิม)  


ส่วนการร้องขอให้ยืนยันและตอบอย่างที่กระทำกันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมี  นี่คือทัศนะของฝ่ายที่บอกว่าเป็นบิดอะฮฺ  ส่วนนักวิชาการอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าสามารถกระทำได้  โดยอาศัยนัยกว้าง ๆ จากหะดีษดังกล่าวและหะดีษอื่น ๆ ที่ใช้ให้พูดถึงคนตายในทางที่ดี  ซึ่งจริง ๆ แล้วในหะดีษดังกล่าวก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปแบบที่กระทำกัน  อย่างน้อยถ้าจะให้ใกล้เคียงก็ควรที่จะใช้คำว่า  \"คอยร็อน\"  (خَيْرًا)  อันหมายถึง  ความดีซึ่งตีความได้หลายอย่าง  ไม่ได้เจาะจงว่าเขาเป็นคนดี เช่นคำว่า ซอลิฮฺ  (صالح) ซึ่งเป็นการยืนยันรับรองแล้วก็กลายเป็นรูปแบบเป็นมาตรฐานไปว่าจะต้องถามกันทุกเมื่อเมื่อละหมาดเสร็จ ทั้งๆ ที่คนที่ตอบบางทีก็หาได้รู้จักกับมัยยิตไม่ ที่มาละหมาดก็เพราะถูกเชิญมา  


บางทีมัยยิตที่บอกว่าเป็นคนดีนั้น  เมื่อตอนมีชีวิตอยู่เป็นคนฟาซิกโดยรู้กันทั่วไป  พอตายก็มีการยืนยันกันว่าเป็นคนดี  ทั้ง ๆ ที่เป็นคนฟาซิก  การยืนยันดังกล่าวก็กลายเป็นคำให้การเท็จหรือเป็นพยานเท็จไป  ครูของผมเคยเล่าให้ฟังว่า  ท่านซัยยิดอะมีน  (ร.ฮ.)  ปราชญ์แห่งนครมักกะฮฺที่สอนที่มัสญิดอัลหะรอมเคยพูดไว้เช่นนี้  คือ  เข้าข่ายพยานเท็จ  ถ้ามัยยิตนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่ยืนยันรับรอง  เอาเป็นว่าเรื่องที่ถามกันหลังละหมาดเนี้ยะ  ไม่ใช่วาญิบ  ไม่ใช่สุนัต  หลักฐานตรง ๆ ชัด ๆ เฉพาะเรื่องก็ไม่มีปรากฏ  ส่วนหลักฐานที่ว่าให้พูดถึงคนตายในสิ่งที่ดีก็เป็นเรื่องทั่วไป  ไม่ใช่ให้พูดกันเฉพาะตอนหลังละหมาดญะนาซะฮฺ  และการพูดถึงคนตายในสิ่งที่ดีกับการยืนยันรับรองถึงสถานภาพของมัยยิตว่าเป็นคนซอลิฮฺก็เป็นคนละเรื่องกัน  


ฉะนั้นถ้าไม่มีการถามก็ไม่ต้องตอบ  แต่ถ้าถามแล้วเรารู้ว่าเขาเป็นคนดีจริง  ก็ตอบได้  แต่ถ้าไม่รู้หรือรู้ว่ามัยยิตเป็นคนฟาซิก  อย่างนี้ก็อย่าได้ตอบ  เพราะจะเข้าข่ายว่าเป็นการพูดในสิ่งที่ตนไม่รู้  และเป็นการพูดโกหกหรือเป็นพยานเท็จได้  อันนี้คือเรื่องตอบหรือไม่ตอบเมื่อมีผู้ถาม  ส่วนการถามตอบที่เป็นรูปแบบอย่างที่ทำกันนั้นไม่มีตัวบทและหลักฐานมายืนยัน  อีกทั้งยังเข้าข่ายว่าเป็นบิดอะฮฺอีกด้วยตามความเห็นของนักวิชาการที่ว่ามา


والله أعلم بالصواب