เมื่ออิสลามตกเป็นจำเลยในกรณีของนาลันทามหาวิหาร

ดูเหมือนว่า พุทธศาสนิกชนที่รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในชมพูทวีปหรืออินเดียในทุกวันนี้จะจดจำแต่เฉพาะเหตุการณ์ครั้งหลังสุดที่เป็นการทำลายล้างพุทธศาสนาของกองทัพชาวเติร์กมุสลิมที่กรีฑาทัพเข้ารุกรานอินเดียในราวคริสตศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา เหตุการณ์การทำลายวัดวาอาราม การเข่นฆ่าพระสงฆ์ การเผาทำลายและปล้นสะดมภ์ทรัพย์สินมีค่า ตลอดจนการเผาตำราและคัมภีร์ในหอสมุดของนาลันทามหาวิหารตลอดเวลา 2 เดือน ถือเป็นฉากสุดท้ายที่ปิดหน้าประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในอินเดียลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและน่าสยดสยองอย่างที่ยากจะลืมเลือน

แน่นอนฉากสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความป่าเถื่อน และสะเทือนใจเป็นสิ่งที่ปุถุชนมักจดจำมากกว่าฉากใดๆ ก่อนหน้านั้น แม้ทุกวันนี้เหตุการณ์จะผ่านพ้นไปหลายศตวรรษแล้วก็ตาม เรื่องราวอันขมขื่นแห่งนาลันทามหาวิหารยังคงถูกถ่ายทอดและจดจารเล่าขานสืบต่อกันมา โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์การกระทบกระทั่งะหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในประเทศสารขัณฑ์ที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาและมีกลุ่มชาวมุสลิมที่เริ่มแสดงบทบาททางการเมืองและการปกครองปรากฏชัดจนสร้างความวิตกและกังวลของพุทธศาสนิกชนบางกลุ่มซึ่งมีทั้งพระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัท

วาทกรรมแห่ง “นาลันทา” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อปลุกจิตสำนึกและเร่งเร้าความรู้สึกหวงแหนศาสนาและการปกป้องพุทธศาสนาให้พ้นภัยคุกคามจากชาวมุสลิมที่เป็นศาสนิกชนเดียวกันกับกองทัพเติร์กผู้ทำลายล้าง “นาลันทา” ลงอย่างสิ้นซากเมื่อหลายศตวรรษก่อน เพียงแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นซ้ำรอยกันคนละดินแดนเท่านั้น เหตุการณ์ในอดีตเกิดขึ้นในอินเดีย แต่เหตุการณ์ปัจจุบันกำลังเกิดขึ้นในดินแดนของประเทศสารขัณฑ์ที่ถือว่ากันเป็นศูนย์กลางสำคัญที่สุดของพุทธศาสนาในโลกทุกวันนี้

ความวิตกจริตและความกังวลของพุทธศาสนิกชนในประเทศสารขัณฑ์ที่มีต่อปรากฏการณ์การรุกคืบของชาวมุสลิมในด้านการเมืองและการปกครองแบบประชาธิปไตยได้รุนแรงมากขึ้นภายหลังการรัฐประหารรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โดยกองทัพที่มีผู้บัญชาการกองทัพบกในเวลานั้นเป็นมุสลิม กอปรกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกลุ่มขบวนการที่มีความเป็นมุสลิมเป็นองค์ประกอบหลักทั้งในมิติทางศาสนาและอุดมการณ์

ติดตามมาด้วยการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มองค์กรพุทธศาสนาซึ่งมีทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสก่อนการคลอดรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ให้มีการกำหนดพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในมาตราหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ทั้งหมดถูกนำมาร้อยเรียงปะติดปะต่อกันเพื่อให้เห็นว่า หากพุทธศาสนิกชนไม่ตื่นตัว ไม่รู้เท่าทัน ต่อแผนการยึดครองประเทศสารขัณฑ์ของชาวมุสลิมแล้ว

เหตุการณ์นาลันทาจะเกิดขึ้นซ้ำรอยในดินแดนของพุทธศาสนาอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เป็นนาลันทาที่สมมุติกันว่าอยู่ในประเทศสารขัณฑ์ ไม่ใช่อินเดีย ปิศาจเติร์กมุสลิมก็จะฟื้นคืนชีพและสร้างความพินาศให้แก่พุทธนาวาอีกคราดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อหลายศตวรรษก่อน สิ่งเหล่านี้มีปรากฏให้ได้เห็นทั้งในรูปการบรรยาย การแสดงความคิดเห็น และบทความในโลกของอินเตอร์เน็ตหรือแม้กระทั่งในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ของกลุ่มองค์กรพุทธศาสนาก็มีให้ได้ฟังและได้ชมตลอดจนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป

สำหรับชาวมุสลิมในประเทศสารขัณฑ์แล้ว น้อยคนนักที่จะรับรู้เรื่องราวและคำจำกัดความของ นาลันทามหาวิหาร และในทำนองเดียวกัน คงมีมุสลิมเพียงไม่กี่คนที่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชนชาติเติร์กเชื้อสายอัฟกันในเอเซียกลาง รัฐสุลต่านแห่งเดลฮี หรือแม้กระทั่งความเกรียงไกรของจักรวรรดิ์โมกุลในอินเดีย สิ่งเหล่านั้นแทบจะไม่มีอยู่ในห้วงความคิดทางภูมิปัญญาว่าด้วยประวัติศาสตร์สากลของมุสลิมโดยทั่วไป ยกเว้นในกลุ่มของนักวิชาการหรือกลุ่มปัญญาชนที่เคยไปศึกษาร่ำเรียนที่ประเทศอินเดียหรือปากีสถานเท่านั้น

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็อาจจะอธิบายได้ว่า เพราะชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศสารขัณฑ์เป็นชนชาติมลายูที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ห่างไกลจากอินเดีย เพราะพวกเขาอยู่ในแหลมมลายูมาแต่เดิมแล้ว ถึงแม้ว่าในยุคหนึ่ง ชนชาติมลายูจะได้รับอิทธิพลจากแหล่งอารยธรรมในอินเดียอย่างเข้มข้นมาก่อนก็ตาม โดยเฉพาะการแผ่ขยายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ดังปรากฏร่องรอยของอิทธิพลดังกล่าวทั้งในสุมาตรา ชวา และแหลมมลายูทางตอนใต้ ต่อมาเมื่อชนชาติมลายูได้รับนับถือศาสนาอิสลามที่แผ่มาถึงแล้ว ความเกี่ยวพันกับแหล่งอารยธรรมในอินเดียก็เบาบางลง

เรื่องราวของนาลันทามหาวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ครั้งหนึ่ง กษัตริย์มลายูแห่งศรีวิชัยได้เคยสร้างวัดถวายเอาไว้ที่นาลันทาก็คงสูญหายไปจากการรับรู้ของชาวมลายูที่กลายเป็นมุสลิมไปโดยส่วนใหญ่แล้วในภูมิภาคนี้ ดังนั้นเมื่อมีชาวพุทธตั้งคำถามกับชาวมลายูมุสลิมในยุคปัจจุบันเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ว่าทำไมชาวมุสลิมจึงต้องเผาทำลายนาลันทามหาวิหารและเข่นฆ่าพระภิษุสงฆ์ลงเป็นอันมาก

ชาวมุสลิมมลายูซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในนิวาสถานเดิมของพวกเขาในประเทศสารขัณพ์ก็คงมึนงงกับคำถามที่พุ่งเป้ามายังพวกเขาเป็นธรรมดา พวกเขานึกไม่ออกว่า มุสลิมไปเผาสถานที่ดังกล่าวซึ่งพวกเขาไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าตั้งอยู่ที่แห่งหนตำบลใดตั้งแต่เมื่อใด บางคนอาจจะถามกลับด้วยซ้ำไปว่า นาลันทา อะไร? ไม่เคยได้ยิน นาทวีหรือเปล่า หรือว่าอาณาจักรล้านนา ถ้าเป็นที่ล้านนา มุสลิมพวกไหนกันที่เคยไปเผาวัดวาอารามที่นั่น?

ส่วนที่ อ.นาทวีนั้นเรื่องนี้ไม่มีแน่ เท่าที่จำได้ ทั้งหมดมิใช่เป็นการทำตัวไขสือหรือโมเมบ่ายเบี่ยง แต่เพราะไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน “นาลันทา” มาก่อนนั่นเอง การที่ชาวพุทธรู้จักและสนใจเรื่องราวของนาลันทาคงไม่ใช่เรื่องแปลก และการที่ชาวมลายูไม่รู้จักไม่เคยได้ยินเรื่องราวของนาลันทาก็ย่อมมิใช่เรื่องแปลกเช่นกัน แต่เรื่องแปลกอยู่ที่การตั้งคำถามของชาวพุทธเกี่ยวกับนาลันทากับชาวมุสลิมในปัจจุบันนั่นเอง

ต่อให้เป็นการตั้งคำถามกับชาวอินเดียมุสลิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐพิหารประเทศอินเดียก็ตามเถอะ ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับพวกเขาไม่น้อยเช่นกัน ถึงแม้ว่าชาวมุสลิมบางคนอาจจะอาศัยอยู่ในเขต อำเภอที่นาลันทาตั้งอยู่ก็ตาม ก็ย่อมแปลกอยู่ดี ต่อคำถามที่ว่าทำไมถึงแปลก คำตอบก็คงหนีไม่พ้นจากเหตุผลพื้นๆ ที่กินกับปัญญาโดยสนิท

– เพราะมุสลิมอินเดียทุกวันนี้ไม่ใช่ผู้กระทำกับนาลันทามหาวิหาร สำหรับมุสลิมมลายูในประเทศสารขัณฑ์ยิ่งหากไกลออกไปอีกต่อเหตุผลในเรื่องนี้ เพราะพวกเขามิใช่คนที่อยู่ในอินเดีย แต่อยู่ในประเทศสารขัณฑ์ที่ประชากรส่วนใหญ่ถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทหรือหีนยาน

– เพราะมุสลิมอินเดียทุกวันนี้ไม่ได้เข้าร่วมในกองทัพของชาวเติร์กที่รุกรานอินเดีย และเผาทำลายเทวสถานของฮินดูหรือมหาวิหารในพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นที่ตักศิลา วิกรมศิลา อะชันตาสารนาถ ปาฏลีบุตร อุชเชนี หรือวัลละภี พวกเขาเป็นประชากรของอินเดียที่บรรพบุรุษของพวกเขาผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และทุกวันนี้พวกเขาคือชาวอินเดียที่มีชาวมุสลิมเป็นโครงสร้างของสังคมและประวัติศาสตร์ชาติเคียงคู่กับชาวฮินดู-พราหมณ์ พวกเชน พวกซิกข์ พวกคริสต์ หรือแม้แต่ชาวพุทธเองก็ตาม

– เรื่องโศกนาฏกรรมที่ “นาลันทามหาวิหาร” หรือสถานที่ใดๆ ก็ตามในประเทศอินเดียเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 12 หรือย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ไม่มีชาวเติร์กมุสลิมคนใดที่ยังคงมีชีวิตอยุ่ในทุกวันนี้ เพราะถ้ามีก็แสดงว่าบุคคลผู้นั้นมีอายุมากกว่า 500 ปี และมุสลิมในอินเดียทุกวันนี้ก็มิได้สืบเชื้อสายมาจากพวกเติร์กเหล่านั้นทั้งหมดเพราะพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งบางส่วนอาจจะย้อนกลับไปยังผู้คนที่รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมแห่งนาลันทานั้นก็ได้

– เห็นจะมีเหตุผลอยุ่เพียงข้อเดียวสำหรับการตั้งคำถามของชาวพุทธเพื่อเอาผิดในเรื่องนี้กับชาวมุสลิมนั่นคือ เพราะพวกเติร์กที่เผานาลันทามหาวิหารถือศาสนาเดียวกันกับชาวมุสลิมในปัจจุบันทั้งที่อินเดียและที่ประเทศสารขัณฑ์ คือ ศาสนาอิสลาม นั่นเอง การใช้เหตุผลข้อนี้เพื่อทวงถามถึงความรับผิดชอบต่อชะตากรรมของนาลันทามหาวิหาร เป็นการใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล หากจะพูดแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อมก็คือ นี่มิใช่เรื่องของเหตุผลแต่เป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ

ความรู้สึกในด้านหนึ่งผูกพันและประทับใจกับความยิ่งใหญ่ของนาลันทามหาวิหาร ถึงแม้ว่าผู้ถามจะไม่ใช่ชาวพุทธฝ่ายมหายาน หรือเห็นด้วยกับลัทธิตันตระนิกายก็ตาม ความภาคภูมิใจต่อมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นเรื่องของชาวพุทธโดยรวมที่มิได้เอาเรื่องของนิกายมาแบ่งแยก เพราะเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา ชาวพุทธทุกคนไม่ว่าจะถือนิกายใดต่างก็อิ่มเอมและหัวใจพองโตเมื่อพูดถึงนาลันทามหาวิหาร แต่ความรู้สึกในอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

นั่นคือ ความขมขื่นและชิงชังที่มีต่อผู้ทำลายล้างความยิ่งใหญ่ของนาลันทามหาวิหารซึ่งก้าวล่วงไปสู่การสูญสิ้นของพุทธศาสนาในอินเดีย และความรู้สึกในด้านนี้จะปรากฏออกมาไม่มากก็น้อยทุกครั้งที่มีคนพวกเดียวกับพวกที่เหี้ยมโหดเหล่านั้นได้แสดงบทบาทในเชิงรุกที่เข้าใจว่าเป็นการคุกคามต่อพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าคนพวกนั้นจะอยู่ต่างยุคต่างสมัย อยู่ต่างดินแดน และมีการแสดงบทบาทที่ต่างกรรมต่างวาระกันก็ตาม


“จากนาลันทาสู่ปัตตานี แผนการยึดครองประเทศ” นี่เป็นเพียงถ้อยคำตัวอย่างที่แสดงความรู้สึกของชาวพุทธซึ่งปรากฏอยู่ในเวบไซด์หนึ่ง “มุสลิมคือผู้ทำลายล้างพระพุทธศาสนาในอินเดียและอินโดนีเซีย” นี่ก็อีกเช่นกัน เป็นประโยคที่ตอกย้ำในจิตใจของชาวพุทธอยู่เนืองๆ ว่าศัตรูของพุทธศาสนาก็คืออิสลามและมุสลิม

เรื่องราวการวางระเบิดพระพุทธรูปแกะสลักยืนที่สูงที่สุดในโลกของกลุ่มตอลิบานในเมืองบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถานก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำทับความรู้สึกของชาวพุทธที่มีต่อชาวมุสลิมโดยทั่วไป เลยไปถึงการบุกโจมตีกวาดล้างรัฐบาลตอลิบานในเวลาต่อมาโดยกองทัพของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศพันธมิตร ซึ่งมีชาวพุทธบางส่วนเชื่อว่าเป็นผลกรรมที่ตอลิบานกระทำกับพระพุทธรูปแห่งเมืองบามิยัน

ย้อนกลับมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศสารขัณฑ์ ข่าวการทำร้ายพระภิกษุขณะออกบิณฑบาตรก็ตอกย้ำความรู้สึกของชาวพุทธเข้าไปอีกจนทำให้ความรู้สึกที่มีต่อชาวมุสลิมกลายเป็นภาพที่เป็นจริงว่า มุสลิมเป็นภัยคุกคามต่อพุทธศาสนาและชาวพุทธสมจริงแล้ว ไม่ว่าพวกมุสลิมจะอยู่ในยุคสมัยใดก็ตาม พวกเขาไม่ต่างอะไรเลยจากพวกเติร์กมุสลิมที่เผานาลันทา การเชื่อมโยงของวลีที่ปรากฏในเวบไซด์จึงเป็นเรื่องที่สมจริงไปโดยปริยาย และการเหมารวมจึงเกิดขึ้นอย่างที่ยากจะเลี่ยง

มุสลิมและศาสนาอิสลามตกเป็นจำเลยต่อความรู้สึกนั้นและถูกพิพากษไปแล้วว่าเป็นภัยคุกคามตลอดกาลของพุทธศาสนา เราคงไม่อาจจะกล่าวได้ว่า นั่นเป็นความรู้สึกทั้งหมดของชาวพุทธทุกคน ชาวพุทธจำนวนมิใช่น้อยอาจจะไม่คิดและไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นก็ได้ กระนั้นเราก็มิอาจกล่าวได้เช่นกันว่า ไม่มีชาวพุทธคนใดที่คิดเช่นนั้นเลยแม้แต่คนเดียว แต่อย่างน้อยสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกของอินเตอร์เน็ตและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมขององค์กรในพุทธศาสนาก็ย่อมเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีว่ามีชาวพุทธบางคนหรือหลายคนมีความเชื่อว่าความรู้สึกในเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง

ที่สำคัญผู้ที่แสดงความเชื่อนั้นเป็นพระภิกษุสงฆ์ด้วยซ้ำไป แน่นอนความเชื่อย่อมเป็นที่รับฟังและเห็นด้วยของบุคคลอีกเป็นจำนวนมิใช่น้อยที่เป็นพุทธบริษัท เพราะพระภิกษุสงฆ์แต่ละท่านย่อมมีญาติโยมที่นับถือและเคารพเลื่อมใสและเชื่อในสิ่งที่พวกท่านกล่าวโดยสนิทใจ

หากเราในฐานะของมุสลิมจะแสวงหาเหตุผลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อมาหักล้างข้อกล่าวอ้างและคำพิพากษที่ตัดสินลงไปแล้วโดยเบ็ดเสร็จในกรณีโศกนาฏกรรมที่นาลันทามหาวิหารและแก้ตัวให้แก่การกระทำของกองทัพชาวเติร์กมุสลิมในอดีตก็คงเป็นสิ่งที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง แน่นอนข้อหักล้างส่วนหนึ่งก็จะพุ่งเป้าไปยังสภาพของชาวพุทธและหลักคำสอนของพุทธศาสนาในอดีตที่เกี่ยวข้องกับนาลันทามหาวิหารเอง

ซึ่งนั่นก็ย่อมทำให้ชาวพุทธอีกหลายคนรับไม่ได้กับการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อคำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมาจากปากคำของจำเลยหรือมุมมองของคนต่างศาสนาซึ่งเป็นศาสนาเดียวกับพวกกองทัพเติร์กที่เผาทำลายนาลันทาและทำให้พุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดียและจากดินแดนอื่นๆ ที่ครั้งหนึ่งเป็นพุทธภูมิมาก่อน

สำหรับชาวมุสลิมที่เข้าใจในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างตรงไปตรงมาแล้ว พวกเขาจะไม่เอาพฤติกรรมของกลุ่มชนถึงแม้ว่าจะเป็นมุสลิมด้วยกันเอามาเป็นหลักในการตัดสินชี้ขาดความถูกผิด แต่พวกเขาจะใช้หลักธรรมคำสอนของศาสนาที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือแลเพียงพอมาเป็นข้อตัดสินชี้ขาดพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มชนว่าถูกหรือผิด

และแน่นอนความรู้สึกใดๆ ก็ตามย่อมไม่มีอิทธิพลเหนือคำตัดสินของหลักคำสอนทางศาสนาทีมีปรากฏอย่างชัดเจนในคัมภีร์อัล-กุรอาน และวจนะของศาสนทูตแห่งอิสลามตลอดจนวิถีปฏิบัติของเหล่าศรัทธาชนในยุคของบรรดาสาวกและผู้คนในยุคแรกของอิสลาม ซึ่งสิ่งนี้แหล่ะที่เราในฐานะผู้ศรัทธาจะนำมาเป็นบรรทัดฐานในกรณีของนาลันทามหาวิหารและกรณีอื่นๆ ที่คล้ายกัน

เนื่องจากคัมภีร์อัล-กุรอานคือธรรมนูญสูงสุดสำหรับชาวมุสลิมทุกคนไม่ว่ามุสลิมผู้นั้นจะมีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยใด อยู่ในภูมิภาคใดของโลก และไม่ว่ามุสลิมผู้นั้นจะเป็นกษัตริย์, กาหลิบ (เคาะลีฟะฮฺ) สุลต่าน (สุลฏอน) อะมีร (เจ้าชาย, ผู้นำ) หรือเป็นแม่ทัพนายกอง เป็นทหารหรือขุนศึก เป็นปราชญ์หรือเป็นผู้มีสถานะภาพทางสังคมเช่นใดก็ตาม มุสลิมจะได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมที่แท้จริงก็ต่อเมื่อศรัทธาและยอมรับต่อข้อชี้ขาดของคัมภีร์อัล-กุรอานโดยดุษฎี

เราจึงขอนำพระบัญญัติในคัมภีร์อัล-กุรอานมาแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ก่อนเป็นอันดับแรก ดังนี้

ทุกสิ่งที่ถูกสร้างย่อมถึงกาลแตกดับเมื่อสิ้นอายุขัย อัล-กุรอานระบุดังนี้

كُلُّ نَفْسٍ ذَائِقَةُ الْمَوْتِ     ความว่า “ทุกชีวิตย่อมได้ลิ้มรสความตาย”

كُلُّ شَيْءٍ هَالِكٌ إِلَّا وَجْهَهُ   لَهُ الْحُكْمُ وَإِلَيْهِ تُرْجَعُونَ     ความว่า “ทุกสรรพสิ่งย่อมวิบัติยกเว้นพระพักต์ของพระองค์ การตัดสินเป็นสิทธิของพระองค์ และยังพระองค์พวกเจ้าจะถูกนำกลับคืน”  (อัล-เกาะศ็อด 88)

كُلُّ مَنْ عَلَيْهَا فَانٍ ﴿٢٦﴾   وَيَبْقَىٰ وَجْهُ رَبِّكَ ذُو الْجَلَالِ وَالْإِكْرَامِ ﴿٢٧     ความว่า “ทุกผู้ที่อยู่บนหน้าพิภพย่อมดับสูญ และพระพักต์แห่งองค์อภิบาลของท่านอันยิ่งใหญ่ และเกริกเกียรติย่อมเป็นนิรันดร์”  (อัร-เราะหฺมาน 26-27)

وَلِكُلِّ أُمَّةٍ أَجَلٌ ۖ فَإِذَا جَاءَ أَجَلُهُمْ لَا يَسْتَأْخِرُونَ سَاعَةً ۖ وَلَا يَسْتَقْدِمُونَ     ความว่า “และสำหรับทุกๆ ประชาชาติย่อมมีกำหนดแห่งการสิ้นสุด ดังนั้น เมื่อกำหนดแห่งการสิ้นสุดได้มายังพวกเขาแล้ว พวกเขาย่อมไม่สามารถขอให้กำหนดแห่งการสิ้นสุดนั้นล่าช้าออกไปแม้เพียงโมงยามและพวกเขาย่อมไม่อาจขอให้กำหนดแห่งการสิ้นสุดนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้ากำหนดนั้นได้เลย”   (อัล-อะอฺร็อฟ 34)

การสิ้นสุดลงแห่งอายุขัยของทุกสรรพสิ่งบนหน้าพิภพนี้เป็นสัจธรรมที่แน่นอน เกิดขึ้นกับทุกชีวิต ทุกกลุ่มชนไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในชนชั้นวรรณะใดก็ตาม จะเป็นบรรพชิตผู้บำเพ็ญตนเคร่งครัดหรือเป็นฆราวาส ไม่มีผู้ใดได้รับข้อยกเว้น แม้ศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็สิ้นชีพเมื่อกำหนดเวลาแห่งการสิ้นสุดลงแห่งอายุขัยของท่านได้มาถึง แม้พุทธสมณะโคดมก็ทรงดับขันธปรินิพพาน อาณาจักรโมริยะอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพระเจ้าอโศกมหาราชก็ถึงกาลแตกดับ

มหานครแบกแดดอันรุ่งเรืองของชาวมุสลิมก็ถึงกาลเสื่อมและดับสูญ จักรพรรดิ์โรมันและเปอร์เซียที่เคยแผ่แสนยานุภาพตลอดช่วงระยะเวลาหลายศตวรรษก็หลีกหนีไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนียที่เกรียงไกรก็มิรอดจากความตายเช่นกัน เจงกิสข่านและมหาอาณาจักรมองโกลที่แผ่ครอบคลุมไปค่อนโลกก็ดับสูญและสิ้นแรง เพราะทุกสิ่งอยู่ภายใต้กฏของกาลเวลามีจุดเริ่มต้นก็มีสิ้นสุดเป็นธรรมดา

นาลันทามหาวิหาร ตักศิลา วิกรมศิลา และอื่นๆ ก็ย่อมไม่พ้นจากสัจธรรมข้อนี้ ต่อให้รุ่งเรืองและยิ่งใหญ่เพียงใดก็มิอาจยื้อเวลาออกไปได้อีกแม้เพียงโมงยาม สอดคล้องกับหลักคำสอนของพุทธที่ประกาศเอาไว้นับแต่ครั้งพุทธกาลว่าทุกสิ่งล้วนแต่อนิจจัง ไม่เที่ยงเป็นธรรมดา

– ทุกชีวิตย่อมได้รับผลกรรมที่ประพฤติไว้ในช่วงอายุขัยของตน ชีวิตใดประพฤติดี ย่อมได้รับผลดี แห่งพฤติกรรมดีนั้น ชีวิตใดประพฤติกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่วแห่งพฤติกรรมชั่วนั้น ทุกชีวิตมีผลกรรมเป็นเครื่องจองจำ แต่ละชีวิตต้องแบกรับผลกรรมที่ขวนขวายเอาไว้ ไม่มีการแบกรับความผิดของผู้อื่นแต่อย่างใด

อัล-กุรอาน ระบุว่า

مَّنْ عَمِلَ صَالِحًا فَلِنَفْسِهِ ۖ وَمَنْ أَسَاءَ فَعَلَيْهَا ۗ وَمَا رَبُّكَ بِظَلَّامٍ لِّلْعَبِيدِ     ความว่า “ผู้ใดประพฤติคุณความดี นั่นย่อมเป็นผลกรรมดีสำหรับตัวของผู้นั้น และผู้ใดประพฤติชั่ว นั่นก็เป็นผลร้ายต่อตัวของเขาเอง และพระผู้อภิบาลของท่านมิทรงอยุติธรรมต่อบรรดาบ่าวเลย” (ฟุศสิลัต 46)


تِلْكَ أُمَّةٌ قَدْ خَلَتْ ۖ لَهَا مَا كَسَبَتْ وَلَكُم مَّا كَسَبْتُمْ ۖ وَلَا تُسْأَلُونَ عَمَّا كَانُوا يَعْمَلُونَ     ความว่า “นั่นคือประชาชาติหนึ่งที่ผ่านพ้นมาแล้วโดยแน่แท้ สำหรับประชาชาตินั้นคือสิ่งที่พวกเขาขนขวายไว้และสำหรับพวกท่านนั้นคือสิ่งที่พวกท่านขวนขวายเอาไว้ และพวกท่านจะไม่ถูกถามถึงสิ่งที่พวกเขาได้เคยกระทำเอาไว้” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 141)

كُلُّ امْرِئٍ بِمَا كَسَبَ رَهِينٌ     ความว่า “บุคคลแต่ละคนย่อมถูกจำนองจองจำด้วยสิ่งที่เขาขวนขวายเอาไว้” (อัฏ-ฏูร 21)

وَلَا تَكْسِبُ كُلُّ نَفْسٍ إِلَّا عَلَيْهَا ۚ وَلَا تَزِرُ وَازِرَةٌ وِزْرَ أُخْرَىٰ     ความว่า “และทุกๆ ชีวิตที่จะไม่ขวนขวายสิ่งใดนอกเสียจากสิ่งนั้นย่อมส่งผลต่อชีวิตนั้นเอง และชีวิตใดที่ทำบาปเอาไว้จะไม่แบกรับบาปของชีวิตอื่น”  (อัล-อันอาม 164)

ด้วยหลักคำสอนของอิสลามดังที่ปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอานย่อมบ่งชี้ได้ว่า กรรมใดใครก่อ ผู้นั้นต้องรับผลกรรมที่ตนก่อเอาไว้ ผู้อื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการก่อกรรมนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดชอบหรือถูกถามถึงสิ่งที่ตนมิได้ก่อเอาไว้ ดังนั้นการที่ชาวมุสลิมเติร์กเข่นฆ่าผู้คนทั้งพระสงฆ์และฆราวาสตลอดจนเผาทำลายวัดวาอารามทั้งที่นาลันทาหรือที่อื่น นั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาได้ก่อเอาไว้ และคนมุสลิมในยุคปัจจุบันก็จะไม่ถูกถามถึงสิ่งที่กองทัพชาวเติร์กได้กระทำเอาไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน

หากพวกเขาได้เข่นฆ่าผู้บำเพ็ญศีลที่ไร้อาวุธ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำสงคราม นั่นก็เป็นความผิดที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ ชาวมุสลิมในยุคปัจจุบันไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใดเลยต่อความผิดที่ชนรุ่นก่อนได้ประพฤติและพากเพียรเอาไว้ แล้วจะให้ชาวมุสลิมแบกรับผลบาปที่พวกเขามิได้กระทำได้อย่างไรกัน ทั้งๆ ที่พวกเขาเกิดไม่ทัน และมิได้เข้าร่วมในกองทัพนั้น หากผู้คนในยุคปัจจุบันเที่ยวถามหาผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ผ่านพ้นมาแล้วนานนับศตวรรษ ผู้รับผิดต่อสิ่งเหล่านั้นก็ย่อมไม่พ้นผู้คนที่มีส่วนร่วมในการกระทำเมื่อครั้งอดีตอยู่ดี  

กล่าวคือ คนที่ต้องรับผิดชอบต่อการทำลายนาลันทามหาวิหาร ก็คือกองทัพชาวเติร์ก มิใช่ชาวตุรกีหรือชาวมุสลิมอินเดียในทุกวันนี้  ในทำนองเดียวกัน หากจะถามหาผู้รับผิดชอบต่อการล่มสลายของมหานครแบกแดดก็ต้องถามถึงกองทัพมองโกลของฮูลากูในเวลานั้น มิใช่ชาวมองโกลในทุกวันนี้

และหากจะถามถึงผู้รับผิดชอบต่อความวิบัติของกรุงศรีอยุธยาในครั้งอดีตก็ต้องถามถึงกองทัพพม่าในยุคพระเจ้ามังระ แห่งอังวะ รัตนบุรี มิใช่ถามหาความรับผิดชอบกับชาวพม่าที่เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศสารขัณฑ์ทุกวันนี้

ชาวยิวจำนวนนับล้านที่ถูกเข่นฆ่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นก็เป็นผลของการสร้างเวรสร้างกรรมของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และกองทัพนาซีเยอรมัน มิใช่สิ่งที่คนเยอรมันในยุคกำแพงเบอร์ลินพังทะลายจะต้องมารับผิดชอบ

หากไม่เป็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นการอาฆาตพยาบาทและจองเวรกับผู้คนในยุคหลังที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีต ผู้ที่มีอาการและความรู้สึกเช่นนี้เรียกว่า เป็นผู้มีที่ตั้งแห่งความอาฆาต 10 อย่าง พุทธองค์สอนเอาไว้มิใช่หรือว่า

“ผู้ผูกเวรว่า เขาด่าเรา เขาทำร้ายเรา เขาชนะเรา เขาลักของของเราไป เวรของผู้นั้นย่อมไม่ระงับ”

“ผู้ไม่ผูกเวรว่า เขาด่าเรา เขาทำร้ายเรา เขาชนะเรา เขาลักของของเราไป เวรของผู้นั้นย่อมระงับ”

“เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวรเลย ในกาลไหนๆ แต่ระงับด้วยการไม่จองเวรต่างหาก ธรรมนี้เป็นของเก่า”

“คนอื่นย่อมไม่รู้ด้วยหรอกว่า พวกเราย่อมย่อยยับกันลงไปในการจองเวรกันนี้เอง ในคนเหล่านั้นผู้ใดรู้ได้แต่นั้น ความหมายมั่น จองเวรของเขาย่อมระงับไป”

– การทำสงครามตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลามถูกกำหนดเงื่อนไขด้วยบัญญัติของศาสนา หาใช่เป็นการมุ่งทำลายชีวิตผู้คนได้ตามอำเภอใจ ส่วนหนึ่งจากเงื่อนไขนั้นคือการที่มุสลิมถูกอธรรม อัล-กุรอาน ระบุว่า

أُذِنَ لِلَّذِينَ يُقَاتَلُونَ بِأَنَّهُمْ ظُلِمُوا     ความว่า “ได้ถูกอนุมัติแก่บรรดาผู้ที่ถูกอธรรมในการที่พวกเขาจะสู้รบเพื่อปกป้องตนเองเนื่องด้วยเหตุที่พวกเขาถูกอธรรม”  (อัล-หัจญ์ 39)


เมื่อเราได้ย้อนกลับไปพิจารณาถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของอินเดีย เราจะพบว่าการทำสงครามของชาวมุสลิมในช่วงแรกกับอาณาจักรฮินดูโดยแม่ทัพ มุฮัมมัด อิบนุ กอสิม แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮฺเกิดขึ้นเพราะมุสลิมถูกคุกคามจากพวกฮินดูที่ส่งกองทหารมาปล้นสะดมภ์กองเรือของผู้จารึกแสวงบุญชาวมุสลิมที่มุ่งหน้าสู่นครมักกะฮฺ (เมกกะ) มีการสังหารบรรดาผู้จาริกแสวงบุญและละเมิดต่อชาวมุสลิมด้วยการจับชาวมุสลิมไปขายเป็นทาสในแคว้นสินธุ กองทัพของมุฮัมมัด อิบนุ กอสิม จึงทำการปราบปรามรัฐฮินดูในแคว้นสินธุและหยุดอยู่เพียงแค่นั้นโดยไม่มีการรุกคืนสู่อาณาเขตภายในของอินเดียอีกเลยเป็นเวลาถึง 300 ปี

และเมื่อแคว้นสินธุถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐมุสลิมในราชวงศ์อุมัยยะฮฺแล้วความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองฮินดูกับชาวอาหรับก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ออกไปในหมู่ชาวฮินดูโดยสงบ ไม่มีการบังคับและถูกกดขี่ การรุกรานของชาวมุสลิมต่ออินเดียในช่วงแรกจึงเป็นการตอบโต้ความอยุติธรรมของพวกเจ้าครองนครรัฐฮินดูที่กระทำกับชาวมุสลิมผู้จาริกแสวงบุญ

ต่างกับกรณีของการรุกรานและยกทัพจากเอเซียกลางของกองทัพชาวเติร์กเชื้อสายอาฟกันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของอินเดียในช่วงเวลา 300 ปีต่อมา นั่นเป็นการยกทัพเข้ามาปล้นสะดมภ์พลเมืองทางตอนเหนือของอินเดียซึ่งไม่มีหลักฐานในประวัติศาสตร์ยืนยันว่าพลเมืองอินเดียที่เป็นชาวฮินดูได้สร้างความอยุติธรรมต่อชาวมุสลิมก่อนแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าการรุกรานของกองทัพเติร์ก-อัฟกันเป็นเรื่องของการแสวงหาทรัพย์สงครามและเป็นการรุกรานด้วยการใช้สงครามที่รุนแรงโหดร้ายต่อพลเมืองของอินเดียตอนเหนือ

ถึงแม้ว่าจะมีข้อเขียนระบุว่าพวกกองทัพเติร์ก-อัฟกันกระทำการญิฮาดกับชนต่างศาสนาก็ตาม เพราะการญิฮาดต้องมีปัจจัยเหตุ เช่น การถูกอธรรม การถูกคุกคามจากศัตรู และการปิดกั้นหนทางในการเผยแผ่ศาสนาโดยสันติวิธีตลอดจนมีการคุกคามต่อคณะผู้เผยแผ่ศาสนา เป็นต้น

เราไม่มีหลักฐานยืนยันเลยว่ากองทัพของชาวเติร์ก-อัฟกันได้ส่งคณะผู้เผยแผ่ศาสนาโดยสันติวิธีเข้าสู่อินเดียภาคเหนือ หรือกระทั่งการเรียกร้องก่อนตัดสินใจทำสงครามกับชนต่างศาสนาให้ยอมจำนนต่ออิสลามหรือการยอมจ่ายภาษีญิซยะฮฺแก่รัฐมุสลิม แต่สิ่งที่เรารับรู้ก็คือพวกเติร์ก-อัฟกันเปิดศึกกับอินเดียภาคเหนือโดยตรง และมุ่งหวังในการรวบรวมทรัพย์สงครามที่กวาดมาได้จากการทำสงครามเป็นสำคัญ

สุลต่าน มะหฺมูด แห่งฆอซนะฮฺมีเจตนาแผ่เสนยานุภาพและอาณาเขตของอาณาจักรอัล-ฆอซนะวียะฮฺเข้าสู่ดินแดนของอินเดียโดยเข้าใจว่านั่นเป็นญิฮาดที่ชอบธรรมตามหลักคำสอนของศาสนาแต่นั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การประหัตประหารฆ่าฟันคนต่างศาสนาไม่ว่าจะเป็นฮินดูหรือพุทธโดยไม่มีการทุ่มเทความพยายามอย่างถึงที่สุดในการเผยแผ่ศาสนาโดยสันติวิธีเสียก่อนย่อมเป็นสิ่งที่ค้านกับหลักคำสอนของอิสลาม เพราะอิสลามมุ่งเอาชนะใจคนด้วยหลักคำสอนที่งดงามและสมบูรณ์ มิใช่มุ่งเอาชนะด้วยคมดาบและกำลังทหาร

แม่ทัพชาวอาหรับนามว่า อุกบะฮฺ อิบนุ อันนาฟิอฺ ผู้นำทัพชาวมุสลิมพิชิตดินแดนของชนชาติเบอร์เบอร์ในอาฟริกาเหนือเข้าใจสิ่งนี้ดี เหตุนี้แม่ทัพอุกบะฮฺ อิบนุ อันนาฟิอฺ จึงนำคำสอนของอิสลามเสนอแก่พวกเบอร์เบอร์ภายหลังการทำศึกที่ล้มเหลวในการเอาชนะใจพวกเขา เพราะถึงแม้ว่าจะได้ชัยชนะทางการทหารเหนือพวกเบอร์เบอร์ แต่การกบฏลุกฮือก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดจึงพบว่าต้องเอาชนะพวกเบอร์เบอร์ด้วยการเผยแผ่เรียกร้องสู่ศาสนาอิสลาม ซึ่งผลที่ตามมาก็คือพวกเบอร์เบอร์ได้เข้ารับอิสลามด้วยความเต็มใจและกลายเป็นกำลังสำคัญในการพิชิตอาฟริกาเหนือทั้งหมดและข้ามสู่ฝั่งสเปนในเวลาต่อมา

แม่ทัพมุฮัมมัด อิบนุ กอสิมผู้พิชิตแคว้นสินธุของอินเดียก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ เมื่อยึดครองแคว้นสินธุได้สำเร็จก็มุ่งเน้นในการปกครองพลเมืองด้วยความยุติธรรม และผูกมิตรกับพวกเจ้าครองนครรัฐฮินดู เมื่อชาวฮินดูเห็นถึงความสูงส่งแห่งอิสลามจากชาวอาหรับที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแคว้นสินธุ พวกฮินดูเป็นจำนวนมากก็พากันเข้ารับอิสลามด้วยความเต็มใจ แต่สุลต่าน มะหฺมูด แห่งฆอซนะฮฺ และพวกเติร์กแห่งเกอร์เลือกวิธีที่รุนแรงเป็นอันดับแรก คือสงครามและการแผ่แสนยานุภาพของพวกตนด้วยกำลังทหาร  ผลที่เกิดขึ้นจึงตามมาด้วยการต่อต้านของพวกฮินดูราชพุทธที่เป็นไปอย่างเหนียวแน่นและรุนแรง

อัลบัยรูนี ซึ่งติดตามมาในกองทัพของสุลต่านมะหฺมูดแห่งฆอซนะฮฺได้เขียนว่า “ประชาชนฮินดูได้ถูกเข่นฆ่าและต้องกระจัดกระจายปลิวว่อนไปทั่วทุกสารทิศเหมือนผงอณู เรื่องราวของสุลต่านมะหฺมูดได้กลายเป็นนิทานปรัมปราเล่าติดปากสืบทอดกันมา พวกที่มีชีวิตรอดอยู่ต่างก็จงเกลียดจงชังชาวมุสลิมอย่างเข้ากระดูกดำ” (เนห์รู “พบถิ่นอินเดีย” เล่มที่ 2 หน้า 823-3)

การดำเนินนโยบายทางการทหารของสุลต่าน มะหฺมูด อัลฆอซนะวียฺ บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ว่านั่นเป็นการญิฮาดกับชนต่างศาสนา หรือการแผ่ขยายอำนาจของสุลต่านมุฮัมมัด อัล-ฆูรีย์ในเวลาต่อมา เมื่ออาณาจักรอัลฆอซนะวียะฮฺล่มสลายโดยเข้าใจว่าเป็นการญิฮาดในศาสนาอาจจะได้รับการยกย่องจากนักบันทึกประวัติศาสตร์และนักปราชญ์ทางศาสนาบางคนก็จริงอยู่แต่ถ้าหากเราได้นำหลักคำสอนทางนิติศาสตร์อิสลามมาตรวจสอบลักษณะการญิฮาดก็จะพบว่ามีสิ่งที่ค้านกับหลักนิติศาสตร์และคำสอนอยู่หลายประการเลยที่เดียว

สุลต่าน มะหฺมูด อัล-ฆอซนะวียฺยกทัพบุกอินเดียภาคเหนือถึง 17 ครั้ง แล้วกวาดทรัพย์สงครามพร้อมด้วยพวกช่างฝีมือชาวอินเดียกลับสู่นครฆอซนะฮฺ เพื่อสร้างนครแห่งนี้ให้สวยงามโดยมิได้มุ่งสถาปนารัฐอิสลามขึ้นในอินเดียอย่างถาวร ารญิฮาดมิใช่การปล้นสะดมภ์และแสวงหาทรัพย์จากการก่อสงคราม แต่เป็นการเทิดทูนพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าให้สูงส่งด้วยการนำอิสลามเข้าสู่จิตใจของผู้คนและแสดงให้พวกเขาเห็นว่าอิสลามสูงส่งอย่างไร สิ่งนี้แทบจะไม่ปรากฏในการทำศึกทั้ง 17 ครั้งของพระองค์

สิ่งที่เหลือทิ้งไว้คือความจงเกลียดจงชังต่อชาวมุสลิมซึ่งหมายถึงอิสลามด้วย การเข่นฆ่าพลเมืองผู้บริสุทธิ์มิใช่เป็นการญิฮาดตามหลักคำสอนของอิสลาม หากแต่การญิฮาดที่แท้จริงคือการทำลายปราการที่ขวางกั้นเส้นทางของอิสลามที่จะเข้าสู่จิตใจของพลเมืองโดยสันติวิธี เมื่อการเผยแผ่อิสลามโดยสันติวิธีถึงทางตัน การญิฮาดจึงถูกบัญญัติขึ้นเพื่อทำลายปราการที่ขวางกั้นเส้นทางของการเผยแผ่และปราการที่จำต้องทำลายและขจัดออกไปจากเส้นทางนั้นก็คือกองทหารของศัตรูและชนชั้นผู้ปกครองที่ใช้อำนาจอย่างอยุติธรรม มิใช่พลเมืองที่เป็นผู้ถูกปกครองซึ่งพวกเขาเป็นเป้าหมายในการเผยแผ่อิสลามเป็นสำคัญ

เมื่อกองทัพของสุลต่านแห่งเติร์ก-อัฟกันลงดาบฆ่าฟันพลเมืองแล้ว นั่นก็เท่ากับเป็นการทำลายเป้าหมายในการเผยแผ่อิสลามไปโดยปริยาย กล่าวคือ แทนที่จะทุ่มสรรพกำลังเข้าต่อสุ้กับกองทหารของพวกราชพุทธและเหล่าชนชั้นปกครองที่กดขี่ประชาชน กองทัพเติร์กกลับเปิดฉากฆ่าฟันพลเมืองไปด้วยอย่างน่าเสียดาย และที่ว่าน่าเสียดายนี้ก็คือ สถานการณ์เป็นต่อสำหรับกองทัพอันเกรียงไกรของชาวเติร์ก-อัฟกัน พวกเขาสามารถยุติสงครามการแก่งแย่งของพวกราชพุทธที่รบราฆ่าฟันกันเองในช่วงก่อนหน้านั้น สงครามของพวกราชพุทธสร้างความเดือดร้อนแก่พลเมืองอินเดียเป็นอันมาก

หากสุลต่านมะหฺมูดมุ่งหวังญิฮาดเพื่ออิสลามจริงก็จะเลือกทำศึกและปราบปรามพวกราชพุทธและชนชั้นปกครองของฮินดูจนทำให้ความวุ่นวายจากสงครามกลางเมืองสงบลงโดยไม่แตะต้องชีวิตของพลเมืองโดยไม่จำเป็น แล้วปกครองพลเมืองด้วยความยุติธรรม พลเมืองของอินเดียก็ย่อมมองเห็นว่าพระองค์และกองทัพของพระองค์เป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่ก้าวเข้าสู่อินเดียเพื่อขจัดทุกข์เข็ญที่พวกเขาต้องประสบอยู่ หลังจากสถาปนาอำนาจเป็นที่มั่นคงแล้วก็เผยแผ่อิสลามได้โดยสันติวิธีเพราะปราการที่ขวางกั้นได้ถูกทำลายลงสิ้นแล้ว การยอมรับอิสลามด้วยความเต็มใจก็ย่อมมิใช่เรื่องยากอีกต่อไป และการทำศึกของพระองค์ก็จะเป็นการญิฮาดที่สมบูรณ์ตามหลักคำสอนของอิสลาม

และหากพระองค์ต้องการทรัพย์สงครามที่รวบรวมมาได้นั่นก็เป็นความชอบธรรมสำหรับพระองค์และกองทัพ เพราะทรัพย์สงครามที่รวบรวมมาได้จากชนชั้นผู้ปกครองชาวฮินดูก็คงมีจำนวนมหาศาลและเพียงพอในการสถาปนาความมั่นคงทางการเงินการคลังให้แก่อาณาจักรของพระองค์ แต่พระองค์ได้เลือกเอาวิธีอื่นนั่นคือเปิดศึกกับแผ่นดินอินเดียโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างย่อยยับแล้วกวาดทรัพย์สินกลับสู่นครฆอซนะฮฺ กองทัพของพระองค์มิใช่อัศวินขี่ม้าขาวแต่เป็นเสมือนปิศาจที่สร้างความหวาดกลัวแก่แผ่นดินอินเดีย

การทำศึกทั้ง 17 ครั้งจึงกลายเป็นการปล้นสะดมภ์และทำลายมากกว่าเป็นการญิฮาดตามหลักการของศาสนา ไม่มีความประทับใจใดๆ ทิ้งไว้ให้แก่พลเมืองอินเดีย มีแต่ความหวาดกลัวและความชิงชังเท่านั้น นี่คือเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนัก

การญิฮาดแบบสงคราม ( اَلْجِهَادُالْقِتَالِيُّ )  ถือเป็นรูปแบบการญิฮาดที่มีกฏระเบียบและเงื่อนไขกำหนดเอาไว้โดยเคร่งครัดตามหลักการของศาสนา กล่าวคือ มุสลิมจะไม่ก่อสงครามกับฝ่ายศัตรูจนกว่าจะไม่มีทางเลือกใดๆ เหลืออยู่อีกแล้ว นั่นหมายความว่ารัฐมุสลิมต้องทุ่มเทและใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วในการใช้แนวทางอย่างสันติวิธี ไม่ว่าจะเป็นการส่งสาส์นเชิญชวนเรียกร้องผู้ปกครองของรัฐที่มิใช่มุสลิมให้เข้ารับอิสลามด้วยความสมัครใจ หรือการทำสนธิสัญญาไม่รุกรานต่อกัน

การกำหนดเงื่อนไขในสนธิสัญญาว่าด้วยการรับรองความปลอดภัยของพลเมืองที่มีการค้าระหว่างกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้รัฐมุสลิมส่งคณะผู้เผยแผ่ศาสนาเข้าไปในรัฐคู่สัญญาที่มิใช่มุสลิมเพื่อเรียกร้องเชิญชวนพลเมืองของรัฐนั้นเข้าสู่อิสลามโดยเสรี และรัฐที่มิใช่มุสลิมซึ่งเป็นคู่สัญญาจะต้องให้สิทธิเสรีภาพแก่พลเมืองที่เข้ารับอิสลามในการประกอบศาสนกิจ และใช้ชีวิตตามวิถีทางของอิสลามโดยไม่ถูกลิดรอนหรือกดขี่

วิธีการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านศาสนทูต มุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กระทำเอาไว้เป็นแบบอย่างและถือเป็นตัวบททางศาสนาที่มุสลิมผู้ศรัทธาต้องปฏิบัติตาม ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ แห่งราชวงศ์อุมาวียะฮฺซึ่งมีอาณาเขตปกครองแคว้นสินธุของอินเดีย ได้มีสาส์นจากท่านเคาะลีฟะฮฺเชิญชวนเจ้าครองนครรัฐฮินดูในแคว้นกัษมีระ (แคชเมียร์) ให้เข้ารับอิสลาม แล้วเจ้าครองนครรัฐแห่งกัษมีระก็ยอมรับอิสลามด้วยความสมัครใจและดินแดนที่ว่านี้ก็ยังคงเป็นดินแดนของชาวมุสลิมโดยส่วนใหญ่จวบจนทุกวันนี้

ต่อเมื่อรัฐที่มิใช่มุสลิมแสดงความเป็นปรปักษ์และคุกคามต่อรัฐมุสลิม ไม่เปิดโอกาสให้มีการเผยแผ่อิสลามโดยสันติวิธีแก่พลเมืองของตนรัฐมุสลิมจึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการกดดันด้วยกำลังทหารซึ่งยังมิใช่เป็นการเปิดฉากทำสงครามเต็มรูปแบบเพราะโดยเงื่อนไขที่ศาสนาอิสลามกำหนดเอาไว้ก็คือต้องมีการยื่นข้อเสนอแก่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์เป็นครั้งสุดท้าย นั่นคือ ยอมรับอิสลาม หรือไม่ก็ยอมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลามในฐานะ ประชาคมแห่งพันธสัญญา (อะฮฺลุซซิมมะฮฺ)

กล่าวคือ ชนชั้นปกครองและพลเมืองของรัฐที่มิใช่มุสลิมยังคงมีสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนาของตนและได้รับการคุ้มครองทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ศาสนสถาน และการประกอบศาสนกิจได้ดังเดิมตราบใดที่มีการจ่ายภาษีญิซยะฮฺให้แก่รัฐมุสลิม หากรัฐที่มิใช่มุสลิมไม่ยอมรับข้อเสนอทั้ง 2 ประการนี้ การญิฮาดในรูปของสงครามจึงเกิดขึ้นโดยชอบธรรมเพราะหมดหนทางในการใช้กระบวนการโดยสันติวิธีแล้วนั่นเอง  

ทว่าเมื่อเราพิจารณาถึงการทำสงครามของกองทัพชาวเติร์ก-อัฟกันที่รุกรานอินเดีย เราไม่พบความชัดเจนใดๆ ในเรื่องที่กล่าวมาว่า สุลต่านของชาวเติร์ก-อัฟกันได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ว่านั้นหรือไม่ แต่สิ่งที่ค่อนข้างมีน้ำหนักก็คือ ไม่มีการให้ความสำคัญถึงกฏระเบียบดังกล่าว พวกเติร์ก-อัฟกันเปิดฉากรุกรานอินเดียโดยตรงแล้วก็กวาดเอาทรัพย์สินกลับไปยังราชธานีของตน เรื่องเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง แม้เมื่อพวกเติร์ก-อัฟกันได้สถาปนารัฐมุสลิมแห่งเดลฮีแล้วนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังและมีการสร้างตราบาปและความด่างพร้อยให้แก่ศาสนาอิสลามไปเรียบร้อยแล้ว

หากจะถือตามคำเยินยอของนักบันทึกประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมบางคนที่ว่า สุลต่านชาวเติร์ก-อัฟกันเป็นผู้  ญิฮาดกับชนต่างศาสนาในอินเดีย นั่นก็น่าจะเป็นเพียงคำเยินยอที่เกินเลย เพราะการญิฮาดในรูปแบบสงครามถูกกำหนดกฏระเบียบอันเป็นบัญญัติทางศาสนาเอาไว้โดยเคร่งครัด กล่าวคือ ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) จะกำชับกับกองทหารที่ท่านจะส่งออกสู่สมรภูมิทุกครั้งว่า

تَأَلَّفُوا النَّاسَ وتَأَنّوا بهم ، وَلَا تُغِيْرُوْا عَلَيْهم حَتَّى تَدْعُوْهُمْ ، فما على الأرضِ من أهل بَيْتٍ مِنْ مَدْرٍ وَلَا وَبْرٍ إلا أَنْ تَأْتُوْنِيْ مُسْلِمِيْنَ أَحَبُّ إِلَيَّ مِنْ أَنْ تَأتُوْنِيْ بأبنائِهِمْ وَنسائِهم وتقتلوا رِجَالَهُمْ

“พวกท่านจงแสดงความเป็นกันเองกับผู้คนจงผ่อนปรนกับพวกเขา และพวกท่านอย่าจู่โจมพวกเขาจนกว่าพวกท่านจะเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาสู่อิสลามเสียก่อน ไม่มีชาวบ้านชาวกระโจมบนหน้าผืนดินนี้ นอกเสียจากการที่พวกท่านนำพวกเขามาในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธาต่อฉันนั่นเป็นสิ่งที่ฉันปรารถนายิ่งกว่าการที่พวกท่านนำบุตรชายและเหล่าสตรีของพวกเขามายังฉันและพวกท่านได้สังหารบรรดาผู้ชายของพวกเขา” (ชัรหุซซิยัร อัล-กะบีร ; เล่มที่ 1/59)

มีวจนะของท่านศาสนทูต มุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ระบุเอาไว้หลายบทด้วยกันว่า ในกรณีที่เกิดสงครามหรือมีการญิฮาดกับชนต่างศาสนา การสังหารเด็ก ผู้หญิง คนชรา คนตาบอด คนป่วย คนที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้พิการและทุพพลภาพ คนที่ไร้ความสามารถในการเข้าร่วมทำสงคราม ชาวนาที่ทำไร่ไถนาในทุ่งนาของตน นักบวชและพวกนักพรตบำเพ็ญศีล ทั้งหมดถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามบัญญัติศาสนา ยกเว้นในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีส่วนร่วมในการทำสงครามก็อนุโลมให้สังหารได้ตามความจำเป็นในสภาวะสงคราม

นั่นหมายความว่าในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามพวกเขาย่อมได้รับการคุ้มครองด้วยศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลาม (อัล-กอนูน อัด-ดุวะลียฺ อัล-อาม ฟิล อิสลาม , ดร.อับดุลลอฮฺ ดัรรอซฺ หน้า 8, อัส-สิยาสะฮฺ อัช-ชัรอียะฮฺ ; อับดุลวะฮฺอาบ คอลล๊าฟ หน้า 88) ส่วนหนึ่งจากหลักฐานทางศาสนาในเรื่องนี้ คือ

จาก อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามการสังหารผู้หญิง

จาก อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) กล่าวว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งถูกฆ่าตายในบางสมรภูมิของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ท่านจึงห้ามการสังหารผู้หญิงและเด็ก (รายงานโดย อัล-ญะมาอะฮฺ ยกเว้น อัน-นะสาอียฺ)

จาก อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เคยส่งกองทัพของท่านออกทำศึกและกล่าวว่า “พวกท่านอย่าได้สังหารบรรดาผู้บำเพ็ญศีลในอาศรม” (รายงานโดย อะหฺมัด) ฯลฯ

แน่นอนหากกองทัพเติร์ก-อัฟกันเคร่งครัดในกฏระเบียบของการญิอาดพวกเขาก็จะต้องไม่เข่นฆ่าพระภิกษุสงฆ์ บรรดานักบวชสันยาสีของพวกฮินดู ตลอดจนเด็ก ผู้หญิง และพลเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำสงคราม แต่ประวัติศาสตร์บันทึกว่า เมื่อนักรบมุสลิมชาวเติร์กบุกมาถึงนาลันทามหาวิหาร พวกเขาเข้าใจว่านั่นเป็นป้อมปราการของศัตรู จึงบุกเข้าไปภายใน สิ่งที่พวกเขาพบก็คือ พระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากที่โกนศีรษะ ห่มผ้าเหลือง นั่งวิปัสสนากรรมฐาน เข้าฌานอยู่โดยไม่เคลื่อนไหว กระนั้นพวกเขาก็บั่นคอพระภิกษุสงฆ์รูปแล้วรูปเล่าโดยไม่มีการฉุกคิดสำนึกว่า พวกเขากำลังละเมิดคำสอนของท่านศาสนทูต และฝ่าฝืนคำสั่งที่มีตัวบททางศาสนาระบุห้ามเอาไว้อย่างชัดเจน

และนี่ย่อมมิใช่การญิฮาดตามหลักการของศาสนา แต่เป็นการเข่นฆ่าชีวิตที่ศาสนาอิสลามระบุห้ามเอาไว้ พวกเขาวางเพลิงเผาชาวพุทธที่หนีตายไปรวมตัวกันในมหาวิหารนาลันทา ทั้งๆ ที่ศาสนาอิสลามห้ามการวางเพลิงเผาสิ่งมีชีวิต แม้กระทั่งมดก็เป็นสิ่งต้องห้าม แต่นี่เป็นมนุษย์ที่ไม่ไดมีส่วนในการรบพุ่งต่อกรกับพวกเขาเลยแม้แต่น้อย ศาสนาอิสลามได้ตัดสินการกระทำของพวกเติร์ก-อัฟกันที่ฝ่าฝืนหลักศาสนบัญญัติของศาสนาอย่างเด็ดขาดแล้วว่า พวกเขาเป็นอาชญากรสงคราม มิใช่นักรบที่ทำการญิฮาดเพื่อเทิดทูนหลักคำสอนของศาสนาให้สูงส่ง

มิหนำซ้ำพวกเขาเป็นผู้กระทำให้ศาสนาอิสลามต้องมัวหมองและกลายเป็นสิ่งที่นำความหวาดกลัวเข้าสู่ภายในจิตใจของผู้คน ถึงแม้ว่าพวกเติร์ก-อัฟกันจะเป็นมุสลิมและอ้างว่าทำการญิฮาดเพื่ออิสลามก็ตาม แต่หลักคำสอนของศาสนาอิสลามต้องเหนือสิ่งอื่นใด และหลักคำสอนของอิสลามเท่านั้นคือบรรทัดฐานในการตัดสินการกระทำของพวกเขาว่าถูกหรือผิด และแน่นอนอิสลามบริสุทธิ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย

และมุสลิมที่รักความจริงก็ย่อมไม่อายหรือเสียหน้าที่จะยอมรับความจริง ความจริงที่ว่า กองทัพเติร์กมุสลิมที่รุกรานอินเดียทำผิดกฏข้อบังคับทางศาสนาว่าด้วยการทำสงครามหากเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่นาลันทา มหาวิหารเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าหากเรื่องที่ว่ามิใช่เรื่องจริง ความผิดพลาดในประเด็นว่าด้วยการเผยแผ่หลักคำสอนของศาสนาอิสลามโดยสันติวิธีก่อนการใช้สงครามเป็นวิถีทางสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่กองทัพของชาวเติร์ก-อัฟกันหลีกหนีไม่พ้นอีกเช่นกัน

มุสลิมบางคนที่นิยมชมชอบวีรกรรมและความกล้าหาญของสุลต่านมะหฺมูด แห่งฆอซฺนะฮฺ หรือความเด็ดขาดของสุลต่านมุฮัมมัด อัล-ฆูรียฺและกองทัพชาวเติร์ก-อัฟกันและเยินยอว่านั่นเป็นญิฮาดกับคนต่างศาสนาที่ชอบธรรม

มุสลิมบางคนที่ว่านี้อาจจะตั้งข้อสงสัย และกล่าวหาว่าผู้เขียนบทความนี้เขียนเอาใจชาวพุทธหรืออย่างไร และทำไมไม่ปกป้องมุสลิมด้วยกัน อย่างน้อยกองทัพชาวเติร์ก-อัฟกันก็เป็นมุสลิมเหมือนกัน เปล่าเลย! เราไม่ได้เขียนบทความนี้เพื่อเอาใจชาวพุทธและกล่าวโจมตีการกระทำของชาวมุสลิมในอดีต แต่เราเขียนบทความนี้เพื่อปกป้องอิสลามอันบริสุทธ์ต่างหาก และการปกป้องอิสลามก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมที่มีหลักคำสอนของอิสลามเป็นบรรทัดฐานในการตัดสิน และอิสลามสอนอยู่เสมอให้มุสลิมผู้ศรัทธาพูดความจริง ถึงแม้ความจริงนั้นมันจะขมขื่นเพียงใดก็ตาม

มุสลิมอาจทำผิดพลาดได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่อิสลามคือความจริงที่ไม่มีผิดพลาดนี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกัน และเราได้ยืนยันนับแต่เบื้องต้นแล้วว่า ความผิดพลาดที่มุสลิมรุ่นหนึ่งประพฤติเอาไว้ นั่นก็คือความผิดพลาดสำหรับคนรุ่นนั้น มุสลิมรุ่นหลังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโศกนาฏกรรม ณ นาลันทามหาวิหารเมื่อครั้งอดีต เมื่อมุสลิมในยุคปัจจุบันมิใช่จำเลยในคดีนี้ จึงไม่มีความชอบธรรมอันใดเลยที่จะยัดเยียดข้อหาให้แก่พวกเขา สำหรับชาวมุสลิมรุ่นหลังนั้น สิ่งที่พวกเขากระทำได้ก็คือ การขอลุแก่โทษจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ทรงอภัยต่อความผิดที่ชนมุสลิมรุ่นก่อนได้กระทำเอาไว้เท่านั้น!

والله ولي التوفيق