สัญลักษณ์และเครื่องหมาย จากดินแดนมุสลิมสู่ยุโรป

ท้ายเล่มหนังสือ “อาซารุ้ลหัรบิ ฟิล ฟิกฮิลอิสลามี่ย์” ที่แต่งโดย ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุฮัยลิยฺ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัยดามัสกัส ซีเรีย จัดพิมพ์โดย ดารุ้ลฟิกริ พิมพ์ครั้งที่ 4 ค.ศ.1992 หน้าหลังสุดปรากฏภาพด้านล่าง มีกรอบเป็นเส้นทึบรูปทรงรีเหมือนไข่ตามแนวตั้ง ตรงกลางมีสัญลักษณ์ที่คุ้นตา

ทหารครูเสดที่แต่งชุดมีเครื่องหมายอินทผาลัมประดับ
ทหารครูเสดที่แต่งชุดมีเครื่องหมายอินทผาลัมประดับ

มองผ่านก็นึกออกในทันใดว่าเป็นเครื่องหมายของลูกเสือ ด้านใต้ของภาพเขียนอธิบายด้วยภาษาอาหรับมีความหมายว่า : “เครื่องหมาย (สัญลักษณ์) แห่งพลัง (อำนาจ) ที่รู้จักกันว่า “อัน-นัคละฮฺ” (ต้นอินทผลัม) สำหรับอาณาจักร อัซซังกียะฮฺ จากโบราณวัตถุของป้อมปราการแห่งเมือง หะลับ (อเล็ปโป) ประตู อัล-อะสะดัยนฺ วันนัคละฮฺ (ประตูราชสีห์ 2 ตนกับต้นอินทผลัม) ซึ่งมีประวัติย้อนกลับไปยังปี ค.ศ.1212”

เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้นำเรื่องนี้เขียนลงไว้ใน ร้อยเรื่องสารพันสรรหามาเล่า พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2545 เรื่องลำดับที่ 82 หน้า 123-124

ใช้ชื่อเรื่องว่า ที่มาของสัญลักษณ์ลูกเสือ เป็นเรื่องน่าสนใจว่า เหตุใดเล่าสัญลักษณ์ลูกเสือจึงมีลักษณะรูปทรงเช่นเดียวกับเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจ ซึ่งเรียกกันว่า อันนัคละฮฺ อันหมายถึง ต้นอินทผลัม ทั้งๆที่กองลูกเสือโลกเพิ่งจะได้รับการสถาปนาโดย โรเบิร์ต บาเดน เพาเวล (Baden Powell) นายทหารอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1908 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และอายุของสัญลักษณ์ที่ว่านี้มีมาก่อนหน้านั้นแล้วร่วม 700 ปี

กองเรือครูเสดของฝรั่งเศส (สังเกตุเครื่องหมายอินทผลัมที่ปรากฎบนผืนธง)

กล่าวคือ มีอายุย้อนกลับไปยังปี ค.ศ.1212 อันเป็นช่วงปลายยุคกลางของยุโรป และทำไมสัญลักษณ์ดังกล่าวจึงเดินทางไปถึงอังกฤษได้ทั้งๆ ที่อาณาจักร อัซซังกียะฮฺ นั้นอยู่ในดินแดนตะวันออกกลาง ซึ่งอาณาจักรนี้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวมาก่อนแล้วเกือบ 700 ปี เรื่องนี้อธิบายได้ไม่ยากเลยหากเราศึกษาค้นคว้าถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในยุคกลาง เราจะพบว่าปี ค.ศ.1212 นั้นอยู่ในช่วงสงครามครูเสดซึ่งเกิดนับแต่ปี ค.ศ. 1096 และดำเนินต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1291

ในสงครามครูเสดหรือสงครามไม้กางเขนนี้พวกคริสเตียนทางตะวันตกของยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี และอีกหลายชาติฝรั่งภาษาได้มีส่วนในการยกทัพกรีฑาจากนิวาสถานเดิมของพวกเขาสู่ดินแดนตะวันออกเพื่อเข้ายึดครองนครเยรูซาเล็มหรืออัล-กุดส์ จากฝ่ายมุสลิมซึ่งในเวลานั้นอยู่ในสภาพที่แตกสามัคคี  มีอาณาจักรและรัฐอิสระเกิดขึ้นมากมาย เช่น อาณาจักรเสลจูกเติร์กในเอเชียไมเนอร์ (เอเชียน้อย) อาณาจักรอัล-ฟาฏิมี่ยะฮฺในอียิปต์และแอฟริกาเหนือ รัฐอิสระของเจ้าผู้ครองรัฐอันดะลุส (เสปน) อาณาจักรอัล-อับบะสิยะฮฺในนครแบกแดดซึ่งอยู่ในภาวะอ่อนแอ

กษัตริย์ริชาร์ดใจสิงห์แห่งอังกฤษ
กษัตริย์ริชาร์ดใจสิงห์แห่งอังกฤษ

ผลจากการที่มุสลิมมีความแตกแยกในเวลานั้นจึงทำให้พวกฝรั่งคริสเตียนสามารถยึดครองนครเยรูซาเล็มได้ในปี ค.ศ. 1099 และมีการสถาปนาอาณาจักรเยรูซาเล็มของพวกฝรั่งละตินในเวลาต่อมา หลังจากมุสลิมต้องสูญเสียนครเยรูซาเล็มหรืออัล-กุดส์ตลอดจนดินแดนในเอเชียไมเนอร์แก่พวกครูเสด การญิฮาดของฝ่ายมุสลิมก็เริ่มขึ้นด้วยการสร้างความเป็นปึกแผ่นของวีรบุรุษผู้มีนามว่า อิมาดุดดีน ซังกีย์ ในปี ค.ศ. 1127  โดยเริ่มสร้างฐานอำนาจในแคว้น อัล-ญะซีเราะฮฺ และแคว้นชาม

เดิมทีเดียวนั้น อิมาดุดดีน ซังกียฺ เป็นอะตาบิก คืออาจารย์ผู้อบรมสั่งสอน อัลบฺอัรสะลาน อัสสัลญูกีย์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสุลฏอน แห่งอาณาจักรเสลจูกในเปอร์เซียและเป็นผู้สร้างความปราชัยต่อจักพรรดิโรมานีอุสที่ 4 ในสมรภูมิ มานซิเคริตฺ (ค.ศ.1071) ในปี ค.ศ.1144 อิมาดุดดีน ซังกียฺ สามารถตีเมือง อัรเราะฮา จากพวกครูเสดได้หลังจากที่เมืองนี้ตกอยู่ในอำนาจของพวกครูเสดเป็นเวลาร่วม 50 ปี แต่ทว่าในระหว่างการปิดล้อมป้อมปราการ ญะอฺบัร ในซีเรีย อิมาดุดดีนได้ถูกลอบสังหาร  บุตรของเขาคือ นูรุดดีน ซังกียฺ จึงได้สืบสานภารกิจการญิฮาดต่อมา

นูรุดดีน ได้ดำรงตำแหน่งอะตาบิกแห่งนครหะลับ (อเล็ปโป) และแผ่อำนาจสู่ดินแดนในแคว้นชามและอียิปต์ ในปี ค.ศ.1164 นูรุดดีน ซังกียฺ สามารถยึดเมือง บานิอัส จากพวกครูเสดได้สำเร็จและผนวกเมืองโมสุล (อัลเมาศิล) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ซังกียะฮฺ ในปี ค.ศ.1171

ถือได้ว่าทั้งอิมาดุดดีนผู้พ่อ และนูรุดดีนผุ้ลูกเป็นผู้ปกครองมุสลิมที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ฝ่ายมุสลิมและปูทางให้กับสุลฏอน เศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบีย์ หรือ จอมทัพสลาดินในการปลดปล่อยดินแดนของมุสลิมจากการยึดครองของพวกครูเสดในเวลาต่อมา

กองทัพครูเสด (สังเกตสัญลักษณ์อินทผลัม)
กองทัพครูเสด (สังเกตสัญลักษณ์อินทผลัม)

นี่คือเรื่องราวโดยสังเขปของอณาจักร ซังกียะฮฺ ซึ่งผู้ปกครองในตระกูลซังกียฺ เป็นผู้ใช้สัญลักษณ์ อัน-นัคละฮฺ หรือต้นอินทผลัมโดยปรากฏสัญลักษณ์นี้เหนือประตูแห่งป้อมปราการในเมืองหะลับ (อเล็ปโป) และเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ว่า สัญลักษณ์นี้ได้ถูกนำมาใช้ในธงรบของทหารฝ่ายมุสลิมในการทำศึกกับพวกครูเสดซึ่งใช้ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ และผลพวงของสงครามครูเสดที่กินระยะเวลาหลายร้อยปีได้ทำให้พวกฝรั่งยุโรปที่กรีฑาทัพสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์รับเอาอารยธรรมของชาวมุสลิมกลับสู่ดินแดนมาตุภูมิของพวกเขา

ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีซึ่งเป็นกองกำลังหลักของพวกครูเสดได้รับเอาวิทยาการของฝ่ายมุสลิมทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มุสลิมประดิษฐ์คิดค้น การสร้างป้อมปราการ การจัดทัพ และกลศึก ตลอดจนจารีตประเพณีของเหล่าอัศวินมุสลิม โดยเฉพาะบุคคลเช่น นูรุดดีน ซังกียฺ และจอมทัพสลาดิน ผู้เลื่องลือและเป็นที่ยกย่องแม้ในหมู่ของพวกครูเสดเอง บรรดากษัตริย์คริสเตียนที่ยกทัพกรีฑาสู่ดินแดนตะวันออกเพื่อทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของพวกเขานั้นมีทั้งกษัตริย์หลุยส์ที่ 7 ของฝรั่งเศส กษัตริย์หลุยส์ที่ 9 ซึ่งยกทัพมาถึง 2 ครั้งด้วยกัน

จึงไม่น่าแปลกใจว่าสัญลักษณ์ต้นอินทผลัมอันหมายถึงเครื่องหมายแห่งพลังอำนาจไปปรากฏอยู่ในธงรบและชุดทำศึกของทหารฝรั่งเศสได้อย่างไร, จักพรรดิคอนราดที่ 3 แห่งอณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเยอรมัน และเฟเดอริกที่ 2 ซึ่งเป็นเยอรมันเช่นกัน สำหรับจักรพรรดิเฟเดอริกที่ 1

จอมทัพเศาะลาหุดดีน (สลาดิน)
จอมทัพเศาะลาหุดดีน (สลาดิน)

(บาร์บะโรส) นั้น สิ้นพระชนม์ด้วยการจมน้ำตายในขณะยกทัพถึงเมือง กีลีกียะฮฺ ในคาบสมุทรอนาโตเลียของตุรกี การที่มีจักพรรดิเยอรมันถึง 3 พระองค์ยกทัพครูเสดเข้าทำศึกกับมุสลิมเป็นผลทำให้สัญลักษณ์รูปนกอินทรีย์ 2 หัว ซึ่งบรรดาผู้ปกครองชาวมุสลิมและเหล่าอัศวินมุสลิมนิยมใช้กันในช่วงอาณาจักรเสลจูกเติร์ก (ศตวรรษที่ 8 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช) กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของจักพรรดิแห่งจักวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในยุโรป (สามีย์ ซัยนุ้ลอาบิดีน หัมมาด; อะซะรุ้ลอิสลาม วัล-อุละมาอฺ อัลมุสลิมีน ฟี อันนะฮฺเฎาะฮฺ อัล-อูรุบียะฮฺ หน้า 558)

และจักพรรดิเฟเดอริกที่ 2 นั้นได้รับอิทธิพลของชาวมุสลิมในซิซิเลีย (ตอนใต้ของอิตาลี) เกือบทุกด้านเลยทีเดียว ไม่เว้นแม้กระทั่งการเลี้ยงเหยี่ยว ซึ่งพระองค์หลงใหลจนถึงขั้นแต่งตำราเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงเหยี่ยวโดยเฉพาะ และพระองค์ถึงกับดูแคลนความรู้ของอริสโตเติ้ล ปราชญ์เมธีชาวกรีกว่ามีความรู้ไม่ครบถ้วน มิใช่พหูสูตรเพราะอริสโตเติ้ลไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเหยี่ยวนั่นเอง (ดร.อะมีน เตาฟีก อัฎฎอยบียฺ; ดิรอสาต ฟี ตารีค ศิกิลลียะฮฺ อัลอิสลามียะฮฺ หน้า 117 เป็นต้นไป)

กษัตริย์ริชาร์ด ใจสิงห์ แห่งอังกฤษก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ยกทัพครูเสดเข้าทำศึกกับจอมทัพสลาดิน จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ตราราชสีห์คู่บนผืนธงศึกและสัญลักษณ์ต้นอินทผลัมเดินทางจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ไปถึงเกาะอังกฤษได้อย่างไร สงครามครูเสดครั้งที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1189-1192 กินระยะเวลา 3 ปี นับเป็นการกรีฑาทัพของพวกครูเสดที่ใหญ่ที่สุดในด้านจำนวนกำลังทหารและกองเรือรบ

สาเหตุของการเกิดสงครามครูเสดครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่จอมทัพเศาะลาหุดดีนสามารถปลดปล่อยนครเยรูซาเล็ม (อัล-กุดส์) จากพวกครูเสดได้สำเร็จในปี ค.ศ.1187 พระสันตะปาปา เกรเกอรี่ที่ 8 จึงทรงเรียกร้องบรรดากษัตริย์แห่งยุโรปให้ทำสงครามครูเสดครั้งใหม่กับจอมทัพเศาะลาหุดดีน มีกษัตริย์ยุโรป 3 พระองค์ที่ตอบรับคำเรียกร้องของพระสันตปาปาคือ จักรพรรดิเฟเดอริก บาบะโรส แห่งเยอรมนี (สิ้นพระชนม์ด้วยการจมน้ำตายขณะเคลื่อนทัพ) กษัตริย์ริชาร์ด ใจสิงห์ แห่งอังกฤษ และกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 (ออกัสตุส) แห่งฝรั่งเศส

มิมบัรฺ ที่สร้างโดยนูรุดดีน ซังกียฺ
มิมบัรฺ ที่สร้างโดยนูรุดดีน ซังกียฺ

สงครามครูเสดครั้งที่ 3 นี้จบลงด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างจอมทัพเศาะลาหุดดีนกับกษัตริย์ริชาร์ด ใจสิงห์ของอังกฤษ ณ เมืองอัร-รอมละฮฺ ในปี ค.ศ.1192 สัญลักษณ์ต้นอินทผลัมและราชสีห์คู่จึงเดินทางไปถึงเกาะอังกฤษพร้อมกับกษัตริย์ริชาร์ด ใจสิงห์ ภายหลังกลับจากสงครามครูเสดนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์อีกประเภทหนึ่งที่พวกฝรั่งได้รับเอาแบบอย่างไปจากชาวมุสลิมในช่วงสงครามครูเสด เรียกกันว่า ร็องก์ หรือ เราะนูก ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซียซึ่งมีความหมายว่า “สี”

บรรดากษัตริย์ชาวมุสลิมจำนวนมากนิยมใช้สัญลักษณ์ที่เรียกว่า ร็องก์  ในการประดับประดาข้าวของเครื่องใช้เฉพาะ เสื้อผ้าหรือฉลองพระองค์ ตลอดจนโล่ห์หรือเกราะขนาดเล็กที่ใช้ออกศึก โดยสัญลักษณ์ ร็องก์ จะมีรูปทรงวงกลม หรือ รูปทรงไข่ หรือ รูปทรงแบบหัวแหวนเป็นกรอบ ภายในจะมีรูปของนก, ดอกไม้, ถ้วย, รูปสัตว์ หรือ ดาบ ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งถึงลักษณะเฉพาะของกษัตริย์แต่ละพระองค์และบ่งบอกถึงตำแหน่งของข้าราชการชั้นสูง มีลักษณะคล้ายตราลัญจกรที่มีสีสันฉูดฉาดสวยงาม

บรรดาผู้ปกครองชาวยุโรปตลอดจนบรรดาอัศวินและชนชั้นศักดินาของยุโรปได้นำเอาตราสัญลักษณ์นี้จากธรรมเนียมของชาวมุสลิมไปใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นตราประจำตระกูลของชนชั้นสูงและพวกอัศวินในที่สุด (สามียฺ ซัยนุลอาบิดีน หัมมาด อ้างแล้ว หน้า 558)

การที่ลอร์ด บาร์เดน เพาเวล ได้นำสัญลักษณ์แห่งพลังหรือต้นอินทผลัมซึ่งมีต้นกำเนิดจากอาณาจักร ซังกียะฮฺ ของชาวมุสลิมในช่วงสงครามครูเสดมาเป็นสัญลักษณ์ของลูกเสือสากลนั้นก็เพราะสัญลักษณ์นี้บ่งบอกถึงความเข้มแข็ง อดทน การยึดมั่นในความสัตย์ การบำเพ็ญประโยชน์ การเสียสละ และการเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคโดยไม่สะทกสะท้านและหวั่นไหว

จักรพรรดิ์ เฟเดอริกที่ 2 แห่งเยอรมัน
จักรพรรดิ์ เฟเดอริกที่ 2 แห่งเยอรมัน

ซึ่งคุณสมบัติที่ว่ามาข้างต้นเป็นสิ่งที่อธิบายได้เมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติของต้นอินทผลัม และคุณสมบัติดังกล่าวยังถือเป็นจรรยาบรรณของเหล่าอัศวินในยุคกลางทั้งในฝ่ายของชาวมุสลิมและคริสเตียน ทั้งนี้อุดมคติของเหล่าอัศวินฝ่ายมุสลิมนั้นมีมุมมองต่อคุณสมบัติของต้นอินทผลัมในด้านจิตวิญญาณทางศาสนาอีกด้วยเพราะต้นอินทผลัมเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่ให้ผลวิเศษและเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม

สำหรับชาวอาหรับแล้วต้นอินทผลัมถือเป็นพันธุ์ไม้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพวกเขามากกว่าพันธุ์ไม้ชนิดอื่น อินทผลัมเป็นทั้งอาหารและผลไม้ทานเล่น ตลอดจนมีสรรพคุณทางยา ทุกส่วนของอินผลัมล้วนแต่แปรรูปได้ในการเอาประโยชน์หลากหลาย ไม่ต่างอะไรกับต้นกล้วยและไม่ไผ่สำหรับคนไทยและผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์นี้

และการเลือกเอาสัญลักษณ์ต้นอินทผลัมมาเป็นเครื่องหมายสำหรับกองลูกเสือทั่วโลกถือเป็นความชาญฉลาดอีกด้วย เพราะเป็นสัญลักษณ์กลางที่ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นเรื่องในมิติของศาสนาเพียงอย่างเดียวแต่สามารถอธิบายได้ในเชิงรหัสยนัยและอุดมคติทางจริยธรรมทั่วไป ต่างจากสัญลักษณ์จันทร์เสี้ยวและไม้กางเขนซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ามีคติทางศาสนาเกี่ยวข้องอยู่

หากลอร์ด บาเดน เพาเวลเลือกเอาไม้กางเขนหรือกากบาทมาเป็นสัญลักษณ์กองลูกเสือ แน่นอนกลุ่มประเทศมุสลิมก็ย่อมไม่เห็นด้วย ในทางกลับกันถ้าหากเลือกใช้จันทร์เสี้ยวกลุ่มประเทศตตะวันตกที่เป็น คริสตชนส่วนใหญ่ก็คงไม่ยอมรับเช่นกัน แต่เมื่อเลือกใช้สัญลักษณ์ต้นอินทผลัมทุกฝ่ายก็ยอมรับได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจแต่อย่างใด เหตุนี้กองลูกเสือจึงเป็นองค์กรหรือขบวนการของยุวชนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกดังที่ทราบกันในปัจจุบัน

والله ولي التوفيق