ปฐมบทตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

ขุนนางแขก อยู่ในขบวนพยุหยาตราพระกฐินบกครั้งกรุงศรีอยุธยา (ภาพคัดลอกจากผนังอุโบสถ วัดยม พระนครศรีอยุธยา)
ขุนนางแขก อยู่ในขบวนพยุหยาตราพระกฐินบกครั้งกรุงศรีอยุธยา (ภาพคัดลอกจากผนังอุโบสถ วัดยม พระนครศรีอยุธยา)

ที่มา

ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี มีปรากฏในทำเนียบศักดินาข้าราชการ ฝ่ายทหารและพลเรือน พ.ศ.1998 (จ.ศ.187) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงศรีอยุธยาในราชวงศ์สุพรรณภูมิ ระบุว่า “พระจุฬาราชมนตรีถือศักดินา 1400…” (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 233) ตำแหน่ง “พระจุฬาราชมนตรี” เป็นราชทินนามของเจ้ากรมท่าขวา ที่เคียงคู่มากับ “หลวงโชดึกราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าซ้ายฝ่ายจีน ถือศักดินา 1400 เช่นกัน (อ้างแล้ว)

 

ตำแหน่งขุนนางกรมท่าขวา (พระจุฬาราชมนตรี) และตำแหน่งขุนนางกรมท่าซ้าย (หลวงโชดึกราชเศรษฐี) ทั้งสองตำแหน่งนี้ถึงแม้จะต่างยศกัน แต่ศักดินาที่ได้รับเท่ากัน คือ ถือศักดินา 1400 บ่งชี้ว่าความสำคัญของตำแหน่งทั้งสองนี้เท่ากัน

 

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในสมัยหลัง ๆ ได้รับแต่งตั้งให้สูงถึงขึ้นพระยาก็มีหลายคน เช่น ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2153-2171) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ “เฉกอะหฺมัด” แขกเจ้าเซ็นเป็น “พระยาเฉกอะหฺมัดรัตนราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี และในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2230) โปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงศรียศ” (แก้ว)  บุตรพระยาศรีเนาวรัตน์ (อากา มะหะหมัด) เป็น “พรยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา และในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) โปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงศรียศ” (สน) บุตรเจ้าพระยาไสยหาญณรงค์ (ยี) เจ้าเมืองตะนาวศรี เป็น “พระยาจุฬาราชมนตรี” เป็นต้น (ส.พลายน้อย ; ขุนนางสยาม : สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพฯ (2537) หน้า 163-164)

 

ดังนั้นตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” จึงไม่จำกัดบรรดาศักดิ์แค่ชั้น “พระ” และมีศักดินา 1400 เสมอไป จะมีบรรดาศักดิ์และศักดินาเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถและความดีความชอบของแต่ละคนเป็นสำคัญ (รัชนี กีรติไพบูลย์ (สาดเปรม)) “บทบาทของชาวมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พ.ศ.2325-2453” พิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1424 ; หน้า 46)

 

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสยามเขียนราชทินนาม จุฬาราชมนตรี เป็น จุลาราชมนตรี ก็มี (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 233) หรือออกชื่อเป็นพระยาจุหล่า ก็มี (คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พระนคร : คลังวิทยา , 2515 หน้า 239)

 

ในเอกสารของชาวตะวันตกมักกล่าวถึงขุนนางกรมท่าขวา ที่มีราชทินนาม จุฬาราชมนตรีโดยเรียกขานต่างกัน คือ “Ok Phra Chula” (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต (กรุงเทพมหานคร) : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี , 2507 , พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสงัด จันทราภัย , 26 พ.ย. 2507 หน้า 8) หรือ “Opera Tiula” (อ้างแล้ว หน้า 4) หรือ “Opra Chalawes” (บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ 17 เล่ม 1 หน้า 66) และ “Oprachoela” (นันทา วรเนติวงศ์ , แปล , เอกสารฮอลันดาสมัยอยุธยา , หน้า 61)

 

อำนาจ-หน้าที่จุฬาราชมนตรี

 ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” คือตำแหน่งจางวางกรมท่าขวาหรือเจ้ากรมท่าขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของกรม มีบทบาทและหน้าที่ในราชสำนักสยาม โดยทำหน้าที่ดูแลการค้า การติดต่อกับชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในสยามประเทศ และควบคุมประชาคมต่างชาติจากภูมิภาคฝั่งตะวันตก รวมถึงการทูตกับอินเดีย อาหรับ อิหร่าน ตลอดจนประชาคมมุสลิมอื่น ๆ

 

กรมท่า เป็นส่วนราชการในสังกัด กรมพระคลัง ซึ่งแม้จะเกี่ยวข้องกับราชการฝ่ายการคลังในงานด้านนโยบายและพิธีการ แต่งานด้านการติดต่อทางการค้ากับต่างประเทศ และการรับรองเป็นงานในหน้าที่ของกรมท่า และกรมท่ามีอำนาจปกครองหัวเมืองชายทะเลและกำกับดูแลเมืองท่าทางการค้าอีกด้วย และเนื่องจากในการติดต่อค้าขายมักจะเกิดมีคดีพิพาทระหว่างพ่อค้าอยู่บ่อยครั้ง ทั้งระหว่างคนไทยกับคนต่างประเทศ และคนต่างประเทศกับคนต่างประเทศด้วยกันเอง จึงมีการแบ่งราชการของกรมท่าออกเป็น 3 ฝ่ายหรือ 3 กรม คือ

กรมท่ากลาง มีหน้าที่ชำระความระหว่างคนไทยกับคนต่างประเทศ

กรมท่าซ้าย  มีหน้าที่ชำระความระหว่างคนจีนกับคนจีน หรือชาติที่อยู่ทางด้านซ้ายหรือทางตะวันออกของอ่าวไทย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาติดต่อทางด้านนั้น

กรมท่าขวา มีหน้าที่เกี่ยวกับการติดต่อเรื่องการค้าขายและการต่างประเทศกับชาติที่อยู่ทางด้านขวาหรือทางตะวันตกของอ่าวไทย เช่น อินเดีย อิหร่าน รวมถึงชาติที่เข้ามาติดต่อทางด้านนั้น

 

เหตุนั้นกรมท่าจึงมีความเกี่ยวข้องกับงานด้านการศาลโดยมีศาลของตนเองทำหน้าที่ชำระความ และกรมท่าซ้าย-ขวานั้นมีมาก่อนกรมท่ากลาง ซึ่งในบางรัชสมัย ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” เจ้ากรมท่าขวาอาจได้รับโปรดเกล้าฯ ให้กินตำแหน่งทั้งกรมท่าขวาและกรมท่ากลางพร้อมกันก็มี (ประยุทธ์ สิทธิพันธ์ : ต้นตระกูลขุนนางไทย (พระนคร : คลังวิทยา ; 2505) หน้า 212)

 

และในบางรัชสมัยผู้ดำรงตำแหน่ง “พระยาจุฬาราชมนตรี” ได้รับโปรดเกล้าฯให้ว่ากรมท่ากลางและกรมอาสาจามด้วย ดังในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (พ.ศ.2301-2310) โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชิตณรงค์ (เชน) บุตรเจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) ให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวาและเป็นหัวหน้าแขกทั่วไปด้วย (กาญจนาคพันธ์ : ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ , วิทยาสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 46 หน้า 20) แล้วโปรดให้ว่ากรมท่ากลางและกรมอาสาจามด้วย พระราชทานบรรดาศักดิ์เสมอด้วยเจ้าพระยาพระคลังแต่ไม่มีนามปรากฏเป็นเจ้าพระยา (ส.พลายน้อย : ขุนนางสยาม , สำนักพิมพ์มติชน ; กรุงเทพมหานคร 2537 หน้า 164)

 

ในจดหมายเหตุของวันวลิต ระบุว่า ขุนนาง “จุฬาราชมนตรี” เป็นหนึ่งในขุนนางสำคัญ 6 ท่าน อันได้แก่ ออกญากลาโหม (Oya Galahom) ออกญาเกียน (Oya Kien) ออกพระท้ายน้ำ (Opera Taynam) ออกญาพระคลัง (Oya Berckelangh) ออกพระ Sirsijancarat

 

(บางท่านว่าอาจเป็นตำแหน่ง “ศรีเสาวราช” สมุหพระกลาโหมฝ่ายพะลำพัง บ้างก็ว่าน่าจะเป็น “ออกพระศรีเนาวรัตน์” ซึ่งเป็นผู้ดูแลพระคลังสินค้า) และออกพระจุลา (Okpra Tiula) (ดูรายละเอียดในกฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 280 , 305 ; ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต หน้า 79) ขุนนางในตำแหน่งออกพระจุลาจึงน่าจะมีฐานะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในราชสำนักสยาม (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ : ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา สถาบันราชภัฎธนบุรี เอกสารประกอบคำบรรยาย หน้า 24)

 

ปฐมจุฬาราชมนตรี

เป็นที่เข้าใจกันว่า ท่านเฉกอะหฺมัด ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2153-2171) ให้เป็นพระยาเฉกอะหฺมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรีเป็นท่านแรก จึงถือกันว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีคนแรกในสยาม (พิทยา บุนนาค : มุสลิมผู้นำ “ปฐมจุฬาราชมนตรี” คนแรกในสยาม ; การเดินทางของท่านเฉกอะหฺมัดจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ถึงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) : สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพฯ 2548)

 

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ที่ถูกต้องควรกล่าวว่า ท่านเฉกอะหฺมัด มิใช่ปฐมจุฬาราชมนตรี หากแต่ท่านเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรีที่สืบค้นและรู้ถึงตัวตนได้อย่างแน่ชัดเป็นท่านแรกในสมัยอยุธยา และท่านเฉกอะหฺมัดเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีของเหล่าผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่เป็นผู้สืบสายตระกูลของท่านซึ่งมีจำนวน 12 ท่าน นับแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อยุธยาตอนปลายจนถึงพระจุฬาราชมนตรี (สอน อะหมัดจุฬา)

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหากรวมท่านเฉกอะหฺมัดด้วย บรรดาจุฬาราชมนตรีทั้งหมดนับแต่ครั้งอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ที่รู้ถึงตัวตนแน่ชัดว่าเป็นผู้ใดก็จะมีจำนวนทั้งหมด 13 ท่านโดยท่านเฉกอะหฺมัดเป็นต้นวงศ์ของเหล่าผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่สืบต่อมาในชั้นหลังซึ่งล้วนเป็นลูกหลานและเหลนในตระกูลเฉกอะหฺมัดทั้งสิ้น

 

แต่ถ้าหากจะหมายเอาว่า ท่านเฉกอะหฺมัดเป็นปฐมของผู้มีราชทินนาม จุฬาราชมนตรีในกรมท่าขวาคือเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของสยามโดยสิ้นเชิง ก็เห็นทีว่าจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ชาติไทยเสียแล้ว เพราะตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” มีปรากฏในทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน พ.ศ.1998 (จ.ศ.817) นับแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระจุฬาราชมนตรี” ได้ควบคุมพวกชวามลายู ถือศักดินา 1400 (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 233)

 

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ซึ่งมีปรากฎย้อนกลับไปถึงพ.ศ.1998 จึงมีมาก่อนการเข้ามาของท่านเฉกอะหฺมัดกับน้องชายชื่อ “มะหะหมัด สะอิด” เมื่อจุลศักราช 964 ตรงกับพ.ศ.2146 (ค.ศ.1603) ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ และเข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ , จดหมายเหตุประถมวงศสกุลบุนนาค หน้า 2) และเรื่องการสอบเทียบปีที่ท่านเฉกอะหฺมัดกับน้องชายของท่านเข้ามายังอยุธยานั้นยังคงเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งบ้างก็ว่า ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (ดูรายละเอียด พิทยา บุนนาค : มุสลิมผู้นำ “ปฐมจุฬาราชมนตรี” คนแรกในสยาม , เรื่องของจ.ศ.964 หน้า 52-60)

 

อย่างไรก็ตามหากถือเอาปีพ.ศ.1998 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตรากฎหมายที่ระบุราชทินนาม “พระจุฬาราชมนตรี” กับพ.ศ.2146 ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถซึ่งท่านเฉกอะหฺมัดกับน้องชายมะหะหมัดสะอิดเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ก็จะเห็นได้ว่า ตำแหน่ง “พระจุฬาราชมนตรี” มีมาก่อนหน้าท่านเฉกอะหฺมัดไม่น้อยกว่า 148 ปีเลยทีเดียว หรืออาจจะกล่าวได้ว่า นับแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งท่านเฉกอะหฺมัดได้เข้ารับราชการในกรุงศรีอยุธยากินช่วงระยะเวลาถึง 15 รัชกาลด้วยกัน

 

ในช่วงระยะเวลานั้นมีขุนนางในตำแหน่ง “พระจุฬาราชมนตรี” เจ้ากรมท่าขวาเคียงคู่กับขุนนางจีนในตำแหน่ง “หลวงโชดึกราชเศรษฐี” (บ้างก็เขียนว่า “โชฎึกราชเศรษฐี”) เจ้ากรมท่าซ้าย มาก่อนแล้วหลายท่านเพียงแต่ไม่ทราบได้ว่าเป็นผู้ใด เพราะไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ เหตุนั้น ส.พลายน้อย จึงเขียนว่า “ในสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งตั้งตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ใครจะดำรงตำแหน่งนี้มาบ้างไม่ทราบ…” (ส.พลายน้อย : ขุนนางสยาม หน้า 163)

 

หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” เจ้ากรมท่าขวามีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแล้ว แต่มิอาจสืบค้นได้ว่าเป็นผู้ใด ซึ่งไม่ต่างจากบรรดาขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหกลาโหมหรือเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ที่สมุหนายกหรือเหล่าเสนาบดีจตุสดมภ์ที่ดำรงตำแหน่งพระยานครบาล (กรมเวียง) พระยาธรรมธิกรณ์ (กรมวัง) พระยาโกษาธิบดี (กรมคลัง) พระยายมราชเกษตราธิบดี (กรมนา) เป็นต้น

 

บรรดาขุนนางที่ว่านี้ ต่างก็มีตัวตนอยู่จริงนับแต่โบราณ เพียงแต่มิอาจทราบได้ว่าเป็นผู้ใด จะรู้ว่าเป็นผู้ใดก็ในชั้นหลัง เพราะเมื่อมีการตรากฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองและกำหนดยศจัดตั้งทำเนียบยศพร้อมศักดินาแล้วก็ย่อมต้องมีการแต่งตั้งขุนนางเข้ารับราชการและมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาตามมาเป็นธรรมดาสามัญ จะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นผู้ใดก็ตามที และการไม่รู้ตัวตนของขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามในสมัยโบราณว่ามีชื่อเสียงเรียงนามเป็นผู้ใดเป็นชาติไทย ชาติจีน ชาติแขก หรือชาติมอญกันแน่ ก็ไม่ได้หมายความว่า ที่สืบไม่ได้นั้น ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ

 

กรณีของผู้ดำรงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” หรือ “หลวงโชดึกราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าขวาและซ้ายก็เช่นกัน กล่าวคือ ก่อนหน้าท่านเฉกอะหฺมัดที่อ้างกันว่าเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีคนแรกในสยามนั้น มีผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีมาก่อนแล้วซึ่งน่าจะหลายคนอยู่ ถึงแม้ว่า หลายคนที่ว่านั้นมิอาจรู้ได้แน่ชัดว่าเป็นผู้ใด เพราะตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” มิใช่เพิ่งจะมาเริ่มต้นแต่งตั้งเป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมหากแต่ย้อนกลับไปถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ รัชกาลที่ 9 ช่วงต้นอยุธยานั้นเลยทีเดียว

 

จุฬาราชมนตรีในสมัยก่อนท่านเฉกอะหฺมัด

การสืบค้นถึงผู้ดำรงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ก่อนสมัยท่านเฉกอะหฺมัดในช่วงเวลาที่ยาวนานราวหนึ่งศตวรรษครึ่ง ซึ่งผ่านแผ่นดินพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยามากกว่า 10 รัชกาลนั้น ไม่ได้มุ่งหมายสืบค้นถึงชื่อเสียงเรียงนามของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวาหรือตัวบุคคลที่แน่ชัดว่าเป็นผู้ใด เพราะไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าเป็นผู้ใดดังที่กล่าวมาแล้ว แต่การสืบค้นนี้เป็นการตั้งสมมติฐานความน่าจะเป็นของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในสมัยก่อนท่านเฉกอะหฺมัด โดยมีสมมติฐานดังนี้

 

  1. ผู้ดำรงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ในสมัยก่อนท่านเฉกอะหฺมัดเป็น “ขุนนางแขก” ที่เคียงคู่มากับ “หลวงโชดึกราชเศรษฐี” ขุนนางจีน ชาวสยามเรียกมุสลิมกลุ่มต่าง ๆ ว่า “แขก” จำกัดความให้ใช้เรียกชนชาติต่าง ๆ ทางตะวันตกของประเทศไทยที่เป็นชาวอินเดีย อิหร่าน อาหรับ หรือกลุ่มที่มาจากเอเชียกลาง ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนชนชาติอื่น ๆ ที่อยู่ทางตะวันตกที่มิใช่พวกฝรั่งหรือพวกแขกที่นับถือศาสนาอิสลามก็เรียกว่า “แขก” ได้โดยอนุโลม เช่น แขกฮินดู ภายหลังชนชาติมลายูที่ถูกเรียกว่าแขกไปด้วย (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ : ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา : หน้า 3)


    มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.2011 ว่า : “อนึ่งพิริยะหมู่แขก ขอม ลาว พม่า เม็ง มอญ มสุม แสง จีน จาม ชวา นานาประเทศทั้งปวง…” (กฎหมายตราสามดวง เล่มที่ 1/78) คำว่า “แขก” ตามที่ออกชื่อไว้นี้เป็นแขกกลุ่มใดไม่ปรากฏ แต่ได้แขกจามและชวาแล้ว 2 ชาติ ส่วน “แขก” ที่มาก่อนในลำดับแรก น่าจะเป็นแขกเก่าที่คู่มากับจีน ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า : “ถึงพวกจามและชวา มลายู แม้ที่สุดจีน ก็คงไปมาถึงกันแต่ก่อนมาช้านาน…” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 หน้า 90) จึงมีสมมติฐานได้ว่า “แขกเก่า” ซึ่งเดิมไม่ถือเป็นแขกจากที่อื่นแต่เป็นแขกเก่าในนิวาสถานเดิมเป็นชนพื้นถิ่นที่ถูกเหมารวมว่าเป็นแขกไปด้วย คือ “แขกมลายู” นั่นเอง

  1. เหตุผลที่สนับสนุนสมมติฐานว่า ผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ก่อนสมัยท่านเฉกอะหฺมัดน่าจะเป็น “แขกมลายู” นั่นเป็นเพราะ “แขกมลายู” ในสยามหรือกรุงศรีอยุธยาเป็นชนพื้นเมืองเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองชายทะเลที่เป็นเมืองท่าทางการค้ามาแต่เดิม และกรมท่าขวาที่มีขุนนางแขกรับราชการอยู่นั้นเป็นกรมเก่าที่สังกัดกรมพระคลังมาแต่โบราณแล้ว


    การทำหน้าที่ติดต่อการค้าและการต่างประเทศของกรมท่าขวาในช่วงต้นอยุธยาก็น่าจะเป็นชาติแขกที่อยู่ใกล้เคียงกับกรุงศรีอยุธยาก่อนเป็นอันดับแรก คือ มลายู จาม และรัฐในหมู่เกาะของอินโดนีเซียหรือพวกแขกชวา (Kennon Breazeale , “Thai Maritime Trade and the Ministry Responsible , in From Japan to Arabia : Ayutthaya’s Maritime Relations with Asia , p.5)


    แล้วต่อมาเมื่อชาวตะวันตกอย่างพวกอังกฤษเข้ามา กรมท่าขวาก็มีหน้าที่ควบคุมชาวอังกฤษและชาวฝรั่งอื่น ๆ ด้วย ดังกรณีขุนนางในกรมท่าขวา ราชทินนามว่า “ขุนราชเศรษฐี” ปลัดกรมได้ว่าแขกประเทศชวา มลายู อังกฤษ ถือศักดินา 800 (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 233)


    ดังนั้นการสื่อสารทางภาษาโดยใช้ล่ามในกรมท่าขวาช่วงต้นอยุธยาก็น่าจะใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักเพราะทั้งแขกมลายู แขกจามและแขกชวาที่เป็นพ่อค้าต่างก็ใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางในการสื่อสารและถ่ายเป็นภาษาไทย ซึ่งเป็นไปได้ว่าทั้งจุฬาราชมนตรีและเหล่าขุนนางในกรมท่ายุคแรก ๆ นั้นเป็นชาวมลายูเสียโดยมาก แล้วต่อมาในชั้นหลังเมื่อการค้ากับนานาประเทศที่มาจากด้านตะวันตกของทะเลไทยแพร่หลายมากขึ้น ก็เริ่มมีขุนนางชำนาญการในกรมท่าขวาที่เป็นพวกล่ามเข้ารับราชการมากขึ้น ทั้งล่ามฝรั่ง (ทิพวาจา , เทพวาจา) ล่ามญวน-เข้ารีต (พินิจวาที , ศรีทรงภาษา , สัจวาที , สำเร็จวาที) ที่ติดต่อทางการค้ากับพวกเข้ารีตจากเมืองขึ้นชาวตะวันตกและพวกเลือดผสมโปรตุเกสที่ใช้ภาษาโปรตุเกสในการสื่อสาร และล่ามมุสลิมที่ติดต่อกับพ่อค้าชาวอาหรับ เตอร์ก อิหร่าน อินเดีย อาร์เมเนีย รวมถึงล่ามฮินดูที่ติดต่อกับพราหมณ์เทศและอื่น ๆ (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ : ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา หน้า 22 แผนภูมิแสดงการแบ่งสายบังคับบัญชาในกรมท่าขวา)


  1. ในหลักฐานการจดบันทึกของชาวตะวันตกที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เช่น โตเม ปิเรส ระบุว่า : “ชาวสยามแล่นเรือค้าขายแข่งกับมะละกาโดยมีชาวมลายูเป็นผู้จัดวางเส้นทางเดินเรือให้แก่ชาวสยาม…” (กรมศิลปากร , 470 ปีแห่งมิตรสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส หน้า 46) ในบันทึกของลาลูแบร์ระบุว่า : พวกมลายูมีจำนวนราว 300-400 คน พอ ๆ กับพวกมัวร์และชาวจีน (ลาลูแบร์ : ราชอาณาจักรสยาม เล่ม 1 , แปลโดยสันต์ ท.โกมลบุตร (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ก้าวหน้า , 2510) หน้า 501) ซึ่งนั่นตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถ้าย้อนกลับไปจำนวนชาวมลายูในกรุงศรีอยุธยาอาจจะมีจำนวนน้อยกว่าตัวเลขที่ลาลูแบร์ระบุแต่ก็เชื่อได้ว่า แขกมลายูมีจำนวนมิใช่น้อยนับแต่ก่อนหน้านั้นเพราะเป็นพลเมืองท้องถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาเนิ่นนานกว่าแขกกลุ่มอื่น ๆ


    ส่วนในบันทึกของนิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise ระบุว่า : พวกมลายูในสยามมีจำนวนมากกว่ามุสลิมกลุ่มอื่น (Nicolas Gervaise , The Natural and Political History of the Kingdom of Siam , tr.John Villiers (Bangkok : White Lotus , 1989) , p.58) พวกแขกมลายู ชวา และจาม มีวิถีชีวิต ประเพณี ภาษาและศาสนาคล้ายกันมีชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ พ่อค้ามลายูส่วนใหญ่จะมีชุมชนอยู่บริเวณริมน้ำซึ่งสะดวกต่อการค้าขาย บางส่วนปลูกบ้านเรือนเป็นแพอยู่ริมน้ำจึงเรียกว่า “แขกแพ” โดยรวมแล้วแขกมลายู ชวา และจามประกอบอาชีพค้าขาย เดินเรือ ช่างฝีมือ ชาวนา และรับราชการในกรมท่าขวาและและกรมอาสาจาม-มลายู สำหรับอาชีพค้าขายและเดินเรือมักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เนื่องจากพ่อค้ามุสลิมหลายคนจะทำหน้าที่เป็นนายเรือด้วยโดยพวกมลายูจะเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญด้านการเดินเรือ เช่นเดียวกับชาวจาม (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ : อ้างแล้ว หน้า 6)


    ในคำให้การขุนหลางหาวัดประดู่ทรงธรรม ระบุว่า : พวกแขกชาวมลายูเดินเรือเข้ามาค้าขายกับสยามเป็นประจำทุกปี บริเวณปากคลองคูจามยังเป็นสถานที่ซึ่งพ่อค้ามุสลิมที่มาจากชวาและมลายูนำสินค้าต่าง ๆ คือ หมาก ตะกร้าหวาย กระแชง และสินค้าจากปักษ์ใต้มาขาย ซึ่งลูกค้าประกอบไปด้วยพ่อค้า จีน แขก ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา และโปรตุเกส มุสลิมอีกส่วนหนึ่งยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ คือพวกจาม มีอาชีพทอผ้าและสานเสื่อลันไตขาย พวกมลายูประกอบอาชีพฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าวทำเชือกผูกเรือและตีสมอขายให้กับกัปตันชาวต่างชาติ (คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง หน้า 7) นอกจากนี้ยังมีพวกแขกตานีซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดลอดช่อง มีอาชีพทอผ้าไหม ผ้าด้าย ซึ่งใช้เป็นผ้าพื้นและผ้าม่วงลายดอกไว้สำหรับขาย (อ้างแล้ว หน้า 7)


    เมื่อพวกแขกมลายู ชวา และจามเป็นพวกแขกเก่าที่ตั้งชุมชนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และเป็นกลุ่มพ่อค้าและนักเดินเรือให้แก่ชาวสยามและราชสำนักอยุธยามาแต่เก่าก่อน ก็เชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวาในช่วงเวลาราวศตวรรษครึ่งก่อนหน้าท่านเฉกอะหฺมัดน่าจะเป็น “แขกมลายู

  1. ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระจุฬาราชมนตรี” ได้ควบคุมพวกชวามลายู (ส.พลายน้อย : ขุนนางสยาม หน้า 163) กรมท่าขวาจึงมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการควบคุมประชาคมต่างชาติที่เป็นพวกแขกด้วยกันเมื่อพวกแขกชวามลายูเป็นแขกเดิมที่มีจำนวนประชากรเป็นอันมากในกรุงศรีอยุธยา และหัวเมืองชายทะเล พระจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวาในช่วงเวลาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ก็ควรจะเป็นแขกมลายูหรือเป็นคนในวัฒนธรรมมลายูชวา (มาเลย์-จาวานิส) ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาว่าการปกครองชาวต่างชาติ ก็ตั้งให้ชนชาตินั้น ๆ ปกครองกันเองอย่างขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ “หลวงโชดึกราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าซ้ายถือศักดินา 1400 เป็นตำแหน่งควบคุมพวกจีนที่ทำการหลวงในสมัยอยุธยา (ส.พลายน้อย : อ้างแล้ว หน้า 154) ก็เป็นคนจีน


    ดังนั้นเมื่อพระจุฬาราชมนตรีในสมัยต้นอยุธยาได้ควบคุมแขกชาวมลายู ก็ไม่แปลกที่ผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในช่วงเวลานั้น จะเป็นแขกมลายูหรือมลายู-ชวาที่เป็นแขกชาติเดียวกัน ถึงแม้ว่าในช่วงปลายอยุธยา จะมีแขกชาติอื่นที่มิใช่มลายูชวาได้รับแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีและขุนนางในกรมท่า เช่น แขกเปอร์เซีย (อิหร่าน) ได้ควบคุมพวกแขกชวามลายูและอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เห็นเป็นชาติแขกมะหะหมัด (มุสลิม) เหมือนกัน จึงให้ควบคุมชาติแขกด้วยกันโดยไม่มีการจำแนกแยกแยะว่าเป็นชาติพันธุ์ใด


    ตลอดจนพิจารณาการเข้ามาของชาวต่างชาติที่เป็นพ่อค้านั้นว่า เข้ามาจากทางด้านทิศตะวันตกของคุ้งทะเลไทยเป็นสำคัญ การควบคุมชาวต่างชาติของกรมท่าขวาจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับกรมอาสาหรือกองอาสาต่างชาติที่มีมานานแล้ว อย่างน้อยก็เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.2148-2153) หรือก่อนหน้านั้น (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 22 ว่าด้วยการตั้งกองทหารชาวต่างประเทศ (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา 2507) หน้า 123-125) อย่างกรมอาสาจาม-มลายูที่มีการระบุถึงนับแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 306-307) ซึ่งข้าราชการในกรมอาสาจามนี้จะประกอบด้วยมุสลิมเชื้อสายมลายู (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ : อ้างแล้ว หน้า 17) มีพระยาราชวังสันเป็นเจ้ากรมทำหน้าที่ควบคุมอาสาจามซึ่งมีทั้งชาวจามและมลายู (อ้างแล้ว หน้า 6)


    กองอาสา 6 เหล่าซึ่งประกอบไปด้วย มอญ จีน แขก ญี่ปุ่น ฝรั่งแม่นปืนและจาม (อ้างแล้ว หน้า 14) ไม่ได้รับอนุญาตให้ได้คุมไพร่ที่เป็นชาวพื้นเมือง (คือคนไทย) ไพร่ในกองอาสาก็คือชนชาติเดียวกับเจ้ากรม (นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน 2539) หน้า 21) ดังนั้นพระจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา ในช่วงเวลาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงควรจะเป็นแขกมลายู-ชวาเพราะชนชาติที่พระจุฬาราชมนตรีมีหน้าที่ควบคุมเป็นแขกมลายู-ชวานั่นเอง


    อย่างไรก็ตาม การควบคุมพวกแขกในกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น แขกชวา มลายู จามและแขกเทศ ซึ่งน่าจะได้แก่แขกเชื้อสายอิหร่าน อาหรับ เติร์ก และอินเดีย หรืออย่างที่เอกสารชาวตะวันตกเรียกอย่างรวม ๆ ว่า “มัวร์” (Moor) นั้นบางทีก็มีขุนนางแขกอื่น ๆ นอกจาก “พระจุฬาราชมนตรี” ได้รับแต่งตั้งให้ควบคุมหรือเป็นแม่กองแขกอีกด้วย เช่น ขุนนางที่มีราชทินนาม “ราชเศรษฐี” เป็นขุนนางในตำแหน่งปลัดกรมท่าขวารองจาก “พระจุฬาราชมนตรี” ถือศักดินา 800 มีหน้าที่ว่าการควบคุมดูแลแขกชวา มลายู และอังกฤษ เอกสารของชาวตะวันตกเรียกว่า “Opra Rahisti” (Dutch Papers (Extacts from the “Dagh Register” 1624-1642) , pp.70-71) หรือ “Okpra Rajsidhi” (Records of the Relations between Siam and Foreign Countries in the 17th Century Vol , 1 , 1607-1632 , pp. 9 , 15) ขุนนางที่มีราชทินนาม “หลวงศรียศ” ซึ่งคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่าเป็นตำแหน่งแม่กองแขก (คำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 159) เป็นต้น


  1. อาจมีผู้ตั้งคำถามว่า “แขกมลายู” ในสมัยอยุธยาในช่วงเวลาก่อนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีศักยภาพและความชำนาญการในการเดินเรือและกำกับดูแลการค้ากับต่างประเทศจนถึงขั้นได้รับความไว้วางใจจากกษัตริย์อยุธยาให้ดำรงตำแหน่งพระจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวาได้เชียวหรือ? ก็ตอบได้ว่า เป็นข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกินจริงสำหรับ “แขกมลายู” ซึ่งมีศักยภาพและความชำนาญการไม่แพ้ชาติอื่นโดยเฉพาะในด้านการเดินเรือ การค้าขายและด้านการคลัง รวมถึงเรื่องการศึกสงคราม หากจะละเรื่องตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเอาไว้ ก็ยังมีตำแหน่งขุนนางสมัยอยุธยาและยุคถัดมาที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า “แขกมลายู” ได้กินตำแหน่งสำคัญ ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าขาย การคลังและเรื่องราชการสงครามซึ่งมีบทบาทสำคัญที่คล้ายกับบทบาทจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา


    ดังกรณีของ “ลักษมาณา” (Luksamana) ที่มีบันทึกของโตเม ปิเรส ระบุว่า : “กล่าวกันว่า “ลักษมาณา” เป็นกัปตันเรือ ดังนั้นเขาจึงได้รับเกียรติอย่างสูงตั้งแต่นั้นมา” (กรมศิลปากร , 470 ปีแห่งมิตรสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส หน้า 46) ลักษมาณา คือตำแหน่งแม่ทัพเรือในรัฐมุสลิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในราชสำนักบางแห่งยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากองทหารรักษาพระองค์ของกษัตริย์ เช่น ลักษมาณาแห่งราชอาณาจักรมะละกา (A.P Meilink-Roelofsz , Asian Trade and European Influence (The Hague : Matinus Nijhoff , 1962) p.14)


    เอกสารสเปนในพุทธศตวรรษที่ 21 ระบุว่า : ออกญาลักษมาณาซึ่งเป็นพวกมัวร์มีอิทธิพลต่อพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในของกัมพูชา (จันทรฉาย ภัคอธิคม , บรรณาธิการและแปล , “ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างสเปนกับกรุงศรีอยุธยาและกรุงกัมพูชา” ในกรุงศรีอยุธยาในเอกสารสเปน (กรุงเทพฯ : บริษัทประชาชนจำกัด , 2532) หน้า 72) เอกสารของสเปนและโปรตุเกสจะเรียกมุสลิมหรือแขกมะหะหมัดอย่างรวม ๆ ว่า “มัวร์” (Moor) ดังนั้นคำว่า “มัวร์” ในเอกสารของสเปนจึงหมายถึงมุสลิมซึ่งถูกแยกแยะด้วยตำแหน่ง “ออกญาลักษมาณา” ซึ่งเป็นแขกมลายูอย่างไม่ต้องสงสัย


    “ลักษมาณา” ยังเป็นราชทินนามของขุนนางตำแหน่งเจ้ากรมอาสาจามขวาในกรมอาสาจามของสยามอีกด้วย (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 307) ในปีพ.ศ.2181 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์จึงได้ส่งหลวงลักษมาณาไปตีเมืองปัตตานีแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ (อิบราเฮม-ชาตรี : ประวัติมลายู-ปัตตานี (เอกสารพิเศษกองโบราณคดี) แสดงว่าราชสำนักอยุธยาได้อาศัยประโยชน์จากความชำนาญของ “แขกมลายู” ซึ่งเป็นรายบุคคลในด้านการค้า และการจัดระเบียบการค้าต่างประเทศอย่างขุนนางตำแหน่งลักษมาณา ซึ่งเป็นตำแหน่งแม่ทัพเรือเชื้อสายมลายูซึ่งเข้ามามีบทบาททางด้านการค้าให้กับราชสำนักอยุธยาควบคู่ไปกับบทบาทด้านการทหาร (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ : ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา หน้า 11)


    นอกจากนี้ขุนนางในตำแหน่ง “ศรีโนรา” (Srinora) หรือศรีโนราช (Srinoraj) ซึ่งเป็นขุนนางในราชสำนักของมลายูก็เป็นเสนาบดีที่ดูแลด้านการค้าและการคลัง (Leonard Y. Andaya “Ayudhya and the Persian and Indian Muslim Connection,” 11.) ตำแหน่งศรีโนราหรือศรีโนราชคล้ายกับขุนนางของอยุธยาที่มีราชทินนามปรากฏในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนว่า “พระเนาวรัช โชดธิบดินทรา ธรรมธาเศรษฐีซ้าย” ถือศักดินา 3000 (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 247)


    ในบันทึกของปิเตอร์ ฟลอริส (Peter floris) ระบุว่า โอรังกายาศรีโนราช (Orang kaya Srinoraj) คือตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของรายาแห่งปัตตานี มีหน้าที่ดูแลการค้าให้กับราชสำนัก (Peter Floris , Peter Floris , His Voyage to the East Indies in the Globe 1611-1615 tr. W.H. Moreland (London : The Hakluyt Society , 1934) p.35) ตำแหน่งศรีโนราหรือศรีโนราชหรือศรีเนาวรัตน์ คงมีใช้มาตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ดังมีปรากฏหลักฐานตำแหน่งออกพระศรีเนาวรัตน์อยู่ในบันทึกการค้าของฮอลันดา (Dutch Papers (Extacts from the “Dagh Register” 1624-1642) , pp.12) และเอกสารหลายฉบับระบุว่า ออกพระศรีเนาวรัตน์มีความสัมพันธ์กับกรมท่าขวาและกรมพระคลังสินค้า ดังเอกสารของฮอลันดา


    ระหว่างพ.ศ.2163-2164 (ค.ศ.1640-1641) ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199) ระบุว่า ออกญาศรีเนาวรัตน์ เป็นพ่อค้าของกษัตริย์และมีหน้าที่คุมโรงกษาปณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน (บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ 7 เล่ม 1 หน้า 227) ออกญาศรีเนาวรัตน์เป็นขุนนางที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวก่อนถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งทรงแต่งตั้งให้อากามะหะหมัด พ่อค้าชาวอิหร่านดำรงตำแหน่งเดียวกันนี้และให้ช่วยว่าการกรมพระคลังด้วย (David K.Wyatt , “A Persian Mission to Siam in The Reign of King Narai” in Studies in Thai History (Chiang Mai : Silkworm Books , 1994) p.97) จึงเป็นไปได้มากทีเดียวว่าออกญาศรีเนาวรัตน์ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองน่าจะเป็นแขกมลายูเช่นเดียวกับตำแหน่งโอรังกายาศรีโนราช ในราชสำนักของมลายู ถึงแม้ว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะมีพวกแขกเปอร์เซีย (อิหร่าน) เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาบ้างแล้วก็ตาม (Kane , John (tr).The Ship of Sulaiman.London : Routledge and Kegan , (c.1972) p.93)


    เพราะในเวลานั้น (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองย้อนกลับไปถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) มีชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเพียงราว 30 คนและเพิ่มเป็นราว 100 คน ในรัชกาลสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (Muhammad Rabi.The Ship of Sulaiman , translated by John O’kane.p.94-95) ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนออกพระศรีเนาวรัตน์ (อากา มะหะหมัด) หรือออกพระศรีมโนราช ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงไม่แปลกถ้าหากออกพระศรีเนาวรัตน์ จะเป็นขุนนนางแขกมลายู ก่อนที่ตำแหน่งนี้จะตกไปเป็นของชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ในภายหลัง แม้ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อฟอลคอนมีอำนาจและประชาคมอิหร่านเริ่มตกต่ำ หลังออกญาโกษา (เหล็ก) ว่าที่กรมพระคลัง ก็มีแขกชาวมลายูอีกคนหนึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระคลัง และดูเหมือนว่าแขกชาวมลายูผู้นี้ยังคงอาจจะเป็นเสนาบดีกรมวังอยู่ในขณะที่ดูแลพระคลังไปด้วย ครั้นเมื่อฟอลคอนมีอำนาจมากขึ้นจึงต้องปล่อยให้ฟอลคอนมีอำนาจสูงในการพระคลังแทน (นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ , สำนักพิมพ์มติชน , 2539) หน้า 49)


    เมื่อแขกมลายูในตำแหน่งขุนนางที่ได้กล่าวมา มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับด้านการค้ากับต่างประเทศและพระคลังทั้งในรัชสมัยก่อนหน้าสมเด็จพระนารายณ์และรัชสมัยของพระองค์ ก็ย่อมไม่แปลกที่ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยก่อนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและย้อนกลับขึ้นไปต้นกรุงศรีอยุธยาจะเป็น “แขกมลายู” ตามข้อสันนิษฐานที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา เป็นตำแหน่งขุนนางแขกที่มีมาก่อนหน้าท่านเฉกอะหฺหมัด ว่าที่จุฬาราชมนตรีในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นเวลานับร้อยปีซึ่งสามารถย้อนกลับไปในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแต่มิอาจรู้ชื่อเสียงเรียงนามว่าเป็นผู้ใด ส่วนข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแขกมลายูนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ ตามสมมติฐานที่กล่าวมา เป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ ซักค้านได้หรือถกเถียงกันได้ และนี่เป็นเสน่ห์ของประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ที่เปิดกว้างสำหรับการอภิปรายและถกเถียงในระหว่างนักประวัติศาสตร์ด้วยกันโดยเฉพาะหัวข้อที่ว่า เฉกอะหฺมัดคือปฐมจุฬาราชมนตรีจริงหรือ? ก็นับได้ว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นที่ท้าทายยิ่งนัก บทความนี้เป็นเพียงปรัศนีที่ชวนให้ฉุกคิดและเป็นการจุดประกายในการสืบค้นหาความจริงกันต่อไปเท่านั้น

 

ด้วยจิตคารวะ
อาลี (สันติ) เสือสมิง