“แขก” บ่วงมายาคติ

         ชาวสยามเรียกขานประชาคมมุสลิมกลุ่มต่างๆ อย่างรวมๆ ว่า “แขก” โดยจำกัดความให้ใช้เรียกชนชาติต่างๆ ทางทิศตะวันตกของสยามประเทศที่เป็นชาว อินเดีย อิหร่าน อาหรับ หรือกลุ่มที่มาจากเอเซียกลาง ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนชนชาติอื่นๆ ที่อยู่ทางตะวันตกที่ไม่ใช่พวกฝรั่ง หรือพวกแขกที่นับถือศาสนาอิสลามก็เรียกว่า “แขก” ได้โดยอนุโลม เช่น แขกฮินดู  

        ภายหลังชนชาติมลายูก็ถูกเรียกขานว่า “แขก” ไปด้วย (เอกสารประกอบการสัมมนา ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา โดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฎธนบุรี หน้า 3)เมื่อกล่าวถึง “แขก” ท่านกาญจนาคพันธุ์ ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา ซึ่งก็คงถือเอารูปร่างหน้าตาและศาสนาที่นับถือต่างกันกับชาวสยาม ส่วนใหญ่การเรียกคนแปลกหน้าว่า “แขก” อาจมองได้ในแง่ที่ว่า แขกเป็นชาวต่างชาติพวกแรกที่เข้ามาติดต่อพบปะคนไทย (ย่านเก่าในกรุงเทพ, ปราณี กล่ำส้ม (2545) หน้า 52,53)  

        แต่ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำนิยมของคนแขกไว้เป็น 2 นัย คือ ผู้มาหา, ผู้มาแต่อื่น นอกจากนี้ “แขก” ยังใช้เป็นคำเรียกชาวอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน เนปาล มลายู ชาวเอเซียตะวันออกกลางและตะวันออกใต้  ยกเว้นยิว ชาว แอฟริกาเหนือและนิโกร ….”  หากจะว่าไปแล้ว คำแขกทั้ง 2 นัย นั้นจะนำมาใช้เรียกชาวมลายู อย่างที่ใช้กันว่า “แขกมลายู” ก็คงเพียงได้แค่อนุโลมและอ้างอิงถึงศาสนาอิสลามที่ชาวมลายูนับถือเมื่อร่วมพันปีที่ผ่านมา

        ซึ่งต่างจากชาวสยามส่วนใหญ่ที่นับถือในคนแปลกหน้าไม่ใช่พวกเดียวกันและการถูกเรียกว่าเป็นแขกมลายูก็คงมาเรียกกันเมื่อชาวมลายูหันมานับถือศาสนาอิสลามแล้วนั่นเอง ส่อเค้าว่าก่อนหน้านั้นชาวมลายูไม่ได้ถูกเรียกขานว่าเป็นคนแปลกหน้า เพราะรูปร่างหน้าตาก็มิได้ผิดเพี้ยนกับชาวสยามมากนัก โดยเฉพาะชาวสยามในหัวเมืองปักษ์ใต้อย่างแคว้นนครราชศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) แคว้นสทิงพระและแคว้นไชยา เป็นต้นความเชื่อของมลายูและชาวสยามเมื่อครั้งโบราณก็ผ่านการปรับเปลี่ยนและวิวัฒนาการมาจากความเชื่อในภูตผีปีศาจ แล้วก็เริ่มรับเอาอารยธรรมของอินเดีย (ชมพูทวีป)  อันได้แก่พราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธ ซึ่งมีทั้งพุทธแบบมหายานและหินยาน (เถรวาท)

 

        ในยุคที่ศาสนาอิสลามยังไม่ได้แผ่เข้ามายังภูมิภาคอุษาคเนย์ ความเป็นคนแปลกหน้าอย่างแขกสำหรับชาวมลายู จึงยังไม่ถูกนำมาใช้เรียกแบ่งแยกในช่วงเวลานั้น ต่อเมื่อพลเมืองในมาลัยทวีปและแหลมมลายูเริ่มรับ นับถือศาสนาอิสลามนี่เอง ชาวมลายูจึงถูกเหมารวมว่าเป็นแขกนับแต่บัดนั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ชาวมลายูอยู่ในคาบสมุทรมลายูอันเป็นส่วนปลายสุดของสุวรรณภูมิ (คืออุษาคเนย์ หรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้) มาแต่เก่าก่อน และเป็นพลเมืองของรัฐศรีวิชัย ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับรัฐทวารวดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และในรัฐศรีวิชัยก็เป็นนครรัฐทางการค้าที่เก่าแก่กว่าสุโขทัยเกือบ 1,000 ปี และน่าจะเป็นบรรพชนแท้จริงของสยามประเทศในทุกวันนี้  (มติชนฉบับวันพุธที่ 10 มีนาคม 2547)

        ตามตำราประวัติศาสตร์ที่ใช้เรียน – สอนกันในโรงเรียนทั่วประเทศมาช้านานบอกว่าคนไทย “อพยพ” มาจากที่อื่นทางทิศเหนือ แล้วตั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกเมื่อราว พ.ศ. 1800 ซึ่งถ้าเชื่อตามนี้ก็แสดงว่า “คนไทย” ไม่ใช่เจ้าของดินแดนประเทศไทยทุกวันนี้ แต่เป็น “แขก” แปลกหน้าเพิ่งอพยพเข้ามาราว พ.ศ. 1800 เขียนอย่างนี้คนคลั่งชาติบางกลุ่มก็คงคัดค้านเสียงแข็งว่าไม่จริง!

       แต่อย่างน้อยคนพวกนี้ก็คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ระบุว่ามีรัฐอิสระอยู่เก่าก่อนในสุวรรณภูมิก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และส่วนหนึ่งจากรับอิสระที่ถูกกล่าวถึงคือ รัฐของพลเมืองมลายูในมาลัยทวีปและแหลมมลายู ว่าจะมีชื่อว่าศรีวิชัย หรือลังกาสุกะ หรืออะไรก็ตาม ดังนั้นถ้าคนไทยไม่ถือว่าตนเป็นแขกแปลกหน้าที่เข้ามาทีหลังในแหลมสุวรรณภูมินี้ คนไทยก็ต้องเปิดอกยอมรับว่า พลเมืองหรือรัฐในอุดมคติมากนัก (สยามประเทศไทย, มติชน ฉบับวันอังคาร ที่ 9 มีนาคม 2547) 

        ความจริงการที่คนไทยแบ่งแยกคนกันเองว่า เป็นแขกแปลกหน้านั้นเคยมีตัวอย่างมาก่อนแล้วในกรณีของชาวหุยหุ้ย   ซึ่งท่านกาญจนาคพันธุ์   (สง่า กาญจนาคพันธุ์ หรือขุนวิจิตรมาตรา) อธิบายใน  “คอคิดขอเขียน”  ตอนหนึ่งว่า “ทางเหนือของเปอร์เซีย เป็นทะเลสาบแคสเปียน  แถวนั้นเป็นดินแดนที่เรียกว่า  ตุรกีสถาน  เป็นที่อยู่ของพวกเร่ร่อน  ซึ่งแตกแขนงออกมาจากภูเขาอาลไตหลายต่อหลายพวก ล้วนเป็นวงศ์วานเครือเดียวกับพวกใหญ่ที่อยู่แถวตุรกีสถาน เรียกอย่างฝรั่งว่า “เตอรืก” จีนเรียก “เขียก” (คือคำที่ไทยเรียก “แขก” แล้วเลยเหมาหมด) ในชั้นหลังเรียก หุ้ยหุย (ดู ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, มติชน 2545   หน้า 8 )

        พวกหุ้ยหุยนี้เป็นพลเมืองในอาณาจักรนางเจียวหรือน่านเจ้านั่นเอง ซึ่งส่วนมากของชาวเมืองหรือคนไตล้วนเป็นมุสลิม (Islam in china p. 30) ในนครหลวงตาลีฟู หรือหนองแส หรือม่งเส ซึ่งพระเจ้าโก๊ะล่อฝง  (พีเหลอเกอ หรือ พีหลอโก๊ะ) ทรงสร้างราว พ.ศ. 1300 (ค.ศ. 757) จนได้เสียแก่พระจักรพรรดิกุบไลข่าน นั้นก็ปรากฏว่ามีพลเมืองส่วนมากเป็นมุสลิม (อ้างแล้ว p.124)

        แสดงว่าคนไตแต่ก่อนนั้นเป็นหุ้ยหุยเจี่ยวหรือฮ่วยฮ่วยกว่าจำนวนไม่น้อย แม้จนกระทั่งบัดนี้ พวกน่านเจ้าหรือยุนนาน ซึ่งเราเรียกว่า ฮ่อ   นั้นก็เป็นมุสลิม และฮ่อนั้นที่จริงก็เป็นชาติไทยมิใช่จีน (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาคต้น หน้า 150 ) หรือไทยเดิมที่คงตกค้างอยู่ในเมืองจีน เราเรียก ฮ่อ นี่เอง (พงศาวดารไทยใหญ่ เล่ม 1 หน้า ก ) หากเป็นจริงดังว่าก็แสดงว่าคนไทยมักถือเอาคนกันเองที่มีเถือกเถาเหล่ากอเดียวกันกับตนว่าเป็น “แขก” แปลกหน้าเป็นคนอื่นด้วยเหตุของการถือศาสนานี่เอง ซ้ำร้ายยังถือว่าแขกเป็นพวกมิจฉาทิฐิอีกด้วย ดังปรากฏในโคลงภาพคนต่างภาษา วัดพระเชตุฯ กล่าวถึง แขกปะถ่าน (แขกปาทาน) ว่าเป็นพวกมฤจฉาทิฎฐิ (หลวงชายภูเบศร์ / แต่ง)
      

        การกล่าวถึง “แขก” ซึ่งหมายถึงชาวมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลามว่า เป็นพวกทิฐิ  ยังปรากฏในจดหมายเหตุและบันทึกของฝรั่งดั้งขอที่เข้ามาในสยามประเทศเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน ดังปรากฏในจดหมายเหตุของบาทหลวง นิโกลาส แชร์แวส (Nicolas Gervaise) เรื่อง “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (Historie Nastururelle et Politique du Royaume de siam)  มีข้อความระบุว่า “นับเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่ลัทธิศาสนามิจฉาทิฐิของพระมะหะหมัดได้ฝังรากอย่างลึกซึ้งในกรุงสยาม  จนเกรงกันมากว่าจะกลายเป็นศาสนาประจำชาติไปแล้ว….” (วารสาร สามทหาร ปีที่ 2 เล่มที่ 8 หน้า 33)

        หากจะว่าไปแล้ว การถือว่าคนต่างศาสนิกเป็นพวกมิจฉาทิฐินั้นเป็นเรื่องปกติและมีปรากฏในชนแต่ละศาสนิกโดยไม่มีข้อยกเว้น กล่าวคือ ต่างก็ถือว่าศาสนาของตนเป็นสัมมาทิฐิ ส่วนคนต่างศาสนาก็ล้วนถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิด้วยกันทั้งสิ้น แม้การเปลี่ยนศาสนาก็มีทัศนคติและท่าทีไม่ต่างกัน ทั้งนี้เพราะชนทุกศาสนาย่อมไม่พอใจต่อการที่คนในศาสนาของตนเปลี่ยนไปถือในศาสนาอื่นเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด เรื่องทำนองนี้เคยเกิดมาแล้วในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปี พ.ศ. 2317 (ก่อนนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพระเจ้าท้ายสระกรุงศรีอยุธยา)   

คือเรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินได้รับสั่งให้พระสงฆ์ไทย บาทหลวงมิชชันนารีฝรั่งเศสกับพวกมะหะหมัด (ชาวมุสลิม) เข้าไปโต้เถียงกันในเรื่องศาสนา ฝ่ายไทยถือว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป พวกเข้ารีต (คริสตัง) และมะหะหมัด (มุสลิม) เถียงว่าการฆ่าสัตว์ไม่บาป สมเด็จพระเจ้าตากสินประทัปเป็นประธานอยู่ด้วยและทรงรับสั่งโต้เถียงด้วยเหมือนกัน ครั้นทรงฟังความเห็นของพวกเข้ารีตและพวกมะหะหมัดว่า การฆ่าสัตว์ไม่บาปเช่นนั้นก็ไม่พอพระทัย พอรุ่งขึ้นจึงได้ออกประกาศพระราชโองการ “ด้วยพวกเข้ารีตและพวกที่ถือศาสนามะหะหมัดเป็นคนที่อยู่นอกพระพุทธศาสนา เป็นคนที่ไม่มีกฎหมายและไม่ประพฤติตามพระพุทธวัจนะ ถ้าพวกไทยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองนี้ตั้งแต่กำเนิดมา  ไม่นับถือและไม่ประพฤติตามพระพุทธศาสนา ถึงกับลืมชาติกำเนิดของตัว ถ้าไทยไปประพฤติและปฏิบัติลัทธิของพวกเข้ารีตและพวกมะหะหมัดก็ตกอยู่ในฐานะความผิดอย่างร้ายกาจ เพราะฉะนั้นเป็นอันเห็นได้เที่ยงแท้ว่า ถ้าคนจำพวกนี้ตายไปก็ต้องตกนรกอเวจี ถ้าจะปล่อยให้พวกนี้ทำตามชอบใจ ถ้าไม่เหนี่ยวรั้งไว้ ถ้าไม่ห้ามไว้แล้ว พวกนี้ก็จะทำวุ่นวายขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว จนในที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรามลงไป….” (ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย, ส.พลายน้อย (253) รวมสาส์น, หน้า 382)

        พระราชโองการนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนไทยที่มีต่อชนในชาติซึ่งถือศาสนาต่างกัน บางทีทัศนคติเช่นนี้ก็ยังคงฝังแน่นอยู่ในจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ตราบจนถึงทุวันนี้ การแบ่งแยกชนในชาติด้วยคำว่า “แขก” จึงเป็นสิ่งที่มีทัศนคติทางศาสนาเข้ามาเจือสม อีกประการหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องความเป็นคนดั้งเดิมของดินแดนสยามประเทศ ซึ่งทั้งสองประการนี้ไม่ได้ผลดีแต่อย่างใดสำหรับสถานการณ์ ณ เวลาปัจจุบันที่มีการเรียกร้องและรณรงค์สร้างความสมานฉันท์ระหว่างชนในชั้น หากมายาคตินี้ยังคงเคลือบแฝงอยู่ในสามัญสำนึกของชนส่วนใหญ่ ความสมานฉันท์ก็เป็นได้เพียงแค่ถ้อยคำที่สวยหรู และเปราะบางเกินไปต่อแรงเสียดทานของกระแสสังคมที่ส่อเค้าโน้มเอียงสู่การใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขสถานการณ์มากขึ้นทุกขณะ   

        กระนั้นเราในฐานะผู้ใฝ่สันติก็คงไม่สิ้นหวังและท้อแท้ต่อสิ่งที่เป็นอยู่ การศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ตลอดจนการสืบค้นถึงรากเหง้าของตนเองและนำเสนอสู่การรับรู้ของผู้คน เพื่อเป็นลู่ทางสู่การยอมรับซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะในช่วงเวลาหน้าสิ่ว หน้าขวานเช่นนี้ และสิ่งที่บรรดานักวิชาการในสังคมมุสลิมจำต้องกระทำเพื่อประชาคมมุสลิมส่วนรวมก็คือ ละลายพฤติกรรมเก่าๆ ที่บ่อนทำลายกันเอง ดึงสติกลับมาและพยายามทุ่มสรรพกำลังแห่งปัญญาในการลงมือทำมากกว่าพูด  และสิ่งที่ควรทำก็คือปกป้องหลักคำสอนของอิสลามด้วยการเป็นทนายว่าความแก้ต่างและหักล้างข้อใส่ไคล้ของโจทก์  

        โดยนำเอาหลักคำสอนมาจับประเด็น กรณีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไฟลามทุ่ง และตีแผ่ให้สาธารณชนทราบถึงข้อชี้ขาดหรือมุมมองของศาสนาว่า อิสลามเป็นอย่างที่เขาเข้าใจหรือรับรู้ใช่หรือไม่?  นี่เป็นภารกิจสำคัญข้อที่หนึ่ง ส่วนข้อที่สองก็คือ ปกป้องประชาคมมุสิมด้วยการสืบค้นถึงรากเหง้า และความมีตัวตนอยู่แต่เดิม  ณ ผืนแผ่นดินนี้ตลอดจนนำเสนอข้อเท็จจริงที่สืบค้นได้นั้นอย่างเป็นระบบและมีความเป็นวิชาการให้มากที่สุด ทำสองข้อนี้ให้ได้ อินชาอัลลอฮฺ สังคมมุสลิมคงจะดีกว่าที่เป็นอยู่ สำคัญอยู่ที่ว่า จะทำหรือไม่ ก็เท่านั้นเอง!!